Skip to main content
sharethis

 3 โรงงานแบรนด์กีฬาดังกดขี่แรงงานบังกลาเทศ

 
5 มี.ค. 55 - หนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ในอังกฤษ รายงานว่า แรงงานบังกลาเทศที่โรงงานผลิตเสื้อผ้ากีฬาให้แก่ยี่ห้อพูม่า ไนกี้ และอาดิดาส ซึ่งทั้งหมดเป็นสปอนเซอร์กีฬาโอลิมปิกลอนดอนที่จะเปิดฉาก 27 กรกฎาคม ถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย ทั้งถูกทุบตี ด่าทอและคุกคามทางเพศ
 
ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ ร่วมกับองค์กรการกุศล "วอร์ ออน วอนท์" ออกรายงานเชิงสืบสวนระบุว่า แรงงานสองในสามที่ถูกสัมภาษณ์ ที่โรงงานผลิตสินค้าให้พูม่าแห่งหนึ่ง อ้างว่าเคยถูกซ้อม ตบตีและทึ้งผม ด้านแรงงานหญิงจำนวนมากที่โรงงานผลิตสินค้าให้แก่อาดิดาส อ้างว่าพวกเธอถูกบังคับให้ถอด "ดุพัตตา" หรือผ้าคลุมที่ใช้ปกปิดช่วงหน้าอก และแรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้แก่สามยี่ห้อดัง ต้องทำงานยาวนานชั่วโมงโดยได้รับค่าแรงต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
อาดิดาส เป็นผู้สนับสนุนชุดกีฬาโอลิมปิกให้แก่ทีมชาติอังกฤษที่ออกแบบโดยสเตลลา แมคคาร์ตนีย์ ส่วนไนกี้ เป็นสปอนเซอร์ให้แก่ทีมชาติสหรัฐ จีน เยอรมนี และรัสเซีย ขณะที่พูม่าเป็นสปอนเซอร์ให้แก่เจ้าลมกรดจาเมกา ยูเซน โบลต์ และทีมชาติจากหลายประเทศ
 
นายเกรก มัตทิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายขององค์กร วอร์ ออน วอนท์ กล่าวว่า หากบริษัททั้งหลายต้องการได้รับประโยชน์จากการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทีมนักกีฬาและโอลิมปิก จะต้องรับประกันว่า แรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
 
ชิลีเดินขบวนวันสตรีสากล จบ “เดือด” ผู้ชุมนุมปะทะตำรวจวุ่น
 
8 มี.ค. 55  - การเดินขบวนรถรงค์สิทธิสตรีในกรุงซันติอาโก เมืองหลวงชิลี เนื่องในวันสตรีสากล ลงเอยด้วยเหตุชุลมุน เมื่อผู้ประท้วงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล กระทั่งมีการทุบกระจกร้านค้า และวางเพลิงเผาเฟอร์นิเจอร์
นักเคลื่อนไหวชาวชิลีมากกว่า 10,000 คน ร่วมเดินขบวนไปตามท้องถนนในย่านธุรกิจของกรุงซันติอาโก โดยเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมของสตรี    
 
กลุ่มผู้เข้าร่วมครั้งนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มสหภาพแรงงาน และนักสิทธิสตรี ซึ่งมีการเสนอข้อเรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการเมือง และยึดเก้าอี้ ส.ส. ในรัฐสภาให้มากยิ่งขึ้น   
   
เหตุการณ์เป็นไปด้วยความสงบจนกระทั่งมีกลุ่มผู้ประท้วงพยายามเคลื่อนย้ายรั้วกั้นที่ตั้งอยู่รอบทำเนียบประธานาธิบดี จึงเริ่มมีการปะทะกับตำรวจ
 
ทางการยิงแก๊สน้ำตาและปืนแรงดันน้ำใส่มวลชน ในขณะที่ผู้ประท้วงบางรายเข้าทุบกระจกร้านค้า และจุดไฟเผาเฟอร์นิเจอร์
 
ทั้งนี้ ผู้ประท้วงยังระบุว่า สถาบันด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมในชิลี ล้วนสนับสนุนให้ผู้ชายเป็นใหญ่ และส่งเสริมความไม่เท่าเทียมทางเพศ
 
กฎหมายแรงงานใหม่ในพม่าที่ให้สิทธิ์พนักงานก่อตั้งสหภาพแรงงาน และจัดการนัดหยุดงาน มีผลบังคับใช้แล้ว
 
11 มี.ค. 55 - หนังสือพิมพ์ นิวไลต์-ออฟ เมียนมาร์ ของรัฐของพม่า รายงานเมื่อวานนี้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคบใช้เมื่อวันศุกร์ และว่ากระทรวงแรงงานของพม่า จะควบคุมดูแลการนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ในทางปฏิบัติ
 
ประธานาธิบดีเต็งเส่งแห่งพม่า ลงนามรับรองกฎหมายฉบับนี้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปต่างๆ หลังช่วงหลายทศวรรษของการกดขี่
 
กฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตให้พนักงานก่อตั้งสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกอย่างน้อย 30 คน และจัดการนัดหยุดงาน หากพวกเขาแจ้งล่วงหน้า 14 วัน และให้รายละเอียดต่างๆ อย่างการนัดหยุดงานจะดำเนินไปกี่วัน จะมีพนักงานกี่คนเข้าร่วม และจะนัดหยุดงานในลักษณะใด
 
นายจ้างที่ไล่พนักงานออกฐานนัดหยุดงาน หรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จะต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี และปรับอีก 1 แสนจ๊าต หรือ 125 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 3,820 บาท
 
ส่วนพนักงานที่จัดการนัดหยุดงานโดยผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี และปรับอีก 3 แสนจ๊าต หรือ 38 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,161 บาท
 
สเปน..เดินขบวนประท้วงการปฏิรูปแรงงาน
 
12 มี.ค. 55 - ชาวสเปนหลายพันคนเดินขบวนผ่านท้องถนนใจกลางกรุงมาดริด เพื่อประท้วงการปฏิรูปด้านแรงงานใหม่ที่เข้มงวด และการปรับลดการใช้จ่าย
 
การเดินขบวนเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมของพลังมวลชน ตามเมืองต่างๆ 60 เมืองทั่วประเทศสเปนเมื่อวานนี้ ตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่สำคัญต่างๆของประเทศ เพื่อประท้วงการปฏิรูปและมาตรการคว่ำบาตรต่างๆที่เพิ่งผ่านการอนุมัติ
การปฏิรูปซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลเมื่อเดือนที่แล้ว และได้รับการยืนยันจากรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา จะปรับลดค่าใช้จ่ายในการปลดพนักงานออก และผ่อนคลายเงื่อนไขที่พนักงานจะถูกปลดออก
 
แบรนด์ดังเรียกร้องกัมพูชาหาตัวคนผิดเหตุยิงแรงงาน
 
12 มี.ค. 55 - บริษัทสินค้าชื่อดังจากต่างชาติแสดงความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. เมื่อมือปืนคนหนึ่งยิงปืนใส่กลุ่มแรงงานหลายพันคนที่กำลังชุมนุมประท้วงเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้นตามโรงงานต่างๆ ในจ.สวายเรียง
 
ขณะเดียวกัน นายจุก บันดิธ ผู้ว่าการเมืองบาเว็ต ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ได้ถูกย้ายออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังไม่ถูกจับกุมตัวและไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดในตอนนี้ 
  
"ระหว่างเกิดเหตุจลาจล แรงงานหญิง 3 คนของบริษัท Kaoway Sports ที่ผลิตสินค้าให้กับพูม่า ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บ" บริษัทสินค้าแบรนด์ดัง ที่รวมทั้ง บริษัท American Eagle Outfitters บริษัท The Jones Group และบริษัท Columbia Sportswear ได้ร่วมลงนามระบุในเอกสารฉบับหนึ่งที่ส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เมื่อวันที่ 9 มี.ค. และเนื้อความในเอกสารยังได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลกัมพูชาดำเนินการสืบสวนอย่างเต็มรูปแบบ และจับกุมตัวผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ทำให้แรงงานได้รับบาดเจ็บ
 
หลังจากปัญหาถูกปิดเงียบในช่วงแรก จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลระบุว่านายจุก บันดิธ จะถูกนำตัวเข้าสอบปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงกลุ่มผู้ประท้วง
 
"ศาลออกหมายเรียกนายจุกให้เข้าให้การในวันที่ 16 มี.ค.นี้" อัยการศาลจ.สวายเรียง กล่าว
 
ทั้งนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นแหล่งรายได้หลักจากต่างชาติของประเทศและมีการจ้างงานแรงงานมากกว่า 300,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง และความตึงเครียดระหว่างพนักงานและเจ้าของกิจการเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เมื่อแรงงานหลายหมื่นคนผละงานประท้วงจนกระทั่งรัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนและจัดการเจรจาหารือกับบริษัทผู้ผลิต.
 
ชาวสวิสหยั่งเสียง "ไม่เอาวันหยุดเพิ่ม" หลังผลลงประชามติเห็นด้วยถึง 66.5%
 
12 มี.ค. 55 - ประชาชนชาวสวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธข้อเสนอจากทางการในการมีวันหยุดประจำปีเพิ่ม หลังผลการลงประชามติปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ขอมีวันหยุดเพิ่ม
 
โดยแผนดังกล่าว เสนอให้ผู้ใช้แรงงานทั่วไปสามารถหยุดได้ถึง 6 สัปดาห์ต่อปีจากเดิม 4 สัปดาห์  ขณะที่ภาคธุรกิจออกมาเตือนว่า หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลต่อภาคธุรกิจอย่างใหญ่หลวง  ทั้งนี้ผลการลงประชามติพบว่า ผู้ออกเสียงร้อยละ 66.5 ปฏิเสธแผนดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 33.5 ยอมรับแผนดังกล่าว โดยทำเนียบรัฐบาลที่กรุงเบิร์น เผยว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิที่ร้อยละ 45
 
นอกจากนั้น ทางการเมืองเจนีวา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้จัดให้มีการลงประชามติ เพื่ออนุมัติให้มีการควบคุมการชุมนุมประท้วงอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น  โดยกฎใหม่จะยินยอมให้มีการปรับผู้กระทำผิดสูงถึง 100,000 ฟรังค์ หากไม่ขอยื่อเรื่องเพื่อจัดการประท้วงล่วงหน้าหรือพบว่ามีการกระทำผิดกฎใดๆ  โดยมีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยถึงร้อยละ 55
 
ด้านสมาคมนายจ้างสวิส (เอสบีเอ) ออกมาแสดงความยินดีต่อผลดังกล่าว โดยระบุว่า ผู้ลงคะแนนเริ่มตระหนักแล้ววว่า บางเรื่องที่ดูเหมือนจะดีในตอนแรก แต่เมื่อมองอย่างใกล้ชิด กลับมีข้อเสียจำนวนมาก ทั้งนี้ หากแผนดังกล่าวได้รับการตอบรับ ฝ่ายนายจ้างจากภาคธุรกิจกว่า 300,000 แห่งทั่วประเทศ จะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มอีกราว 6,000 ล้านฟรังค์สวิส (ปะมาณ 198,000 ล้านบาท)
 
สวิตเซอร์แลนด์มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสมาพันธรัฐ ฉะนั้นแต่ละรัฐจะมีรัฐธรรมนูญ กฎ และกติกาเป็นของตนเอง ถ้าเป็นเรื่องของชุมชนก็จะมีการทำประชามติเฉพาะในเมืองหรือในรัฐนั้นๆ ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนทั้งประเทศ ก็จะทำประชามติร่วมกัน ด้วยระบบสหพันธรัฐทำให้เปิดโอกาสให้ทำประชามติได้บ่อยครั้ง แยกย่อยออกไป ดังนั้น การลงประชามติถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยของสวิตเซอร์แลนด์
 
โดยชาวสวิสจะมีส่วนในการร่วมลงประชามติหากว่ารัฐบาลต้องการแก้หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย งบประมาณ หรือประเด็นอื่นๆ หากว่ามีประชาชนมากกว่า 100,000 คนร่วมลงชื่อ หากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวควรมีการพิจารณา
 
"ดิสนีย์" เล็งจ้าง "ทหารผ่านศึก" กว่า 1,000 คนเข้าทำงาน
 
14 มี.ค. 55 - ดิสนีย์เปิดเผยเรื่องดังกล่าวในงานประชุมประจำปีผู้ถือหุ้น ที่เมืองแคนซัส ซิตี้  ซึ่งมีการเปิดตัวโครงการ "ฮีโรส์ เวิร์ค เฮียร์" (Heroes Work Here) และจะลงทุนในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือเอ็นจีโอ เพื่อจัดการฝึกอบรมและบริการด้านต่างๆให้กับเหล่าทหารผ่านศึก
 
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ทหารผ่านศึกจำนวนหนึ่งที่ไปประจำอยู่ในต่างแดน กำลังจะเดินทางกลับสหรัฐฯ และกลับมาใช้ชีวิตแบบพลเรือน หลังจากสหรัฐ ลดบทบาททางทหารในอัฟกานิสถาน
 
ดิสนีย์เผยว่า  จะจ้างทหารผ่านศึกของกองทัพสหรัฐฯ อย่างน้อย 1,000 คน เข้าร่วมงานในอีก 3 ปีข้างหน้า นายโรเบิร์ต ไอเกอร์ ประธานดิสนีย์ กล่าวว่า จะมีทหารสหรัฐฯทั้งหญิงและชาย ที่เคยเสียสละตนเองให้ประเทศชาติ ที่กำลังจะกลับมาใช้ชีวิตแบบพลเรือน นี่จึงทำให้ดิสนีย์ต้องออกมาสนับสนุนให้พวกเขาได้มีงานทำต่อไป ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนครอบครัวของทหารเหล่านั้น
 
ดิสนีย์  ระบุด้วยว่า การสนับสนุนครั้งนี้ ถือเป็นดัชนีชี้วัดว่า ชาวโลกจะเคารพและจริงใจกับเหล่าทหารมากน้อยแค่ไหน จากการที่พวกเขาเสียสละเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด
 
การจ้างงานครั้งนี้ จะครอบคลุมหลายบริษัทในเครือของวอลท์ ดิสนีย์ ที่รวมถึง สถานีโทรทัศน์กีฬาอีเอสพีเอ็น, ช่องดิสนีย์-เอบีซี เทเลวิชัน กรุ๊ป, ดิสนีย์ คอนซูเมอร์ โปรดักส์, เดอะ วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ และดิสนีย์ พาร์ค แอนด์ รีสอร์ท
 
กระทรวงแรงงานสิงคโปร์เผยอัตราว่างงานปี 2554 ต่ำสุดในรอบ 14 ปี
 
15 มี.ค. 55 - กระทรวงแรงงานสิงคโปร์เปิดเผยว่า อัตราว่างงานของสิงคโปร์ดีขึ้น โดยในเดือนม.ค. อัตราว่างงานในภาพรวมลดลงเหลือ 2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดรอบ 14 ปี ขณะที่ตลาดแรงงานตึงตัว ส่วนอัตราว่างงานของประชากรสิงค์โปรอยู่ที่ 3% ในเดือนเดียวกัน
 
สำหรับการจ้างงานในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 37,600 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับ 31,900 ตำแหน่งในไตรมาสก่อน ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการจ้างงานในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง โดยอัตราการจ้างงานตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 3.9% เป็น 122,600 ตำแหน่ง
 
กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า การจ้างงานท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 1.9% ในปี 2554 ต่ำกว่าตัวเลขในปี 2553 ซึ่งขยายตัว 2.9% เนื่องมาจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงของจำนวนประชากรสิงค์โปร์ และประชากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีงานทำแล้ว
 
การจ้างงานชาวต่างชาติที่อยู่ในสิงค์โปร์เพิ่มขึ้น 7.6% ในปี 2554 เมื่อเทียบกับจำนวนที่เพิ่มขึ้น 5.7% ในปี 2553 ซึ่งตอบรับกับความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ในเดือนธ.ค. มีชาวต่างชาติที่ถูกจ้างงาน 1.2 ล้านคน คิดเป็น 32.8% ของการจ้างงานทั้งหมด
 
ด้านความสามารถในการผลิตของภาคแรงงานในไตรมาส 4 ลดลง 0.4% หลังจากปรับตัวสูงขึ้น 2% ในไตรมาส 3 และตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ความสามารถในการผลิตของภาคแรงงานสูงขึ้น 1% หลังเคยปรับตัวสูงมากถึง 11% ในปี 2553
ทั้งนี้ ความสามารถในการผลิตของภาคแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นปานกลางเป็นผลจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ชะลอตัวลง ขณะที่มีการสร้างงานอย่างแข็งแกร่ง สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
สหภาพแรงงานในโปรตุเกสเริ่มผละงานประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล
 
22 มี.ค. 55 - สหภาพแรงงานในโปรตุเกสทั้งภาคการขนส่ง และรักษาความสะอาดตาม ท้องถนน ร่วมผละงานประท้วงครั้งใหญ่ในรอบ 4 เดือน เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดและนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยการผละงานประท้วงจะมีขึ้นเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในวันนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขนส่ง คาดว่าจะมีการผละประท้วงในกรุงลิสบอน และในอีกหลายเมืองใหญ่ด้วย.
 
ตำรวจกับผู้ประท้วงปะทะกันในโปรตุเกส
 
23 มี.ค. 55 - ตำรวจและผู้ประท้วงชาวโปรตุเกส ได้ปะทะกันอันเนื่องมาจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลและการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยเป็นพวกที่แตกกลุ่มออกจากคนที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงลิสบอน และมีผู้สื่อข่าว 2 คน จากสำนักข่าว 2 แห่ง ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงทำร้าย เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาด้วย
 
สื่อออนไลน์ส เช่น จอร์นัล เด โนติเซียส ได้เผยแพร่ภาพที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สื่อข่าวหญิงชาวโปรตุเกส ที่ทำงานให้กับสำนักข่าว AFP ถูกเจ้าหน้าที่ตีด้วยกระบอง ส่วนสำนักข่าวลูซ่า ของทางการโปรตุเกส ได้ประท้วงที่ตำรวจเอากระบองตีช่างภาพในสังกัดคนหนึ่ง หลังจากเขานอนลงกับพื้นและบอกว่าเป็นผู้สื่อข่าว ซึ่งต่อมาเขาได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
 
ด้านโฆษกหญิงของกรมตำรวจ เปิดเผยว่า ได้มีการปะทะกันไม่รุนแรงนัก ระหว่างตำรวจกับช่างภาพและผู้ประท้วงที่ต่างก็ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย และผู้ประท้วงที่ปะทะกับตำรวจอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว
 
มีประชาชนหลายหมื่นคน ได้ออกไปประท้วงต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล เมื่อวันพฤหัสบดี แต่ได้มีกลุ่มที่แตกออกไปเป็นกลุ่มย่อย ๆ ปะทะกับตำรวจที่กรุงลิสบอนและปอร์โต บางคนขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ตำรวจ และขว้างไข่ใส่ธนาคารในกรุงลิสบอนด้วย
 
ผู้นำของสหภาพการค้า CGTP ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ระบุว่า การประท้วงต่อต้านรัฐบาล ถูกจัดขึ้นที่ 35 เมืองใหญ่ และผลกระทบจากการประท้วงครั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับภาคการขนส่ง การให้บริการรถไฟใต้ดินในกรุงลิสบอนถูกปิด ส่วนการให้บริหารรถไฟใต้ดินในเมืองปอร์โตและเรือโดยสารข้ามแม่น้ำทากัส ในกรุงลิสบอน เกือบจะเป็นอัมพาต
 
การให้บริการรถไฟและรถประจำทาง ถูกรบกวนอย่างหนัก สนามบินยังคงให้บริการ แต่มีการจราจรติดขัดในกรุงลิสบอน และอีกหลายเมือง ถนนหลายสายเต็มไปด้วยขยะการให้บริการไปรษณีย์หยุดชะงัก แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล โรงเรียนและระบบยุติธรรม
 
ภายใต้แผนการปฏิรูปของรัฐบาล จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะจะทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถจ้างหรือปลดพนักงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งตัดวันพักร้อนของลูกจ้างของรัฐและรายจ่ายต่าง ๆ ของรัฐบาล
 
นายกรัฐมนตรีเปรโด ปาสซอส โคเอลโฮ กำลังพยายามจะทำให้ได้ตามเงื่อนไขที่สหภาพยุโรป หรือ อียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กำหนดไว้ หลังจากยอมอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่โปรตุเกส จำนวน 78,000 ล้านยูโร หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลโปรตุเกส คาดว่า ตัวเลขการว่างงานในปัจจุบันที่อยู่ที่ 14 เปอร์เซ็นต์ จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นขณะที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหดไปอยู่แค่ 3.3 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้
 
ค่าแรงงานในจีนที่สูงขึ้นกำลังเป็นปัญหาของบริษัทอเมริกัน
 
24 มี.ค. 55 - สหรัฐซึ่งเคยร้องเรียนเรื่องค่าแรงงานถูกในจีนกระทบต่อการผลิตในประเทศมาหลายทศวรรษ ขณะนี้กำลังประสบปัญหาผลกระทบจากค่าแรงงานในจีนปรับสูงขึ้น
 
บริษัทอเมริกันพากันย้ายฐานการผลิตไปจีนเพื่อหาประโยชน์จากแรงงานราคาถูกทำให้บริษัทมีกำไรจำนวนมาก แต่ขณะนี้มีสัญญาณแล้วว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะหมดไป ไนกี้ ผู้ผลิตรองเท้ากีฬายักษ์ใหญ่ของสหรัฐแจ้งเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ไตรมาสนี้มีกำไรมากกว่าไตรมาสก่อน แต่ราคาหุ้นของบริษัทเมื่อวันศุกร์กลับลดลง นักลงทุนลดมูลค่าบริษัทลง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) เพราะกำไรเบื้องต้นของบริษัทลดลง เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในจีนสูงขึ้นและต้นทุนวัสดุแพงขึ้น
 
นักวิเคราะห์ของบริษัทการลงทุนเตือนว่า ค่าจ้างในจีนมีแต่จะปรับขึ้นไปเรื่อย ๆ นับจากนี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่และปัญหาในระยะยาว ค่าแรงในเขตอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อปีก่อน และร้อยละ 11 ในปีก่อนหน้านั้น ล่าสุดทางการนครเซี่ยงไฮ้ประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกร้อยละ 13 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานก่อเหตุประท้วง
นักวิเคราะห์ชี้ว่า บริษัทอเมริกันที่ลงทุนในจีนเหลือทางเลือกไม่กี่อย่างคือ ยอมรับผลกำไรที่ลดลง ผลักภาระไปให้ผู้บริโภค หรือหาทางลดต้นทุนค่าแรง หลายบริษัทเริ่มมองหาแหล่งผลิตเสริมเช่น ภาคตะวันตกของจีน ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียเพื่อกระจายฐานการผลิต โดยไม่ละทิ้งตลาดจีนที่มีกำลังการซื้อสูง.
 
รัฐบาลอิตาลีอนุมัติมาตรการปฏิรูปแรงงาน มุ่งหนุนศก.-ตลาดแรงงานฟื้นตัว
 
24 มี.ค. 55 - รัฐบาลอิตาลีอนุมัติมาตรการปฏิรูปแรงงานแล้วในช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทย และจะยื่นต่อรัฐสภาเพื่อลงมติในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังตกอยู่ในภาวะชงักงัน ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและเพื่อลดอัตราว่างงาน
 
ภายใต้มาตรการปฏิรูปแรงงานฉบับใหม่นี้ รัฐบาลอิตาลีจะสนับสนุนให้บริษัทเอกชนลงทุนในด้านการฝึกฝนบุคลากร และมีคำสั่งให้บริษัทเอกชนทำสัญญาจ้างงานระยะยาวสำหรับพนักงาน ขณะเดียวกันก็จะใช้บทลงโทษบริษัทที่พยายามจะทำสัญญาจ้างงานในระยะสั้น
 
นายเอลซา ฟอร์เนโร รมว.แรงงานอิตาลีเชื่อมั่นว่า มาตรการปฏิรูปแรงงานจะสามารถสร้างงานให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน อันเป็นผลมาจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
 
การอนุมัติมาตรการปฏิรูปแรงงานของอิตาลีมีขึ้นไม่นานหลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยุโรปจะหดตัวลงราว 0.3% ในปี 2555 ตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 0.5% เนื่องจากเศรษฐกิจอิตาลีและสเปนมีแนวโน้มหดตัวลง 1.3% และ 1% ตามลำดับ
 
เฟซบุ๊คเตือนนายจ้างห้ามขอพาสเวิร์ดผู้สมัครงาน
 
24 มี.ค. 55 - เอริน เอแกน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊ค บริษัทเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยม ได้ออกมาเตือนบรรดานายจ้าง มิให้ขอพาสเวิร์ดเข้าดูบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊คของผู้สมัครงาน หรือพนักงานในองค์กร เนื่องจากถือเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวทั้งของผู้ใช้และเพื่อนผู้ใช้บัญชีนั้น พร้อมขู่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ละเมิดนโยบายห้ามแชร์พาสเวิร์ด ที่บริษัทยึดมั่นมานาน
 
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้สมัครงานจำนวนหนึ่งได้รับการร้องขอให้เปิดเผยพาสเวิร์ดบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊คในระหว่างสัมภาษณ์งาน เพื่อให้ว่าที่นายจ้าง ได้เข้าไปตรวจสอบปูมหลังของพวกเขาได้
 
เอแกน กล่าวเตือนว่า นายจ้างอาจถูกกล่าวหาได้ว่าเลือกปฏิบัติ หากพิสูจน์ได้ว่านายจ้างตัดสินใจไม่จ้างงาน หลังเห็นข้อมูลส่วนตัวจากเฟซบุ๊คผู้สมัคร เช่น รสนิยมทางเพศ หรือการเป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
 
"ในฐานะผู้ใช้ คุณไม่ควรจำยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการสื่อสาร เพียงเพื่อจะได้งาน และในฐานะเพื่อนของผู้ใช้คนนั้น ก็ไม่ควรจะต้องมากังวลว่า ข้อมูลส่วนตัวและการสื่อสาร จะถูกนำไปเปิดเผยแก่คนที่คุณไม่รู่จักและไม่ประสงค์จะแบ่งปัน เพียงเพราะผู้ใช้คนนั้นอยากได้งาน"หัวหน้าฝ่ายนโยบายของเฟซบุ๊คกล่าว
 
ทั้งนี้ การห้ามแชร์พาสเวิร์ด เป็นหลักการพื้นฐานของหลักปฏิบัติในโลกออนไลน์ ซึ่งนอกจากความวิตกด้านการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังถือเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้วย
 
ด้านแอนดรูว์ นอยส์ โฆษกของเฟซบุ๊ค กล่าวว่า การที่นายจ้างขอพาสเวิร์ดจากผู้สมัครงาน ไม่ใช่เรื่องถูกต้องอย่างแน่นอน แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนจะดำเนินการทางกฎหมายกับนายจ้างคนใด แต่บริษัทกำลังหารือกับผู้กำหนดนนโยบายและผู้ถือหุ้น เพื่อช่วยปรับปรุงคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ให้รัดกุมมากขึ้น
 
ฝรั่งเศสเผยยอดว่างงานสูงสุดรอบกว่า 12 ปี
 
27 มี.ค. 55 - จำนวนคนว่างงานในฝรั่งเศส เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันในเดือนก.พ.สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2542 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความพยายามของประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีในการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัย ที่ 2 ในการเลือกตั้ง 2 รอบในเดือนเม.ย.และพ.ค.
 
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานฝรั่งเศสบ่งชี้ว่า จำนวนคนหางานที่ขึ้นทะเบียนในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 6,200 รายในเดือนก.พ. สู่ 2.868 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน และ 6.2% เมื่อเทียบรายปี
 
ข้อมูลของกระทรวงแรงงานฝรั่งเศส เป็นตัวบ่งชี้การจ้างงานในประเทศที่มีการรายงานบ่อยที่สุด แม้ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) หรือแสดงอัตราการว่างงานของจำนวนผู้หางานทำเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมด
 
พนง.สนามบินเยอรมนีประท้วง ยกเลิกกว่า 400 เที่ยวบิน
 
27 มี.ค. 55 - สายการบินลุฟธันซ่า แห่งชาติเยอรมนี ต้องทำการยกเลิกเที่ยวบินกว่า 400 เที่ยวในวันนี้ จากเดิมกว่า 1800 เที่ยว ขณะที่สายการบินแอร์ เบอร์ลิน ต้องยกเลิกเที่ยวบิน ไปเกือบ10 เที่ยว หลังจากพนักงานภาคพื้นดินในสนามบินแฟรงเฟริ์ต และอีกหลายสนามบินในเมืองใหญ่ทั่วเยอรมนี เช่น มิวนิค ดุสเซนดอฟ โคโลญจน์ เบอร์ลิน สตุตการ์ต พร้อมใจกันผละงานประท้วง ส่งผลให้ผู้เดินสารตกค้างจำนวนมาก
 
การนัดผละงานประท้วงมีขึ้นจากการที่พนักงานภาคพื้นดินที่อยู่ในกลุ่มของสหภาพแรงงาน Verdi ไม่พอใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทน ในการทำงาน โดยพวกเขาต้องการเรียกร้องให้สหภาพขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน 3.3 % ภายใน 24 เดือนข้างหน้า ซึ่งการเจรจารอบใหม่ระหว่างพนักงานและผู้บริหาร มีกำหนดในวันพุธและพฤหัสบดีนี้
 
ก่อนหน้านี้ การผละงานประท้วงเรียกร้องค่าจ้างการตอบแทนที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลายล้านยูโร
 
เลขาธิการ OECD ชื่นชมอิตาลีคืบหน้าปฏิรูปตลาดแรงงาน
 
28 มี.ค. 55 - นายอังเกล กูร์เรีย เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) แสดงความยินดีกับรัฐบาลอิตาลีในการริเริ่มการประชุมรัฐสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการปฏิรูปตลาดแรงงาน
 
นายกูร์เรียกล่าวในรายงานว่า "โครงการปฏิรูปตลาดชุดใหม่นี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลจัดการปัญหาหลักในตลาดแรงงานอิตาลี พร้อมกันนี้นายกูร์เรียยังเน้นย้ำว่า การปฏิรูปตลาดแรงงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมแผนงานอื่น ๆ เช่น การปรับระบบเงินบำนาญ และการปฏิรูปให้เกิดการแข่งขัน
 
นอกจากนี้เลขาธิการ OECD ยังเสริมด้วยว่าการปฏิรูปนี้ "จะช่วยกระตุ้นการสร้างงานในประเทศอิตาลี ลดอัตราการว่างงาน และเสริมสร้างการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว"
 
เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐบาลอิตาลีให้ความเห็นชอบโครงการปฏิรูปตลาดชุดใหม่ที่ประเทศตั้งตารอมานาน และจะนำโครงการดังกล่าวส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้การปฏิรูปตลาดแรงงานเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการปกป้องตำแหน่งงานมาเป็นการปกป้องตลาดแรงงาน และพาดพิงปัญหาภายในตลาดแรงงานอิตาลีที่มีมานานแล้ว ซึ่งรวมถึงปัญหาอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานหญิงที่ต่ำและปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นมายาวนาน สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
ลาวขีดเส้นตาย 31 มี.ค. แรงงานต่างชาตินับหมื่นขึ้นทะเบียน
 
28 มี.ค. 55 - ทางการลาวได้กำหนดเส้นตายให้แรงงานต่างชาตินับหมื่นๆ คนที่ทำงานในลาวอย่างผิดกฎหมายได้ไปขึ้นทะเบียนกับกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมภายในวันที่ 31 มี.ค.ศกนี้ มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษตามกฎหมาย
 
ในขณะที่มีชาวลาวกว่า 200,000 คน ไปขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังมีชาวต่างชาติอีกกว่า 20,000 คน ทำงานอย่างผิดกฎหมายในลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพนักงานลูกจ้างของบริษัทธุรกิจหรือในสถานประกอบการต่างๆ
จนถึงปีที่แล้วมีชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตไปขึ้นทะเบียนเพียง 4,351 คนเท่านั้น สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงานอ้างการเปิดเผยของนายคำขัน พินสะหวัน อธิบดีกรมแรงงาน
 
สถานประกอบการใดที่ไม่นำแรงงานต่างชาติไปขึ้นทะเบียนตามวันที่กำหนด "จะต้องโทษปรับหรือโทษสถานอื่นๆ ตามข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 136 และ ประกาศของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมฉบับที่ 5418" นายคำขันกล่าว
 
สื่อทางการรายงานก่อนหน้านี้ว่าชาวต่างชาติที่ทำงานในลาวอย่างผิดกฎหมายมากที่สุดเป็นชาวจีน ชาวเวียดนาม ชาวไทย ตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีพลเมืองของประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งจากมาเลเซีย พม่าและบังกลาเทศ ด้วย
ปัจจุบันลาวมีแรงงานในวัยทำงานอายุระหว่าง 16-65 ปี จำนวน 3.7 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดประมาณ 6 ล้าน แรงงานส่วนใหญ่คือ 76.6% อยู่ในภาคการเกษตรและป่าไม้ 15.6% ในภาคบริการ มีเพียง 7.8% ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ลาวตั้งเป้าเปลี่ยนเศรษฐกิจที่พึ่งพาการเกษตรเป็นหลักให้ประเทศอุตสาหกรรมผลิตสินค้าส่งออก
คิดเป็นจำนวนตัวเลข ปัจจุบันมีแรงงานกว่า 300,000 คน ทำงานในภาคธุรกิจแขนงต่างๆ และ เกือบ 167,100 คนทำงานในภาครัฐบาล นายคำหล่า ลอลอนสี ประธานศูนย์กลางสหพันธ์กรรมบาลลาวเปิดเผยบตัวเลขเหล่านี้ ระหว่างการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศในเดือน ก.ย.2554
 
กฎหมายของลาวสงวนตำแหน่งงานเกือบทุกประเภทให้แก่ประชาชนลาว แต่อนุญาตให้ธุรกิจแขนงต่างๆ สามารถนำเข้าแรงงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ ตำแหน่งที่ขาดแคลนได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากทางการ.
 
รบ. "ฮ่องกง" ชนะอุทธรณ์ แม่บ้านต่างด้าวชวดสิทธิ์พำนักถาวร
 
29 มี.ค. 55 - บีบีซี รายงานว่า รัฐบาล ฮ่องกง ชนะอุทธรณ์ ขอยกเลิกคำตัดสินของศาลซึ่งระบุว่าแม่บ้านต่างด้าวมีสิทธิ์พำนักอยู่ในฮ่องกงได้อย่างถาวร
 
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลสูงฮ่องกงกล่าวว่า การปฏิเสธไม่ให้แม่บ้านต่างชาติมีสิทธิ์พำนักในฮ่องกงขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกฎหมายฮ่องกงระบุว่า ชาวต่างชาติมีสิทธิ์พำนักได้อย่างถาวรหากอยู่ในฮ่องกงครบ 7 ปี
รัฐบาลฮ่องกงยื่นอุทธรณ์ตอบโต้ เนื่องจากเกรงว่าแม่บ้านต่างชาติกว่า 100,000 คนจะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวความเคลื่อนไหวดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคดีของ เอบานเคลีน บาเนา บาเยโคส์ แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์
 
ศาลอุทธรณ์กล่าวในคำพิพากษาว่า การตัดสินใจมอบสถานะผู้พำนักถาวรให้แก่ชาวต่างชาติขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐบาล
ด้าน มาร์ค ดาลีย์ ทนายของบาเยโคส์ กล่าวว่า เขาอาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาของฮ่องกงต่อไป
 
สเปนเดินเครื่องผละงานประท้วง ค้านแผนปฏิรูปแรงงาน-มาตรการรัดเข็มขัด
 
29 มี.ค. 55  - แรงงานสเปนเริ่มผละงานประท้วงใหญ่เป็นเวลา 24 ชั่วโมง วันนี้ (29 มี.ค.) เพื่อคัดค้านกฎหมายฉบับใหม่ที่ช่วยให้สถานประกอบการเลิกจ้างแรงงานได้ง่ายขึ้น ในช่วงที่อัตราการว่างงานสูง และมาตรการรัดเข็มขัดมีผลบังคับใช้
วันนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการประท้วงใหญ่ต่อต้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี มาริอาโน ราฮอย เพียง 3 เดือน หลังจากราฮอยได้รับเลือกตั้งด้วยคำมั่นสัญญาที่จะแก้ปัญหาอัตราว่างงานที่สูงเฉียด 23 เปอร์เซ็นต์ และคืนเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจสเปน
 
ตั้งแต่ช่วงเช้า ตำรวจสเปนจับกุมผู้ประท้วงไปแล้ว 58 ราย และยังเกิดเหตุปะทะประปราย มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยจำนวนหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยสเปนเปิดเผย
 
สหภาพแรงงาน อูเคเต (UGT) และเซเซโอโอ (CCOO) ต่างเรียกร้องการประท้วงทั่วประเทศใน 100 เมือง และประณามกฎหมายปฏิรูปแรงงานที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งช่วยให้สถานประกอบการจ่ายเงินชดเชยสำหรับการปลดพนักงานน้อยลง และสามารถลดค่าแรงได้สะดวกขึ้น
 
รัฐบาลอนุรักษนิยมของพรรคป๊อบปูลาร์ ปาร์ตี้ อธิบายว่า กฎหมายฉบับใหม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแก้ปัญหาอัตราการว่างงาน 22.85 เปอร์เซ็นต์ ของสเปน ซึ่งมีการประเมินว่าอาจถึง 24.3 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีนี้
 
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ชุมนุมอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากรัฐบาลมีข้อตกลงกับสหภาพแรงงานว่า ระหว่างการผละงานประท้วง รถบริการสาธารณะอย่างน้อย 1 ใน 3 ต้องให้บริการตามปกติ และอีกสาเหตุหนึ่ง ผู้คนอาจลังเลที่จะผละงาน เพราะจะทำให้สูญเสียค่าแรงสำหรับวันนี้ไป
 
ในวันศุกร์ (30) รัฐบาลสเปนมีกำหนดอนุมัติงบประมาณประจำปี 2012 พร้อมทั้งมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ที่จะช่วยลดการขาดดุลให้เหลือ 5.3 เปอร์เซ็นต์ จากปีที่แล้วซึ่งสูงถึง 8.51 เปอร์เซ็นต์ แม้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศมาตรการรัดเข็มขัดมูลค่า 8,900 ล้านยูโร และขึ้นภาษีที่จะหารายได้เข้ารัฐอีก 6,300 ล้านยูโร ไปแล้วก็ตาม
 
"แอปเปิล-ฟ็อกซ์คอนน์" พบ"ละเมิดสิทธิแรงงาน"จริง ยืดอกรับเตรียมรื้อระบบครั้งใหญ่
 
29 มี.ค. 55 - ผู้ตรวจสอบความเป็นธรรมด้านแรงงานของแอปเปิล ออกรายงานสภาพการทำงานของโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ ในจีนละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรงหลายประการ ขณะที่แอปเปิลให้คำมั่นจัดการปัญหาต่างๆโดยเร็ว
 
ขณะที่แอปเปิลเปิดเผยวานนี้ (29 มี.ค.) ว่า  ยินดีทำงานร่วมกับฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของแอปเปิล อาทิ ไอโฟนและไอแพด เพื่อจัดการปัญหาค่าจ้างและปัญหาการละเมิดสภาพการทำงานที่โรงงานหลายแห่งในจีน  โดยฟ็อกซ์คอนน์เตรียมประกาศการจ้างงานเพิ่มอีกหลายหมื่นตำแหน่ง เพื่อลดการทำงานล่วงเวลา และเพื่อปรับปรุงข้อบังคับด้านความปลอดภัยในการทำงาน  รวมถึงปรับปรุงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย และเรื่องอื่นๆ
 
ผู้ตรวจสอบของสมาคมเพื่อความเป็นธรรมด้านแรงงาน (เอฟแอลเอ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตรวจสอบการทำงานของบริษัทของสหรัฐฯในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เผยแพร่รายงานที่มีเนื้อหาเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เกี่ยวกับสภาพการทำงานภายในโรงงานของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของแอปเปิล อิงค์ ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมไอทีของสหรัฐฯ
 
ทั้งนี้ รายงานหลายสิบหน้ากระดาษ ที่ทำการศึกษาโรงงาน 3 แห่งของฟ็อกซ์คอนน์ รวมถึงเจ้าหน้าที่และพนักงานรวม 35,000 คน บ่งชี้ว่า ฟ็อกซ์คอนน์ ละเมิดสิทธิด้านแรงงานที่สำคัญหลายประการ รวมทั้งการทำงานล่วงเวลาที่มากเกินกว่าจะยอมรับได้ ค้างค่าแรง และเงินเดือน ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน
 
รายงานของเอฟแอลเอ ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังที่แอปเปิล จ้างมาตรวจสอบบัญชีและตรวจสอบซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า พนักงานมากกว่าร้อยละ 60  ได้รับค่าแรงไม่เพียงพอกับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน รายได้เฉลี่ยแต่ละเดือน ตามโรงงานเหล่านี้ อยู่ที่ 2,257 หยวน ในเมืองเฉิงตู หรือประมาณ 10,000 บาท จนถึง 2,872 หยวน หรือประมาณ 13,000 บาท ในเมืองกวนหลัน อีกทั้งในช่วงที่มียอดการผลิตสูงสุด พนักงานยังต้องทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ย
 
คณะตรวจสอบของเอฟแอลเอ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้านแรงงาน ได้เดินทางไปยังประเทศจีน เมื่อเดือนที่แล้ว โดยไปที่โรงงานของฟ็อกซ์คอนน์ ในเมืองเสิ่นเจิ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ ฟ็อกซ์คอนน์ ซิตี้ เพื่อตรวจสอบตามความสมัครใจของแอปเปิล และออกรายงานในขั้นแรกครอบคลุมโรงงาน 3 แห่ง คือ กวนหลัน หลงฮัว และเฉิงตู
 
เอฟแอลเอ ได้สอบถามความเห็นพนักงาน 35,000 คน ของโรงงานดังกล่าว เกี่ยวกับสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ ที่รวมทั้งค่าชดเชยและค่าแรง รวมถึงการไปตรวจสอบบริเวณโรงงาน หอพัก และสถานที่อื่นๆด้วย
 
ด้านฟ็อกซ์คอนน์ ยินยอมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และพร้อมจะแก้ไขความผิดด้านการละเมิดสิทธิด้านแรงงาน โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ จะปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานอย่างเต็มที่เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของโรงงานในจีน ให้เหลือเพียง 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งรวมการทำงานล่วงเวลาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม  2013  ที่จะทำให้ฟ็อกซ์คอนน์ ต้องจ้างแรงงานเพิ่มเป็นพิเศษอีกหลายหมื่นคน เพื่อมาผ่อนภาระให้กับพนักงานที่ทำงานหนักอยู่ในปัจจุบัน
 
(ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, สำนักข่าวอินโฟร์เควสท์)
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net