Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
           
การต่อสู้ของประชาชนตั้งแต่ต้นคือการต่อสู้เพื่อให้การเมืองการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  มิใช่เพียงให้พรรคการเมืองที่ร่วมต่อสู้กับประชาชนได้เป็นรัฐบาลแล้วถือว่าได้รับชัยชนะ  ภารกิจของประชาชนจบแล้ว  ที่เหลือเป็นเรื่องของรัฐบาลและพรรคการเมืองในรัฐสภาเท่านั้น
           
นปช. แดงทั้งแผ่นดินและคนเสื้อแดงเป็นองค์กรและขบวนการต่อสู้ของประชาชน  ที่มีจุดเริ่มต้นจากการต่อสู้กับการรัฐประหารที่เราถือว่าเป็นการปล้นอำนาจจากประชาชน  ดังนั้น  การล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะด้วยการเลือกตั้งใหม่จากคำขวัญการต่อสู้ “ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน” พบว่าทฤษฎีสองขาตามยุทธศาสตร์ นปช. ก็ดำเนินไปด้วยดี  เพราะสอดคล้องกันกับความเรียกร้องของ สส. อดีต สส. ทั้งหลายของพรรคเพื่อไทย  ผ่านการเสียสละชีวิตของประชาชนร่วมร้อยคน  บาดเจ็บกว่าสองพันคน  และถูกจับกุมคุมขังนับพันคนต้องหลบหนี  การได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงเป็นก้าวแรกของชัยชนะของประชาชนหลังจากต่อสู้มา 5 ปี  ก้าวต่อมาซึ่งเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์  เป้าหมายการต่อสู้จึงอยู่ที่กฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ  นี่จึงเป็นเรื่องการต่อเนื่องของการต่อสู้ของประชาชนที่สู้เพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  ไม่ใช่ต่อสู้เพียงเพื่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
           
คนในพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งอาจถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของพรรคเท่านั้น  เพราะมองไม่เห็นการต่อสู้ของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมทางการเมืองการปกครองที่อยู่ภายใต้การควบคุม  ครอบครองของระบอบอำมาตยาธิปไตยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  และคนในพรรคเพื่อไทยบางคน  บางกลุ่ม  ก็มุ่งหวังใช้ขบวนการเสื้อแดงให้เป็นแค่ฐานเสียง  ให้แกนนำเป็นหัวคะแนนและเป็นมวลชนที่คอยปกป้องหากมีการรัฐประหารเท่านั้น!  แต่ในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น  เพราะคนเสื้อแดงมีหลักนโยบายในการต่อสู้ชุดใหญ่  ที่กำหนดขั้นตอนการต่อสู้  ยุทธศาสตร์  ยุทธวิธีไว้  ถ้าเปิดโรงเรียนใหม่เที่ยวนี้  เราก็จะทำการสรุปบทเรียนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ  ในขณะที่เริ่มแรกบางคนในพรรคเพื่อไทยไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญเพราะกลัวการคัดค้านจากเครือข่ายอำมาตย์  พูดแบบเดียวกับคุณสมัครที่บอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อ 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบวาระ  แต่ฝ่ายประชาชนหลังผ่านมหาอุทกภัยไปแล้ว  หลังปีใหม่เราก็เดินเครื่องทันที คือร่างหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เพื่อให้ได้ สสร. จากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด 100 คนทันที  ในขณะที่ทางพรรคก็เสนอรูปแบบที่มาของ สสร. เหมือนวุฒิสมาชิกปี 2550 คือ สสร. จังหวัดละ 1 คนแล้วสรรหาจากนักวิชาการที่เสนอจากมหาวิทยาลัย  องค์กรภาคเอกชน  สภาอาชีพ ฯลฯ อีก 22 คน
           
จึงเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า  พรรคก็ทำส่วนพรรค  ประชาชนก็ทำส่วนภาคประชาชน  ปรากฎว่าภาคประชาชนทุกร่างตรงกันคือ  ให้สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  แล้วประชาธิปัตย์ก็มาโดยสารในกลุ่มนี้  โดยขอให้ได้ สสร. 200 คน จากการเลือกตั้ง  เพราะหวังจะได้ฐานเสียงระดับรองเข้ามาเป็น สสร. ด้วย
           
นี่ชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองมุ่งคิดเรื่องฐานเสียงและอำนาจชี้นำการเขียนรัฐธรรมนูญ
           
แต่ภาคประชาชนมุ่งจะให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนโดยกระบวนการที่มาของ สสร. ต้องชอบธรรม  โปร่งใส  ให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับกระบวนการได้โดยไม่อาจโต้แย้ง  เป็นการเริ่มต้นที่ดีก็มีชัยชนะครึ่งหนึ่งแล้ว
           
เอาเป็นว่าคนเสื้อแดงทุกคนรู้ว่า  หลังจากยุบสภา  ผ่านการเลือกตั้ง  ได้รัฐบาลของประชาชนแล้ว  เราก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550  เพื่อให้ได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชนและต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีกว่า 2550 แน่นอน
           
งานชุมนุมที่โบนันซ่า  เขาใหญ่  เรามีคำขวัญว่า “หยุดรัฐประหาร  เปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ”  เป็นฉันทามติของคนเสื้อแดงมากันหลายแสนคนเต็มภูเขาเพื่อยืนยันเจตนารมณ์  แม้แต่งานในจังหวัดนนทบุรีชุมนุมเสื้อแดงนับหมื่นคนก็ใช้คำขวัญ  “สายสัมพันธ์ร่วมใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เราคือทัพหน้า”  บางที่ก็ใช้ “รวมพลคนรักประชาธิปไตย  แก้ไขรัฐธรรมนูญ”  บ่งบอกถึงเจตนารมณ์คนเสื้อแดงทั้งประเทศ  และแน่นอน  คนเสื้อแดงกับประชาชนทั่วไปรวมทั้งนักวิชาการของประชาชนก็ตั้งใจลงสมัครเพื่อได้รับเลือกเป็น สสร. กัน  แต่ก็มี สส. บางท่านดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมาตรา 291 โดยถือเป็นการทำในนามประชาชนด้วย  แต่รายละเอียดเหมือนฉบับของพรรค  ก็หมายความว่าทางพรรคคิดเผื่อให้ สส. ทำร่างในนามของประชาชน ก็ทำได้ แต่อาจคิดไม่ถึงว่า นปช. ก็นำเสนอร่างอยู่ดี  แม้จะทำยากลำบากขึ้นบ้าง  เพราะคนเสื้อแดงสับสนว่าร่างไหนเป็นร่างของ นปช.  เราคิดล่วงหน้าแล้วจึงต้องใส่เครื่องหมายสัญลักษณ์ นปช. ที่หัวกระดาษแบบฟอร์มของแก้ไขร่าง ก็ไม่เป็นไร  นปช. ก็นำเสนอร่างจนได้  โดยมีเป้าหมายคือให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน  ไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทยหรือของคนเสื้อแดง  ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในใจประชาชนว่า  นี่เป็นเรื่องทีใครทีมัน  กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงสำคัญเพื่อให้ได้ความเชื่อมั่นและประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ  ทำให้การคัดค้านต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีเหตุผลในสายตาประชาชน  และประชาชนจะพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหารอีกต่อไป  เพราะผลสัมฤทธิ์การมีรัฐธรรมนูญที่ดี  แต่ขาดความเป็นเจ้าของของประชาชนอย่างจริงจัง  ก็จะไม่อาจรักษารัฐธรรมนูญที่ดีไว้ได้ดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2489, พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2540  และถ้าเริ่มต้นให้ประชาชนมีบทบาทมากเท่าใด  ก็จะเป็นย่างก้าวสู่อนาคตที่ดีของประเทศได้  ดังนั้นร่าง นปช. จึงให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง  โดยคำนึงถึงสัดส่วนประชากรในแต่ละจังหวัด มี สสร. อย่างต่ำจังหวัดละ 1 คน  กทม.ก็จะมี สสร. 8 คน  นครราชสีมามี 4 คน เป็นต้น  และเปิดโอกาสให้คนมีสิทธิ์สมัคร สสร. ได้กว้างขวางที่สุดไม่จำกัดกลุ่มคนด้วยวัยวุฒิการศึกษา,  คุณวุฒิ  และการอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งเพียง 1 ปี
           
ถ้าเราต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย  กระบวนการได้รัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นประชาธิปไตย  แต่ถ้าคิดแบบอนุรักษ์นิยมก็ต้องมีอรหันต์ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่าง  โดยมีอำนาจเหนือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง  เพราะเป็นทั้ง สสร. และผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้รู้ดี)  คำถามคือ  ทำไมคนเหล่านี้ไม่ลงเลือกตั้ง สสร. เสียล่ะ  จะได้เป็น สสร. เต็มภาคภูมิ  มิใช่เป็นคนที่จะถูกสังคมจ้องจับผิดว่านี่เป็น “คนของคุณทักษิณ” ทั้งหมด  แล้วสุดท้ายจะได้รัฐธรรมนูญแบบที่พรรคเพื่อไทยต้องการ หรือไม่  ยังน่าสงสัยเพราะจะได้คนแบบไหนมาร่างรัฐธรรมนูญ  เพราะต้นธารความคิดของนักวิชาการไปอยู่ที่หน่วยงานอำมาตย์ที่กำลังขยายบทบาทคือสำนักงานตรวจการแผ่นดิน  ที่กำลังตรวจจริยธรรมนักการเมืองเข้มข้น  เข้มแข็ง  และกำลังเป็นทัพใหญ่  ทัพหน้าที่จะมาจัดการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
           
ยังไม่รู้อนาคตการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นฉันใด  ถ้าหลุดจากมือประชาชนไปอยู่ที่นักการเมือง  สองขั้วที่มี  กองกำลังอำมาตย์  จัดทัพต่อต้านพร้อมสรรพ  ทั้งองค์กรอิสระ,  ฝ่ายตุลาการ,  นักวิชาการอนุรักษ์นิยม  และกองกำลังมวลชนอนุรักษ์นิยมที่ประกาศว่า  พวกตนเป็นฝ่ายคุณธรรมพร้อมต่อสู้กับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2550  ที่พวกเขาลงทุนทำรัฐประหาร  และใช้ต้นทุนทางสังคมไปจนหมดสิ้น  ประเทศไทยเสียหายยับเยิน  จึงหวงแหนรัฐธรรมนูญ 2550 มาก  แน่นอน  เขาต้องใช้ความพยายามเต็มกำลังในการสร้างอุปสรรค !
ไม่ให้เปลี่ยนแปลง
 
 
ธิดา ถาวรเศรษฐ
2  เมษายน  2555
 
 
''''''''''''''''
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net