หวั่น ‘ไก่เบตง’ สูญ วอนรัฐช่วยลดต้นทุน - หนุนเปิดตลาดใหม่

ฟาร์มไก่บ่นอุบ รัฐไม่ส่งเสริม หวั่นไก่เบตงสูญพันธุ์จากเบตง เจอปัญหาคนเลิกเลี้ยง เหตุขยายพันธุ์ยาก วอนช่วยหาทางลดภาระค่าอาหาร หนุนเปิดตลาดส่งออกลูกไก่

 
 
นายสิทธิ์ จารีลาภรักษา อายุ 56 ปี ผู้ดูแลฟาร์มเพาะลูกไก่พันธุ์เบตงของนายสมพร ธรรมชาติ อายุ 58 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ อ.เบตง จำนวนไก่เบตงลดลงอย่างมาก เนื่องจากชุมชนเมืองส่วนมากเลี้ยงไก่เบตงน้อยลง มีแต่ชุมชนในชนบทที่ยังคงเลี้ยงไก่เบตงอยู่ โดยบางรายได้รับแจกจากส่วนราชการต่างๆ
 
ส่วนสาเหตุที่ชาวอำเภอเบตงเลี้ยงไก่เบตงน้อยลง นายสิทธิ์ กล่าวว่า เพราะคนเปลี่ยนอาชีพไปทำธุรกิจค้าขาย อ.เบตงจึงเสี่ยงที่จะสูญเสียพันธุ์ไก่เบตง ภาวะเสี่ยงที่ชาวเบตงจะสูญเสียพันธุ์ไก่เบตงมีหลายประการ นอกจากมีคนเลี้ยงน้อยแล้ว ยังมีปัญหาการขยายพันธุ์ไก่เบตง เพราะการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติอย่างในปัจจุบันนั้น ขยายพันธุ์ได้ยากมาก ขณะที่วิธีการฟักไข่ด้วยตู้ฟักมีโอกาสขยายพันธุ์ได้มากกว่า
 
“ปัญหาคือรัฐไม่ค่อยจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ทางที่ดีทางรัฐควรหาตลาดส่งขายลูกไก่ให้กว้างขงางมากกว่าปัจจุบัน ช่วยหาอาหารไก่ที่มีต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ถูกลง ขณะนี้ฟาร์มที่ผมดูแลอยู่ มีเงินทุนหมุนเวียนน้อยมาก ทำให้ขาดโอกาสซื้ออาหารไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาดเบตง” นายสิทธิ์ กล่าว
 
ทั้งนี้ ไก่เบตงเดิมเรียกว่าไก่กวางไส เป็นไก่พื้นเมืองที่คนจีนอพยพจากมณฑลกวางไส สาธารณรัฐประชาชนจีน นำเข้ามาที่ อ.เบตง เมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้ว ขณะที่ไก่พันธุ์เหลียงซาง และไก่พันธุ์คอล่อน หมดไปจาก อ.เบตง ในช่วงคนจีนย้ายถิ่นออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในเมือง ต้องเปลี่ยนอาชีพจากการเลี้ยงไก่หรือทำสวนยางพาราไปค้าขาย ปัจจุบันพันธุ์ไก่เบตงที่เหลืออยู่ 2 สีคือ สีแดงกับสีเหลืองทอง มีจุดเด่นตรงหางสั้น หรือไม่มีหาง ไม่มีขนปีก หงอนเป็นกงจักร ขาสีเหลือง ปากเหลือง เนื้อนุ่ม ตัวผู้มีนิสัยดุ
 
ไก่เบตงเลี้ยงง่าย สามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้ การเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติเอง จะให้เนื้อที่มีรสชาติดีกว่าเลี้ยงแบบขังคอกให้อาหารสำเร็จรูป ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 6–7 เดือนก็สามารถขายได้มีราคาสูงถึง 200–220 บาท/กิโลกรัม ตัวผู้อายุประมาณ 5 เดือน จะมีน้ำหนักประมาณ 2–2.5 กิโลกรัม ตัวเมียอายุประมาณ 5 เดือน มีน้ำหนัก 1.5–1.7 กิโลกรัม
 
สำหรับฟาร์มเพาะลูกไก่เบตงของนายสมพรนั้น อยู่ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เบตงครบวงจรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จ.ยะลา และเทศบาลเมืองเบตง เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ไก่เบตง
 
ปัจจุบันฟาร์มเพาะลูกไก่เบตงต้นแบบมีพ่อพันธุ์ประมาณ 60 ตัว และแม่พันธุ์ประมาณ 260 ตัว แต่ละสัปดาห์จะได้ไข่ไก่ประมาณ 100 ฟอง แต่ละเดือนส่งขายลูกไก่ประมาณ 400–500 ตัวต่อเดือน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นส่วนราชการต่างๆ และลูกค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังส่งออกไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ สมุทรปราการ สงขลา สตูล และกรุงเทพฯ เป็นต้น
 
 
หมายเหตุ: โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท