Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในมุมมองของฟากรัฐผู้ชื่นชอบภาพลักษณ์อันดีงามของวัฒนธรรมไทย งานสงกรานต์คืองานแห่งการได้พบปะครอบครัว รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ คนไทยสาดน้ำใส่กันสนุกสนาน ทว่าในทางกลับกันสงกรานต์คือเทศกาลเปลี่ยนคนให้กลายเป็นหมาบ้าไร้สติอย่างเต็มสตรีม ภาพวัยรุ่นตีกัน กระทืบกันเป็นภาพชินตา ภาพสาวน้อยถูกหนุ่ม ๆ รุมลูบขยำเนื้อตัวกลายเป็นภาพปกติ ข่าวตายเพราะขับรถตอนเมาคือข่าวสามัญยามหน้าร้อนกลางเมษา

ปีนี้ทุกเหตุการณ์ทั้งดีและร้ายเกิดขึ้นซ้ำเป็นวัฐจักร หน่วยงานรัฐมิได้นิ่งนอนใจปล่อยให้เกิดเหตุซ้ำซาก พยายามหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อลดจำนวนคนตายไม่ว่าจะเพราะโดนกระทืบหรือซิ่งยามเมา เจ้าหน้าที่ตามสถานที่เล่นน้ำชื่อดังต่าง ๆ ทำงานกันอย่างเคร่งครัดด้วยถือเป็นพันธกิจระดับชาติ

เพียงวันแรกของงานสงกรานต์ที่ข้าวสาร เกิดเหตุชายหนุ่มถือโอกาสจับหน้าอกหญิงสาว เจ้าหน้าที่รีบเข้าจับกุมพร้อมมีวิธีลงโทษแบบไทย ๆ ราวกับเด็กประถมด้วยการเขียนประโยคว่า “ผมชอบจับนมผู้หญิงครับ” ลงบนกระดาษกล่องแล้วแขวนคอ ให้ยืนบนเก้าอี้ประจานความผิด เพื่อให้คนมาเล่นน้ำคนอื่น ๆ เห็นเป็นแล้วไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง

กรณีนี้สร้างกระแสเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนในโลกไซเบอร์ ทางแรกคือเห็นควรแล้วที่ตำรวจทำเช่นนี้ จะได้รู้สึกสำนึก และเป็นการประจานเพื่อให้ได้อาย การถูกสายตามากมายจ้องมองทั้งที่ป้ายและหน้าถือเป็นการเพียงพอที่กระตุ้นเตือนจิตสำนึกของคนอื่นไม่ให้ทำตาม แต่อีกกระแสหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยเนื่องด้วยการประจานเป็นการละเมิดสิทธิของชายผู้นั้น

ผมเองลองตรวจสอบข่าวนี้บนหน้าสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางการนำเสนอข้อเท็จจริง และอาจจะมีการนำเสนอความคิดเห็นบ้าง แต่สิ่งที่ปรากฎน้อยมากคือการตั้งคำถามต่ออำนาจหน้าที่ของตำรวจว่ามีอำนาจในการประจานใครก็ตามได้หรือไม่ รวมถึงลักษณะของการประจานนั้นเป็นเรื่องที่พึงทำหรือเปล่า (เห็นงานเขียนไม่กี่ชิ้นที่กล่าวไว้ อาทิของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองกล่าวไว้)

ในกรณีนี้บทบาทของสื่อควรเป็นเช่นไร สนับสนุนการทำงานของตำรวจเพื่อผดุงไว้ซึ่งความดีงามของประเพณีสงกรานต์ ปกป้องทางอ้อมต่อหญิงสาวจำนวนมากที่อาจถูกลวนลาม การนำเสนอข่าวจึงเท่ากับช่วยตำรวจปรามไปในตัว หรือตั้งคำถามต่ออำนาจของตำรวจในการดำเนินการเช่นนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ว่าทั้งสองคนที่ถูกจับประจานนั้นจะทำผิดจริงก็ตาม

ในสังคมประชาธิปไตยสื่อมวลชนจะต้องดำเนินการอิงพื้นฐานประชาธิปไตยอันเคารพซึ่งหลักการว่าด้วยความเสมอภาค เสรีภาพและหลักนิติธรรม ในกรณีนี้สื่อย่อมต้องชั่งน้ำหนักว่าระหว่างการปกป้องทางจริยธรรมต่อประชาชนที่อาจจะถูกลวนลาม กับหลักนิติธรรมที่ประชาชนคนหนึ่งโดนกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้น อันนั้นสำคัญกว่ากัน

กรณีนี้เลือกได้ไม่ยากหากพิจารณาอย่างใคร่ครวญ ไม่มีกฎหมายฉบับไหนอนุญาตให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการประจานผู้ต้องหาถึงแม้เขาจะผิดจริงได้ ที่สำคัญในระหว่างที่ศาลยังไม่ตัดสินนั้นเขาคือผู้บริสุทธิ์ กลายเป็นตำรวจตั้งตนเป็นศาลเตี้ยกลาย ๆ พิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว

สื่อสามารถเสนอข่าวนี้เป็นลักษณะของข้อเท็จจริงได้ แต่การกำหนดประเด็นนั้นสามารถพลิกไปได้หลากหลาย หากสื่อเลือกที่จะดำเนินการตามหลักการนิติธรรม ตามหลัก due process of law เขาย่อมนำรู้ว่าควรเสนอข่าวในมุมมอง “ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ” และ “แม้ผิดจริง ตำรวจก็ทำเช่นนี้ไม่ได้” ส่งผลให้ทิศทางข่าวสารและมุมมองผู้เสพสารเป็นไปลักษณะอื่น

ดูเหมือนสื่อไทยก็พร้อมสมาทานการเสียบประจานและนำเสนอข่าวผ่านสื่อโดยไม่ได้ตั้งคำถามอย่างจริงจังแต่ไหนแต่ไร ถ้ายังจำกันได้ช่วงที่มีการจับยาเสพติดได้แล้วนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวพร้อมจัดเรียงยาเสพติดนั้นเป็นคำว่า ยาบ้าบ้าง เฮโรอีนบ้าง นั่นก็คือการเสียบประจานอยู่เช่นกันเพราะต้องถือหลักว่าตราบใดที่ศาลไม่ตัดสิน ผู้ต้องหานั้นคือผู้บริสุทธิ์ การนำเสนอข่าวเห็นหน้าเห็นตาพร้อมคำถามสัมภาษณ์ประเภท “ทำทำไม” นี่เป็นการสร้างศาลเตี้ยผ่านสื่อชัด ๆ

ไม่เฉพาะสองกรณีที่ว่ามา ปกติตามหน้าข่าวอาชญากรรมทางทีวี เราก็มักจะได้เห็นภาวะมองผู้ต้องหากลายเป็นผู้ร้ายอยู่ร่ำไป ยิ่งรายการคุยข่าวด้วยแล้ว ลำพังภาพก็ทำร้ายกันมากเพียงพอ มาบวกกับความคิดเห็นที่เรียกผู้ต้องหาว่า “มัน” นี่ก็เป็นการตั้งศาลเตี้ยเป็นปริยาย และผลิตซ้ำวัฒนธรรมศาลเตี้ยผ่านสื่อกันโดยไม่รู้ตัวไปทุกวัน ๆ

ไม่น่าแปลกใจเลยแม้แต่น้อยว่าทำไมการล่าแม่มดในช่วงสองสามปีนี้ถึงได้ร้อนแรงเสียเหลือเกิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net