Skip to main content
sharethis

รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้พูดถึงโลกกำลังวิกฤติเรื่องอาหาร กับการย้ำข้อเสนอให้เกษตรกรต้องพึ่งตนเอง ผู้บริโภคต้องตื่นตัว รัฐและทุนก็ต้องปรับ และฟังเสียงประชาชน

‘กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา’ รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้พูดถึงโลกกำลังวิกฤติเรื่องอาหาร ประเทศกำลังเสื่อมเพราะระบบการเกษตรที่ผูกขาด พร้อมหนุนให้ทั้งเกษตรกรหันมาพึ่งตนเอง ผู้บริโภคต้องตื่นตัวออกมาส่งเสียงว่า นี่ไม่ใช่ทิศทางการพัฒนาอาหารที่เราอยากเห็น ซึ่งรัฐและทุนก็ต้องปรับ ต้องฟังเสียงประชาชน

 
 
 
 
อยากทราบกิจกรรมที่ทางมูลนิธิชีววิถีกำลังทำอยู่ในขณะนี้มีอะไรบ้าง ?
ตอนนี้เรามี 2 แคมเปญคู่กัน เป็นโครงการรณรงค์เรื่อง ‘กินเปลี่ยนโลก’ เป็นการรณรงค์ในเรื่องอาหารการกิน เราทำเรื่องคุยกับผู้บริโภค เริ่มต้นด้วยการคุยกับผู้บริโภคว่า จะกินยังไงให้มีคุณภาพ กินแบบรู้ที่มา กินแบบใส่ใจมากกว่าตัวเอง กินแบบใส่ใจผู้ผลิตด้วย กินแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม แล้วก็เริ่มต้นจากการถามถึงแหล่งที่มาของอาหารด้วย
 
พอมาระยะปีที่ผ่านมา เราก็ทำอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องเมล็ดพันธุ์ ทั้งพันธุ์พื้นบ้านและไม่พื้นบ้าน แต่เป็นพันธุ์แท้ แล้วก็ตั้งเป็นโครงการรณรงค์เรียกว่า เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม คือจะจับกลุ่มทั้งบุคคลก็ได้ ชาวบ้านหรือกลุ่มเครือข่ายที่สนใจที่จะทำการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เก็บแล้วก็ขยายต่อ หรือว่าพัฒนามัน ปลูกมัน จริงๆ การเก็บเมล็ดพันธุ์นั้นเก็บในตู้เย็นอย่างเดียวไม่พอ มันต้องเก็บในดิน ปลูก คัด เก็บ กินไปแจกจ่ายกันไปนี่คือลักษณะของการทำเรื่องอิสรภาพทางพันธุกรรม
 
ทำไมถึงมาคิดและสนใจประเด็นเกี่ยวกับอาหารและเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ?
เพราะเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คือถ้าบอกว่าหัวใจของระบบอาหาร ก็คือตัวระบบเกษตรกรรม คือตัวระบบการกิน แล้วหัวใจระบบอาหารที่ดีก็คือระบบการผลิต ที่เราคิดว่าต้องเกิดการยั่งยืน และความยั่งยืนของการผลิตมันอยู่ที่ความหลากหลายของพืชพันธุ์ธัญญาหารในแปลงหนึ่งๆ หรือในพื้นที่หนึ่งๆ
 
คุณกำลังจะเน้นเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม ?
ใช่ ความหลากหลายมันดีในแง่ของความหลากหลายของอาหาร ความหลากหลายในการต้านทานสรรพสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาทำอันตรายโดยที่คุณไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา คุณไม่ต้องเพิ่มต้นทุน แล้วมันก็กระจายความเสี่ยงเวลาเราพูดถึงความหลากหลาย
 
เพราะฉะนั้น ระบบอาหารที่ดี ก็คือระบบอาหารที่หลากหลาย แล้วก็ไม่ได้ทำลายทั้งคนผลิต คนกิน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราเชื่ออย่างนั้น เราคิดว่าออร์แกนิคมันเป็นทางเลือก แล้วถ้าคุณเลือกมันก็โอเค ทีนี้ระบบอาหารวางอยู่บนระบบเกษตรกรรม หรือระบบการผลิต แล้วระบบการผลิตวางอยู่บนระบบพันธุกรรมเพราะฉะนั้น พันธุกรรมเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการผลิตอาหาร
 
ในขณะที่หลายกลุ่มทุนพยายามจะควบคุมความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นเอาไว้ ?
ถูกต้อง ซึ่งถ้าเราดูจากต้นทุน ถ้าเกษตรกรยังอยู่ในระบบเคมี ระบบอุตสาหกรรมการเกษตร จะพบว่าต้นทุนเมล็ดพันธุ์จะมีสูงถึงประมาณ 1 ใน 4 ถ้าคุณยกระดับไปเป็นพันธุ์ลูกผสม มันจะไปเป็นเกือบถึง 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งนอกเหนือจากมันเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว มันยังมีกำไรสำคัญด้วย คือถ้าคุณคุมการค้าเรื่องเมล็ดพันธุ์ได้ หรือผูกขาดเมล็ดพันธุ์ได้ คุณก็คุมกำไร คุณก็คุมระบบ คุณก็กำหนดการผลิต เพราะว่าตัวเมล็ดพันธุ์ มันจะกำหนดว่าคุณจะผลิตมันยังไงได้มากกว่า ถ้าคุณซื้อเมล็ดพันธุ์ยี่ห้อนี้ มันก็จะตอบสนองดีต่อคุณประมาณนั้น
 
ถ้าคุณเลือกเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมันก็จะทนทานตามสภาพ แล้วเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ก็คือว่า พอเราเอาไปปลูกตรงไหนมันก็จะปรับตัวเข้ากับตรงนั้น หรือว่าคุณเที่ยวไปเอามะเขือเทศจากภาคอีสานมาปลูกที่บนดอย มันอาจจะสู้เย็นไม่ไหว แต่ซักพักมันจะปรับตัวสู้ของมันไป เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์บริษัท มันก็จะปรับตัวให้สอดคล้องกับระบบการพัฒนาของมนุษย์ สิ่งที่บริษัทพัฒนามา มันก็จะตอบสนองต่อปุ๋ยสูตรนั้น สูตรนี้ ตามที่บริษัททำการทดลอง
 
แต่ถ้าคุณต้องการสร้างระบบอาหารที่ดี คุณต้องปรับระบบเกษตรกรรมให้มันหลากหลาย ระบบเกษตรกรรมที่หลากหลายจะอยู่ได้ต้องมีเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่หลากหลาย แล้วเมล็ดพันธุ์มันไม่ถูกครอบครองโดยใครคนใดคนหนึ่ง
 
แต่หลายคนก็รู้ว่าประเทศไทยในขณะนี้ พันธุกรรมทั้งพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ กำลังอยู่ในมือบริษัททุนไม่กี่กลุ่ม?
ตอนนี้ ถ้าเราสำรวจดู จะพบว่าอาหารหลักของเรา 60-70 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ที่เนื้อสัตว์ อย่างเช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งมันก็ผูกโยง ผูกขาดอยู่กับอาหารสัตว์ และ 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นข้าวโพด แล้วพันธุ์ข้าวโพดก็ผูกขาด 99.9 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่า เกษตรกรถูกกำหนดให้ปลูกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้ คือพันธุ์ลูกผสม ฉะนั้น ข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ผลิตมาอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมการเกษตรไปเรียบร้อยแล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ โดยผ่านกระบวนการเมล็ดพันธุ์ เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมาเป็นเมล็ดพันธุ์ผลผลิตสูง
 
ในที่สุดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพื้นบ้านก็สูญหาย เหลือเพียงเมล็ดพันธุ์ลูกผสมของกลุ่มทุน?
ใช่ ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพื้นบ้าน มันยังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ต่อเองได้ เรียกง่ายๆ ว่าต่อเชื้อ สามารถเอาไปปลูกรุ่นต่อไปได้ แล้วถ้าคัดมัน มันก็จะคงตัวอยู่ไปได้เรื่อยๆ  แต่พอมาเป็นข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมปุ๊บ เรียบร้อยเลย นั่นหมายความว่า เกษตรกรต้องซื้อทุกรอบ ไม่มีทางทำเก็บเองได้เลย นอกจากว่าต้องมีทักษะสูงพอสมควร ซึ่งอาจมีชาวบ้านบางคนเริ่มทำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมขายได้บ้าง แต่นี่ 99 เปอร์เซ็นต์เลย ที่คุณต้องซื้อทุกรอบ มันก็ปลูกไปแล้ว
 
คุณมองเรื่องพืชผักในบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?
ผักส่วนใหญ่ที่เรากินกันทุกวันนี้ ถ้าไม่กินผักพื้นบ้านเราก็จะกินผักจีน ทุกวันถ้าเราเข้าไปในตลาด เราก็จะเห็นแต่คะน้า กะหล่ำ ผักกาด แครอท บล็อกเคอรี่ แตงกว่า ถั่วฝักยาว มีไม่กี่อย่าง แล้วผักพวกนี้ ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสมทั้งนั้น เกษตรกรก็เก็บเองไม่ได้ ซื้อทุกรอบอีกเหมือนกัน หรือพวกเก็บเองได้ ก็รู้สึกไม่สะดวกอยู่ดี ก็ไปซื้อผักกระป๋องมาปลูกอยู่ดี เพราะฉะนั้นผัก 90 เปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ในมือบริษัท ตัวเมล็ดพันธุ์นะ ซึ่งที่เราทำได้ในขณะนี้ ก็คือเรื่องการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งในขณะนี้เราก็พยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านจัดการเรื่องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ยกเว้นผักบางชนิด ถ้าเขายังปลูกขายด้วย ก็คือพวกคะน้า กะหล่ำยังไงก็ต้องซื้อ
 
มีความเห็นอย่างไรกับสถานการณ์พันธุ์ข้าวไทยในขณะนี้ ?
เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว เวลานี้บางกลุ่มกำลังมีความพยายามอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะตอนนี้ ระบบปลูกข้าวมันถูกปรับไปเป็นระบบผลผลิตสูง เมล็ดพันธุ์ผลผลิตสูงก็คือ กข ทั้งหลาย พวกที่มีตัวเลขต่อท้ายนั่นแหละ เป็นพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงมาจากพันธุ์พื้นบ้าน มันก็ยังเป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านเก็บไว้เองได้ ล่าสุด ตอนนี้มันมีความพยายามของบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างน้อย 2 บริษัท จะเข้ามาส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ลูกผสม แล้วอ้างว่าให้ผลผลิตสูงกว่ากันหลายเปอร์เซ็นต์ สูงถึงกว่า 1,000 กิโลต่อไร่ ซึ่งราคาก็เป็นราคาคุยอยู่ดี
 
แต่ก็นั่นแหละ พอเขาพูดถึงเรื่องผลผลิตสูง ชาวบ้านก็ตาโตตามปกติ แล้วราคาเมล็ดพันธุ์ลูกผสม มันจะสูงขึ้น เฉลี่ยปัจจุบันที่เขาใช้กันเมล็ดพันธุ์ธรรมดา 25-26 บาทต่อกิโลกรัม บางแห่ง ใช้ถึง 20 กิโลต่อไร่ แต่ว่าเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าเป็นลูกผสมมันจะขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 150 บาท ถ้าใช้ 10 กิโลต่อไร่ต้นทุนการผลิตก็ไป 1,500 บาท แล้ว 1,500 บาท ตัวเลขสมาคมชาวนา บอกต้นทุนการผลิตนาภาคกลาง เป็นนาประเภทแบบ 5 รอบต่อ 2 ปีประมาณนี้ ต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 6,000 บาท เฉพาะเมล็ดพันธุ์ก็ปาเข้าไป 1,500 บาทแล้ว ยังไม่รวมถึงค่านู่นค่านี่ที่มันเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ต้นทุนมันก็จะกระฉูดขึ้นมามากเลย ถ้าใช้พันธุ์ลูกผสม คือบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ใช้ความพยายามสูงมากที่จะผลักดัน แล้วก็มีความพยายามที่จะใช้สถานการณ์เรื่องน้ำท่วมด้วยมาเป็นเงื่อนไข เป็นโอกาสในการส่งเสริม
 
หมายความว่าในระบบการเกษตรของไทยในขณะนี้ บริษัททุนยักษ์ใหญ่นั้นเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐด้วยเสมอ?
ก็แน่ละ เขาก็อยู่ในองคาพยพของรัฐเยอะนะ ถ้าจะเอ่ยชื่อบริษัท ก็เอ่ยชื่อซีพีนั่นแหละ ที่เป็นคนโปรโมทข้าวลูกผสม คือทิศทางของรัฐ เวลาส่งเสริมเรื่องการพัฒนาพันธุกรรม มันก็จะมุ่งไปในทางให้ผลผลิตสูง เทคโนโลยีใหม่  คำว่าเทคโนโลยีเพื่อให้ผลผลิตสูงมันเป็นแพคเก็ตมันไม่ได้พูดว่าให้ผลผลิตสูงแบบลอยๆ ผลผลิตสูง แต่จริงๆ แล้วมันตามมาด้วยการลงทุนที่สูงขึ้น ใช้ปุ๋ย ใช้ยามากขึ้น การต้านทานโรคมันก็น้อยลง แล้วบางทีมันก็เป็นสาเหตุเหนี่ยวนำโรคระบาดที่ลงทีเหมือนห่าลง เพราะคุณเล่นทำไปชนิดเดียวกัน ปลูกไปเวลาเดียวกัน เวลาเกิดหนอนเกิดเพลี้ยระบาดมันก็ลงทีเหมือนกัน หนอนมันก็ฟักตัวมา มันก็โผล่มาเวลาเดียวกัน
 
โดยทิศทางการส่งเสริมของรัฐ มันมักจะมีแนวโน้มอย่างนี้ คือไปผูกพันตัวเอง กับสิ่งที่เรียกว่าผลผลิตสูงแล้วก็เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมองแล้วมันมีความเสี่ยงเยอะ ในช่วงแรกมันอาจจะดูเร้าใจ แต่เอาเข้าจริง มันมีความเสี่ยง คือคุณต้องเพิ่มทุน สองมันก็ไม่ได้ต้านทานโรคอะไรที่มันเกิดใหม่ในปัจจุบัน ยิ่งในพื้นที่นาภาคกลาง คุณลองไปดูเลย มันมีความเสี่ยงต่อโรคแมลงเยอะมากที่จะแบบการเป็นห่าลง ฉะนั้น สิ่งที่กลุ่มชาวบ้านเคมีจะแก้ปัญหา คือทำให้มากครั้งเข้า ล้มก็ทำๆ อยู่อย่างนั้น ก็ตาดีได้ตาร้ายเสีย ก็จะปลูกอยู่กับราคาจำนำ มันก็เป็นวงจรที่ไม่รู้จะไปจบตรงไหน
 
แล้วตอนนี้ชาวบ้านกลุ่มที่เริ่มหันมาสนใจเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติหรือพืชผักพื้นบ้าน เขาตื่นตัวกันบ้างไหม ?
ตอนนี้ก็มีเกษตรกรหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นชาวนาขนาดเล็กที่ปรับระบบไปแล้ว เป็นกลุ่มเกษตรทางเลือก เป็นกลุ่มเกษตรที่ทำมานานแล้ว และมันก็เริ่มอยู่ตัว แต่มาช่วงระยะหลัง ก็มีกลุ่มใหม่ๆ ที่เราเข้าไปทำงานด้วย อย่างกลุ่มเกษตรกรที่ จ.นครสวรรค์ ชาวนาเขาทำนาเป็นร้อยๆ ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง คือไม่เหมือนนากระจุ๋มกระจิ๋มแบบทางภาคเหนือ ไม่เหมือนนาทำกินเองของทางภาคอีสาน
 
ส่วนพืชไร่ ก็จะเป็นพืชไร่ที่ปลูกเพื่อเศรษฐกิจ อย่างภาคอีสาน กลุ่มที่ทำพืชไร่เพื่อเศรษฐกิจก็เจ๊งไปเยอะก็ได้ปรับระบบไปเป็นพืชไร่แบบผสมผสานก็พออยู่กันไปได้ แต่ภาคกลาง ชาวบ้านเขาก็พยายามปรับ มันก็มีคนที่พยายามกัน ในพื้นที่นาเพียงเล็กน้อยเอาไว้เริ่มทำเกษตรแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยา เป็นการเริ่มขยับเรียกว่า นาลดต้นทุน ส่วนแปลงใหญ่ๆ ที่ยังเหลืออยู่ก็พยายามทำนาลดต้นทุน พยายามปรับ ส่วนตรงนาที่เป็นนาปีก็จะเน้นเอาไว้กินเอง หรือเอาไว้พยายามทำตลาดขายตรง
 
เกษตรกรตอนนี้ ก็คือเริ่มมีการปรับระบบ แต่เขายังไม่ทำ สอง เพราะว่าพื้นที่มีขนาดใหญ่ ไม่ใช่อยู่ๆ คนจะลุกขึ้นมาทำทีเป็นร้อยไร่ บางทีก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานมหาศาล แล้วระบบการผลิตบ้านเรามันได้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว มันยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมาก ดังนั้น จึงต้องใช้เครื่องจักร
 
ฉะนั้น การใช้เครื่องจักรบางเรื่อง มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เคมี บางตัวก็ต้องยอมรับ แต่ถ้าถามว่าชาวบ้านตื่นตัวขึ้นไหม ชาวบ้านกลุ่มที่เราทำงานด้วย เขาเริ่มตื่นตัวกับการจัดการกับเมล็ดพันธุ์ กลุ่มที่เป็นชาวนาภาคกลางก็จะให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ที่เขาปลูกเอง จะไม่ไปซื้อ หรือถ้าซื้อก็ต้องไปซื้อตรงจุดที่มั่นใจว่าเขาทำดี ไม่ได้ไปซื้อตามโรงสีทั่วๆ ไปที่ส่วนใหญ่ก็จะมีการปนเปื้อน ข้าวปน ข้าวดิบเยอะ ข้าวไม่ค่อยงอก มันจะมีปัญหาอะไรแบบนั้น ถ้าชาวบ้านเริ่มจัดการพันธุ์ที่เขาปลูกเอง มันก็จะทำให้ระบบการปลูกข้าวมันควบคุมได้มากขึ้น มันหวังผลได้มากขึ้น มันก็เป็นเกษตรที่เรียกได้ว่าประณีตมากขึ้น ถ้าคุณใส่ใจเมล็ดพันธุ์เพาะปลูก
 
มีความคิดเห็นอย่างไร กับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พี่น้องชนเผ่าทางภาคเหนือ ดูเหมือนจะได้เปรียบคนกลุ่มอื่นหรือไม่?
มันอยู่ที่ระบบ ความหลากหลายมันผูกอยู่กับระบบอาหารจริงๆ ถ้าคุณยังทำการผลิต GMO มันจะหลากหลายมาก แล้วเป็นระบบไล่มาจากบนที่สูง มันจะหลากหลายสูงมาก ถ้าเขายังมีระบบแบบนั้นอยู่ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ ทุกที่นะไล่มาตั้งแต่บนดอย บนดอยจะหนาแน่นหน่อย เพราะว่าระบบการผลิตอาหารเพื่อการยังชีพมันยังเข้มข้นอยู่ พอไล่ลงมาทางภาคอีสานก็ยังมีอยู่
 
คือถ้าคุณยังมีสวนหัวไร่ปลายนา สวนรอบบ้าน สวนรอบนาคุณอยู่ คุณก็เก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะคุณยังปลูกพืชอาหารบางส่วนเอาไว้กิน ตราบเท่าที่ยังจัดการอาหารอยู่เอง ยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมอยู่ ลองสังเกตดู รวมทั้งชาวบ้านภาคเหนือที่ลุ่มลงมาหน่อย ที่ไม่ใช่คนดอย ไล่เรียงลงมา ถ้าคุณยังรักษาระบบอาหารรอบบ้านคุณ ยังเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ รวมทั้งชาวนาภาคกลาง เราก็พบว่าถ้าชาวนาภาคกลาง คนไหนไม่ได้ขี่กับรถพุ่มพวงทั้งเดือน ทั้งชั่วนาตาปีเขายังมีสวนรอบบ้านเอาไว้กิน เพราะฉะนั้น เขาก็ยังมีพันธุกรรม ยังมี พริก มีมะเขือ มีผักกาด มีผักใบไว้กิน แต่เราก็เห็นอยู่ว่า กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมนครสวรรค์ที่ผ่านมา มันพาเอาตัวอาหารรอบบ้านไปหมดเลย ทางเราก็เลยต้องพากันเอาพันธุกรรมกลับไปคืนให้เขาฟื้นกันใหม่ ชาวบ้านนี้พอน้ำลงปุ๊บ เขาเอาตะไคร้ไปเสียบแล้ว ชาวบ้านถ้าเขาก็ยังมีคุ้มอาหารรอบบ้านอยู่ เขายังเก็บพันธุกรรมอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ความหลากหลายอาจจะไม่เท่าบนดอย
 
 
แล้วถ้าชาวบ้านบอกว่า จริงๆ อยากกลับไปทำเกษตรแบบดั้งเดิม แต่มันยังมีวงจรอุบาทว์ ยังมีหนี้สินอยู่ แล้วทางมูลนิธิชีววิถีจะมีทางออกยังไง?
ที่ผ่านมา เราก็พยายามที่จะไม่สุดกู่ คือเรายังเห็นการผลิตการเกษตรเพื่อการค้า เพื่อตอบโจทย์เรื่องเงินมันก็ยังต้องมี แต่คุณต้องจัดการพื้นที่ เราคิดว่ามันไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ทำเรื่องอาหารของตัวเอง เราคิดว่าปีที่ผ่านมาคุณให้ความสำคัญกับการจัดการที่ดิน แล้วปลูกเป็นเงินก้อน ก็ไม่ได้ว่าคุณ ยังจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่คุณควรจะกันพื้นที่บางส่วน และกันเวลาส่วนใหญ่ ซึ่งชาวบ้านมักคิดว่าตัวเองไม่มีเวลา โดยเฉพาะจะต้องไปดูแลแปลงนั้น ก็เลยไม่มาสนแปลงที่เป็นอาหารไว้กิน
 
หมายความว่า เกษตรกรต้องปรับตัว ต้องจัดสรรที่ดิน และต้องจัดสรรเวลาในการหันกลับมาทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง?
ใช่ คือต้องจัดการ ต้องแบ่งเวลา แบ่งทั้งที่ดิน มาจัดการเรื่องอาหาร ไม่ใช่เอาปากเอาท้องของตัวเองไปฝากไว้กับรถพุ่มพวง มันมีวิธีคิดนะ เพราะว่าชาวบ้านทางภาคอีสานพูดบ่อยๆ ให้เราได้ยิน พวกที่ไม่สนใจจะจัดการเรื่องระบบอาหารรอบบ้านของตัวเอง เพราะคิดว่าซื้อง่ายกว่า ราคาบาทสองบาท นิดๆ หน่อยๆ  ไม่ต้องปลูกมันเสียเวลา เขาก็ด่าใส่กันว่าเป็นเรื่องมักง่าย แต่เราไม่ว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่คุณก็คิดว่าเสียเงินห้าบาท สิบบาทมันง่ายกว่าไปปลูกเอง เราคิดว่า ถ้าจัดการเรื่องวิธีการตรงนี้ไม่ได้ คุณก็มักจะมีข้ออ้างว่าไม่มีที่ทำ เราก็ไม่ได้บอกว่าให้เอาที่ดินทั้งหมดมาทำ เอามาปลูกให้ใครกิน ถ้าตลาดมันยังไม่โอเค คุณก็ปลูกไปสิ แต่คุณต้องปลูกเรื่องอาหารด้วย เอาแค่นี้ทำไม่ได้เหรอ
 
เพราะฉะนั้น เราคิดว่าเรื่องหนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเรา คุณอยากจัดการอาหาร คุณก็จัดการที่ดินและจัดการเวลา แต่ถ้าบอกว่าที่ดินไม่พอ นี่เป็นโจทย์ ถ้าที่ดินมันน้อยมากอันนี้ต้องคิดกันใหม่ โจทย์เรื่องการจัดการอาหารและการพึ่งตนเอง มันก็จะตอบคำถามได้ ต่อเมื่อเราที่ดินเพียงพอ ถ้าน้อยเกินไปมันก็เอาไม่รอด สำหรับคนที่มีที่ดินไม่เพียงพอ เราก็ต้องมาคิดประเด็นกันใหม่
 
ตอนนี้โลกหรือสังคมมันวิกฤติมากจนต้องหันมามองเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างเร่งด่วนแล้วใช่ไหม? 
ใช่ มันเห็นความสำคัญมาก ซึ่งเราเห็นว่าเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ถ้าใครพูดถึงเรื่องการพึ่งตัวเอง เรื่องอาหารเขาก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจ มาเดี๋ยวนี้ เจอหลายๆ ที่แล้วมันเห็นภาพเลยนะ ว่าความขาดแคลนมันเกิดขึ้นจริง ของแพง อาหารแพง มันมีจริง อาหารด้อยคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องไปแยกแยะด้วยวิทยาศาสตร์
 
คิดว่าคนเริ่มคิดค้นเทคนิคมากขึ้นว่า ทำยังไงถึงจะเข้าถึงอาหารที่ดี ซึ่งนี่อาจจะเป็นโจทย์ของคนชั้นกลาง เราพบว่ามีคนรวยหรือคนชั้นกลางที่เบื่อจำนวนไม่น้อยอยากไปจัดการที่ดิน อยากมีที่ดินเพื่อที่จะปลูกนั่นปลูกนี่ไว้กินเองมากขึ้น เรียกว่าเป็นกระแสเห่อหรือไม่ก็ตาม แต่ว่าเราพบว่าส่วนลึกๆ แล้วมันเห็นความจริงข้อนี้มากขึ้น เห็นวิกฤติอาหารที่มีมากขึ้นในขณะเดียวกัน การทำงานกับชาวบ้านที่ให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเพื่อการค้ามาก จนแทบไม่เหลือเวลาการคุยกับเขา มันก็เริ่มคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น ว่าถ้าคุณจะแบ่งเวลาสักหน่อย เขาก็เริ่มเห็นด้วยมากขึ้น แล้วก็ให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น
 
มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น?
ก็มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น คือคนเริ่มเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง ด้านอาหาร ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องปลูกเอง แต่คุณต้องนึกให้ออกว่า คุณจะหาอาหารมาจากไหน คุณจะหาจากเพื่อนบ้าน คุณจะหาซื้อจากที่ไหนที่มันโอเคทั้งในแง่ราคา แล้วก็คุณภาพ คนต้องคิดเรื่องนี้
 
เพราะว่าช่องทางที่ได้มาซึ่งอาหาร มันไม่เหมือนกัน ชาวบ้านที่มีที่ดิน คุณก็ใช้ที่ดินของคุณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำไมคุณต้องไปซื้อส่วนเราไม่มีที่ดิน ไม่มีความสามารถ ไม่มีปัญญา ไม่มีพลังแรงงาน เราก็ต้องมาเริ่มคิดว่า เราจะหาอาหารดีดีที่เราพอจะซื้อไหวได้ที่ไหน นี่คือวิธีการคิดเรื่องการพึ่งพาตนเอง
ด้านอาหาร ไม่ใช่ถือเงินข้ามไปซุปเปอร์มาร์เก็ต เราคิดว่าแบบนี้ เป็นชีวิตที่ไม่ได้คิดเรื่องการพึ่งพาในด้านอาหาร ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เป็นคนเพาะปลูก แต่เราก็ซื้อได้ ว่าเราจะจัดการอาหาร ข้าวเราจะมาจากไหน กะปิ น้ำปลา ผักเราควรจะมาจากไหน เราคิดได้ หรือเราจะหาหมูดีๆ ไก่ดีๆ  ไก่พื้นบ้านมาจากไหน เราต้องเริ่มคิดเอง
 
กิจกรรมผักสวนครัวคนเมือง ที่มูลนิธิชีววิถีกำลังทำอยู่ผลรับเป็นอย่างไรบ้าง?
ก็ถือว่าโตเร็ว กิจกรรมมีแฟนคลับเยอะมาก เขาเปิดหน้าเพจ แฟนเพจเป็นห้าพันคน ก็มีคนมาคุยกัน มีคนมาปลูกผักปลูกหญ้ากัน คนในเมืองปลูกผักปลูกหญ้าเยอะขึ้นนะ คือเปลี่ยนจากสวนหย่อม เปลี่ยนจากของที่กินไม่ได้มาเป็นของกินได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งดี ตอนที่เราเริ่มคิดเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าถ้าคนในเมืองลองปลูกของกินดูเอง เขาก็จะรู้ว่าของกินมันปลูกขึ้นได้ง่าย มันก็จะได้รู้ แล้วก็ได้รู้จริงๆ รู้เรื่องวิถีการผลิตมากยิ่งขึ้น คิดว่าน่าจะได้ผล
 
ซึ่งกิจกรรมสวนผักคนเมือง เราก็มีสองหมวด หมวดหนึ่งก็มาจากชนชั้นกลางบ้านจัดสรรทั่วไป อีกหมวดหนึ่งคือหมวดชุมชน ชุมชนอีกอันหนึ่งที่เราเรียกว่าชุมชนนอกระบบที่จะอยู่กันตามสลัม เขาก็จะมีพื้นที่ส่วนการที่มาทำด้วยกันแล้วแบ่งผักกันไปกิน กลุ่มนั้นก็เวิร์ค แล้วก็ทำกันต่อเนื่อง ผักก็งาม ก็ได้กิน ได้ขายกันบางส่วน เราคิดว่ามันต้องเพิ่มพื้นที่อาหารในทุกๆ จุด ไม่ใช่ให้อาหารเดินทางไกลเกินไป อันนี้ตอบโจทย์ข้างหน้าด้วย กรุงเทพที่มีสิบกว่าล้านคนน่าจะเลี้ยงตัวเองได้ ผักมันควรจะมาอยู่ใกล้ๆ จะต้องเป็นผักดีด้วยนะ อาจจะต้องไปจัดการกับพื้นที่รอบๆ เหมือนกับพอน้ำท่วม เราน่าจะเห็นแต่ถนน เราเห็นคลองมากขึ้นพอเราเห็นคลอง เราก็เห็นคนที่อยู่ตามคลองก็ยังทำสวนกันอยู่พื้นที่เกษตรรอบๆ ที่อยู่ตามคลองต่างๆ ที่มีน้ำมีดินทำการเกษตรก็เป็นพื้นที่เกษตรจำนวนไม่น้อยเลย
 
ตอนนี้เรากำลังทำกิจกรรมระดมเมล็ดพันธุ์ ระดมกล้าพันธุ์ ระดมเงินสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรรอบกรุงเทพมหานคร มันก็จะทำให้เกิดพื้นที่อาหารใกล้ๆ กรุงเทพมากขึ้น ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปทำกับที่ไกลๆ อยู่ตรงไหนก็ทำตรงนั้น คนเชียงใหม่ก็จัดการเรื่องระบบอาหารที่เชียงใหม่ ระบบอาหารก็เกี่ยวข้องกับระบบตลาด การแลกเปลี่ยนก็ต้องผ่านระบบการค้า ไม่ได้เอามาแบ่งๆ กันกินเฉยๆ
 
ถ้าหากชาวบ้านชุมชนหันกลับมาพึ่งพาตนเองได้แล้ว แนวคิดแบบนี้ฟื้นฟูกลับมาแล้ว แต่ว่ามันยังติดขัดกับนโยบายของรัฐ ซึ่งยังถูกผูกขาดอยู่กับนายทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ เราจะกระตุ้นหรือหาทางออกยังไง?
นึกภาพไม่ออกเหมือนกัน คือเวลามองอำนาจส่วนบน ทั้งอำนาจที่มองเห็นและมองไม่เห็น มันก็ประกอบส่วนไปด้วยอำนาจรัฐกับอำนาจทุน มันจับมือกันเหนียวแน่นมาก ถ้าพูดเรื่องระบบอาหารเรื่องเดียวแล้วพบว่าอำนาจรัฐและทุนมันครอบงำ วิธีคิดกระบวนการอาหารเยอะมาก แล้วมันก็มีแนวโน้มพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารมากกว่าพัฒนาระบบอาหารแบบที่เราอยากเห็น
 
ซึ่งเราเห็นทางออกอยู่ทางเดียวในเวลานี้ คือผู้บริโภคต้องตื่นตัวกว่านี้ แล้วมาส่งเสียงบอกว่า นี่ไม่ใช่ทิศทางการพัฒนาอาหารที่เราอยากเห็น ถ้าผู้บริโภคไม่ลุกขึ้นมา เราไม่สามารถทำอะไรได้
 
คือถามว่า ตอนนี้กระบวนการลอบบี้พยายามที่จะไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ก็ไปทุกที่ แต่สุดท้ายในทางปฏิบัติ หลังจากออกมาเป็นนโยบายออกมาแล้ว ก็ไม่มีอะไร กลไกการส่งเสริมภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า พันธุ์ข้าวควรจะส่งเสริมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีศูนย์จัดการเมล็ดพันธุ์ของตนเองให้ดูแลตนเอง หรือส่งเสริมให้ระดับตำบลทำศูนย์พันธุกรรมท้องถิ่นของเขาเอง ซึ่งพันธุ์นี้ต้องเป็นพันธุ์พื้นบ้านล้วนๆ ไม่ได้บอกอย่างนั้น แต่พันธุ์ต้องเป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านจัดการเองได้แนวทางแบบนี้ก็เสนอไปตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ก็ไม่มีใครทำ
 
รัฐไม่ทำ ชาวบ้านต้องลุกมาทำเอง?
ใช่ ชาวบ้านก็ต้องลุกขึ้นมาทำเอง ฉะนั้น ด้านหนึ่ง สิ่งที่ทำได้ก็คือ การปฏิบัติการแนวราบที่สร้างเครือข่าย แล้วให้เกิดการปฏิบัติการอันนี้ ยังไงก็ต้องทำ ส่วนในเรื่องนโยบายก็ลอบบี้ไป แต่ว่าไม่ได้หวังผลอะไรมาก แต่ด้านหนึ่ง เราก็หวังผลกับขบวนการผู้บริโภค ฝันไว้ว่ามันควรจะมีประเทศที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า แต่อย่างว่า ประเทศที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า แต่คิดผิดมากเลย เพราะเราดูๆ แล้ว พบว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังแบบสุดกู่
 
แต่ว่าเราก็ยังคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ล้วนออกมาบอกว่า ตัวเองต้องการระบบอาหารแบบไหน เราคิดว่ารัฐและทุนก็ต้องปรับ ก็ต้องฟังเสียงประชาชน เราคิดว่ามันมีโอกาส เพราะคนสนใจสิ่งที่มันหายไป ถ้ามันยังมีอยู่ คุณก็จะไม่รู้สึก แต่ถ้ามันหายไป คุณก็จะเริ่มรู้สึก เราคิดว่ามันเป็นโอกาสวิกฤติที่คุณมองเห็นมากขึ้น เราคิดว่ามันน่าจะเป็นโอกาสสื่อสารกับผู้บริโภคได้มากขึ้น แล้วให้ผู้บริโภคแอคทีฟมากขึ้น
 
เราคิดว่าผู้บริโภคนั้นจะมีพลังได้ คุณต้องลุกขึ้นมาออกแรง ที่เราบอกว่าชาวบ้านก็ต้องออกแรง ใช้เวลาในการจัดการอาหารและจัดการเวลาให้ดีขึ้น ผู้บริโภคเองก็ต้องจัดการเวลา ให้เวลากับการไปขวนขวายแสวงหามากขึ้น ไม่ใช่เข้าที่เดียวแล้วจะได้ทุกอย่างมีที่เดียว ที่ทำให้คุณได้คือ ซุปเปอร์มาเก็ต แต่ถึงเวลาเกิดวิกฤติ ขึ้นมาทั้งซุปเปอร์มาเก็ตก็ไม่มีให้คุณเหมือนกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net