การรณรงค์หรือการบังคับให้ปฏิญาณตนว่า “จะยึดมั่นหรือจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จะช้าหรือเร็วรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 จะต้องถูกแก้ แต่ที่แน่นอนในหมวดของสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยที่ว่าด้วยการนับถือศาสนาที่ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพสมบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” คงไม่ถูกแก้ไขไปด้วย เพราะเป็นแบบมาตรฐานทั่วไปของรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่จะยกมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรณรงค์หรือการบังคับให้ปฏิญาณตนว่า “จะยึดมั่นหรือจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” นั้นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะไม่นับถือศาสนา ฉะนั้นการบังคับหรือการรณรงค์ แม้กระทั่งคำกล่าวของบุคคลสำคัญในบ้านเมืองที่ให้ยึดมั่นหรือจงรักภักดีต่อศาสนา จึงเป็นการบังคับขืนใจให้ผู้อื่นกระทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบหรือศรัทธาในแง่ของการปฏิบัติ (หรือไม่ปฏิบัติ) ตามพิธีกรรมตามความเชื่อของตนนั่นเอง

เมื่อกล่าวถึงการไม่นับถือศาสนาสำหรับคนไทยเราแล้วดูเหมือนว่าจะเป็นของแปลกประหลาดแต่ในต่างประเทศเป็นสิ่งธรรมดามาก จากเว็บไซต์ http://www2.ttcn.ne.jp/~honkawa/9460.html ได้แสดงผลการสำรวจจำนวนร้อยละของผู้ไม่นับถือศาสนาในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

เอสโตเนีย 75.5%, อาเซอร์ไบจาน 74%, แอลเบเนีย 60-75%, สาธารณรัฐประชาชนจีน 59-71%, สวีเดน 46-85%, สาธารณรัฐเช็ค 59%(ยังไม่รวมผู้ที่ไม่กรอกข้อมูลในแบบสำรวจอีก 8%), ญี่ปุ่น 51.8%, รัสเซีย 48.1 %, เบลารุส 47.8%, เวียดนาม 46.1%, เนเธอร์แลนด์ 44.0%, ฟินแลนด์ 28-60%, ฮังการี 42.6%, ยูเครน 42.4%, อิสราเอล 41.0%, ลัตเวีย 40.6%, เกาหลีใต้ 36.4%, เบลเยียม 35.4%, นิวซีแลนด์ 34.7% (จาก 87.3% ของผู้สอบถาม), ชิลี 33.8%, เยอรมนี 32.7%, ลักเซมเบอร์ก 29.9%, สโลเวเนีย 29.9%, ฝรั่งเศส 27.2% (ชาย 30.6% หญิง 23.9%,), เวเนซูเอลา 27.0%, สโลเวเกีย 23.1%, เมกซิโก 20.5%, ลิทัวเนีย 19.4%, เดนมาร์ก 19%, ออสเตรเลีย 18.7% (จากผู้ตอบ 88.8% ซึ่งรวมถึง 29.9%ของผู้ที่ไม่ตอบและตอบไม่ชัดเจน), อิตาลี 17.8%, สเปน 17%, แคนาดา 16.2%, อาร์เจนตินา 16.0%, สหราชอาณาจักร 15.5% (23.2% ไม่ตอบ), แอฟริกาใต้ 15.1%, สหรัฐอเมริกา 15.0% (จาก 94.6% ของผู้ตอบ) ฯลฯ น่าเสียดายที่ไม่มีข้อมูลการสำรวจของประเทศไทยเรา แต่ผมเชื่อว่าคงมีจำนวนมากที่ระบุศาสนาลงในเฉพาะทะเบียนบ้าน โดยไม่ได้มีการนับถือหรือปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาที่ตนระบุไว้ แต่ก็ไม่กล้าประกาศว่าตนไม่นับถือศาสนาใดใด เพราะเกรงผลกระทบตามมาทางสังคม

การมีศาสนาก็คงจะเป็นเหมือนกับหลายๆสิ่งหลายๆอย่างที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผลดีของการมีศาสนาก็คือเมื่อมนุษย์เชื่อมั่นในศาสนาที่ตนเองนับถืออย่างแท้จริงแล้ว มนุษย์ก็จะไม่ทำความชั่ว จะทำแต่ความดี ซึ่งย่อมที่จะเป็นผลดีทั้งต่อจิตใจของตนเอง และต่อสังคม โลกก็มีสันติภาพ

ส่วนผลเสียก็คือการแต่งเติมคำสอนออกไปมากมายจนผิดเพี้ยน มีการเพิ่มเติม “พิธีกรรม”จนกลายเป็นการปฏิบัติที่งมงายไร้เหตุผล ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่นับถือเข้าใจหรือเห็นแจ้งในชีวิตขึ้นมาได้ มีการอาศัยศาสนาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ที่นับถือในลักษณะของธุรกิจการพาณิชย์ไป มีการปฏิบัตินอกลู่นอกทางจากคำสอนดั้งเดิมจนเป็นที่กังขาว่า ฤาศาสนานั้นๆจะไม่ใช่ของดีที่แท้จริง

ผลเสียที่สำคัญก็คือ “ความใจแคบของศาสนิก” ที่มักจะเชื่อตามกันมาว่าหากใครที่เปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาอื่นหรือเปลี่ยนเป็นไม่นับถือศาสนาเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง สมควรที่จะต้องถูกรับโทษทัณฑ์อย่างแสนสาหัสตราบนานเท่านาน แม้จะตายไปแล้วก็ตามสำหรับศาสนาที่เชื่อในโลกนี้โลกหน้า


บางครั้งการนับถือศาสนาก็กลับกลายเป็นการเพิ่มข้อผูกมัดให้แก่ชีวิตของผู้นับถือศาสนามากขึ้น เพราะอันเนื่องมาจากเหตุของข้อบังคับในศาสนานั่นเอง แทนที่ศาสนาจะช่วยให้มีอิสรภาพ ก็กลับเป็นว่าศาสนากลายเป็นสิ่งครอบงำหรือผูกมัดให้ผู้นับถือสูญเสียอิสรภาพในการคิด การพูด และการกระทำที่แม้ว่าจะถูกต้องตามหลักสากลก็ตาม

ฉะนั้น จึงไม่เป็นการแปลกประหลาดอันใดที่ผู้มีปัญญาทั้งหลายจะแสวงหาแนวทางที่บริสุทธิ์ ดีงาม      ไม่งมงาย ไม่ไร้เหตุผล เป็นสากล และช่วยให้เข้าใจในชีวิต บางคนจึงละทิ้งศาสนาเดิมของตนแล้วกลายเป็น “คนไม่นับถือศาสนา (irreligious persons)” ไปในที่สุด ซึ่งนับวันคนไม่นับถือศาสนาเช่นนี้จะเพิ่มทวีมากขึ้นในโลกปัจจุบัน

เมื่อไม่มีศาสนาแล้วจะเป็นอย่างไร

ประเด็นนี้ไม่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้ที่มีสติปัญญามาก แต่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้ที่มีสติปัญญาน้อยหรือไม่มีสติปัญญา เพราะผู้ที่มีสติปัญญาน้อยค่อนข้างเสี่ยงที่จะทำความชั่วได้ง่าย ด้วยเหตุอันมาจากการขาดเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจหรือภูมิคุ้มกัน เพราะเขาไม่เชื่อในผลแห่งการกระทำ จึงพยายามแสวงหาและเสพความสุขให้เต็มอิ่มในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าตายไปแล้วก็ไม่ได้เสพอีก ซึ่งการแสวงหาและการเสพในทางที่ผิดนี้ยิ่งเพิ่มความทุกข์ให้กับตนเองและสังคมด้วย

ในทางกลับกันสำหรับผู้ที่มีสติปัญญามากย่อมเห็นว่าไม่ว่าจะตายไปแล้วหรือไม่ก็ตาม การทำความชั่วนั้นย่อมมีผลเสีย การทำความดีย่อมมีผลดีในตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ที่มีสติปัญญาอย่างแท้จริงแม้ไม่มีศาสนาเขาก็ยังทำแต่ความดีและไม่ทำความชั่วได้เหมือนกับคนที่มีศาสนา เพราะผู้ที่ทำความดีนั้นชีวิตของเขาก็ย่อมที่จะมีแต่ความสงบสุข ไม่เดือดร้อน เพราะการทำความดีของเขาในปัจจุบันแม้ตายไปแล้วถ้าโลกหน้ามีจริงเขาก็ย่อมได้รับอย่างแน่นอน แต่หากโลกหน้าไม่มีจริง เขาก็ไม่ขาดทุนเพราะเขาได้รับผลดีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งผมของดเว้นที่จะยกตัวอย่างบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สังคมเคารพยกย่องว่าเป็น  คนดีหลายๆท่านที่เป็นผู้ไม่ได้นับถือศาสนาใดใด เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้หันมาไม่นับถือศาสนาหรือเป็นการสร้างศาสดาใหม่ขึ้นมาในบรรดาของผู้ที่ไม่นับถือศาสนาไปเสีย

กล่าวโดยสรุปก็คือ ใครเชื่อ ใครนับถือศาสนาไหนก็นับถือไป ใครไม่เชื่อ ใครไม่นับถือศาสนาก็ย่อมเป็นสิทธิส่วนตัวที่ย่อมไม่อาจถูกละเมิดหรือถูกบังคับให้ต้องนับถือศาสนาใดใด ดังที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้และดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง และถ้าจะให้ดีหาก สสร.55จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ชัดๆไปเลยว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ไม่ต้องมาเถียงหรือตีความกันให้ยุ่งยากและเสียเวลา


 

............................................

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 4 เมษายน 2555 ในหัวข้อ “สิทธิ เสรีภาพในการไม่  นับถือศาสนา”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท