Skip to main content
sharethis

คณะเจรจาจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เดินทางไปยังเมืองผาอัน-ย่างกุ้ง เพื่อหารือเรื่องการหยุดยิง ก่อนได้ข้อตกลงร่วม 13 ข้อ เพื่อวางกรอบการสร้างสันติภาพ รวมทั้งหลักปฏิบัติเพื่อรับรองความปลอดภัยพลเรือน วางแผนตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้ลี้ภัย การกำจัดทุ่นระเบิด และปล่อยนักโทษการเมืองชาวกะเหรี่ยงด้วย ขณะที่ล่าสุดวันนี้เลขาธิการ KNU และคณะเดินทางไปเนปิดอว์เพื่อหารือกับประธานาธิบดีพม่าด้วย 

การเจรจาสันติภาพระหว่างคณะเจรจาจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และรัฐบาลพม่า ที่โรงแรมเซโดนา นครย่างกุ้ง เมื่อ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา ก่อนบรรลุข้อตกลงร่วม 13 ข้อเพื่อวางกรอบการสร้างสันติภาพ (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อภาพจาก Kwekalu.net) [คลิกที่นี่เพื่อชมภาพชุด]

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง-รัฐบาลพม่า บรรลุข้อตกลงร่วม 13 ข้อ เพื่อวางกรอบสร้างสันติภาพ

เว็บไซต์ Karennews รายงานวันนี้ (7 เม.ย.) ว่าคณะเจรจาจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และรัฐบาลพม่าสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกัน 13 ข้อ เพื่อสร้างกรอบการเจรจาหยุดยิงระหว่างสองฝ่าย ภายหลังจากที่มี "การเจรจาสันติภาพ" เมื่อวานนี้ (6 เม.ย.) ที่โรงแรมเซโดนา ในย่างกุ้ง โดยคณะสังเกตการณ์จากต่างประเทศ และผู้นำชาวกะเหรี่ยงต่างๆ ได้รับอนุญาตให้เฝ้าสังเกตการณ์เจรจาดังกล่าว

ทั้งนี้ภายหลังจากการเจรจา 1 วัน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะรับหลักการที่จะทำให้เกิด "ผลในทางปฏิบัติที่มีความก้าวหน้า" และจะทำงานร่วมกันเพื่อเกิดการหยุดยิงทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของกลุ่มชนชาติต่างๆ

ข้อตกลงร่วมกันทั้ง 13 ข้อดังกล่าว มาจากความเห็นชอบจากทั้ง 2 ฝ่าย มีการอ่านและนำเสนอต่อหน้าสักขีพยานและสื่อมวลชนที่มาติดตามทำข่าว

ทั้งนี้ KNU และรัฐบาลพม่ากล่าวว่าทั้งสองฝ่ายได้สนทนากัน เห็นชอบร่วมกัน และได้เตรียม "หลักปฏิบัติสำหรับการหยุดยิง" เพื่อการันตีความปลอดภัยของประชาชน

 

เตรียมตั้งคณะสังเกตการณ์หยุดยิงจากทั้งสองฝ่าย และวางแผนพัฒนาร่วมกัน

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบที่จะมีคณะกรรมการสร้างสันติภาพในระดับเมือง อำเภอ และตำบล โดยทั้งสองฝ่ายตัดสินใจที่จะมี "คณะสังเกตการณ์หยุดยิง" ระดับท้องถิ่น ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบให้ "คณะสังเกตการณ์นานาชาติ" เข้ามาหลังจากที่กระบวนการหยุดยิงมีความคิบหน้าด้วย

นอกจากนี้ หนึ่งใน 13 ข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายยังรวมไปถึงแผนการตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับผู้ลี้ภัยภายในประเทศ การกำจัดทุ่นระเบิด การตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับผู้ลี้ภัย การมอบสัญชาติ การทำให้นิติรัฐมีผลในทางปฏิบัติ และการทำงานร่วมกันเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" สิทธิในที่ดินทำกิน การร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่น เพื่อสร้างเสริมสันติภาพ และปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวกะเหรี่ยง

สำหรับคณะเจรจาของฝ่ายสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU 13 คน นำโดยเลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงนาง นอว์ ซิปโปร่า เส่ง ส่วนคณะเจรจาของฝ่ายรัฐบาลพม่า 12 คน นำโดยรัฐมนตรีกิจการรถไฟ นายอ่อง มิน

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 4 - 11 เมษายน นี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU มีกำหนดการหารือกับรัฐบาลพม่าเรื่องการสร้างสันติภาพ โดยตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. มีการหารือกับตัวแทนรัฐบาลพม่าที่เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง ในเรื่องหลักปฏิบัติของกองทัพทั้งสองฝ่าย การสังเกตการณ์การหยุดยิง การตั้งสำนักงานประสานงาน นอกจากนี้ในวันที่ 5 เม.ย. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมในรัฐกะเหรี่ยงที่เมืองผาอัน ก่อนออกเดินทางไปยังนครย่างกุ้งเพื่อหารือเรื่องการสร้างสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลพม่าในระดับสหภาพเมื่อ 6 เม.ย. ดังกล่าว

นอว์ ซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) (หันหน้า คนที่สองจากซ้าย) หารือกับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ที่กรุงเนปิดอว์ วันนี้ (7 เม.ย.) ที่มา: Voice Weekly/facebook.com

 

เลขาธิการ KNU หารือประธานาธิบดี "เต็ง เส่ง"

ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (7 เม.ย.) มีรายงานว่านางนอว์ ซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการ KNU และคณะประมาณ 6 คน ได้เดินทางโดย "เที่ยวบินพิเศษ" จากนครย่างกุ้งไปยังกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า เพื่อหารือกับนายเต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่าเป็นเวลา 90 นาที ทั้งนี้รายละเอียดของการหารือยังไม่มีการเปิดเผย อย่างไรก็ตามสื่อพม่าหลายฉบับได้เผยแพร่ภาพถ่ายเลขาธิการ KNU หารือกับนายเต็ง เส่ง

ขณะที่เว็บไซต์ของบางกอกโพสต์ รายงานวันนี้ อ้างอิงคำพูดของประธานาธิบดีพม่า ผ่านการให้ข่าวของ "แหล่งข่าว" ที่เป็นเจ้าหน้าที่พม่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการหารือดังกล่าว โดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กล่าวว่า ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มได้มีตัวแทนทางการเมือง "อาวุธที่ถือในมือของพวกเขา ไม่ควรนำมาใช้สู้กันและกัน แต่ควรใช้เพื่อปกป้องประเทศ" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายเต็ง เส่ง อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันถ้อยแถลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net