ความงามของศิลปะ การอ่านเชคสเปียร์ และความล่องลอยฟุ้งซ่านในจิตสำนึกส่วนบุคคล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข้อเขียนชิ้นนี้คือปฏิกิริยาต่อบทความ ‘ประวัติศาสตร์ไทยแบบ Plot Based History กับการอ่านเชคสเปียร์แบบไทยๆ’ ของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไทไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2012

ผมอยากตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงความย้อนแย้งทางทัศนคติ โดยเฉพาะในมุมมองเกี่ยวกับศิลปะที่ษัษฐรัมย์นำมาเพื่อวิพากษ์โจมตีภาพยนตร์เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ (สมานรัชฏ์ กาญจนวณิชย์, 2012) ในประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และหน้าที่ของงานศิลป์ ซึ่งเพียงการออกตัวว่า “ไม่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์ หรือละครเวทีมากมายนัก” ไม่ได้ช่วยให้บทความนี้สมเหตุสมผลและสมควรแก่เหตุขึ้นแต่อย่างใด เพราะปัญหาที่แท้จริงของบทความไม่ได้อยู่ที่รสนิยมหรือความรู้และโลกทัศน์ทางศิลป์

คุณพลาด (หรือจงใจพลาด?) ในคอนเซปต์ที่ง่ายและพื้นฐานที่สุดในการเข้าถึงภาพยนตร์ นั่นคือไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘ภาพยนตร์’ และ ‘ตัวอย่างภาพยนตร์’ ได้ ทั้งๆ ที่คอนเซปต์นี้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ถึงขั้นระดับนักวิชาการ (ไม่ว่าจะสายวิชาไหน) แต่แค่ระดับคนเสพงานบันเทิงเชิงตลาดทั่วโลกต่างก็รู้ข้อเท็จจริงข้อนี้

ถ้าหากเพียงการดูตัวอย่างภาพยนตร์ที่มีเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ประกอบกับการอ่านบทความหรือ Director’s Statement (สารจากผู้กำกับ) ของหนังเรื่องใดๆ แล้วเอามาตีประเด็นอย่างที่คุณทำสามารถเรียกได้ว่า ‘วิพากษ์หนัง’ แล้วล่ะก็ คนดูหนังก็ไม่จำเป็นต้องถ่อสังขารไปดูหนังถึงที่โรง ไม่ต้องขวนขวายตะเกียกตะกายหาโหลดหนังที่ประเทศนี้ไม่ซื้อมาฉายผ่านเว็บบิทเว็บฝากไฟล์ โรงหนังที่มีอยู่ก็ควรปิดกิจการเผาทิ้งเป็นซากตึก เพราะต่อจากนี้คนทำหนังแค่ตัดอะไรยาว 2-3 นาทีมาอัพลงเน็ตก็ทำให้เกิดการวิพากษ์หนังได้

ง่ายจัง

ถ้าคุณเชื่อแบบนั้นจริงๆ งั้นคุณอย่าโกรธเชียวถ้าเกิดมีนักวิจารณ์หรือใครสักคน (อาจเป็นผม หรือ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์) เขียนบทความบริภาษก่นด่าไม่มีชิ้นดีว่าหนังเสื้อแดงลงขันอย่าง ‘นวมทอง’ นั้นเลวร้ายเพราะบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ด้วยการตีความเข้าข้างตัวเองให้เสื้อแดงเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตย ทั้งยังฉวยใช้ประวัติศาสตร์นองเลือดทางการเมืองมาเหยียบย่ำคนอื่นทั้งทหารทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง โดยอาศัยแค่การอ่านเรื่องย่อในเว็บ, อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ในประชาไท หรือฟัง วัฒน์ วรรลยางกูร, ทองขาว ทวีปรังษีนุกูล, พงษ์ศักดิ์ ภูสุทธิสกุล, อภิรักษ์ วรรณสาธพ ให้สัมภาษณ์ออก Voice TV

ในเมื่อคุณยังไม่มีโอกาสได้ดู ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ แล้วจะเอาอะไรไปตัดสินการอ่านเชคสเปียร์ของสมานรัชฏ์? คุณรู้ได้อย่างไรว่าการผลิตซ้ำฉาก ‘ฟาดเก้าอี้’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพื่อ “เชื่อมขบวนการคลั่งเจ้าย่างสดนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับขบวนการเสื้อแดงที่ถูกชักนำโดยนักการเมืองว่ามีลักษณะร่วมกัน” ที่ไปสนับสนุนการอ่านเชคสเปียร์แบบชนชั้นนำ? คุณทราบได้อย่างไรว่าหนังเรื่องนี้ “ผลิตซ้ำการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ตามโครงร่างแบบจารีตของไทย ตามด้วยการลดค่าของประชาชนที่ย่อมมีสิทธิเสรีในการดำเนินชีวิตและศรัทธาในอุดมการณ์ทางการเมืองให้เป็นเพียงทาสแก่การชักนำของ ‘ท่านผู้นำ’”? คุณทราบได้อย่างไรว่าหนังเรื่องนี้ “ผลิตซ้ำความคิดที่นำสู่การลดทอนความเป็นคนของอีกฝ่าย”?

คุณใช้วิธีนั่งทางใน กำหนดจิต มโนเพ้อฝันไปเอง หรือฟังต่อมาจากใคร จนรู้ขึ้นมาได้เองหรือว่าฉากฟาดเก้าอี้นี้ปรากฏอยู่ตอนไหนของหนัง ฉากก่อนหน้านี้คือภาพของใคร ภาพหลังจากนี้นำเสนออย่างไร ทั้งหมดทั้งมวลตลอดเวลาเกือบ 180 นาทีของหนังต้องการจะสื่ออะไร หนังเรียงลำดับจากอะไรไปสู่อะไร ภาพเปรียบเทียบและวิธีการเล่าเรื่องนั้นถูกจัดวางด้วยท่าทีลักษณะไหน คุณเห็นเพียงสีแดงเป็นอาภรณ์ของตัวละครในเรื่องผ่านฉากสั้นๆ ก็พลันตัดสินไปไกลลิบโลก (ยอมรับเถอะ คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวหนังจริงๆ พูดถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือเปล่า!)

ผมไม่ได้จะปกป้องสมานรัชฏ์ว่าเธอปลอดจากเจตนาว่าต้องการพูดถึงเสื้อแดงหรือการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างบริสุทธิ์ (อย่างที่เธอพยายาม depoliticized ผลงานของตนผ่านการให้สัมภาษณ์ออกสื่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา หลังจากหนังได้รับคำสั่งห้ามฉายในราชอาณาจักร) ไม่ได้บอกว่าเราต้องเชื่อตามเธอเท่านั้นว่าเธอยึดสีแดงตามความหมายสากลทางศิลปะและควร exclude การตีความที่ว่า สีแดง = เสื้อแดง ออกไป แต่การยื่นมือเข้าไปตัดสินผลงานด้วยอคติล้นเหลือนั้นคือสิ่งที่ผมยอมรับไม่ได้

จริงๆ ผมว่าคุณก็แค่โกรธที่สมานรัชฏ์ใช้คำว่า ‘คนคลั่งที่ถูกปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ’ และที่เธอพูดถึงเหตุการณ์ May 19 โดยโฟกัสแค่การเผาบ้านเผาเมืองและการล่มสลายของห้างสรรพสินค้ากับโรงภาพยนตร์มากกว่าคนตาย จากบทความของเธอที่เขียนขึ้นในเว็บไซต์ทางการของหนัง แล้วก็พาลตีโพยตีพายมาถึงตัวหนังด้วยอาการคิดฟุ้งซ่านล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคลของตน เหมือนที่เขาได้กล่าวหาผลงานของสมานรัชฏ์ รับใช้ความโกรธที่ว่าเธอต้องการใช้สีแดงเพื่อโจมตีและเหยียบย่ำความเป็นคนของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง แล้วก็ปักใจเชื่อเช่นนั้นโดยไม่คิดตั้งคำถามโต้แย้งกับตัวเอง

ถ้าคุณจะรับใช้ความโกรธของคุณด้วยการเขียนบทความตอบโต้ข้อเขียนของสมานรัชฏ์ไปเลยโดยไม่พยายามทำตัววิพากษ์หนัง หรือจะวิพากษ์การอ่านเชคสเปียร์แบบรับใช้ชนชั้นนำของคนไทยโดยมีพื้นจากละครเวทีของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (หรือจากละครเวที ผลงานแปล และบทวิจารณ์งานเชคสเปียร์ในภาคภาษาไทยชิ้นอื่น) ผมก็จะได้อยู่เฉยๆ แต่คุณเปล่า คุณกลับพยายามใช้คำใหญ่โตมาหุ้มห่อความล่องลอยฟุ้งซ่านโกรธเกรี้ยวอคติของตัวเอง อ้างตั้งแต่เชคสเปียร์ไปถึงเยอรมันลามไปหาคนึง ฉัตรเท แสร้งว่ากำลังพูดถึงประวัติศาสตร์และศิลปะ ทั้งที่คุณก็แค่กำลังพิพากษาสมานรัชฏ์ผ่านตัวหนังสือโดยไร้หลักฐานสนับสนุนเป็นชิ้นเป็นอัน

ข้อที่ตลกอย่างร้ายกาจคือเมื่อคุณหาเหตุผลมาสนับสนุนการพิพากษาอันน่าละอายครั้งนี้ว่า “เพราะคนดูหนังก็จำเป็นต้องคิดให้มากกว่าสารของผู้สร้างอยู่แล้ว” แต่การ ‘คิดมากกว่าผู้สร้าง’ ที่อิงแอบอยู่กับทฤษฎีความตายของประพันธกร (Death of the Author) ไม่ได้ระบุว่าคุณคิดมากกว่าได้คนเดียว และคิดมากกว่าได้แค่แบบเดียว ที่ยิ่งเสียดเย้ยคือคุณนั่นแหละที่ยึดติดกับผู้สร้างเสียเต็มประดา คุณสลัดทัศนคติทางการเมืองของเธอออกไปไม่ได้แม้ชั่วขณะจิตที่คุณเขียนงาน และคุณก็ตัดสินทุกอย่างจากความคิดนั้น ราวกับว่าผีของสมานรัชฏ์ตามหลอกตามหลอนคุณไม่รู้จบ หลังจากที่คุณเผลอไปอ่านเจอว่าเธอเกลียดเครื่องจักรทักษิณมากเพียงใด และเธอมองเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 อย่างไร แล้วก็เริ่มตัดสินเธอกับผลงานของเธอจากจุดนั้น

ผมไม่ได้บอกว่าเราจะยึดการตีความหรือการวิพากษ์ในรูปแบบนี้ไม่ได้ แต่คุณจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ดูผลงานของผู้สร้างเสียก่อน สมมติสถานการณ์ให้ก็ได้ว่า คุณอาจด่าละครเวที ‘สี่แผ่นดิน เดอะ มิวสิคัล’ (ถกลเกียรติ วีรวรรณ, 2011) อย่างรุนแรงเพราะมันมีความคิดทัศนคติทางการเมืองที่ตรงข้ามกับคุณ ทั้งยังบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่คุณเห็นว่าสำคัญและเป็นการบิดเบือนเพื่อเสนอทัศนคติอันเลวร้ายทางการเมือง แต่ถ้าคุณจะวิพากษ์ว่าผู้สร้างมีความล้มเหลวทางทัศนคติอย่างไร หรือต้องการโจมตีการสร้างงานของถกลเกียรติว่าเลวร้ายต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แค่ไหน นอกจากคุณจะต้องดูละครเวทีเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเองแล้ว คุณยังต้องคัดกรองอย่างพินิจพิเคราะห์ด้วยว่าสิ่งที่ละครสื่อนั้น ส่วนไหนเป็นความคิดของถกลเกียรติโดยเนื้อแท้ และส่วนไหนตกทอดมาจากงานต้นฉบับของคึกฤทธิ์ ปราโมช

คุณอ้างอยู่ตลอดบทความว่าสังคมอารยะไม่ให้ศิลปะทำแบบนั้นแบบนี้ ศิลปะย่อมไม่มีความสวยงามถ้าเหยียบย่ำผู้คนว่าโง่เง่าคิดไม่เป็น ลากยาวไปถึงเรื่องฮิตเลอร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่อนจะวกกลับมาสู่บทสรุปว่าศิลปะแบบที่คุณยอมรับได้คือ “ศิลปะที่วางอยู่บนฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มิใช่ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล” แต่คุณลืมไปหรือเปล่าว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้นถูกโต้แย้งได้ เล่าใหม่ได้ และประวัติศาสตร์การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่คุณอ้างว่าเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ นั้นก็ยังอยู่ในโมงยามของการแย่งชิงความหมายระหว่างคนที่คิดต่างกัน หรือมิใช่? แล้วเหตุใดคนที่มองข้อเท็จจริงเหล่านี้ด้วยมุมมองที่ต่างจากคุณจึงจะไม่มีสิทธิ์สร้างงานศิลปะเล่า? (โน้ตเพิ่มเสริมให้ว่าไม่มีใครสามารถบังคับให้คุณมองงานศิลปะทุกชิ้นเป็นสิ่งสวยงามอย่างไม่มีเงื่อนไขได้หรอก ชิ้นไหนที่คุณมองว่ามันต่ำช้า ขยะแขยง น่ารังเกียจทางทัศนคติ ใครเขาจะไปห้ามคุณไม่ให้มองอย่างนั้นได้ และที่สำคัญ ผู้คนในวงการศิลปะทุกแขนงต่างก็ทราบดีเป็นพื้นฐานว่าไม่ใช่แค่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศิลปะ’ แล้วจะต้องแสนดีแสนงามเป็นสัจนิรันดร์)

ไม่ต้องคิดต่อยอดประเด็นไปไกลกว่านั้นเลยว่า หากศิลปินไม่ทำงานเพื่อรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคลแล้วศิลปินต้องรับใช้อะไร – จริยธรรม? ศีลธรรม? (แบบที่ทางผู้สร้างก็พยายามเคลมตัวเองว่าภาพยนตร์ดัดแปลงแมคเบธของฉันสร้างขึ้นเพื่อการนั้น) รัฐ? ทุนนิยม? ผู้มีอำนาจ? ความพอใจของคุณและคนที่คุณอ้างว่าเป็น ‘คนส่วนมาก’ ของประเทศ?

ถ้ายึดนิยามศิลปะตามที่คุณบอกว่าชอบธรรมตามแบบสังคมอารยะ บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในฝรั่งเศสคงไม่กล้าซื้อสิขลิทธิ์หนังพรอพพากันดาร่วมสมัยที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือเรื่อง A Schoolgirl’s Diary (จางอินฮัค, 2007) ไปลงโรงฉายที่นั่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (พวกเอกชนฝรั่งเศสนี่ช่างไร้อารยะเสียจริงที่สนับสนุนศิลปะชวนเชื่อของรัฐเผด็จการ!) และหนังอย่าง Inglourious Basterds (เควนติน ตารันติโน่, 2009) ย่อมไม่มีทางเกิดได้ในสังคมอารยะแบบสหรัฐอเมริกา เพราะหนังบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายกาจ ด้วยการบอกว่าฮิตเลอร์, เกอห์ริง และบรรดาคนสำคัญของพรรคนาซีถูกสังหารอย่างหฤโหดโดยกลุ่มต่อต้านตายอนาถคาโรงหนังในฝรั่งเศสระหว่างรอบปฐมทัศน์ของหนังพรอพพากันดาเรื่องใหม่ของพรรค (ถ้าจะบอกว่าหนังไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ผมก็ต้องถามว่าแล้วคุณจะ apply หน้าที่ของศิลปะแบบลักปิดลักเปิดเพียงเพื่อรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคลของคุณงั้นหรือ คือฮิตเลอร์ถูกฆ่าได้แต่ห้ามแตะ holocaust? หรือถ้าจะบอกว่าก็หนังมันสร้างขึ้นเพื่อเสียดสีโดยอาศัยพื้นจากประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกเท่านั้น ผู้ชมจึงรู้อยู่แล้วว่าการบิดเบือนนั้นคือการบิดเบือน แล้วทำไมคุณไม่อธิบายเช่นนี้กับ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ในเมื่อมันก็คือหนังการเมืองสยองขวัญ และสร้างขึ้นเพื่อเสียดสี โดยมีพื้นจากบทประพันธ์ของเชคสเปียร์)

ย้อนแย้งอยู่ไม่ใช่เล่น เพราะในขณะที่คุณบอกว่าต่อต้านการแบนหนัง แต่ความคิดแข็งทื่อของคุณนี่แหละที่เป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของการเซ็นเซอร์หนังและงานศิลปะทั้งมวล รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องการหนังที่ ‘ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล’ จึงสั่งให้คนทำหนังต้องส่งบทให้ตรวจสอบก่อนสร้างเพื่อที่รัฐจะได้ตรวจสอบความถูกต้อง ต้องส่งหนังให้ดูก่อนไปประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศอื่น (ใครไม่ทำตามนี้ถูกห้ามทำหนัง 5 ปี) รัฐบาลอิหร่านไม่ต้องการหนังที่ ‘ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล’ อันขัดต่อการปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลาม เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่ไม่ต้องการหนังที่ ‘ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล’ และพยายามจะพูดเรื่องการเมืองอย่างแข็งขันจนอาจก่อให้เกิดบรรยากาศไม่ปรองดอง ไม่ว่าผู้นำรัฐบาลจะมาจากพรรคการเมืองหรือกองทัพ และหนังที่ ‘ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล’ อันกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในท่วงทำนองที่ผิดจากจารีตประเพณีอันแข็งแกร่งของไทยก็ไม่มีวันได้เกิดเช่นกัน เพราะมันขัดต่อสิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ (‘แสงศตวรรษ’ (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, 2006) ถูกสั่งตัด 4 ฉากก็เพราะมันขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของวิชาชีพแพทย์และพระสงฆ์ในไทยที่รัฐและผู้มีอำนาจสูงในวิชาชีพดังกล่าวยึดถือ หรือมิใช่?)

ความล่องลอยขั้นสูงสุดที่คุณเขียนออกมาคือประเด็นที่คุณเสนอมาว่าศิลปะนั้น “จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานการยอมรับร่วมกันในสังคม” ผมอ่านแล้วนั่งหัวเราะอยู่หน้าคอมพ์เสียเป็นนาน จริงๆ ประโยคนี้ประโยคเดียวก็ทำลายความน่าเชื่อถือในบทความของคุณลงจนหมดสิ้นเลยทีเดียว ถ้ายึดถือเอาตามนี้คนอิหร่านก็ไม่สามารถทำหนังด่านาซีได้เพราะสังคมเห็นว่า (หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ‘รัฐ’ ระบุไว้ว่า) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ สังคมที่ยึดถือคุณค่าแบบ secular state ก็ไม่อาจมีใครสร้างหนังที่เชิดชูแนวคิดทางศาสนาออกมาสนับสนุนความเชื่อของตนเองได้ (ในทางกลับกันถ้าเป็นสังคมอุดมศาสนา หนังหรือผลงานที่มีแนวคิดวิพากษ์หรือจุดยืนตรงกันข้ามก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันเพราะย่อมถูกตัดตอนด้วยเห็นว่าไม่สมควรมีที่ยืนในสังคม) ถ้าหากสังคม ‘ยอมรับร่วมกัน’ ในสิ่งที่ขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตามที่คุณอ้างเสียแล้ว คุณจะอธิบายหน้าที่อันงดงามของศิลปะในแบบที่คุณต้องการได้อย่างไร? แล้วถ้าสังคมไทยยอมรับร่วมกันในระบบชนชั้นแบบจารีต คุณจะโจมตีการอ่านเชคสเปียร์เพื่อสนับสนุนการดำรงคงอยู่ของชนชั้นนำ เช่นที่คุณเสนอมาได้อย่างไร? หากสังคมไทยยอมรับร่วมกันว่าเสรีภาพไม่ใช่สิ่งจำเป็นและจำต้องมีข้อยกเว้นเพื่อความสุขสงบของบ้านเมือง ศิลปินก็จำต้องทำหน้าที่แบบสงบเสงี่ยมเจียมตนไม่เผยออยากใช้เสรีภาพจนเกินงาม หรือมิใช่?

แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือ ที่จริงแล้วคุณ(หรือใครก็ตาม)ไม่มีปัญญาจะหาตัวชี้วัดที่ชัดเจนได้หรอกว่า เราจะดูจากตรงไหนว่าแต่ละสังคมนั้นยอมรับอะไรร่วมกัน นอกจากสิ่งที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นผลจากการทำงานของรัฐ คุณไม่มีอะไรยืนยันว่าสังคมไทยยอมรับร่วมกัน(กับคุณ)ในประเด็นเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือกระทั่งความเชื่อในเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตย

สิ่งที่สังคมอารยะทำไม่ใช่การปฏิเสธงานศิลปะ หรือพยายามสร้างเงื่อนไขให้มันด้วยมาตรฐานแข็งทื่อด้านมนุษยธรรมหรือเชิดชูคุณค่าด้วยมุมมองแบบนักสังคมศาสตร์นักประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว (โดย treat มันในฐานะของวัตถุเพื่อการศึกษา ตำรา หนังสือ มากกว่าจะมองมันที่ form อย่างแท้จริง) แต่คือการยอมรับงานศิลปะในฐานะเครื่องมือหรือผลงานที่นำเสนอจิตสำนึกส่วนบุคคลของศิลปินที่ต่างพื้นเพ ต่างที่มา ต่างความคิด ต่างทัศนคติ อันก่อให้เกิดการวิพากษ์ โต้แย้งถกเถียงในประเด็นอันหลากหลาย ทั้งในเชิงสังคมการเมือง สุนทรียศาสตร์ หรือกระทั่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากสังคมอารยะต้องยอมรับเงื่อนไขของศิลปะแบบเดียวกับที่คุณเสนอ โลกนี้ก็คงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคมอารยะ’ เป็นแน่

ภาพยนตร์ (และศิลปะแขนงอื่น) ไม่ใช่ศิลปะที่สร้างขึ้นแล้วมีความหมายตายตัวแช่แข็งไปตลอดกาล ความหมายของมันสามารถเลื่อนไหลเปลี่ยนแปรไปได้ตามกาลเวลา สถานที่ บริบทสังคมการเมืองที่แวดล้อมตัวชิ้นงานอยู่ นี่อาจเป็นคอนเซปต์ที่คุณไม่เข้าใจและไม่เคยนึกถึง แต่สมานรัชฏ์เข้าใจ form ของภาพยนตร์ เธอจึงไม่พยายามบอกให้คนยึดติดว่าหนังของเธอมีความหมายจริงแท้เพียงหนึ่งเดียวจนกระดิกตัวไม่ได้ เธอบอกว่าตัวละครแมคเบธในเรื่อง ถ้าคนกัมพูชาดูก็อาจนึกถึงฮุนเซน คนลิเบียดูก็อาจนึกถึงกัดดาฟี่ และถ้าคนไทยดูก็อาจนึกถึงทักษิณ (ไม่ยิ่งน่าคิดต่อไปหรือว่าคนไทยเองก็ใช่ว่าจะดูแล้วนึกถึงทักษิณกันไปหมด หรือต่อให้พวกเขาถอดรหัสว่าผู้คนสวมอาภรณ์แดงเหล่านั้นหมายถึงเสื้อแดง ก็ไม่ได้มีข้อยืนยันถาวรว่าเขาจะมองว่าการนำเสนอเช่นนี้เท่ากับกดทับบีฑาความเป็นคนของคนเสื้อแดงแต่อย่างใด ประเด็นนี้เรียนเชิญคุณษัษฐรัมย์ไปลองไล่อ่านคอมเมนต์ในคลิปตัวอย่างหนังเรื่องนี้ดูอย่างถี่ถ้วนสักเล็กน้อย อาจจะพอเห็นภาพมากขึ้น)

ตัวอย่างของการเลื่อนไหลนี้มีมากมาย ตั้งแต่ The Lady (ลุค เบซง, 2011) เมื่อฉายในประเทศฝั่งตะวันตกก็มีความหมายหนึ่ง เล็ดลอดหลุดเข้าไปให้คนพม่าดูแบบละเมิดลิขสิทธิ์ก็มีอีกความหมายหนึ่ง และคนไทยเองก็อธิบายมันด้วยความหมายใหม่ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองและจริตส่วนบุคคลของผู้อธิบายซึ่งแน่นอนว่าอาจแตกต่างจากสารที่ผู้สร้างคิดไว้ตั้งแต่แรก (โปรดดูบทความ ‘The Lady ซูจี และยิ่งลักษณ์’ ที่นี่ http://www.siamintelligence.com/the-lady-suu-kyi-yingluck/), The Iron Lady (ฟิลลิดา ลอยด์, 2011) ก็ถูกแปรความหมายจากการเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงชีวิตการเมืองของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ให้กลายเป็นภาพยนตร์แนว ‘สุภาษิตสอนผู้นำหญิง’ สำหรับกลุ่มผู้ไม่พอใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บางส่วน, หนังบล็อกบัสเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีสามมิติอย่าง Avatar (เจมส์ คาเมร่อน, 2009) ก็ยังถูกให้ความหมายทางการเมืองในไทยโดย ทักษิณ ชินวัตร (“พี่น้องชาวเสื้อแดง ว่างๆ ลองไปดูหนังเรื่อง Avatar อีกที มันสะท้อนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกับทหารรัฐบาลมาก ระหว่างการใช้อาวุธพื้นบ้านกับอาวุธทันสมัย” – ทวิตเตอร์) และทักษิณเองก็เคยใช้ Wag the Dog (แบร์รี่ เลวินสัน, 1997) มาให้ความหมายโจมตีอภิสิทธิ์ ส่วนฝั่งตรงข้ามกลุ่มคนเสื้อแดงและทักษิณก็หยิบมาตอกกลับ หรือ ‘อินทรีแดง’ (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, 2010) ก็ถูกฉวยใช้นำไปอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างแพรวพราว ตามแต่ทัศนคติ ความเชื่อ และอุดมการณ์ของผู้อธิบายไม่ว่าจะสวมเสื้อสีใด บ้างก็ให้ความสำคัญกับสีแดงบ้างก็ให้ความสำคัญกับหน้าตาของท่านผู้นำว่าละม้ายคล้ายนายกรัฐมนตรีในสมัยที่หนังออกฉาย บ้างก็ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาสร้างที่คาบเกี่ยวกันหลายรัฐบาล บ้างก็ให้ความสำคัญกับวาทกรรม ‘นักการเมืองเลว’ – และไม่มีความหมายใดที่มีอำนาจพอจะยึดครองความชอบธรรมไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จสำหรับอธิบายหนังเรื่องใดๆ โดยสมบูรณ์

กระทั่งภาพยนตร์ที่เข้าข่าย ‘บิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์’ และ ‘ลดทอนคุณค่าความเป็นคน’ อย่างหนังพรอพพากันดาสมัยนาซีเรื่อง Triumph of the Will (เลนี่ รีเฟนชตาห์ล, 1935) ปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกปฏิเสธจากโลกอารยะประชาธิปไตยที่คุณอ้างถึง ซ้ำยังได้รับการยอมรับในฐานะหนังเรื่องสำคัญของโลกในแวดวงภาพยนตร์ศึกษา (และไม่ได้มีเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวที่อยู่ในข่ายนี้) คุณคิดว่าผู้คนปัจจุบันจะดูหนังเรื่องนี้แล้วถอดรหัสในหนังได้เช่นประชาชนในยุคนาซีหรือ พวกเราจะยังดูหนังแล้วเชื่อในแสนยานุภาพของอาณาจักรไรช์ที่สาม ความดีงามของฮิตเลอร์ ความต่ำต้อยด้อยค่าของชนชาติยิว เหมือนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหรือ? ต่อให้คุณดูหนังพรอพพากันดาของเกาหลีเหนือ ของเวียดนามสมัยคอมมิวนิสต์ ของโซเวียตสมัยสตาลิน ของคิวบาสมัยคาสโตร ของอเมริกาและของไทยสมัยสงครามเย็น การถอดความหมายของคุณจะแช่แข็งตายตัวตามจุดประสงค์ทางการเมืองของงานเหล่านี้จริงหรือ?

การให้ความสำคัญกับความหมายที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งยืนยันหน้าที่ของงานศิลปะ แน่นอนว่ามันเกิดขึ้นจากจิตสำนึกส่วนบุคคลของศิลปิน หรือของหน่วยงานองค์กรและทัศนคติใดก็ตามที่ครอบงำศิลปินเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ยึดโยงตัวเองอยู่กับอะไรอย่างถาวร ไม่ว่าจะกับตัวศิลปิน ทฤษฎีวิชาการทางศิลปะ หน่วยงานองค์กรผู้อำนวยการสร้าง รัฐ ทัศนคติทางการเมือง หลักคิดทางศาสนาศีลธรรม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ สถานที่ และแม้แต่กาลเวลา ความหมายของงานแต่ละชิ้นไม่ว่าจะเป็นศิลปะในแขนงใดล้วนเกิดจากการที่เรานำ ‘จิตสำนึกส่วนบุคคล’ ของเราเองเข้าไปจับและปรับรูปคำอธิบายต่อมันในแต่ละครั้งที่เราเข้าไปปะทะสังสรรค์กับชิ้นงานด้วยบริบทที่แตกต่างกันออกไป

‘ความสวยงามของศิลปะอย่างไม่มีเงื่อนไข’ นั้นไม่มีอยู่จริง แต่ศิลปะนั้นงดงามได้ก็เพราะการที่เราไม่ไปกำหนด ‘พระราชบัญญัติข้อพึงกระทำในฐานะงานศิลปะ’ ให้กับมันต่างหาก หาไม่แล้วก็เท่ากับคุณยอมรับว่าศิลปะนั้นต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะในทัศนะของคุณเอง หรือของผู้มีอำนาจใดๆ) และหากจะมีความหลากหลายเสรีใดๆ ก็ต้องเป็นไปตามแบบที่คุณ (หรือผู้มีอำนาจใดๆ) รับรองตราประกาศให้แล้วเท่านั้น ว่ามันรับใช้ในสิ่งที่คุณปรารถนาพึงใจ

ศิลปินแบบที่คุณอยากได้ ก็คือศิลปินประเภทที่ถ้าไม่ยอมสิโรราบให้กับอำนาจที่ทับอยู่บนแผ่นหลังของพวกเขาโดยดุษณี ก็มีแต่ศิลปินที่ถูกกดขี่มัดมือมัดเท้าปิดปากจนไม่อาจขยับเขยื้อนร่างกายและความคิดไปสู่เสรีภาพที่แท้จริงเท่านั้น

การผลิตซ้ำความฟุ้งซ่านล่องลอยด้วยอคติทางการเมืองแบบที่คุณทำในบทความนั้นเองคือสิ่งที่ควรละเว้นอย่างแท้จริงในการวิพากษ์ศิลปะ – แม้จริงๆ แล้วสิ่งที่คุณทำจะไม่ได้ใกล้เคียงกับคำนั้นเลยก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท