Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด รวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ยื่นผู้ว่าฯ เรียกร้องให้กำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานอื่นภายใต้การดูแล หยุดคุกคามชาวบ้านพื้นที่โฉนดชุมชน หันไปปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง

 
 
เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. วันที่ 3 เม.ย.55 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กว่า 200 คน เดินทางไปรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เรียกร้องให้กำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานอื่น ภายใต้การบริหารงานของจังหวัดตรัง เพื่อให้เกิดการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคามดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม
 
นายชัยยศ ธงไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือของเครือข่ายฯ พร้อมรับปากจะส่งต่อข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเร่งแก้ปัญหา
 
นอกจากนั้น ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เรียกร้องให้รัฐบาลสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน โดยให้นายกรัฐมนตรีมอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ทั้งในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอื่นๆ พร้อมกันนั้น ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกองทัพภาคที่ 4 ผ่านตัวแทน กอ.รมน. จ.ตรัง ด้วย
 
 
นายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ มายื่นหนังสือครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จำนวน 50 นาย เข้าไปตัดฟันสวนยางของชาวบ้านจำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 8 ไร่ ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ม.1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง ทั้งๆ ที่หัวหน้าอุทยานฯ ได้มาเดินแนวเขตโฉนดชุมชนร่วมกับชาวบ้าน และสัญญาว่าจะไม่เข้ามาตัดฟันต้นยางในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู แต่เขาก็ทำผิดสัญญา
 
“นโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเน้นการปราบปรามชุมชนในเขตป่า โดยไม่ได้แยกแยะพิจารณาข้อเท็จจริงว่าชุมชนอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่า เราขอเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ หยุดการกระทำที่มีเจตนาแอบแฝง และหันกลับมาร่วมมือกับชุมชนในการรักษาป่า โดยเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐ ตามแนวทางโฉนดชุมชนและสิทธิชุมชนมาตรา 66 ในรัฐธรรมนูญ” นายสมนึก กล่าว
 
ด้านนางกันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวเสริมว่า รัฐบาลพูดเรื่องการปรองดอง แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ปรองดองกับคนยากจน น่าสังเกตว่ารัฐบาลกำลังใช้เกษตรกรรายย่อย และปัญหาที่ดินทำกินเป็นหมากในเกมการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ทั้งที่นโยบายโฉนดชุมชนเป็นนโยบายของภาคประชาชน ซึ่งเราได้นำเสนอต่อพรรคการเมืองทุกพรรค รวมทั้งพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ.2550
 
“รัฐบาลต้องสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ขอให้นายกรัฐมนตรีควรมอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ทั้งในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอื่นๆ” นางกันยา กล่าว
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้าไปประชุมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรังประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วแยกย้ายกันกลับเมื่อเวลา 16.30 น.
 
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ปิดถนนหน้าศาลากลาง 1 ช่องจราจร เนื่องจากมีกลุ่มผู้เดือดร้อนเรื่องการยื่นคำขอออกโฉนดพร้อมชำระค่ารังวัดที่ดินไปเมื่อปี พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับโฉนดที่ดิน ในพื้นที่ ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง กว่า 200 คน ได้ชุมนุมอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เม.ย.55 และจะชุมนุมยืดเยื้อจนกว่าจะได้รับคำตอบจากรัฐบาล
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net