Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากบันทึกเทปสนทนา “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” ในรายการ “คม ชัด ลึก” วิทยากรจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปรยขึ้นว่า “ผมเป็นคนหนึ่งที่รับผิดชอบกรณีของคำ ผกา อยู่ กำลังพิจารณากันว่าจะมีแง่มุมเอาผิดทางกฎหมายได้หรือเปล่า”

อันที่จริงนี่เป็นการ “สนทนานอกรอบ” โดยมารยาทแล้วผมไม่ควรนำมาเปิดเผย แต่ผม “สะดุด”กับคำพูดนี้มาก และเห็นว่ากรณีคำ ผกา เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว การดำเนินการใดๆ ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องต่อจากนี้ย่อมเป็นเรื่องที่สาธารณะควรรับทราบเช่นกัน หาก “ท่านที่ถูกพาดพิง” ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้ ย่อมสามารถโต้แย้งผ่านสื่อสาธารณะได้เช่นกัน

ผมเพิ่งทราบว่า “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ฉบับ สนช.” ที่ผมวิจารณ์ในบทความชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาทำให้พระกลายเป็นอภิสิทธิชนยิ่งกว่าเจ้า” นั้นตกไปแล้ว ยังเหลือเพียงร่างของ พศ.กับของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปไตยเท่านั้นที่อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระเพื่อพิจารณาของสภา

เฉพาะร่างของ พศ.เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอุปถัมภ์พุทธศาสนา ส่วนที่เป็น “บทกำหนดโทษ” ที่สำคัญมี 2 มาตราคือ

มาตรา 37 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยามพระศาสดาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ หรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงอย่างอื่น กระทำโดยการกระจายเสียงหรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นต้องระวางโทษเป็นสองเท่า

มาตรา 38 ผู้ใดก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อสังเกตคือ อัตราโทษเท่ากับมาตรา 44 ทวิ แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2535 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช และมาตรา 44 ตรี ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่นอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ซึ่งอัตราโทษดังกล่าวเท่ากับอัตราโทษในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (ที่จริงกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็ครอบคลุมสมเด็จพระสังฆราชและพระสงฆ์ทั่วไปอยู่แล้ว)

ส่วนเนื้อหา เมื่อย้อนกลับไปดูนิยามคำว่า “ศาสดา” (ในมาตรา 3) หมายถึง “พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา” ส่วน “ศาสนธรรม” หมายถึง “พระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก”

จะเห็นว่า “ศาสดา” หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เป็น “บุคคล” ไม่ใช่ “พระพุทธรูป” เพราะ “พระพุทธรูป” น่าจะหมายถึง “วัตถุอันเป็นที่เคารพ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมการกระทำผิดต่อพระพุทธรูปจึงมีอัตราโทษสูงกว่าพระศาสดาซึ่งเป็นบุคคล?

ส่วนความผิดต่อ “ศาสนธรรม” นั้น ถ้าร่างกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ วัดพระธรรมกายก็ต้องมีความผิด เพราะสอนว่า “นิพพานเป็นอัตตา” หรือบรรดาลูกศิษย์ที่ถือตามหลวงพ่อฤษีลิงดำที่สอนว่า “นิพพานเป็นอัตตา” ก็มีความผิด เพราะคำว่า “นิพพานเป็นอัตตา” ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก บรรดาลูกศิษย์ที่ยึดถือคำสอนของหลวงตามหาบัวที่อธิบายนิพพานเป็น “สถานที่” ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์และพระอรหันต์ทั้งหมดที่ปรินิพพานแล้วไปสถิตอยู่ และวันดีคืนดีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เหล่านั้นก็มาปรากฏกายยังโลกมนุษย์ได้ ดังที่เคยลงมาแสดงความยินดี (อนุโมทนา) กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในคืนที่ท่านบรรลุธรรม ข้อมูลทำนองนี้ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก บรรดาศิษย์หลวงตาบัวที่ยึดถือต่อๆ กันในเรื่องนี้ก็ต้องมีความผิด แม่ชีทศพร และ ฯลฯ ก็ต้องมีความผิด

เผลอๆ ถ้าใช้มาตรา 38 เพื่อ “คุ้มครองพระพุทธศาสนา” กันจริงๆ อาจต้องจับชาวพุทธกว่าครึ่งประเทศเข้าคุก เพราะมีเป็นจำนวนมากที่สอนผิดจากพระไตรปิฎก “ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคน” มีในพระไตรปิฎกไหม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” มีในพระไตรปิฎกไหม หรือเอาเข้าจริงๆ “เผด็จการโดยธรรม” อาจไม่มีในพระไตรปิฎกเลย

เห็นหรือไม่ว่า “เจตนาดี” ที่จะใช้กฎหมายคุ้มครองพุทธศาสนา แต่กฎหมายที่เขียนออกมาแบบนี้แหละจะกลายเป็น “อาวุธ” ที่ชาวพุทธใช้ฟาดฟันกันเองจนเลือดท่วมจอ!

ที่สำคัญข้อความว่า “ผู้ใดก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา” นั้น สามารถตีความได้ “ครอบจักรวาล” มาก ย่อมเป็นไปได้ง่ายที่ข้อความตามหนังสือศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยที่ให้กรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของสภาฯตรวจสอบเนื้อหารายการ “คิดเล่นเห็นต่าง กับคำ ผกา” ข้างล่างนี้จะถูกตีความให้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 38

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบแล้วทำให้พบประเด็นการแสดงความคิดเห็นที่แสดงความไม่รู้จริงในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และมีการกล่าววาจาลบหลู่ต่อพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา มีการกล่าวให้ร้ายรัฐบาลต่อนโยบายซึ่งเป็นไปตามมาตรา 37 และมาตรา 79 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีการกล่าวพาดพิงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาในพระราชพิธี ซึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะซึ่งปรากฏในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักทั้ง 2 ของราชอาณาจักรไทย (ดูเว็บไซต์ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย)

ซึ่งหมายความว่า มาตรานี้ย่อมกระทบต่อ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน (นี่ขนาดกฎหมายนี้ยังไม่เข้าสภาผู้มีส่วนเกี่ยวรับผิดชอบกรณีคำ ผกา ยัง “กำลังพิจารณากันว่าจะมีแง่มุมเอาผิดทางกฎหมายได้หรือเปล่า”)

เราคงคุ้นกับคำว่า “รัฐคือความชั่วร้ายที่จำเป็น” หมายความว่า รัฐสามารถใช้ความรุนแรง เช่น กำกัดอิสรภาพ ริบทรัพย์ วิสามัญฆาตกรรมฯลฯ แก่บุคคลใดๆ ที่ละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ฯลฯ ของพลเมือง คำถามคือกรณี “ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม” เช่น สอนผิดจากพระไตรปิฎก ฯลฯ สมควรที่รัฐต้องใช้ “ความรุนแรง” เข้ามาจัดการเช่นนั้นหรือ?

ที่สำคัญตามหลักการของพุทธศาสนาจริงๆ นั้น พระพุทธเจ้ายอมรับได้กับการใช้ความรุนแรง เช่น การจำคุก ปรับ แก่การกระทำที่ “ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม” หรือไม่?

ผมนึกถึงข้อความที่พระพุทธเจ้าตอบคำถามอนาถบิณฑกเศรษฐีที่ถามพระพุทธเจ้าว่า ควรปฏิบัติต่อพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ทะเลาะแตกแยกกันแล้วกลับมาปรองดองกันอย่างไรดี? ท่านตอบว่า “ให้ถวายทานและฟังธรรมจากทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาคกัน เมื่อฟังธรรมแล้วเห็นว่าฝ่ายใดเป็นธรรมวาที จงพอใจในความเห็นและเชื่อถือฝ่ายธรรมวาทีนั้น” color:maroon">

ความหมายง่ายๆ คือถ้าฝ่ายไหนสอนธรรมถูกต้องก็ให้พอใจและเชื่อถือฝ่ายนั้น ซึ่งหมายความว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้แนะนำให้ฆราวาสบัญญัติกฎหมายจำคุกแก่ฝ่ายที่ “ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม” (หากมีภิกษุที่สอนผิดก็อาจมีการเรียกมาซักซ้อมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง) และหมายความต่อไปว่า 1) พระพุทธเจ้าเคารพในวิจารณญาณชาวบ้านว่าตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตนเองได้ 2) พระสงฆ์ที่สอนถูกจะได้รับความเชื่อถือและสนับสนุนจากชาวบ้านเอง

ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาแตกแยกออกไปว่าร้อยนิกาย หลายนิกายที่ไม่ได้รับความเชื่อถือและสนับสนุนจากผู้คนก็สูญสลายไป ส่วนนิกายที่มีคนศรัทธาสนับสนุนก็คงอยู่ต่อมา จนกระทั่งยุคพระเจ้าอโศกมหาราชที่พุทธศาสนาถูกผนึกเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ ในแง่หนึ่งก็เป็นยุคที่พุทธรุ่งเรืองสุดขีดเพราะมีอำนาจรัฐหนุนในการศึกษา การเผยแผ่ศาสนาธรรมทั้งในและนอกอาณาจักร แต่ในแง่หนึ่งก็สะท้อนถึงความอ่อนแอของคณะสงฆ์เองที่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐเข้ามาจัดการตั้งแต่ปัญหาความแตกแยกในวงการสงฆ์ การลงโทษพระที่ทำความผิดตั้งแต่การจับสึก กระทั่งประหารชีวิต การส่งเสริมการศึกษา การกำหนดนโยบายว่าพระสงฆ์ควรสอนอะไรแก่ประชาชน เป็นต้น

กลายเป็นว่า ความเชื่อมั่นในความเป็นอิสระที่จะปกครองตนเองด้วยหลักพระธรรมวินัยที่เคยเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนพระเจ้าอโศกย้อนไปถึงยุคพุทธกาลค่อยๆ ลดน้อยถอยลงโดยลำดับ แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในรัฐราชาธิปไตยในอุษาคเนย์ ต่างยึดถือ “โมเดลอโศกมหาราช” เป็นโมเดลในอุดมคติตลอดมา

สำหรับรัฐไทยได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐมาจนกระทั่งองค์กรสูงสุดของสงฆ์มีสถานะเป็น “บริวารของพระราชา” ในรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ราชาคณะ” ซึ่งได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์และการอุปถัมภ์จากพระราชา รวมทั้งพุทธศาสนาถูกผนึกรวมเป็นอุดมการณ์หลักของรัฐที่เรียกว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่มีความศักดิ์สิทธิ์หากใครไม่กตัญญูรู้คุณก็จะถูก “พระสยามเทวาธิราช” สาปแช่ง!  

โมเดลความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาดังกล่าวย่อมปรากฏใน “หลักการและเหตุผล” แห่งร่างฯของ พศ.ที่ว่า “...และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของมาเพื่อใช้เสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

หมายความว่า ต้องการให้ “รัฐประชาธิปไตย” ทำหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเฉกเช่น “รัฐราชาธิปไตย” นั่นเอง!

ยิ่งไปดูใน “หมวดอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา” เห็นได้ชัดว่า รัฐมีบทบาททั้งกำหนดแนวนโยบายการศึกษา การสอนคุณธรรมจริยธรรม การบริหารของสงฆ์ และจัดงบประมาณสนับสนุน (ซึ่งปัจจุบัน พศ.ได้งบฯปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท นัยว่า 20% จ่ายเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงสวัสดิการแก่ข้าราชการเจ้าหน้าที่ของ พศ.80% สนับสนุนคณะสงฆ์ [ทั่วประเทศประมาณ 250,000 รูป บวก-ลบเล็กน้อย] ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดโครงการปฏิบัติธรรมของวัดต่างๆ ทั่วประเทศ)

และยิ่งนึกภาพ “คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานอยู่หัวโต๊ะ และกรรมการอีก 18 คน ซึ่งในนั้นมีพระสงฆ์ที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง และพระสงฆ์ผู้แทนมหาเถรสมาคนอีก 3 รูป อยู่ด้วย ยิ่งมองเห็นภาพชัดว่า “อำนาจแห่งพระธรรมวินัย” ในการจัดการเกี่ยวกับพุทธศาสนานั้นขึ้นต่อ “อำนาจรัฐ” อย่างชัดเจน

ผมนึกถึงภาพรัฐมนตรีต้องออกมาให้สัมภาษณ์เป็นรายวันเกี่ยวกับการ “ทำผิดวินัยสงฆ์” ของนิกร ยันตระ กรณีสันติอโศกเรื่อง “อวดอุตตริมนุสสธรรม” ถูกหรือผิด กรณี “วิวาทะ” เรื่อง “นิพพานเป็นอัตตา-อนัตตา” และกรณี “รัฐมนตรีไปนั่งเถียงกับแม่ชีทศพร” ทั้งที่ตัวเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องพระธรรมวินัยและมีงานบริหารราชการแผ่นดินอื่นๆ ล้นมืออยู่แล้ว

ลองนึกดูนะครับ หากชาวพุทธเชื่อว่าอำนาจรัฐและกฎหมายมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาพุทธศาสนาดีกว่าพระธรรมวินัย ต่อไปถนนทุกสายอาจมุ่งสู่ “นายกรัฐมนตรี” เมื่อเปิดรายการข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้” หรือ “เก็บตกจากเนชั่น” เป็นต้น เราอาจเห็นภาพผู้สื่อข่าวเอาไมค์ไปจ่อปากนายกฯ ถามปัญหาจิปาถะเช่น ในฐานะที่น่าเป็นประธานคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเอายังไงกับเรื่องพระตุ๊ดไปแย่งผัวชาวบ้าน พระที่ถูกกล่าวหาว่าทำสีกาท้องจะให้พิสูจน์ดีเอ็นเอหรือไม่ มีในพระไตรปิฎกเล่มไหนหรือเปล่าที่พระพุทธเจ้าสอนให้แขวนเปลือกหอยหน้าห้องนอนแก้กรรม ท่านนายกคะนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ฯลฯ (สมมติเล่นๆ แต่อย่าคิดว่าปรากฏการณ์แบบนี้จะเป็นไปไม่ได้ เพราะเคยเกิดมาแล้วดังตัวอย่างในอดีตที่ยกมา)

ถึงตรงนี้ผมนึกถึงคำพูดของ อาจรารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ว่า “ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของคณะราษฎรคือการไม่ยกเลิกระบบสมศักดิ์” และความผิดพลาดนี่แหละครับที่ทำให้ “รูปการณ์จิตสำนึก” ของคณะสงฆ์และชาวพุทธบ้านเรายังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเราจะอยู่ในโลกยุคประชาธิปไตยแล้ว

เสียดายเหลือเกินครับที่พุทธศาสนาซึ่งมีพระศาสดาที่ไม่ยอมรับการมี “นักโทษทางความคิด” ให้เสรีภาพทางความคิดอย่างสูงสุด (ตามหลักกาลามสูตรเป็นต้น) ใครจะปฏิเสธไม่เชื่อพระศาสดาก็ได้ วิจารณ์ได้ ด่าได้ สอนผิดสอนถูกได้

การกระทำที่ “ถูก” หรือ “ผิด” ต่อพระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์ มีผลในทางศีลธรรมเพียงแค่การเชื่อถือ/สนับสนุน หรือไม่เชื่อถือ/ไม่สนับสนุนของผู้คนและสังคมเท่านั้น ไม่มีโทษอาญา ทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

เสียดายจริงๆ ครับที่หลักการของพระพุทธเจ้าดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นปรัชญาแห่งการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน และสนับสนุนกับความเป็นสังคมอารยประชาธิปไตย!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net