Skip to main content
sharethis
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ "ประเทศไทย: การเสนออภัยโทษควรสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..
 
ประเทศไทย: การเสนออภัยโทษควรสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย
 
การเสนออภัยโทษความผิดที่กระทำขึ้นนับแต่เกิดวิกฤตการเมืองอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันของไทย ต้องไม่กลายเป็นการส่งเสริมการลอยนวลพ้นผิดของผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างปรองดองแห่งชาติของรัฐสภาไทยได้จัดการอภิปรายสามวันเกี่ยวกับรายงานซึ่งเสนอให้อภัยโทษต่อผู้นำและผู้สนับสนุนขบวนการทางการเมืองทั้งหลาย นักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคง โดยให้ย้อนหลังไปอย่างน้อยจนถึงช่วงทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549
 
รายงานซึ่งจัดเตรียมโดยสถาบันพระปกเกล้ามีข้อเสนอว่าการให้อภัยโทษควรไม่ครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
 
“การอภัยโทษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเป็นสิ่งที่ไม่อาจกระทำได้ตามกฎบัตรสากล” เบนจามิน ซาวัคกี (Benjamin Zawacki) นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
“รัฐบาลไทยควรดำเนินการสอบสวนตามข้อกล่าวหาการละเมิดทั้งปวง โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และควรมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อความผิดทางอาญา”
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้กฎหมายอภัยโทษที่เสนอกับกรณีนักโทษด้านมโนธรรมสำนึก
 
นับแต่เกิดวิกฤตการเมืองเมื่อปี 2548 ในประเทศไทยมีนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกหลายคนที่ถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา) และ/หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นพื้นฐานนำไปสู่การตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”  
 
กฎหมายทั้งสองฉบับทำให้ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก
 
“ควรมีการถอนข้อกล่าวหาทั้งปวงต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งสองฉบับ เพียงเพราะการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ” เบนจามิน ซาวัคกีกล่าว “ผู้ที่ถูกคุมขังเหล่านี้ซึ่งถือเป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกเช่นเดียวกับที่อื่น ๆ ควรได้รับการปล่อยตัวทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงกระตุ้นให้ทางการไทยพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามบรรทัดฐานและมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก หรือไม่เช่นนั้นก็ให้ยกเลิกกฎหมายไป
 
ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้รัฐต้องสอบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดีเมื่อมีข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดและเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก
 
จากข้อมูลในรายงานความคืบหน้าครั้งที่ 3 (มีนาคม 2555) ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ระบุว่า การสอบสวนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายทั้ง 261 คดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่าง ๆ 650 คน อยู่ระหว่างการดำเนินการหรือสำเร็จลุล่วงแล้ว ส่งผลให้มีการจับกุม 290 ครั้ง และมีการสันนิษฐานว่าอย่างน้อยใน 16 คดีซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ที่ถูกสังหารในช่วงที่เกิดความรุนแรง 93 คน การเสียชีวิตเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังของรัฐบาล
 
รายงานยังเน้นย้ำข้อเสนอแนะของคอป.ให้มีการแก้ไขเนื้อหาที่สำคัญเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  
 
“ในประเทศไทย ต้องยึดการรับผิดเป็นหลักเหนือกว่าการให้อภัยโทษ ภายหลังเกิดความรุนแรงขึ้น และควรมีการปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกทุกคน” เบนจามิน ซาวัคกีกล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net