นักข่าวพลเมือง: ภาคประชาชนโวย ก.ทรัพย์ฯ ออก กม.ควบคุมน้ำบาดาล

เลขา กป.อพช อีสาน ระบุชาวบ้านผู้ใช้น้ำบาดาลรายย่อยจะได้รับผลกระทบจากประกาศกระทรวงฉบับนี้ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชาวบ้านชี้เอื้อประโยชน์นายทุน
 
ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2554 เรื่องกำหนดเขตน้ำบาดาลและความลึกของน้ำบาดาล มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป โดยที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 7 จังหวัด บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา
 
ในประกาศของกระทรวงทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้น้ำใต้ดินทุกจังหวัดที่อยู่ลึกจากผิวดินเกินกว่า 15 เมตรเป็น น้ำบาดาล โดยผู้ที่ใช้หรือประกอบการกิจการน้ำบาดาลที่มีการขุดเจาะใช้และประกอบกิจการไปก่อนหน้าที่จะมีประกาศกระทรวงฉบับนี้ จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่เพื่อขอใช้และประกอบกิจการน้ำบาดาล โดยต้องยื่นเรื่องขอภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศบังคับใช้ รวมไปถึงผู้ใช้น้ำและผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะขุดเจาะน้ำบาดาลจะต้องมีการยื่นเรื่องขออนุญาตใช้น้ำบาดาลด้วยเช่นกัน
 
โดยเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 55 เวลา 13.00 น. นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช) เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ประกาศฉบับนี้จะเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลรายย่อยอย่างแน่นอน เมื่อรัฐเข้ามาบริหารจัดการน้ำบาดาลด้วยตัวเองอย่างเบ็ดเสร็จประชาชนเกษตรกรจะเข้าถึงการใช้น้ำได้ยากขึ้น
 
“ชาวบ้านผู้ใช้น้ำบาดาลรายย่อยจะได้รับผลกระทบจากประกาศกระทรวงฉบับนี้ เพราะการรวมศูนย์การจัดการทุกอย่างที่ภาครัฐ โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และ 67 ให้สิทธิบุคคลและชุมชนมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” นายสุวิทย์ กล่าว
 
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า การกำหนดให้ทุกจังหวัด ที่มีน้ำใต้ดินอยู่ลึกจากผิวดินเกินกว่า 15 เมตร เป็นน้ำบาดาล ทำให้มาตรฐานการขุดเจาะเหมือนกันหมด ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้วระบบนิเวศแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางที่ดินอ่อน บางที่ดินแข็ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการพังลงของหน้าดินได้
 
ด้านนายบุญจันทร์ คำเบ้าเมือง เกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลในพื้นที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี และมีอาชีพรับเหมาขุดเจาะน้ำบาดาลขนาดเล็ก (ท่อ 6 หุน) ความลึกไม่เกิน 30 เมตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านใช้น้ำบาดาล โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตจากใคร เพราะน้ำบาดาลเป็นของคนในชุมชน และคนในชุมชนก็ช่วยกันจัดการ ดูแลเป็นอย่างดี
 
“หากหน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการน้ำเอง และชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งการขออนุญาตใช้น้ำ และเสียค่าบำรุงต่าง ๆ จะส่งผลให้ชาวบ้านเข้าถึงน้ำยากขึ้น และระบบบ่อน้ำบาดาลขนาดเล็กของชุมชนหายไป เพราะชาวบ้านผู้ใช้น้ำบาดาลรายย่อยไม่มีทุนทรัพย์มมาก และเป็นโอกาสสำหรับนายทุนผู้ขายน้ำ” นายบุญจันทร์กล่าว.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท