Skip to main content
sharethis

เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาสาธารณะในหัวข้อ "ออง ซาน ซูจี: อนาคตประชาธิปไตยพม่าหลังการเลือกตั้ง" ที่ห้อง 301 ตึกศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตคณบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เชี่ยวชาญพม่า และอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ และสุภัตรา ภูมิประภาส สื่อมวลชนอิสระ

ตอนหนึ่งของการเสวนา ชาญวิทย์เสนอว่า หลังจากนี้พม่าอาจจะสร้างประชาธิปไตยและการปรองดองได้ เพราะระยะ 50 ปีที่ผ่านมา น่าจะสอนให้ชนชั้นนำได้เรียนรู้ถึงบทเรียนทางประวัติศาสตร์ว่าไม่สามารถฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกได้ ประกอบกับการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่มีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกีดกันอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยมากเท่าใด เธอก็ยังได้รับชัยชนะอยู่ดี

ดุลยภาคตั้งข้อสังเกตว่า การจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากแรงกดดันจากภาคประชาสังคมและประชาคมนานาชาติต่างประเทศ หากแต่เป็นความริเริ่มโดยชนชั้นนำทหารของพม่า ซึ่งได้กำหนดโครงสร้างทางการเมืองไว้เรียบร้อยแล้ว และเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการปรับยุทธศาสตร์ กล่าวคือ การได้เป็นประธานอาเซียนอย่างภาคภูมิ การผ่อนคลายแรงกดดันจากนานาชาติ รวมถึงการเปิดการลงทุนจากต่างชาติที่มีความชอบธรรมมากกว่าแต่ก่อน โดยรัฐบาลอาจจะยอมให้เอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งอย่างน้อย 30 ที่นั่งจากทั้งหมด 45 ที่นั่ง และผลักดันให้ซูจีสามารถเข้าไปนั่งในสภา เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาความชอบธรรมของพรรครัฐบาลให้อยู่ได้

โดยดุลยภาคเสนอว่าในระยะสั้นซูจีอาจจะเปลี่ยนแปลงพม่าไม่ได้มากเนื่องจากมีที่นั่งในสภาและมีอำนาจจำกัด แต่ระยะยาวต้องจับตาการสะสมเครือข่ายและอำนาจในสภา เพื่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีเต็งเส่งอาจเป็นคู่แข่งที่น่าจับตา เพราะเป็นนัการเมืองที่หันมาทางสายพิราบมากขึ้น และเน้นนโยบายประชานิยม

ด้านสุภัตรา มองว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจทำให้ซูจีได้เข้าไปมีที่นั่งในสภาก็จริง แต่เธอก็จะเปลี่ยนสถานะจาก “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง” มาเป็น “นักการเมือง” ซึ่งหมายความว่าเธอจะได้ไม่ได้อภิสิทธิ์บางอย่างที่เคยได้ เช่นการเลี่ยงไม่ตอบคำถามหรืออธิบายบางอย่างต่อสื่อมวลชน ทั้งนี้ สุภัตราอภิปรายถึงการเมืองหลังการเลือกตั้งโดยดูจากปัญหา 6 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง เรื่องนักโทษการเมืองที่ยังมีผู้ถูกจองจำกว่า 952 คน สอง การที่ออง ซาน ซูจีเสนอจะแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 11 ฉบับ สาม ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ที่อองซานซูจีเสนอเป็นตัวกลางเจรจา แต่เมื่อสภาพการเมืองเปิดมากขึ้น สำหรับชนกลุุ่มน้อยก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีออง ซาน ซูจีเป็นตัวกลางเจรจา สี่ การยกเลิกมาตรการควำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก ห้า บทบาทสื่อมวลชน หก บทบาทประชาสังคม [อ่านรายละเอียด]

โดยก่อนหน้านี้ประชาไทได้นำเสนอข่าวจาการเสวนาดังกล่าวแล้ว และต่อไปนี้เป็นการนำเสนอส่วนหนึ่งจากการเสวนาในรูปแบบวิดีโอคลิป โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net