Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยอย่างต่อเนื่องกว่าหกปีภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549และไม่มีที่ท่าจบลงง่ายๆ อย่างน้อยได้ส่งผลดีเรื่องหนึ่งคือ สังคมเริ่มใส่ใจคำว่ายุติธรรมและเริ่มนำมาถกเถียงกันในวงสาธารณะว่าอะไรคือ ความยุติธรรม รวมถึงการเรียกร้องให้เกิดขึ้นในสังคม เสียงเรียกร้องจากประชาชนส่งสัญญาณให้ส่วนยอดของปิระมิดเริ่มตระหนักถึงและลงมือสร้างความยุติธรรมเช่นกัน ดังเช่นกรณีงานวิจัยปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ก็ศึกษาเรื่องความยุติธรรม

ยุติธรรม (justice) ในบริบทเศรษฐศาสตร์แตกต่างจากด้านกฎหมาย สำหรับเศรษฐศาสตร์หมายถึง fairness และสนใจถึงการกระจายทรัพยากรให้เกิดความเท่ากัน (equality) หรือ เท่าเทียม (equity) สำหรับในบริบทเศรษฐศาสตร์ไทย ความยุติธรรมอาจไม่เป็นเรื่องคุ้นหูนิยมนัก เศรษฐศาสตร์ไทยจึงสนใจเฉพาะในความหมายคลาสสิก ที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือสนใจในด้านไมโครอิโคโนมิคที่เศรษฐศาสตร์หมายถึงวิชาแห่งการเลือก เลือกทางที่ก่อประโยชน์สูงสุด แต่ทว่าคำว่ายุติธรรมนั้นปรากฏในวิชาเศรษฐศาสตร์มาช้านาน อดัม สมิธ ได้เขียนไว้ใน Wealth of nation

“The second duty of sovereign, that of protecting as far as possible, every member of the society from the injustice or oppression of every other member of it, or the duty of establishing an exact administration of justice”

หน้าที่ที่สองของรัฏฐาธิปัตย์คือ การปกป้องสมาชิกทุกคนจากความไม่ยุติธรรม หรือจากการกดขี่ของสมาชิกคนอื่นๆ หรือมีหน้าที่ในการสถาปนาระบบบริหารความยุติธรรม”

ยุติธรรมในความหมายของสมิธ คือ ความยุติธรรมที่อยู่ในสาย Libertarisme ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องคุ้มครองกรรมสิทธิ์ของเอกชน และการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอย่างอิสระของประชาชนเช่นการบริจาค โดยที่รัฐจะมาบังคับไม่ได้

เมื่อเศรษฐศาสตร์สนใจเรื่องการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมแล้ว สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ อะไรคือ ความเท่ากัน (Equality) และ ความเท่าเทียม (Equity) ความเท่ากันปรากฏได้เมื่อมนุษย์มีสัญชาตญาณแยกแยะและเปรียบเทียบของตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป ในลักษณะเป็นรูปธรรมเช่น รูปร่างลักษณะ เป็นต้น และเริ่มเปรียบเทียบของสองสิ่งโดยการแทนตัวเลขเป็นจำนวน เช่น สะพานเส้นแรกยาวสิบเมตร สะพานที่สองยาวสามเมตรเป็นต้น ดังนั้นคำว่า Equality จึงปรากฏในสมการทางคณิตศาสตร์

อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบความเหมือนกันของสองสิ่งไม่ได้บอกอะไรเรามากนัก เราไม่สามารบอกได้ว่าสิ่งใดดีกว่าสิ่งใด เช่น สิบเมตรดีกว่าสามเมตร หรือเราควรสนใจเปรียบเทียบในเรื่องใด เช่น เราควรจะให้ความสำคัญในความยาวเท่ากันของเส้นผมหรือควรจะละเลยมันไปเพราะเป็นเรื่องไม่สำคัญ เป็นต้น เมื่อมนุษย์เกิดความสามารถในการเปรียบเทียบแล้วคำถามที่ตามมาในหัวคือ ทำไมถึงเกิดความแตกต่างแล้วความแตกต่างนั้นเป็นสิ่งดีหรือไม่ ดังนั้นเพื่อจะตอบปัญหาสิ่งเหล่านี้ มนุษย์จึงต้องใช้ชุดความคิด และปทัสถานในการให้คุณค่าของความเท่ากัน เพื่อพัฒนาเป็นความเท่าเทียม (Equity) ดังนั้นความเท่ากันกับความเท่าเทียมจึงเป็นคนละความหมายกัน ความเท่าเทียมจึงไม่ตีกรอบเฉพาะว่าของสองสิ่งต้องเหมือนกันจึงเป็นสิ่งดี แต่ทว่าหมายถึง ของทั้งสองสิ่งจะเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้แต่ต้องเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีและสมควรทำ เช่น การบริโภคบริการสาธารณสุข ถ้าเรายึดความสำคัญของความเท่าเทียมแล้ว รัฐบาลจักต้องให้ทุกคนในสังคมมีบริการที่เท่ากันทุกๆคนโดยไม่สนใจว่า แต่ละคนมีสุขภาพและความจำเป็นอย่างไร แต่ถ้าเรายึดถึงความเท่าเทียมแล้ว ทุกๆคนไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เท่ากันแต่ควรได้รับการรักษาตามความเจ็บป่วยของแต่ละคน ซึ่งสามารถแบ่งได้สองลักษณะ คือ Horizontal equity คือความเท่าเทียมกันทางราบหมายถึงทุกคนที่มีการป่วยเหมือนกันควรได้รับการรักษาที่เหมือนกัน และ Vertical equity คือความเท่าเทียมกันแนวตั้ง หมายถึง ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาที่ต่างกันได้ถ้ามีความต้องการหรืออาการเจ็บป่วยที่แตกต่างกัน

เมื่อความเท่าเทียมกันต้องอาศัยขุดความคิดของสังคมและปทัสถานแล้ว ความเท่าเทียมกันจึงแปรผันไปตามกาลเวลาและสภาพของสังคม เช่น ในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ยิ่งมีความหลากหลายเท่าไรยิ่งดี ในกรณีนี้การพยายามทำให้เหลือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวเหมือนกันหมดจึงเป็นการกระทำที่เลวร้าย หรือการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่ากันในสังคม ในอดีตเมื่อการที่มนุษย์สองคนมีทรัพยากรไม่เท่ากันแล้วย่อมต้องเกิดความสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่เท่ากัน และเกิดความไม่พอใจขึ้นมา ซึ่งความไม่พอใจเมื่อรวมตัวกันมากๆหลายๆคน จึงส่งผลให้เกิดความแตกแยกกันในสังคม ดังนั้นสังคมจึงจำเป็นต้องสร้างชุดความคิดขึ้นมาเพื่อทำให้เชื่อว่าความไม่เท่ากันนั้นเป็นเรื่องปกติ ชุดความคิดดังกล่าวเช่นการยืม อำนาจของศาสนา ของเทวดา มาอธิบายถึงการแบ่งชั้นวรรณะและทรัพยากรความเป็นอยู่ที่ต่างกัน แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปชุดความเชื่อเรื่องเทวดาและศาสนาเสื่อมอำนาจลงและไม่สามารถหลอกคนในสังคมให้อยู่ในสภาพการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันแล้ว สังคมจึงมองว่าการกระจายทรัพยากรไม่เท่ากันนั้นเป็นสิ่งผิดปกติและไม่เป็นธรรมและต้องหาชุดความเชื่อใหม่มาอธิบาย

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมจึงเป็นชุดความคิดใหม่ ที่เกิดขึ้นมาแทนชุดความคิดของศาสนา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสามกล่มสำคัญคือ

Libertarisme

Utilitarisme

Egalitarisme liberal

Libertarisme เป็นกลุ่มทฤษฎีความคิดที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาสามกลุ่ม นักคิดคนสำคัญเช่น John Locke และ Adam Smith ในศตวรรษที่18 หรือ Robert Nozick ในศตวรรษที่ 20 ชุดความคิดสายเสรีนิยม กำเนิดขึ้นมาเพื่อขัดง้างชุดความคิดของความร่วมมือกันระหว่างศาสนาและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ว่ามนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน กษัตริย์โดยการแต่งตั้งจากพระเจ้าและประมุขของรัฏฐาธิปัตย์เป็นต้นตอของกฎหมายและสามารถละเมิดกรรมสิทธิ์และชีวิตของผู้อื่น แต่สายเสรีนิยมเชื่อว่า ความจริงหนึ่งเดียวไม่ได้ผูกขาดจากการตีความของศาสนจักร มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมและอิสระ มนุษย์มีกรรมสิทธิ์ในชีวิตและแรงงานของตนเอง และสิ่งที่ตนผลิตออกมา ธรรมชาติของมนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองมิใช่เป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้า ธรรมชาติของมนุษย์มีสิทธิที่จะเห็นแก่ตัวดังนั้นจึงมีสิทธิที่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง มนุษย์มีสิทธิในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือกรรมสิทธิ์ของตนเองภายใต้กรอบของกฎหมายและไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ของคนอื่น มนุษย์ต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น หรือเคารพในการตัดสินใจของตนเองและของผู้อื่นภายในกรอบที่สิทธิกำหนด ความยุติธรรมในสายเสรีนิยมจึงเกิดขึ้นเมื่อไม่มีการละเมิดสิทธิ กรรมสิทธิ์ และเสรีภาพของปัจเจกคน การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมจึงเกิดได้ภายใต้ความเต็มใจของปัจเจกชนโดยไม่มีรัฐมาแทรกแซง อย่างไรก็ตามข้อด้อยของสายเสรีนิยมก็ขัดแย้งในตนเอง เช่น กรณีที่ให้กรรมสิทธิ์ปัจเจกบุคคลเกิดขึ้นได้นั้นที่สุดแล้วก็ต้องใช้อำนาจรัฐเช่นกัน เช่น การทำสัญญาเป็นต้น นอกจากนี้สายเสรีนิยมยังไม่สามารถตอบสนองความยุติธรรมในด้านการกระจายทรัพยากรให้เท่กันด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีคนที่ชอบทำบุญ กับกรณีขอทาน อีกฝ่ายหนึ่งทำบุญจนไม่มีอะไรกินกับอีกคนขอทานจนรวยแล้ว อะไรคือความเท่ากัน หรือกรณีที่ นักแสดงกลายเป็นคนรวยเพราะมีคนเต็มใจจ่ายชมการแสดงของเขา แต่นักแสดงกลับไม่ถูกเก็บภาษีเป็นต้น ความเท่าเทียมกันในเสรีนิยมทางปฏิบัติจึงเป็นไปได้ยาก

Utilitarisme เริ่มต้นในศตวรรษที่19 นักคิดคนสำคัญเช่น Jeremy Bentham บิดาอรรถประโยชน์นิยม และภายหลังถูกพัฒนาสัมพันธ์กับ Welfare Economie ความแตกต่างระหว่างอรรถประโยชน์นิยมกับเสรีนิยมคือ อรรถประโยชน์นิยมเชื่อว่า ความสุขหรือความทุกข์ การเจ็บป่วยหรือสุขภาพสิ่งที่เป็นโทษหรือประโยชน์มนุษย์สามารถวัดเป็นสเกลได้และสามารถเปรียบเทียบได้ว่าอะไรดีกว่าอะไร และต่างกับเสรีนิยมตรงที่ว่า justice individuel สามารถเปลี่ยนเป็น justice sociale ได้ โดยเนื่องจากอรรถประโยชน์สามารถบวกลบได้ดังนั้นอรรถประโยชน์สังคมโดยรวมหรือสวัสดิภาพสังคมจึงเกิดจากการบวกรวมกันของอรรถประโยชน์ทุกคนในสังคม จุดประสงค์ของสายอรรถประโยชน์นิยมคือการกระจายทรัพยากรให้เกิดอรรถประโยชน์ปัจเจกชนสูงสุดและในเวลาเดียวกันผลรวมของอรรถประโยชน์สังคมก็ต้องสูงสุดเช่นกัน และสิ่งที่แตกต่างกันอีกประการหนึ่งคือ สายอรรถประโยชน์อนุญาตให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการกระจายทรัพยากรได้เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดดังกล่าวข้างต้น โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอย่างอิสระระหว่างประชาชน ดังนั้นนโยบายรัฐที่เข้าไปแทรกแซงนั้นจึงต้องวางอยู่บนฐานของ Principe de Pareto ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือนโยบายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ดีกว่านโยบายเก่านั้นต้องแสดงให้เห็นว่าเกิดผลประโยชน์มากกว่าแล้ว คนตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปต้องพอใจนโยบายใหม่มากกว่าโดยที่ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ข้อด้อยของสายอรรถประโยชน์นิยมคือ มีการแทรกแซงของรัฐและอาจเกิดการละเมิดสิทธิปัจเจกขนเพื่อให้เกิดอรระประโยชน์สูงสุด เช่นกรณีการกดค่าแรงและสินค้าเกษตรในชนบทเพื่อให้มีค่าครองชีพราคาถูกเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในเขตเมืองหลวง ตลอดจนการปราบปรามอย่างรุนแรงกับสหภาพแรงงานเพื่อมิให้รวมตัวต่อรองค่าแรง นอกจากนี้อรรถประโยชน์ส่วนบุคคลขึ้นอยู่กับรสนิยมของปัจเจกและบางกรณีไม่สามารถตอบปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในสังคมได้ เช่น กรณีที่มีคนพิการคนหนึ่งแต่พอใจในสภาพของตนขณะนี้ กับอีกคนที่เป็นคนรวยแต่ไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ อรรถประโยชน์ของคนพิการย่อมมากกว่าของคนรวย ดังนั้นรัฐบาลเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์มากที่สุดกับทุกคนจึงต้องมอบทรัพยากรให้กับคนรวยมากกว่าคนพิการ

Egalitarisme liberal หรือสายเท่าเทียมนิยมเสรี นักคิดคนสำคัญเช่น John Rawls, Amartya Sen, John Roemer, Ronald Dworkin สายเท่าเทียมนิยมเป็นสายที่เกิดใหม่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นแนวคิดที่สมาสกันระหว่างสายเสรีนิยมและสายอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งนักปรัชญาสำนักนี้แต่ละคนก็มีความคิดแตกต่างกัน แต่โดยรวมคือ สายเท่าเทียมนิยมเสรี จะให้ความสำคัญกับสิทธิ และกรรมสิทธิ์ของปัจเจกชนเช่นกัน แต่เช่นเดียวกับสายอรรถประโยชน์นิยมรัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ในบางกรณีภายใต้กรอบสถาบันทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมาย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม ทั้งนี้โดยมิได้มุ่งหวังให้เกิดอรรถประโยชน์สังคมสูงสุด คำถามที่ตามมาคือ อะไรคือความยุติธรรมในสังคม ของนักปรัชญาแต่ละคนก็ให้ความเห็นต่างกัน เช่น John Rawls เชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันในเสรีภาพ เสรีภาพทางความคิด การแสดงความรู้สึกเสรีภาพในกรรมสิทธิ์ตนเองโดยไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์คนอื่น นอกจากนี้ Rawls เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนถูกบดบังด้วยสถาบันต่างๆรสนิยมความต้องการทรัพยากรจึงแตกต่างกันเพราะสถาบันต่างๆ บิดเบือน และกระจายทรัพยากรภายใต้ม่านแห่งความไม่รู้ (Veil of ignorance)กล่าวคือกระจายอยู่ภายใต้สถาบันกำกับ แต่เมื่อทุกคนถูกถอดออกจากม่านนี้แล้วและอยู่ในสภาวะจุดเริ่มต้น ทุกคนย่อมมีความต้องการทรัพยากรบางสิ่งที่เหมือนกันซึ่งRawls เรียกว่า Primary goods คือทรัพยากรพื้นฐานที่ไม่ว่ามนุษย์หน้าไหนก็ต้องการเหมือนๆกัน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคเป็นต้น และรัฐมีหน้าที่กระจายทรัพยากรพื้นฐานให้เท่าเทียมกันในสังคม อย่างไรก็ตามการกระจายทรัพยากรรัฐไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนเท่ากัน รัฐสามารถให้ได้โดยไม่เท่าเทียมกันได้ตราบใดที่เป็นการให้กับคนที่ลำบากที่สุดในสังคมและเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางโอกาสกับทุกคน เช่น รัฐไม่จำเป็นต้องให้เงินร้อยบาททุกคนเท่าๆ กันแต่อาจจะแบ่งให้คนจนมากกว่าคนรวยเป็นต้น

 

บรรณานุกรม
Asada Y., Health inequality : morality and measurement, University of Toronto Press, 2007.
RAWLS J., Theorie de la justice, Editions Points, 2009.
ROUX V., Le Mirage de l’Etat providence, Paris, L’Harmattan, 2007.
SMITH A., Wealth of nation, « Of the Expence of Justice”, pp.708-709

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net