Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ก่อนอื่นผมต้องออกตัวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ การแบนภาพยนตร์หรือการเผยแพร่ใดๆ สู่พื้นที่สาธารณะ ในสังคมอารยะเราย่อมเคารพความเห็นต่าง ที่สามารถนำเสนอและถกเถียงในพื้นที่สาธารณะได้ เห็นด้วยกับผู้สร้างภาพยนตร์ Shakespeare Must Die ที่พูดถึงสังคมอำนาจนิยมและมิอาจพูดถึงความเป็นมาของความอุบาทว์ในสังคมได้

ในบทความนี้ผมจึงมิได้พิจารณาถึงการฟันธงว่า ควรหรือไม่ควร “ห้ามฉาย”ภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากได้ให้คำตอบไปตั้งแต่ประโยคแรกเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่มุ่งอยากนำเสนอคือ ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับวิธีการตีความประวัติศาสตร์การเมืองของผู้สร้างซึ่งเป็นแบบฉบับของการพยายามทำความประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก ที่อยู่บนฐานโครงเรื่องแบบชนชั้นนำแบบจารีตนิยม การตีความงานเขียนของเชคสเปียร์ตามแบบฉบับไทยๆ รวมถึงประเด็นความสวยงามของศิลปะอย่างไม่มีเงื่อนไข

เป้าประสงค์หลักที่อยากจะสื่อมีเพียงแค่กระตุ้นเตือนให้ผู้สร้างหนังในฐานะสมาชิกฐานันดรที่สี่ฉุกคิดถึงเงื่อนไขข้างต้น ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ในกองเซ็นเซอร์มีคนที่มีความเห็นคล้ายกับข้อสังเกตนี้หรือไม่ แต่ที่สำคัญประวัติศาสตร์ไทย”มีเนื้อหา”ที่มีนัยยะสำคัญต่อการทำความเข้าใจเงื่อนไขการเมืองปัจจุบัน ที่บางครั้งการอ้างความสวยงามของศิลปะในการตีความตามใจชอบดูจะไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ในสังคมอารยะเช่นกัน

ในเบื้องต้นผมอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผมที่มีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ”ก่อนสมัย” ของเราทั้งสองคน สำหรับผม คือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และสำหรับเพื่อนของผม คือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของฮิตเลอร์ แน่นอนว่าเราทั้งสองเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่าและเอกสารทั้งนั้น

ทีแรกผมเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ที่เยอรมัน เพราะเคยได้ยินจากเพื่อนฝูงที่เคยไปเที่ยวเยอรมันว่า คนเยอรมันถือว่าการพูดถึงฮิตเลอร์เป็นเรื่องหยาบคาย แต่ปรากฏว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจผิดถนัด จริงอยู่ฮิตเลอร์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นเรื่องเลวร้ายแต่ “ไม่ใช่” เรื่องที่พูดถึงไม่ได้ ตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันตลอด

เพื่อนของผมท่านนี้เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองในสมัยเด็กต้องไปทัศนศึกษายังแคมป์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นฝันร้ายสำหรับเขาไปหลายคืน สำหรับสังคมเยอรมัน มันเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะบอกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้น” หรือ การสร้างคำอธิบายใดๆ เพื่อลดทอนความเลวร้ายเหล่านี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน

แน่นอนว่าสำหรับประเทศที่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีการตกแต่งหลายรอบอย่างประเทศไทย การจำและการลืมประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่วางอยู่บน “ฐานโครงเรื่อง” ดังที่ อ.ธงชัย วินิจจะกุล พยายามเปรียบเทียบการเข้าใจประวัติศาสตร์ของไทยที่มีฐานโครงเรื่องง่ายๆ ว่า คนไทยแตกสามัคคี--ความวุ่นวาย--พระเอกขี่ม้าขาว--บ้านเมืองสงบสุขสามัคคี อันเป็นเหตุผลที่คนไทยเข้าใจว่า ชาวบ้านบางระจันรบกับทัพบุเรงนอง หรือการเนรมิตเหตุการณ์ประหลาด อย่าง “16 ตุลา 2514” ขึ้นมา เพราะ “เนื้อหา” หรือข้อเท็จจริง ถูกลดความสำคัญให้เหลือเพียงแค่โครงเรื่อง หรือ Plot แบบง่ายๆเท่านั้น

ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ตัวอย่าง มีฉากแขวนคอและทุบด้วยเก้าอี้ ห้อมล้อมด้วยผู้คนที่สรรเสริญ เหตุการณ์นั้นโพกผ้าสีโทนแดง แม้ผู้สร้างหนังจะแสดงความเห็นว่า สีแดงเป็นสีแห่งความก้าวร้าวรุนแรงเป็นที่เข้าใจของสากลโลก ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทางการเมืองกลุ่มเดียว แต่ด้วยนัยยะบริบทอื่นที่ผู้สร้างพยายามเชื่อมโยงถึงการที่ประชาชน (ในอาภรณ์แดง) ถูกชักนำโดยท่านผู้นำให้กำจัดผู้ที่ตะโกน “Get Out” ในบริบทการเมืองร่วมสมัยไทย ทำให้ไม่อาจคิดเป็นอื่นได้

เรื่องเหล่านี้มิใช่เรื่องที่คิดมากไปเอง เพราะคนดูหนังก็จำเป็นต้องคิดให้มากกว่าสารของผู้สร้างอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นปัญหาสำคัญ เพราะมันหมายถึงการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยแบบโครงเรื่องจารีต โดยเป็นการเชื่อมว่า ขบวนการคลั่งเจ้าย่างสดนักศึกษา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับขบวนการเสื้อแดงที่ถูกชักนำโดยนักการเมืองว่า มีลักษณะร่วมกัน โดยเป็นการเชื่อมตรงสู่โครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทย แบบง่ายๆ คือ “มีผู้บ้าคลั่งทำลายความสงบและสวยงาม และคนส่วนมากที่โง่เง่าอันถูกชักจูงจากคนบ้าอำนาจและได้ประโยชน์จากมวลชน” เนื้อหาและข้อเท็จจริงหลายอย่างถูกลดทอนตัดออกไปเพื่อให้ทุกอย่างเข้ากับโครงเรื่องแบบง่ายๆ ตามแบบฉบับประวัติศาสตร์ไทย ให้เหลือเป็นแค่ “คนคลั่งที่ถูกปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ”

ย้อนกลับไปในกรณีศึกษาเยอรมันอีกครั้ง มันคงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้อย่างยากลำบาก ถ้าเกิดพรรคอนุรักษ์นิยมในเยอรมันให้งบทำหนังแก่ภาพยนตร์ที่มีพล็อตเทียบเคียงว่า การสไตรค์หยุดงานของกรรมกรฝ่ายซ้ายเป็นการถูกชักนำโดยผู้นำสหภาพบ้าอำนาจอันไม่ต่างกับเหตุการณ์ฮิตเลอร์ล้างสมองคนเยอรมัน  

ศิลปะมีความสวยงามก็จริง แต่ความสวยงามก็เกิดจากการประดิษฐ์และให้ความหมายของมนุษย์ ความสวยงามที่ศิลปินพูดถึง จะนับเป็นความสวยงามได้อย่างไรหากมันวางอยู่บนฐานการเหยียบย่ำคนส่วนมากในสังคมว่า โง่เง่าและคิดไม่เป็น

โดยส่วนตัว ผมเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์ หรือละครเวทีมากมายนัก ดูตั้งแต่หนังตลาด หนังตลกวัยรุ่น หนังรักเกาหลี ละครหลังข่าว หนังการเมือง หรือหนังทางเลือกตามโอกาสไม่ได้กำหนดสเป็คตัวเองว่าเป็นแบบไหน แต่ไม่เคยปฏิเสธที่จะเสพสื่อแบบที่สามัญชนหรือชาวไพร่เสพกัน

ในส่วนละครแม็คเบธนั้นเมีเพียงความทรงจำเลือนลางว่า เคยอ่านในหนังสือนอกเวลาสมัยมัธยม แต่เนื้อเรื่องก็ไม่น่าสนุกจดจำสำหรับเด็กมัธยมนัก จนกระทั่งมีโอกาสได้ดูละครเวทีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯจึงมีโอกาสได้ไปค้นอ่านอีกครั้ง จึงพบประเด็นสำคัญที่ชวนน่าแลกเปลี่ยนเมื่อคนไทยไปอ่านวรรณกรรมฝรั่งแล้วนำความคิดแบบไทยๆ ไปอ่าน ปัญหาการตีความแบบไทยๆ ที่พบกันทั่วไปจากผู้ชมละครเวที ซึ่งจบง่ายๆ เกี่ยวกับ แม็คเบธ ผู้ทะเยอทะยานฆ่าพระราชา งมงายในไสยศาสตร์ วิกลจริต และสุดท้ายแพ้ภัยตัวเอง ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วก็เป็นการตีความตามพล็อตวิธีคิดประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบชนชั้นนำจารีตทั้งสิ้น ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวแล้ว มันเป็นคนละเรื่องกับเนื้อแท้ความเป็นนัก “มนุษย์นิยม”ของเชคสเปียร์ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้งานเขียนของเขาโด่งดังไปทั่วโลก

ดังนั้นเวลาชนชั้นนำไทยอ่านเชคสเปียร์จึงอ่านแบบไทยๆ และได้คำตอบว่า แม็คเบธ ทะเยอทะยาน หรือไชล็อคในเรื่อเวนิสวานิช งก ซึ่งเป็นการอ่านและตีความตามความเข้าใจแบบอนุรักษ์นิยมโดยแท้ ในบทละครหลังชนชั้นนำไทยมีการแปลบทละครเพื่อการสร้างคนจีนให้เป็นยิวแห่งบูรพาทิศด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่ว่าคนยิวกับคนจีนงกเหมือนกัน

หากพิจารณาแล้วงานของเชคสเปียร์พยายามตีแผ่ความคิดแบบมนุษย์นิยม คือการตัดสินใจและรับผลของการกระทำในฐานะมนุษย์ ไม่มีเรื่องของเทวดาฟ้าดิน จริงอยู่แม้แม็คเบธจะตัดสินใจกระทำการสังหารพระราชาจากคำทำนายของแม่มดที่เขาจะได้เป็นกษัตริย์ (อันเกิดจากเรื่องบังเอิญจากคำทำนายครั้งแรก) แต่เมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้าย เขาตัดสินใจเข้าสู่สมรภูมิเพื่อที่จะเอาชนะคำทำนายของแม่มดเช่นกัน แม้ว่าการตัดสินใจนั้นอาจหมายถึงการแลกด้วยชีวิต อันเป็นภาพสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ตัดสินใจบนฐานประโยชน์เฉพาะหน้าของตน มิใช่การหลงลิขิตฟ้าดิน

เช่นเดียวกันกับไชล็อคซึ่งได้รับการฉายภาพผ่านมุมมองของชนชั้นนำจารีตไทยถึงความตระหนี่โหดร้ายและได้รับกรรมสนองในท้ายสุด แต่ในบทละครนี้ของเชคสเปียร์ กลับพยายามมุ่งเน้นถึงความเป็นมนุษย์ของทุกคนในเรื่อง เป็นมนุษย์ที่ปฏิสัมพันธ์กัน อาจมีผู้ดี ไพร่ นาย บ่าว เศรษฐี คนจน นายทุน ศักดินา แต่ข้อสำคัญคือ ทุกคนเป็น ”มนุษย์” ไม่มีใครในเรื่องเป็นเทวดา ดังเห็นได้จากบทพูดลือชื่อของไชล็อคที่ว่า

“ข้าเป็นคนยิว....แต่เรากินต่างจากคนคริสเตียนหรือ เมื่อโดนอาวุธทำร้าย เราบาดเจ็บต่างกันหรือไร เราเจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกัน เมื่อเจ็บป่วยเรารักษาต่างกันหรือไร เหน็บหนาวและอบอุ่นด้วยฤดูกาลเดียวกัน เมื่อท่านแทงเรา เลือดเราไม่ไหลหรือ เมื่อท่านจี้เอว เราก็หัวเราะเหมือนกัน เมื่อโดนวางยาพิษ เราก็ตายเหมือนกัน ถ้ามีใครทำผิดกับเรา เราก็ล้วนแก้แค้นเหมือนกัน”

ปัญหาสำคัญคือการตีความบทละครหรือวรรณกรรมต่างชาติมาในบริบทสังคมไทยมักแยกไม่ออกจากการตีความตามแบบฉบับชนชั้นนำที่มองประวัติศาสตร์เป็นโครงเรื่องแบบที่รับใช้ประโยชน์ทางชนชั้นของตนมากกว่าการตีความวรรณกรรมในเนื้อหาสาระที่ปรากฏ จึงไม่แปลกนักที่ จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า ทักษิณเหมือนโจโฉ พลเอกเปรมเหมือนเล่าปี่ อันเป็นผลจากการตีความวรรณกรรมต่างชาติตามมุมมองแบบชนชั้นนำไทย การตีความวรรณกรรมต่างชาติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาในแก่นแท้ปรัชญา มากกว่าแค่การจับสวมเปรียบเทียบตามพล็อตแบบไทยๆ ที่เราอยากให้เป็น

ศิลปะมีความงามของมันอยู่แน่แท้ แต่มิใช่ว่าความงามของมันตามมุมมองของผู้สร้างจะไม่มีต้นทุน ต้นทุนของความงามในหนังเรื่อง Shakespeare Must Die เริ่มต้นด้วยการผลิตซ้ำการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ตามโครงร่างแบบจารีตของไทย ตามด้วยการลดค่าของประชาชนที่ย่อมมีสิทธิเสรีในการดำเนินชีวิตและศรัทธาในอุดมการณ์ทางการเมืองให้เป็นเพียงทาสแก่การชักนำของ ”ท่านผู้นำ” ดังนั้นความงามของศิลปะจึงมิได้ล่องลอยอย่างไม่มีเงื่อนไข หากแต่จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานการยอมรับร่วมกันในสังคม

มนุษย์มีเสรีภาพ แต่มิใช่เป็นปัจเจกชนที่ล่องลอยตามมโนสำนึกของตน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสังคมรวมหมู่ การกระทำของมนุษย์หนึ่งคนส่งผลต่อมนุษย์ทั้งสังคมไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในฐานันดรใด ดังนั้นการผลิตซ้ำความคิดที่นำสู่การลดทอนความเป็นคนของอีกฝ่ายจึงควรแก่การละเว้น

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความของคุณ Filmstick ก่อนเขียนบทความนี้ ซึ่งมีความเห็นด้วยอย่างยิ่งที่การห้ามฉายภาพยนตร์นี้เป็นการปิดโอกาสการนำข้อถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาของภาพยนตร์นี้ในพื้นที่สาธารณะ แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงสำคัญคือ สุดท้ายภาพยนตร์นี้จะมีการเผยแพร่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในยุคที่สิทธิอำนาจของรัฐชาติกำลังถดถอย ผมไม่คิดว่าการห้ามฉายจะมีประสิทธิผลในทางปฏิบัติเท่าใดนัก ดังนั้นการวิพากษ์เรื่องการแบนหนังก็เรื่องหนึ่ง การวิพากษ์หนังก็ยังคงจำเป็นต้องดำเนินไป ดังที่ได้พิจารณาไปแล้วการลดทอนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อนำสู่การสร้าง Plot ประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้อุดมการณ์ของชนชั้นตนก็นับเป็นเรื่องที่อันตรายและผิดวิสัยสำหรับสังคมอารยะไม่แพ้การห้ามฉายภาพยนตร์เช่นเดียวกัน

 

 

ปล.อุทิศบทความนี้ให้แก่ คนึง ฉัตรเท เจ้าหน้าที่ รปภ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 หนึ่งในไพร่ที่ไม่มีที่ยืนในโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบชนชั้นนำ

....................................................

กรุณาเทียบเคียงกับคลิปนี้อีกครั้ง ศิลปะจำเป็นต้องวางอยู่บนฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มิใช่ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล http://www.youtube.com/watch?v=T98ObqqERw4

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net