Skip to main content
sharethis

ย้ำยกเลิกตีตรวนผู้ต้องหา,ดันสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง,ย้ำรัฐบาล-สภากล้าแก้ม.112,เสนอใช้งบรัฐเยียวยา แต่ควรจ่ายเป็นรายเดือนไม่ผลักภาระให้ผู้ได้รับผลกระทบดูแลตนเอง,ต้องใช้ “เวลา” ไม่ควรเร่งรัดกระบวนการปรองดอง

2 เม.ย.55คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ส่งรายงานรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคอป.ครั้งที่3ช่วงเดือนกรกฎาคม2554ถึงเดือนมีนาคม2555ให้นายกรัฐมนตรี โดยย้ำข้อเสนอและเหตุผลที่ควรยกเลิกการตีตรวนผู้ต้องหา, ตามความคืบหน้าการผลักดันสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีการเมือง, เน้นให้รัฐบาลและรัฐสภาใช้ความกล้าหาญในการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้กลับไปก่อนการแก้ไขเพิ่มโทษจากคณะรัฐประหารปี 2519, เสนอให้รัฐจ่ายค่าชดเชยเป็นรายเดือนเพื่อไม่ผลักภาระให้ผู้ได้รับผลกระทบดูแลตนเอง และเป็นการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ไม่ควรเร่งรัดกระบวนการใดๆ ในการปรองดอง

 

ส่วนของข้อเสนอแนะที่ปรากฏในรายงานระบุว่า

“ตามที่คอป. เคยมีข้อเสนอแนะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งและผู้ที่มีส่วนในการสร้างความปรองดองในชาติทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการกระทำการใดๆซึ่งอาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อบรรยากาศในการปรองดองของชาตินั้นคอป. เห็นว่าในขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งยังคงดำเนินอยู่และบรรยากาศของความปรองดองยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยคอป. จึงขอเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง..ร่วมกันประคับประคองสถานการณ์ความขัดแย้งและให้ความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศของความปรองดองในชาติ”

“กระบวนการปรองดองเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาความอดทนและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนในประเทศเครื่องมือและกลไกต่างๆในการสร้างความปรองดองเช่นการเปิดเผยความจริงและรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งการเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบการอำนวยความยุติธรรมแก่เหยื่อการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดซึ่งต้องเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติการเจรจาไกล่เกลี่ยและการจัดทำเวทีประชาเสวนาเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันในสังคมโดยการสนับสนุนของรัฐล้วนแต่ต้องอาศัย “เวลา” ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่งของการปรองดองด้วยเหตุนี้คอป. จึงเห็นว่าการดำเนินการใดๆของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยพยายามที่จะรวบรัดหรือเร่งรัดกระบวนการปรองดองนั้นเป็นการกระทำที่ไม่เอื้อต่อบรรยากาศของการปรองดองทำให้สังคมเกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันและถือเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความพร้อมในการเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออกไปสู่ความเข้าใจที่ดีของคนในสังคมและการปรองดองในชาติต่อไป”

“ก่อนที่คอป. เสนอรายงานความคืบหน้าครั้งที่1 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปรองดองในชาติก่อนหน้าที่รัฐบาลปัจจุบันเข้าบริหารประเทศคอป. ได้มีข้อเสนอแนะมาแล้ว2 ครั้งคือ

ครั้งแรกคอป. ได้ปรารภถึงการใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ถูกกล่าวหาของกรมราชทัณฑ์ซึ่งขาดความเหมาะสมและความถูกต้องตามหลักเกณฑ์อันเป็นสากลสมควรจักได้ปรับปรุงให้เหมาะสมและถูกต้องตามหลักเกณฑ์อันเป็นสากลและว่าการปรับปรุงดังกล่าวนี้ชอบที่จะกระทำเป็นการทั่วไป

ครั้งที่สองคอป. ได้เสนอเกี่ยวกับการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐของกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่ถูกหลักกฎหมายสมควรที่กระบวนการยุติธรรมของประเทศทุกองค์กรจะได้ทำความเข้าใจกันเสียใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมซึ่งความเป็นธรรมนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความปรองดองและเกิดสันติในชาติ

เกี่ยวกับข้อเสนอแนะครั้งแรกในเรื่องเครื่องพันธนาการคอป. ขอเรียนว่าการตอบรับต่อข้อเสนอแนะจากภาครัฐยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักและคอป. ขอเรียนยืนยันว่ารัฐสามารถหยิบยกเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นมาดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักอันเป็นสากลได้

คอป. เห็นว่ามาตรฐานของกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ของไทยเราสอดคล้องกับมาตรฐานสากลเป็นอย่างยิ่งเหตุนี้คอป. จึงใคร่ขอให้รัฐบาลได้สั่งการให้แก้ไขทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและการแก้ไขแนวทางปฏิบัติชอบที่จะกระทำเป็นการทั่วไปเพื่อให้เกิดผลสำหรับผู้ต้องขังทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

เกี่ยวกับข้อเสนอครั้งที่2ในเรื่องการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐนั้นการตอบรับจากองค์กรในกระบวนการยุติธรรมของรัฐก็เป็นไปในทิศทางที่ไม่น่าพอใจเช่นเดียวกันด้วยเหตุนี้จึงควรมีการปรับปรุงและเสริมสร้างความเข้าใจหลักการของการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ”

“คอป. ใคร่ขอย้ำว่าการที่กระทรวงยุติธรรมได้นำเอาเงินของ “กองทุนยุติธรรม”เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการปล่อยชั่วคราวนั้นเป็นเรื่องที่ผิดพลาดในหลักการเป็นอย่างยิ่งเพราะเรื่องการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมโดยตรงที่จะต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการแห่งกฎหมายในการเรียกร้องหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวเพราะตามหลักกฎหมายนั้นกฎหมายไม่ได้เรียกร้องหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวแต่ประการใด”

“ดังนั้นการที่องค์กรในกระบวนการยุติธรรมมีการเรียกหลักประกันในทางปฏิบัติอยู่ตลอดมาเกือบจะทุกกรณีนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมและข้อนี้คอป. ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนดังกล่าวมาแล้วเนื่องจากยังมีความไม่ถูกต้องในหลักกฎหมายของทางปฏิบัติที่ดำรงอยู่ในการเรียกหลักประกันดังกล่าวมาแล้วคอป. จึงใคร่ขอเรียนว่าความพยายามในการสกัดกั้นการทำมาหากินของ“นายประกันอาชีพ” และ “บริษัทประกันภัย”นั้นเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทางการเมืองและทุกองค์กรในกระบวนการยุติธรรมของประเทศจักต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกล่าวคืออย่างน้อยฝ่ายบริหารควรทำความเข้าใจกับองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทางฝ่ายเจ้าพนักงานอันได้แก่พนักงานสอบสวนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษรวมตลอดถึงพนักงานอัยการควรศึกษาและทำ
ความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวกันใหม่ส่วนองค์กรศาลนั้นคอป. เห็นว่าหากมีทางใดที่ทุกฝ่ายสามารถทำให้ความเข้าใจหลักกฎหมายที่ถูกต้องเกิดขึ้นได้ด้วยก็เป็นการสมควรที่จะต้องกระทำเพราะจะทำให้รัฐสามารถนำเงิน “กองทุนยุติธรรม” ของกระทรวงยุติธรรมไปใช้ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“คอป. ได้เสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปแล้วคอป. จึงหวังว่ารัฐบาลและรัฐสภาจักได้ร่วมกันแสดงความกล้าหาญในทางการเมืองเพื่อขจัดเงื่อนไขปัญหาของสังคมอันจะเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดองและสันติของคนในชาติต่อไป”

“ในเรื่องเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นการประชาสงเคราะห์คือการดูแลประชาชนของรัฐในประเทศไทยที่มีมาโดยตลอดกล่าวคือเมื่อประชาชนมีความเดือดร้อนไม่ว่าจะเกิดจากภัยใดๆรัฐก็จะใช้ “มิติการสงเคราะห์” เข้าขจัดความเดือดร้อนนั้นซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของรัฐ”

“นอกจากนี้การดูแลและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจะต้องไม่เป็นการกระทำที่เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลกล่าวคือต้องเป็นการกระทำใน “มิติการขอโทษ” โดยไม่เป็นการดูแลและเยียวยาที่กระทำไปในทางที่อาจส่งเสริมให้บุคคลเกิดความโลภอันเป็นกิเลสของมนุษย์การเยียวยาด้วยเงินจำนวนมากในครั้งเดียวเป็นการที่รัฐผลักภาระให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องดูแลตนเองและจัดการกับเงินจำนวนนั้นอย่างไม่มีความยั่งยืนการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นรายเดือนจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเยียวยาที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นการเยียวยาที่มีความยั่งยืน”

“สุดท้ายคอป. เห็นต่อไปว่าเงินที่ใช้ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เป็นการเยียวยาเป็นรายเดือนดังกล่าวชอบที่จะปรากฏในงบตามพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีของรัฐทั้งนี้เพื่อว่าในทุกปีงบประมาณรัฐบาลที่บริหารประเทศที่เสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีและรัฐสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีจักได้ร่วมกันรำลึกและตระหนักในการขอโทษต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงเพื่อนำไปสู่การให้อภัยอย่างแท้จริงทั้งจะเป็นการร่วมกันรำลึกและตระหนักรู้ในการเยียวยาที่มีความยั่งยืนที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังกล่าวมาแล้ว”

 

ดาวน์โหลด: รายงานความคืบหน้า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ครั้งที่ 3 (กรกฎาคม 2554 - มีนาคม 2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net