Skip to main content
sharethis

19 เมษายน 2555 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานข่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชน  ประกอบด้วย สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สวชพ.), สมาพันธ์พลเมืองฐานราก (สพฐ.) องค์การโอนอำนาจทรัพยากรใต้ดิน เพื่อสร้างสรรค์การปรองดองแห่งชาติ (อทพช.) องค์การทรัพยากรทางทะเล เพื่อสรางสรรค์การปรองดองแห่งชาติ (อททช.) ประมาณ 70 คน ได้รวมตัวที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อแจกแถลงการณ์และเชิญชวนให้ประชาชนรวมถึงนักการเมือง เข้าร่วมงานเสวนา “สภาโอนอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน” ในวันที่ 21 เม.ย. ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีฯ โดยระบุด้วยว่า ในงานดังกล่าวจะมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ฐานะที่ปรึกษาใหญ่ สวชพ. ร่วมเปิดในงานดังกล่าวด้วย

สำหรับแถลงการณ์ของเครือข่ายดังกล่าว ระบุว่า พล.อ.ชวลิต ได้ร่วมผนึกกำลังมวลชน เพื่อปฏิบัติภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติ ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการประชุมสถาปนา “สภาโอนอำนาจรัฐแห่งชาติเพื่อสร้างสรรค์การปรองดอง อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ”

ทั้งนี้เครือข่าย ที่เรียกตนเองว่า “สหธรรมิก 4” ได้นำเสนอนโยบายและแผนการโอนอำนาจการบริหารทรัพยากรธรรมชาติในทุกๆ ด้าน ให้แก่คนไทย แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ การยุติความขัดแย้ง แก้ไขปัญหาพื้นฐาน คือ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ตามโครงการมรดกจากพ่อ ซึ่งมีการโอนอำนาจในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ บนท้องฟ้า ภาคพื้นดิน ใต้ดิน และทางทะเล อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.ด้านทรัพยากรในท้องฟ้า คือ การโอนอำนาจการบริหารทรัพยากรคลื่นความถี่ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ด้วยความเป็นธรรม ประกอบด้วย ให้ใบอนุญาตประกอบการด้านสถานีวิทยุชุมชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้กับประชาชนทั่วราชอาณาจักร รวม 7,600 สถานี รวมถึงใบอนุญาตด้านสถานีวิทยุกระจายเสียงด้านศาสนา นอกจากนั้นให้ใบอนุญาตประกอบการด้านสถานีโทรทัศน์ประจำภูมิภาคอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวม 6 ช่อง ได้แก่ ภาคเหนือ, ภาคกลาง,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันตกและภาคใต้  รวมถึงให้ใบอนุญาตประกอบการกับประชาชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้ง 77 จังหวัด

แถลงการณ์ระบุต่อว่า 2.ด้านทรัพยากรบนดิน คือ โอนที่ดินให้กับกรรมสิทธิ์ของประชาชนทุกคน ทุกอาชีพ ด้วยความเป็นธรรม ได้แก่ ปลดหนี้, จัดสรรที่ดิน ให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมและถูกกฎหมาย รวมถึงให้ประชาชนแต่ท้องถิ่นมีส่วนรวมในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงร่วมพัฒนาแหล่งต้นน้ำ ป่าไม้ นอกจากนั้นแล้วให้ออกโฉนดถวายโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่พุทธสถานทุกแห่ง และปลดหนิ้สินให้กับวัด 3.ทรัพยากรใต้ดิน คือ โอนอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรใต้ดิน อาทิ ปิโตรเลียม แร่ทองคำ แร่ตะกั่ว แร่ดีบุก แร่เหล็ก อย่างเป็นธรรม รวมถึงต้องให้คนไทยเป็นเจ้าของกิจการ เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ราคาไม่เกินลิตรละ 19 บาท

ส่วนแก๊สแอลพีจี, เอ็นจีวี ราคาไม่เกิน 9 บาทต่อกิโลกรัม และ 4.ด้านทรัพยากรทางทะเล คือ โอนอำนาจการบริหารทรัพยากรางทะเลให้เป็นของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมการบริหารพลังงานทางทะเล เช่น บ่อก๊าซ บ่อน้ำมัน ตามกฎหมายทันที และให้ประชาชนี่อาศัยตามหมู่เกาะสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล สามารถทำการประมง ปศุสัตว์ตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และที่สำคัญ ต้องไม่ให้มีโครงการที่กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมง

อย่างไรก็ตาม ประชาไท ตั้งข้อสังเกตว่า ในวันเวลา และสถานที่ของงานเสวนาดังกล่าว ซึ่งระบุไว้เป็นวันที่ 21 เมษายน ณ สโมสรกองทัพบก เป็นวันเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.พะเยา เคยประกาศว่า จะใช้เป็นวันเวลาและสถานที่นัดชุมนุม สมาชิกพันธมิตรฯ ทุกจังหวัด ก่อนที่แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศไม่เข้าร่วม และวันต่อมา กองทัพบกได้ขึ้นป้ายประกาศไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ดังกล่าว  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net