Skip to main content
sharethis

ในการอภิปรายหัวข้อ "ประเทศไทยพร้อมหรือยังสำหรับเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ?" ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการพูดถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทยที่มีบทลงโทษต่อตัวกลาง หรือผู้ให้บริการ เทียบเท่ากับผู้กระทำความผิด กับความสามารถในการแข่งขันของไทย

เควิน แบงสตัน (Kevin Bankston) จากศูนย์เพื่อประชาธิปไตยและเทคโนโลยี Center for Democracy and Technology กล่าวถึงแนวคิด อย่าทำร้ายคนส่งสาร (Don't shoot the messenger) ที่ถูกใช้ในการปกป้องตัวกลางหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ว่าคนส่งสารไม่ควรถูกลงโทษเพราะไม่ยุติธรรม เนื่องจากตัวกลางไม่ได้เป็นผู้สร้างเนื้อหานั้นๆ และอาจทำให้ไม่ได้รับข้อมูลสำคัญ พร้อมชี้ว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีมาตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน ที่มีการลงโทษผู้ส่งสารที่แจ้งเตือนข่าวร้าย ทำให้ไม่มีใครกล้าส่งสารอีก ส่งผลต่อความพ่ายแพ้ของเมือง หรือจีนในอดีต ที่จะปล่อยคนส่งสารเดินทางกลับอย่างปลอดภัย

เควิน กล่าวว่า ปัจจุบัน คนส่งสารในยุคใหม่ (modern messenger) คือ วิกิพีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ซึ่งมีข้อมูลถูกสร้างโดยผู้ใช้จำนวนมหาศาล พร้อมชี้ว่าเฟซบุ๊กของมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ค อาจจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่ปกป้องตัวกลางจากการรับผิด

ทั้งนี้ เขาชี้ว่า การเก็บล็อคไฟล์ 90 วัน หรือต้องมอนิเตอร์สิ่งที่มีผู้โพสต์ ตลอด 24 ชม. เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการประเภทที่ผู้ใช้สร้างเนื้อหาไม่ต้องทำในสหรัฐฯ หรือยุโรป เช่นนี้แล้วเหตุใดคนจะต้องลงทุนในไทยที่มีสภาพกฎหมายแบบนี้

พิรงรอง รามสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้โพสต์คลิปที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในยูทูป และกระทรวงไอซีทีของไทยได้ขอให้ถอดคลิปดังกล่าวออกแต่ยูทูปปฏิเสธเนื่องจากไม่ใช่นโยบายของยูทูป จนนำไปสู่การที่กระทรวงไอซีทีบล็อคเว็บยูทูป นำมาซึ่งการผลักดัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จนสำเร็จในปี 2550 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร

พิรงรอง กล่าวต่อว่า จากงานวิจัยของ iLaw พบว่ามีการฟ้องร้องในประเด็นที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ (17%) น้อยกว่าประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต (63%) โดยเธอมองว่าการออกกฎหมายนี้ทำให้ตัวกลางต้องรับผิดชอบแบบเดียวกับบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ พร้อมเปรียบเทียบว่า แทนที่กระทรวงไอซีทีจะสร้างถนน แต่กลับสร้างตัวหนอนที่ทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างมีข้อจำกัด

วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Pantip.com กล่าวว่า ก่อนมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการใช้กฎหมายสิ่งพิมพ์กับผู้ประกอบการเว็บไซต์ เว็บมาสเตอร์ถูกจัดเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ซึ่งห่างไกลความเป็นจริง เพราะ บก.นสพ.มีโอกาสตรวจเนื้อหาก่อน แต่เว็บมาสเตอร์ไม่มีโอกาสเห็นข้อความก่อนออนไลน์

วันฉัตรเล่าถึงคดีหนึ่งหลังจากมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเว็บพันทิปถูกฟ้อง และพันทิปต่อสู้ในประเด็นที่ว่า ข้อความที่มีผู้มาโพสต์เป็นข้อความตรงกับที่มีคนกลุ่มหนึ่งออกประกาศมาจริงๆ จึงไม่ใช่การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ และเปรียบเทียบระดับการรับผิดของตัวกลางว่า พันทิปเป็นผู้ให้บริการเช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก ที่หากมีผู้ทำแฟนเพจขึ้นผู้ดูแลแฟนเพจก็มีสิทธิลบข้อความที่ถูกโพสต์ได้ ดังนั้นพันทิปในฐานะผู้ให้บริการจึงไม่ได้อยู่ในชั้นใกล้ที่สุดที่จะลบได้ โดยคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยกฟ้อง ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์

วันฉัตรเล่าว่า ในเว็บพันทิป คนที่จะโพสต์ได้ต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกโดยใช้เลขบัตรประชาชน ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาทำให้ผู้เขียนระมัดระวัง เพราะหากทำผิด สามารถถูกตามตัวได้ นอกจากนั้นยังมีพนักงานมอนิเตอร์เนื้อหาและให้ผู้อ่านแจ้งเมื่อพบสิ่งไม่เหมาะสม ซึ่งพันทิปโชคดีที่มีผู้อ่านดีๆ จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ผิดกฎหมายมีผลทำร้ายสังคมสามารถเอาออกได้ทันที แต่ส่วนที่ยากคือข้อความที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การเปิดโปงต่างๆ ซึ่งพันทิปมีแนวทางการจัดการคือ จะไม่ลบหากเนื้อหามีประโยชน์ต่อสาธารณะ นิติกรมีความเห็นว่าเข้าข่ายข้อยกเว้นของกฎหมาย และต้องมั่นใจว่าหาตัวคนเขียนข้อความได้จริงเมื่อขึ้นศาล

เขามองว่า พ.ร.บ.คอมฯ ช่วยให้ผู้ดูแลกฎหมายเข้าใจคนทำเว็บมากขึ้น รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ทั้งนี้ เขามองว่าตัวกลางหรือ messenger มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นทางผ่านข้อมูล (conduit) ที่ถือเป็นผู้ส่งสาร 100% กับกลุ่มที่เป็นที่เก็บข้อมูล (data storage) ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่ผู้ส่งสาร 100% ซึ่งควรจะหาจุดสมดุลในการรับผิดชอบสังคมและภาระหน้าที่ที่ผู้ให้บริการต้องแบกรับ อย่างไรก็ตาม เขาเองก็ยังมองว่าหาจุดสมดุลได้ยาก เนื่องจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังมีความต้องการที่แตกต่างกัน

แอน เลวิน (Ann Lavin) หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบาย Google เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ที่แอคทีฟ โดยในงานที่กูเกิลจัดเมื่อสัปดาห์ก่อน มีผู้เข้าร่วมมากกว่าที่คาดไว้ ไม่แน่ว่าเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กใหม่อาจมาจากไทยก็ได้ แต่เธอมองว่าภายใต้บรรยากาศของไทยเช่นนี้ การลงทุนและนวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้น รวมถึงจะไม่มีการสร้างเนื้อหา หากผู้ใช้มองว่าจะเป็นอันตราย

ในช่วงถาม-ตอบ มีคำถามว่าผู้ใช้ตอบสนองต่อระเบียบใหม่ที่ต้องลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชนของพันทิปอย่างไร วันฉัตร กล่าวว่า การลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชนมีมาก่อนที่จะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยช่วงแรก ผู้ใช้จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่เขาได้พยายามชี้ให้เห็นว่าการลงทะเบียนจะเกิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เนื้อหารุนแรงที่มาจากคนที่โพสต์แบบไม่รับผิดชอบ ซึ่งต่อมาคนก็เริ่มเห็นด้วยและหันมาลงทะเบียนมากขึ้น ขณะที่เควินกล่าวถึงประเด็นความนิรนามว่ามักมีความคาดหวังว่าการแสดงตัวตนหรือชื่อจริงจะทำให้เกิดชุมชนที่ดี แต่กลับมีงานวิจัยพบว่าผู้ที่ใช้นามแฝงแสดงความเห็นที่มีคุณภาพกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net