Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สืบเนื่องจากเมื่อ วันที่ 27 มี.ค.55 ที่ผ่านมาตุลาการศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลกออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีดำเลขที่ 228/2553 คดีแดงเลขที่ 163/2555 ระหว่าง น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ผู้ฟ้องชาวบ้านในตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และจำเลยร่วม 5 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งชาวบ้านฟ้องมาเมื่อปลายปี 2553 โดยมีบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ร้องสอด

การฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทฯผู้ประกอบการเป็นจำนวน 5 แปลงในพื้นที่ภูเขาหม้อแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้านเพราะถือว่าเป็นป่าชุมชน แต่เนื่องจากประทานบัตรที่หน่วยงานรัฐร่วมกันออกให้นั้นชาวบ้านฟ้องว่าอนุญาตออกมาโดยมิชอบ เพิกถอนใบอนุญาตของกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและเหมืองแร่เงิน และเพิกถอนมติสภา อบต.เขาเจ็ดลูก ลงวันที่ 3 มิ.ย.48 อีกทั้งได้มีการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง 5 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราวก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

กรณีปัญหาเกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯดังกล่าวที่ดำเนินการอยู่ในบริเวณใกล้เคียงชุมชน ทำให้ชาวบ้าน ต.เขาเจ็ดลูก ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี ทั้งเสียงดัง มีฝุ่นฟุ้งกระจายจากการระเบิดหินอย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน น้ำดื่มน้ำใช้น้ำใต้ดินไม่สามารถใช้น้ำสาธารณะได้ดังเดิมเพราะมีสารโลหะหนักเจือปน เช่น สารหนู สารปรอท และไซยาไนด์ และชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ชาวบ้านพยายามร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดพิจิตรและส่วนกลางให้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาใด ๆ ได้ ชาวบ้านทนไม่ไหวจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 10 พ.ย.53 เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้สู้กันในศาลมาปีกว่า ๆ ตุลาการเจ้าของสำนวนจึงได้นัดอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) ลงวันที่ 29 ธ.ค.52 ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนด 1 ปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก

ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.55 ที่ผ่านมา ศาลปกครองพิษณุโลกได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้มีความเห็นว่าแปลงประทานบัตรจำนวน 4 แปลง ควรให้บริษัทฯผู้ร้องสอด ไปดำเนินการทำ EHIA ภายใน 1 ปี ให้เรียบร้อยก่อน เพราะถือว่าเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมาตรา 67 กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถ้าภายใน 1 ปี ถ้าบริษัทผู้ร้องสอดไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จก็ให้เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 4 แปลง แต่แปลงบนเขาหม้ออีก 1 แปลงนั้น ไม่ควรเพิกถอนเพราะจะมีผลกระทบกับบริษัทที่ได้ลงทุนทำไปแล้วและไปกระทบกับค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทได้จ่ายให้กับรัฐไปแล้ว

ดูแนวคิดของตุลาการผู้แถลงคดีในศาลนี้ดูสิครับ ว่าแนวคิดนี้ยึดหลักกฎหมายหรือยึดอะไรเป็นหลัก

พิเคราะห์ดูจากคำพิพากษาดังกล่าว ดูเหมือนชาวบ้านจะชนะคดี แต่จริง ๆ แล้วชาวบ้านแพ้คดีต่างหาก เพราะการที่ศาลจะให้เพิกถอนประทานบัตรตามคำขอท้ายฟ้องได้ ก็ต่อเมื่อบริษัทฯดังกล่าวไม่จัดทำรายงาน EHIA ให้แล้วเสร็จและไม่ได้รับความเห็นชอบภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา เพราะวันนี้บริษัทคู่พิพาทยังสามารถเปิดดำเนินกิจการในพื้นที่ได้ต่อไป ยังสามารถสร้างความเดือดร้อนและเสียหายให้กับชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และกว่าจะครบกำหนดเวลา 1 ปีบริษัทอาจจะเร่งขุดเจาะทำเหมืองจนหมดพื้นที่ทำเหมืองก่อนแล้วก็ได้ หรือถ้าไม่หมดก็เหลือน้อยเต็มทีแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวจะมีประโยชน์อันใดต่อการการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชาวบ้านดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 บัญญัติไว้

คำพิพากษาดังกล่าวหากเทียบเคียงกับคำพิพากษาคดีมาบตาพุด ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้าน 43 คนฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2552 แล้วค่อนข้างจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นกรณีที่ใกล้เคียงกันและเป็นข้อกฎหมายเดียวกัน คือการขอให้ศาลบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง โดยทันทีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ ซึ่งศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดก็เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งและคำพิพากษาไปตามคำขอท้ายฟ้อง ที่สำคัญคือ การสั่งให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงาน EHIA ให้แล้วเสร็จโดยไม่กำหนดระยะเวลาและต้องได้รับความเห็นชอบแล้วเสียก่อน จึงจะสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ในขณะที่คดีเหมืองทองพิจิตร ศาลสั่งให้ผู้ประกอบการจัดทำ EHIA ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ นี่คือความแตกต่างและมุมมองขององค์คณะตุลาการของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองพิษณุโลก ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกันแต่ใช้กฎหมายมาตราเดียวกัน

เราคงไม่อาจตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์การใช้ดุลยพินิจขององค์คณะตุลากาแต่ละองค์คณะได้ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละองค์คณะ แต่บริบทของสังคมนั้นเราต้องสร้างบรรทัดฐานและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลให้จงได้ เพราะสังคมยังเชื่อมั่นว่าอำนาจตุลาการศาลที่เป็นดุลอำนาจ 1 ใน 3 ของระบบการปกครองของไทย จะยังสามารถฝากผีฝากไข้ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและให้การคุ้มครองวิถีชีวิตและปกปักรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของแผ่นดินได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผ่านคำพิพากษาได้ แต่หากศาลมองแต่ประโยชน์ของผู้ประกอบการ ทุนนิยม ประโยชน์ทางธุรกิจ ทางเศรษฐกิจ เป็นตัวตั้ง กลัวผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบ ต้องคอยประคบประหงมเอาไว้ ส่วนชาวบ้านตัวน้อย ๆ ที่ไม่มีปากมีเสียง จะตาย เสียหาย หรือฉิบหายอย่างไร ก็ชั่งมัน ความขัดแย้งในสังคมไทยก็ไม่มีวันสิ้นสุดหรือลดลงมาได้

สำหรับคดีเหมืองทองที่พิจิตรนั้น ในความคิดเห็นของชาวบ้าน เห็นว่าควรให้เพิกถอนประทานบัตรและให้ยุติการทำเหมืองในแปลงประทานบัตรทั้งหมดไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว น่าจะถูกต้องกว่า เพื่อหยุดยังผลกระทบที่เกิดกับชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550

คดีนี้ผู้ฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษา และเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาเมื่อใด คงจะได้ใช้เป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยได้ว่า ระหว่างสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่มีจำนวนมาก กับผู้ใช้อำนาจทางปกครอง และผู้ประกอบการทุนนิยมอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมข้ามชาติ ศาลปกครองของไทย จะมีจุดยืนหรือสร้างบรรทัดฐานไว้ให้กับสังคมไทยได้อย่างไร และเป็นไปในทิศทางใด...คงไม่นานเกินรอนะครับ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net