Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันพุธ มีข่าวที่ทำให้ผมหัวร่อแทบตกเก้าอี้ นั่นคือ 5 สถาบันทางวิชาการ จัดแถลงภารกิจ ขยายพื้นที่เสรีภาพให้กับสังคมไทย เนื่องใน 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
 
รายชื่อ 5 สถาบันที่ประโคมข่าวกันยิ่งใหญ่ (โดยเฉพาะไทยรัฐเอาไปเขียนบทวิเคราะห์ อิอิ) ได้แก่ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มธ. ซึ่งมีศาสตราจารย์วิธีพิเศษ ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้อำนวยการ สถาบันพระปกเกล้า ศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เป็นประธาน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว เป็นที่ปรึกษา และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคม
 
เสียดายที่ผมไม่รู้หมายล่วงหน้า ไม่งั้นจะไปนั่งหัวร่อเป็นบ้าเป็นหลังอยู่คนเดียวในห้องประชุม ให้คนอื่นประหลาดใจ อะไรวะ นักวิชาการท่านพูดแต่เนื้อหาดีๆ มีที่ไหนมานั่งหัวร่อ
 
แน่นอนครับ เนื้อหาที่พูดล้วนมธุรสวาจาทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคประชาธิปัตย์จัดงาน “จับมือรวมพลัง ออกแบบประเทศไทย” คุยว่าสู้กับเผด็จการ อุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยน (เผด็จการทุนผูกขาด ไม่ใช่เผด็การทหาร กร๊าก!) ชูคำขวัญ ก้าวข้ามนักการเมือง คืนกระสุน-เอ๊ย คืนการเมืองให้ประชาชน
 
นักวิชาการที่มาร่วมภารกิจ “ขยายพื้นที่เสรีภาพ” นี้ก็เช่นกัน ถามว่าที่ผ่านมาท่านได้ขยายพื้นที่เสรีภาพหรือไม่ หรือกลายเป็นฝ่ายจำกัดพื้นที่เสียเอง ประเด็นเสรีภาพทางวิชาการที่เพิ่งร้อนแรงยังไม่จางหายไป คือกรณี อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับนิติราษฎร์ เสนอแก้ไขมาตรา 112 และกรอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วถูกปลุกความเกลียดชังจนถูกทำร้าย
 
ผมไม่เห็น 5 สถาบันที่ว่าออกมาปกป้องเสรีภาพของ อ.วรเจตน์กับนิติราษฎร์เลย การแถลงครั้งนี้ก็ไม่พูดถึง แต่ประชาชนเขายังจำได้ อ.บวรศักดิ์ไม่ใช่หรือที่โจมตี อ.วรเจตน์ว่า “เนรคุณ” ทุนอานันทมหิดล
 
แล้วถ้าพูดในหลักการ มันยิ่งเลอะเข้าไปใหญ่ อ.บวรศักดิ์ไม่ใช่หรือ ที่เป็นเนติบริกรให้ทักษิณครั้งเหลิงอำนาจ ครั้นนายเก่าจวนตัว บวรศักดิ์-วิษณุ ได้สัญญาณ ก็โดดเรือหนี พอรัฐประหารก็เข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว เสร็จสรรพก็เป็น สนช.เป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
 
ถามว่าตอนร่างกฎหมายให้ทักษิณ ร่างรัฐธรรมนูญให้รัฐประหาร ท่านเคยสนใจ “พื้นที่เสรีภาพ” ไหม เพิ่งมาตอนสถาบันพระปกเกล้ารับงานวิจัยปรองดองของบิ๊กบังนี่แหละ ที่ถูกฝ่ายค้านกับสื่อรุมกระหน่ำเสียจนต้องร้องขอ “พื้นที่เสรีภาพ”
 
เช่นกัน 5 ปีที่ผ่านมา ธีรยุทธ บุญมี เคยเรียกหา “พื้นที่เสรีภาพ” บ้างไหม (เสรีภาพมี แต่พอดีหายใจขัด ฮิฮิ) ในยุครัฐประหาร ในยุคสื่อและนักวิชาการเลือกข้าง ธีรยุทธเคยปกป้องพื้นที่เสรีภาพของเสียงข้างน้อยไหม ธีรยุทธคือผู้เรียกหา “ตุลาการภิวัตน์” โดยหวังจะใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ อำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ มาจัดการกับความขัดแย้งทางการเมือง มาถึงตอนนี้ เมื่อเห็นก๊กเล่าปี่จะแพ้ กลับออกมาเรียกร้องหา “พื้นที่เสรีภาพ”
 
ทีดีอาร์ไอที่จริงก็มีนักวิชาการหลากหลาย เข้าท่าเข้าทีก็หลายท่าน แต่ภาพลักษณ์โดยรวมกลับเป็นสถาบันเศรษฐศาสตร์สำนักอนุรักษ์นิยม แบบอะไรที่เป็นประชานิยม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเลวร้ายหมด มุ่งต่อต้านทุนสามานย์ แต่เลือกเฉพาะกลุ่ม ทำเป็นไม่เห็นกลุ่มทุนเก่า
 
แล้วที่สำคัญ จะจงใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่งานวิจัยของทีดีอาร์ไอหลายชิ้นกลายเป็นอาวุธทางการเมือง (หรือแม้แต่เป็นคำพิพากษา ในคดียึดทรัพย์ทักษิณ ซึ่ง คตส.ว่าตามงานวิจัยของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เกือบทั้งดุ้น)
 
เมื่อตอนพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาใหม่ๆ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ไปให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวอิศรา “ประธานทีดีอาร์ไอเปิดหลุมพรางพรรคเพื่อไทยปูทางสู่การเมืองพรรคเดียว” บอกว่าการที่รัฐบาลมีนโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก เงินเดือน 15,000 หวังผลทางการเมือง ชนะใจคนชั้นล่างแล้ว ก็จะมาชนะใจคนชั้นกลางบ้าง เป็นความต้องการครอบงำการเมืองไทย
 
แถมท่านยังบอกว่าการที่รัฐบาลมีเกิน 300 เสียง อำนาจต่างๆ ก็จะถูกครอบงำ ประชาธิปไตยที่แข็งแรง 2 พรรคต้องสูสีกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ถ้าพรรคเดียวครอบงำ จะเป็นประชาธิปไตยเผด็จการ
 
อุ๊บ๊ะ ก็อีกพรรคมันขี้แพ้แล้วจะมาโทษกันได้ไง นึ่หรือความคิดคนระดับประธานทีดีอาร์ไอ ผมเคยด่าไว้เรียบร้อยแล้ว “ที่สุดแห่งความเลอะเทอะ” ใครก็ได้ช่วยบอกท่านเปิดดูที http://www.voicetv.co.th/blog/432.html เพราะถ้าทัศนะเรื่องประชาธิปไตยเรื่องเผด็จการท่านมีปัญหาอย่างนี้ ทัศนะต่อเสรีภาพของท่าน ก็คงพิกลเช่นกัน
 
สมาคมนักข่าวฯ น่าจะมาในฐานะตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักขยายพื้นที่เสรีภาพ หรือปิดกั้นเสรีภาพ ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ตอนนี้ต้องหันมาปรับตัวกันวุ่นวาย พยายามรักษาความเป็นอภิสิทธิ์ชนเอาไว้สุดฤทธิ์
 
ขี้เกียจย้อนอดีตให้มากมาย เอาแค่กรณีนิติราษฎร์ อ.วรเจตน์ถูกผู้จัดการรายสัปดาห์เอาหน้าไปแปะภาพลิงขึ้นปกเป็น “วรเจี๊ยก” องค์กรวิชาชีพสื่อมีใครวิพากษ์วิจารณ์บ้างไหมว่านั่นเป็นการกระทำที่เลวร้าย ดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำลายความเป็นคน ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าต่ำทราม ช่วยกันดูถูกเหยียดหยามได้ในเฟซบุค แม้เมื่อ อ.วรเจตน์ถูกชก
 
ทีกนก รัตน์วงศ์สกุล โดนมวลชนรวมตัวกันไปแสดงความไม่พอใจ (แน่นอนไม่ได้ไปพับเพียบขอความกรุณาสื่อ) สื่อทั้งหลายจะเป็นจะตายเสียให้ได้ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์อ้างว่า “กึ่งคุกคาม”
 
หรือสมาคมฯ จะบอกว่าไม่เป็นไร กรรมสนองผู้จัดการรายสัปดาห์ ต้องปิดตัวเองไปแล้ว พร้อมสื่อในเครือผู้จัดการหลายฉบับ โดยต้องปลดพนักงาน 600 คน (ได้ค่าชดเชยเต็มเม็ดเต็มหน่วย สุรวิชช์ วีรวรรณ ฝากชี้แจง)
 
เห็นจะมีแต่ อ.สุริชัย หวันแก้ว กับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กระมัง ที่ยังคู่ควรกับการเรียกร้อง “ขยายพื้นที่เสรีภาพ” (ถึงแม้อาจารย์แกจะหลวมตัวไปเป็น สนช.แต่ก็ชิงลาออกช่วงที่เลอะเทอะกันตอนท้าย หลังจากนั้นก็พยายามจะถอยออกมาเป็นสีขาว)
 
สาระของข่าวนี้ไปอยู่ที่คำพูดของ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เสียมากกว่า ที่ท่านบอกว่านักวิชาการควรเสนอความจริง ไม่ควรมีค่าเชิงตัดสิน (โห เขาเอาไปเป็นคำพิพากษาเลยอาจารย์) ไม่ควรคิดว่าตัวเองถูกต้องเสมอไป และอย่าเอาศีลธรรมมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
ขณะที่ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ แถมให้ว่า สิ่งที่สถาบันทั้ง 5 ควรทำคือ ต้องเป็นสถาบันที่ถูกตรวจสอบได้ด้วย เพราะทุกความคิดต้องอยู่ในความโปร่งใส ต้องดีเบตชุดความคิดที่เสนอ เพื่อให้ข้อเสนออยู่ได้ มีความเข้มแข็ง ไม่ล้มหรือทำอันตรายต่อใคร
 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ช่วงนี้อย่าไว้ใจใครที่ออกมาพูดเรื่องดีๆ อำพราง เพราะบ้างก็อยากรักษาสถานะ ในกระแสที่เปลี่ยนไป บ้างก็จวนตัวกลายเป็นเสียงข้างน้อย ต้องเรียกร้องพื้นที่เสรีภาพ
 
คล้ายกับภาคีเครือข่ายต้านคอรัปชั่นนั่นละครับ เนื้อหาสาระดูดีไปหมด แต่ตัวองค์กรและบุคคลที่ร่วมก่อตั้ง ผมตะหงิดๆ ไม่เคยไว้วางใจเลย มีอะไรอำพรางหรือเปล่า
 
นิติศาสตร์หรือเทววิทยา
 
อ่านพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ตรวจข้อสอบ รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม เรื่อง “นายสุรเจต” กับ “นิติโรส” แล้วมันส์มากครับ พุฒิพงศ์บอกด้วยว่านี่ไม่ใช่ความเห็นต่าง แต่เป็นการชี้ถูกผิด เอาละสิ คณะนิติศาสตร์ มธ.จะถือเอาคำตอบของใคร ถ้าเผื่อมีนักศึกษาตอบไปอย่างพุฒิพงศ์ แล้ว รศ.ดร.ท่านไม่ให้คะแนน นักศึกษาต้องประท้วงนะครับ
 
ผมเห็นว่าคณะนิติศาสตร์จะปล่อยให้เกิดความคลุมเครือทางวิชาการไม่ได้ คำตอบต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ที่ถูกต้อง ชัดเจน ไม่งั้นนักศึกษาสับสนกันหมด คณะจะทำการเรียนการสอนกันต่อไปได้อย่างไร เมื่อ รศ.ดร.ออกข้อสอบแล้วมีนักศึกษาปี 4 แย้งคำตอบ แถมแย้งอย่างมีเหตุผลน่าฟังเสียด้วย
 
คณะนิติศาสตร์ต้องจัดประชุมใหญ่นะครับ ให้คณาจารย์ลงมติว่า ธงคำตอบของใครถูกต้องกันแน่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป
 
ต้องซูฮกอาจารย์พุฒิพงศ์ เพราะผมอ่านคำตอบข้อ 1 ถึง 3 ไม่ยักจับจุดทางนิติศาสตร์ได้ คนรู้กฎหมายงูๆ ปลาๆ อย่างผมยังหลงคิดว่าถูกแล้ว แม้กังขาอยู่ในเรื่อง agenda ว่าทำไมเอากรณี “นิติโรส” มาถาม
 
แต่ที่ผมอ่านแล้วสะดุดกึกทันทีคือข้อ 4 นายสุรเจตต้องการให้องค์กรศาลได้รับการตรวจสอบจากผู้แทนของประชาชน แล้ว รศ.ดร.ท่านถามว่า สอดคล้องกับหลักอิสระของผู้พิพากษาอันเป็นหลักย่อยหลักหนึ่งของหลักนิติรัฐหรือไม่ โดยมีธงคำตอบว่า “ขัดหลักนิติรัฐเพราะแทรกแซงอำนาจตุลาการ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมและก่อความไม่สงบสุขในบ้านเมือง”
 
นี่เอาง่ายๆ ไม่ตีความโดยละเอียดเหมือนพุฒิพงศ์ การที่องค์กรศาลถูกตรวจสอบจากผู้แทนประชาชน ถือว่าขัดหลักนิติรัฐ แทรกแซงอำนาจตุลาการ อย่างนั้นหรือครับ ท่านเรียนที่ไหนมา ท่านไม่รู้หรือว่า อเมริกาประธานาธิบดีเสนอชื่อศาลสูง วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ อเมริกาไม่มีหลักนิติรัฐ แทรกแซงอำนาจตุลาการ อย่างนั้นหรือ (ที่จริงเขาเลือกตั้งผู้พิพากษาด้วยซ้ำ) อังกฤษก็มีรัฐมนตรียุติธรรมเป็นประธานศาลฎีกาโดยตำแหน่ง ไม่ต้องแยกออกมาเหมือนบ้านเรา ไม่เห็นมีใครว่าเขาขัดหลักนิติรัฐ
 
ต่อให้ท่านจบ ดร.เมืองไทย ท่านไม่รู้หรือว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 สมัยวุฒิเลือกตั้ง สภาผัวสภาเมียนั่นแหละ
 
ทัศนะของท่านคืออะไร คือผู้พิพากษาตุลาการต้องเป็นเจ้ากรมอิสระ ไม่มีใครตรวจสอบได้ เพราะท่านเป็นผู้วิเศษ เป็นคนดีโดยตำแหน่ง ห้ามผู้แทนประชาชนตรวจสอบ อย่างนั้นหรือ
 
นี่หรือคือหลักนิติรัฐ เป็นอาจารย์กฎหมายเคยเรียนหลักการประชาธิปไตยเบื้องต้นหรือเปล่าว่า อำนาจ 3 ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ล้วนเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน ถ้าอ้างความเป็นอิสระให้ตุลาการล่องลอยอยู่โดยไม่มีที่ยึดโยงกับประชาชน จะถูกหลักนิติรัฐได้อย่างไร
 
ทัศนะประชาธิปไตยนะครับ (เผื่อไม่เคยเรียน) คือความเชื่อว่าเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ธรรมดา มีกิเลส ตัณหา รัก โลภ โกรธ หลง ฉะนั้นไม่มีใครหรอกที่สามารถดำรงตนอยู่ในความบริสุทธิ์สะอาดตลอดกาล ถูกเสมอโดยไม่เคยพลาด ประชาธิปไตยจึงเชื่อว่าทุกคนที่มีอำนาจต้องถูกตรวจสอบ อำนาจแต่ละฝ่ายต้องคานซึ่งกันและกัน
 
ประชาธิปไตยไม่เชื่อว่าใครบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือเป็นฝ่ายถูกต้องโดยกำเนิด โดยชาติตระกูล โดยวุฒิการศึกษา หรือโดยตำแหน่ง ความคิดแบบนั้นคือเทวนิยม ความเชื่อเรื่องผู้วิเศษ ผีสางเทวดา ที่แปลงมาเป็นความเชื่อว่าตุลาการหรือองค์กรอิสระผู้บริสุทธิ์ ล่องลอยมาจากฟากฟ้า ไม่มีสุคติอคติกับใครเขา ดำรงชีวิตอย่างสมถะกินผักกินหญ้า (แต่เงินเดือนเป็นแสน คริคริ) สมควรจะมาชี้ถูกชี้ผิดให้สังคมโดยห้ามวิพากษ์วิจารณ์ให้เป็นมลทิน ห้ามตรวจสอบ ห้ามซักไซ้ (แบบตุลาการรายหนึ่งจะมาเป็นองค์กรอิสระ ไม่ยอมแสดงบัญชีทรัพย์สินให้ผู้แทนประชาชนดู)
 
ตามความรู้งูๆปลาๆ แบบผม เทววิทยาเขามีสอนในมหาลัยต่างประเทศ เมืองไทยไม่มี แต่เทวนิยมสอดแทรกอยู่ทุกปริมณฑลของการศึกษาและวัฒนธรรมไทย ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพนับถือตามจารีต เกรงกลัวยกย่องผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีตำแหน่ง ครอบงำคนไทยตั้งแต่เกิด
 
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่อาจารย์กฎหมายก็มีความคิดเทวนิยม เพียงแต่ท่านควรแยกแยะให้ออกว่าท่านสอนนิติศาสตร์หรือเทววิทยา
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net