Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ่านบทสนทนาระหว่างคุณปรีดา เตียสุวรรณ์ กับ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในโอกาสนำเสนองานวิจัย เรื่องความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคมไทย ต่อ คอป. ของศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณและคณะแล้ว (คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)   ผมอดนึกถึงข้อคิดของโจเซฟ สติกลิทซ์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกและโนเบลลอเรียตสาขา เศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ไม่ได้ แกเคยเสนอไว้หลายปีแล้วว่า

  • โลกาภิวัตน์นำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับประเทศต่าง ๆ
  • ปมเงื่อนว่าโลกาภิวัตน์จะส่งผลอย่างไรต่อประเทศหนึ่ง ๆ จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลประเทศนั้น ๆ บริหารจัดการ โอกาสและความเสี่ยงที่มากับโลกาภิวัตน์อย่างไร
  • บทเรียนเท่าที่แกสรุปได้คือ ประเทศไหนบริหารจัดการโลกาภิวัตน์เองตามเงื่อนไขที่ตนกำหนด ก็มักจะได้ผลเชิงบวกจากโลกาภิวัตน์ (เช่น จีนและเอเชียตะวันออก), แต่ประเทศไหนให้องค์การโลกบาลภายนอกเช่นไอเอ็มเอฟบริหารจัดการให้ โดยตนเองไม่สามารถกำหนดกำกับควบคุมเงื่อนไขเหล่านั้นเลย ก็ มักจะได้ผลเชิงลบ (เช่นไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง) (Joseph E. Stiglitz, "Globalism's Discontents," The American Prospect vol. 13 no. 1, January 1,  2002 - January 14, 2002; Joseph E. Stiglitz, “Globalization and the economic role of the state  in the new millennium,” Industrial and Corporate Change, 12: 1 (2003), 3 - 26)

การเปิดเสรีทางการเงิน อันเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจในรอบ 30 ปีหลังนี้ก็เช่นกัน คือมี ทั้งโอกาสและความเสี่ยงของมัน ในแง่โอกาส คนบางกลุ่มที่ไม่เคยได้เงินกู้อย่างสะดวกง่ายดายมาก่อน  (เช่น ทุนอุตสาหกรรมไร้เส้นสาย, หรือคุณตัน ภาสกรนที ที่คุณธนาธรเอ่ยถึง) เพราะโอกาสแต่ก่อนถูกผูกขาดในหมู่คนกลุ่มน้อย มันย่อมเป็นด้านบวกที่เขาจะเอื้อมถึงทรัพยากร (เม็ดเงินกู้) ทางการเงินที่ไม่เคยได้มาก่อนนั้น และรู้สึกเสมอภาคขึ้น เหลื่อมล้ำน้อยลง

แต่กลับกัน ในแง่ความเสี่ยง ความไม่แน่นอน พลิกไหวขึ้นลง ไม่เสถียรภาพทางเศรฐกิจการเงิน ความถี่ และจำนวนของวิกฤตการเงินการธนาคาร ก็มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อ ความมั่นคง ฐานะ วิถีชีวิต จิตใจของผู้คนกว้างขวางมากมายทั่วโลก ไม่ว่าข่าวล่าสุดกรณีนักธุรกิจก่อ สร้างเผาตัวตายในอิตาลี (http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-17556273) หรือ การวิเคราะห์สถิติข้อมูลมวลรวมของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอื่น ๆ ก็เช่นกัน (ดูบทความของ  Robert Wade, “Choking the South”, New Left Review 38, March-April 2006,  http://www.newleftreview.org/?view=2611) ซึ่งอาจส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำสวิงกลับมาอีก

ดังมีสถิติข้อมูลมากมายที่บ่งชี้ว่า เอาเข้าจริง รอบปีที่ผ่านมาภายใต้แนวนโยบายเสรีนิยมใหม่และการเปิดเสรีทางการเงิน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้เพิ่มทวีขึ้นในอเมริกา, อังกฤษ, และหลายประเทศตะวันตกอีก ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ทวีขึ้นหรือไม่ลดต่ำลงด้วย (โดยเฉพาะในแอฟริกาและ  ละตินอเมริกากับกลุ่มทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว, ยกเว้นเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะจีนที่วิ่งกวดไล่ใกล้ขึ้น ดู เกษียร เตชะพีระ, “รายงานการวิจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่: ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์”, ๒๕๕๓.

ผมจึงคิดว่าเราควรมองเห็นทั้งสองด้านของเหรียญ, ไม่โทษโลกาภิวัตน์อย่างเดียว โดยปล่อยทุนผูกขาดอำมาตย์เก่าให้กลายเป็นพระเอกผู้รักชาติไป, แต่ก็ไม่โทษอำมาตย์และทุนธนาคารผูกขาดเก่าอย่างเดียว จนไม่เห็นความจริงด้านกลับของโลกาภิวัตน์

สุดท้ายประเด็นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงที่มากับโลกาภิวัตน์อย่างไร? จะกระจายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรใหม่ ๆ  ให้กับใคร? จะโยนภาระความเสี่ยงให้กลุ่มใดแบกรับไว้?  และระเบียบการเมืองอย่างไหนจะเปิดโอกาสให้คนไทยหมู่เหล่าต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจกำกับ ดูแลการบริหารจัดการนี้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมที่สุด?

 

ที่มา: ข้อเขียนสาธารณะในเฟซบุ๊กของ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net