Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 11 เมษายน 2555 เกิดแผ่นดินไหวทางทิศตะวันตกของเกาะสุมาตรา 8.3 ริคเตอร์ คลื่นสึนามิกำลังซัดผ่านเข้าสู่พื้นที่โดยรอบ สัญญาณเตือนภัยดังสนั่นทั่วพื้นที่ใกล้เคียง หกจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงซ้ำรอยแบบปีใหม่ 2547 อีกครั้ง ทว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้สถานีโทรทัศน์ของไทยที่ออกอากาศแบบฟรี ๆ ให้เราได้ชมทั้งหกช่องนั้นกำลังถ่ายทอดพระราชพิธีอยู่ แม้จะมีช่อง ThaiPBS ที่ตัดสินใจตัดการรับสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจทิ้งเพื่อเสนอข่าวสึนามิ แต่โทรทัศน์อีกห้าช่องก็ยังคงเสนองานพระราชพิธีจนจบประหนึ่งเหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น

เพียงข้ามคืนมีความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์และบทความหลายชิ้นได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างถึงพริกถึงขิง รวม ๆ ก็พอแบ่งได้เป็นสองทางคือฟากที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเนื่องด้วยไม่ยอมตัดสินใจเลือกสึนามิที่เป็นผลกระทบโดยรวมก่อน อีกทางก็วิพากษ์ในทิศทางที่ว่าหากเป็นเอ็งบ้าง เอ็งกล้าตัดหรือ

เหตุผลต่าง ๆ หลายบทความคงวิเคราะห์กันไว้แล้ว ผู้เขียนขอกล่าวถึงเรื่องอื่นที่พอพูดใกล้เคียงกันได้บ้าง

ใครที่เรียนสาขานิเทศศาสตร์ย่อมคุ้นชื่อของเดนิส แมคเควล (Denis McQuail) เป็นอย่างดี แมคเควล ว่ากันว่าด้วยความเป็นกลาง ๆ ไม่เลือกฟากทางความคิดอย่างสุดโต่งทางใดทางหนึ่งของเขาทำให้ผลงานเขียนหลายชิ้นกลายเป็นหนังสืออ่านหลักของนักศึกษานิเทศศาสตร์ที่ใช้กันทั่วไป แมคเควลรวบรวมแนวความคิดที่หยิบยืมจากศาสตร์อื่นมาร้อยเรียงเพื่ออธิบายปรากฎการณ์สื่อ หนึ่งในแนวคิดที่ถูกนำมาใช้กันบ่อยยิ่งคือเรื่องบรรทัดฐานสื่อ (Normative Media) อันเป็นแนวคิดที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของสื่อในบริบทสังคมต่าง ๆ ว่าอิงคุณค่ากับบริบทใด

ในเวอร์ชั่นแรก ๆ ของ Mass Communication Theory แมคเควลแบ่งกลุ่มบรรทัดฐานไว้สี่กลุ่มใหญ่ภายใต้กรอบแนวคิดทางการเมือง อาทิ สื่อที่ทำงานบนพื้นฐานแนวคิดเสรีนิยม สังคมนิยมแบบโซเวียต อำนาจนิยม เป็นต้น ต่อมามีการขยายไปสู่บริบทอื่น ๆ เช่น ทำงานบนพื้นฐานแนวคิดสังคมประชาธิปไตยเพื่อการมีส่วนร่วม แนวคิดการพัฒนา ฯลฯ โดยแต่ละแนวทางความคิด สื่อจะปฏิบัติงานบนกรอบฐานเพื่อรับใช้อุดมการณ์ความคิด และแนวคิดนี้สามารถใช้ตรวจสอบได้ว่า ณ บริบทสังคมนั้น ๆ สื่อทำงานเป็นไปตามบรรทัดฐานที่ตั้งไว้หรือไม่

ฉบับปรับปรุงล่าสุด (6th edition) แมคเควลขมวดแนวคิดกลายเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สื่อภายใต้แนวคิดทางการตลาด แนวคิดเพื่อสังคม แนวคิดสื่อในฐานะมืออาชีพ และสื่อทางเลือกที่สนใจประเด็นรอง ๆ ของกลุ่มชนรากหญ้า

เป็นโจทย์ที่ตอบยากว่าแล้วเมืองไทยอยู่ในกรอบบรรทัดฐานสื่อแบบไหน บทบาทต่าง ๆ ก็ยังดูคลุมเครือ ยิ่งฐานคิดเรื่องประชาธิปไตยที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในแต่ละฐานคิดก็ดูเลือนลางและบิดเบือนไปจากหลักการไม่น้อย ในฐานะคนสอนสื่อต้องยอมรับว่าเหนื่อยยากมากกับการใช้แนวคิดของแมคเควลอันเป็นที่ยอมรับของสากลโลกในการอธิบายเมืองไทยจริง ๆ

สงสัยเมืองไทยจะมีบรรทัดฐานส่วนตัวอันมิอาจบดบังได้จริง ๆ

จากเหตุการณ์ ถ่ายทอดพระราชพิธี VS สึนามินี้ กลายเป็นปรากฎการณ์ชัดเจนที่ตอบข้อสมมติฐานทั้งหมดในใจผู้เขียนว่าแท้ที่จริงแล้วบ้านเรานั้นมีบรรทัดฐานเฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือนแน่ บรรทัดฐานนี้อ้างอิงบนพื้นฐานอุดมการณ์ความคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคลือบภายนอกด้วยประชาธิปไตย การทำงานของสื่อมีพื้นฐานคิดให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นอันดับหนึ่ง ชาติเป็นอันดับสอง ศาสนาอันดับสาม อันดับสี่คือข่าวฉาวดารา ส่วนประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอยู่ท้าย ๆ สังเกตได้จากการเรียงลำดับข่าวภาคค่ำ มีสักกี่ครั้งเชียวที่ข่าวอันมีประชาชนเป็นตัวหลักจะเป็นข่าวแรก

บรรทัดฐานสื่อแบบนี้ สื่อไทยยินยอมพร้อมใจให้ความสำคัญ ให้พื้นที่ เวลาและกรอบทิศทางการนำเสนอในแง่บวกแก่ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เสมอ ทุกบริษัทสื่อต่างยินยอมพร้อมใจเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของพระราชวงศ์ผ่านรายการและสื่อที่ตนมีในมือ เป็นเรื่องที่ต้องรู้โดยอัตโนมัติว่าใกล้วันเกิดพระราชวงศ์องค์ใดก็ต้องทำเทิดพระเกียรติก่อนเข้ารายการ คั่นรายการ ปิดรายการ สละช่วงเวลาที่ดีที่สุดของรายการ อาทิ ช่วงเปิดให้กับการนำเสนอเรื่องราวพระราชวงศ์ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทตนนั้นมีความจงรักภักดีเป็นที่หนึ่งไม่แพ้ใคร

ยิ่งบางช่วงเวลา อาจต้องจำใจกระอักเลือดเพราะสูญเสียเวลาไพรม์ไทม์ราคาแสนสูงนาทีร่วมล้านไปเพียงด้วยการถ่ายทอดงานพระราชพิธี แต่ในเมื่อบรรทัดฐานกรอบคิดตั้งไว้ให้ยินยอมพร้อมใจ ดังนั้นการเสียเงินไม่กี่สิบล้านที่จะได้แต่ละตอนไปกับการแสดงความจงรักภักดีนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ (และควรทำอย่างยิ่งด้วย)

หันมามองเหตุการณ์เมื่อหัวค่ำวานนี้ มองกันด้วยบรรทัดฐาน Monarchy Normative Media เช่นนี้ก็ดูเป็นเรื่องเหมาะควรแล้ว ในเมื่อการชั่งน้ำหนักระหว่างเหตุการณ์สองเหตุการณ์มีความยากเย็นนัก การเลือกโดยใช้กรอบบรรทัดฐานเป็นตัวช่วยก็พอทำให้เห็นภาพได้ว่าสื่อไทยควรเลือกนำเสนออะไรมากกว่ากัน

เป็นไปได้น่าจะมีการพัฒนาเป็นงานวิจัยเพื่อสร้างกรอบของ Monarchy Normative Media ให้ชัดเจน แล้วประกาศที่ทางให้ชัดเจนในวงวิชาการโลก น่าจะสร้างกรอบความคิดใหม่ในการอธิบายปรากฎการณ์สังคมที่เฉพาะเจาะจงเฉกเช่นเมืองไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่แน่แมคเควลเองอาจจะนำไปใส่ในไว้ในหนังสือของเขาฉบับปรับปรุงใหม่ก็ได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net