Skip to main content
sharethis

สผ.ร่วมจุฬาฯ จัดประชุมความเสี่ยงต่อภูมิอากาศ กรณีแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้  “คนสตูล” วิเคราะห์ผุดท่าเรือน้ำลึกปากบาราพบปัญหาอื้อ ภาคเกษตร-ท่องเที่ยวลดสวนการเพิ่มแรงงาน-อุตสาหกรรม อากาศแปรปรวนเกิด-แย่งชิงทรัพยากรน้ำ-รัฐป้องโรงงานหากเกิดอุทกภัย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 มีนาคม 2555 ที่ห้องธนารมย์ 3 โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อภูมิอากาศและข้อเสนอยุทธศาสตร์การปรับตัว กรณีศึกษาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคใต้ ภายใต้โครงการศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยมีตัวแทนส่วนราชการจากจังหวัดสงขลา พัทลุง ตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวจากจังหวัดตรัง ตัวแทนประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง  ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ร่วมเวทีประมาณ 30 คน

นายพนมศักดิ์ พรหมบุรมย์ หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อระบุประเด็น หรือภาคส่วนของการพัฒนาประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อภูมิอากาศในอนาคต ที่จำเป็นต้องมีมาตรการรับมือ และปรับตัวที่ชัดเจน โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานภาครัฐให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบ และปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

เวลา 13.00 น. มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงต่อภูมิอากาศ และจัดทำข้อเสนอแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มท่องเที่ยว ที่มาจากตัวแทนภาคธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กลุ่มประมงชายฝั่ง ที่มาจากตัวแทนประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง และกลุ่มท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่มาจากพนักงานและเจ้าหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล และตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล 

กลุ่มที่ได้รับการสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงต่อภูมิอากาศ และจัดทำข้อเสนอแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือโดยวาดภาพอนาคตท่าเรือน้ำลึกปากบาราใน 10 ปีข้างหน้า ว่า สภาพสังคมชนบทจะกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น การประกอบอาชีพทางการเกษตรลดลง ไม่ว่า ประมงพื้นบ้าน สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ ฯลฯ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวทางทะเลลดลง การท่องเที่ยวบนบกจะสูงขึ้น ภาคแรงงาน การค้าขายและการบริการจะมากขึ้น มีแรงงานนอกพื้นที่หลั่งไหลเข้ามา มีโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ประปา ไฟฟ้า ถนนดีขึ้น มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดสตูล มีโครงข่ายระบบขนส่ง และพัฒนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 

ส่งผลทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน อากาศร้อนขึ้น มีมลพิษทางเสียง อากาศ และน้ำ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ อาจเกิดฝนตกหนักจนภาครัฐใช้มาตรการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับอุทกภัยที่เกิดกับกรุงเทพฯ ทำให้ชาวบ้านโดนน้ำท่วมหนักกว่าเดิม เกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างภาคเกษตรกับอุตสาหกรรม สุขภาพของคนในพื้นที่อ่อนแอลง มีแมลงศรัตรูพืชที่พัฒนาสายพันธุ์ในการระบาดภาคเกษตร เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net