Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
เมื่อวันศุกร์ที่ ๖ เมษายน นี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการทำพิธีทำบุญครบรอบ ๖๖ ปีของพรรค โดยมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมอย่างคึกคัก ในโอกาสที่ถือได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในยุคตกต่ำอย่างที่สุด ในงานนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้พยายามกล่าวแก้เกี้ยวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็จะทำเพื่อประชาชน จึงได้เปิดตัวโครงการ เขียวใต้ฟ้าพื้นป่าต้นน้ำใต้ร่มพระบารมี ของมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เพื่อมีส่วนร่วมในการรักษาป่าต้นน้ำอนุรักษ์ธรรมชาติ ตามโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสนี้ด้วย
 
พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๙ โดยถือกันว่าเป็นพรรคแนวทางอนุรักษ์นิยมเจ้า เพื่อต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎรสายพลเรือน ที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ ในระยะแรก กลุ่มนักการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ก่อตั้งพรรค ได้เชิญนายควง อภัยวงศ์มาเป็นหัวหน้าพรรค และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคประชาธิปัตย์ในระยะแรก ก็ใช้กลวิธีทางการเมืองที่ไม่ใสสะอาดนัก เพราะเลขาธิการพรรคและสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งอยู่เบื้องหลังการโจมตีใส่ร้ายนายปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ และในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรกของพรรค คือเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ก็ได้นำเอาประเด็นเรื่องกรณีสวรรคตมาหาเสียงทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลฝ่ายปรีดี พนมยงค์
 
แต่ผลงานชิ้นสำคัญของพรรค คือ การเข้าร่วมสนับสนุนการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ยอมรับเป็นรัฐบาลรักษาการให้กับคณะรัฐประหาร โดยนายควง อภัยวงศ์รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความชอบธรรมในสายตานานาชาติให้กับการรัฐประหาร ในระยะนี้เอง ที่นายควง อภัยวงศ์ ได้สร้างผลงานเด่น เช่น การตั้งคณะกรรมการสอบสวนคคีสวรรคต ที่นำโดย พล.ต.ต.พระพินิจชนคดี เพื่อเอาผิดแก่นายปรีดี พนมยงค์ ให้จงได้ อันนำมาสู่การประหารชีวิตมหาดเล็กผู้บริสุทธิ์ ๓ คนต่อมา นอกจากนี้ ก็คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้การจัดการดูแล และการใช้จ่ายทรัพย์สิน เป็นไปตามพระราชอัธยาศรัย นายควงเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ๖ เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหาร”รื้อนั่งร้าน”โดยจี้บังคับออก เพื่อเปิดทางแห่งการครองอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะรัฐประหาร หลังจากนั้น ภายใน ๔ ปี พรรคประชาธิปัตย์ก็ตกอยู่ในภาวะแพแตก แยกย้ายกัน จน พ.ศ.๒๔๙๘ เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.เปิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ ให้มีการแข่งขันในระบบพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์จึงฟื้นตัวขึ้นมา และส่งผู้สมัครแข่งขันในการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๐๐ แต่กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้สนับสนุนประชาธิปไตยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับให้ความร่วมมือกับฝ่ายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในการก่อหารรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง
 
เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารล้มระบบรัฐสภา บริหารแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ พรรคประชาธิปัตย์ก็เก็บฉากล้มเลิกพรรค และแยกย้ายกันไป จนถึง พ.ศ.๒๕๑๑ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และตระเตรียมให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มารวมตัวกันรื้อฟื้นพรรคอีกครั้ง และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเนื่องจากนายควง อภัยวงศ์ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ นำพรรคลงสมัยรับเลือกตั้ง และกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งน่าจะเป็นสมัยเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวของยุคสมัยนั้น ที่ไม่พอใจระบอบถนอม-ประภาส อย่างไรก็ตาม เมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร ก่อการรัฐประหารปิดสภาผู้แทนราษฎร หันมาใช้อำนาจปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยุติบทบาท สลายพรรคอีกครั้ง
 
จึงสรุปได้ว่า บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคแรกนี้ ยังเป็นพรรคเฉพาะกิจ ที่มารวมตัวกันเมื่อเผด็จการทหารเปิดให้มีการเลือกตั้ง และจะสลายตัวเมื่ออำนาจเผด็จการกลับคืนมา แม้กระทั่งเมื่อ สมาชิกพรรคเช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน และ อดีตอีก ส.ส. ๒ คน ยื่นฟ้องจอมพลถนอมในข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญและเป็นกบฏ จึงถูกคณะรัฐประหารของจอมพลถนอมจับผู้ฟ้องเข้าคุก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็อธิบายว่า การดำเนินการของนายอุทัยเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค
 
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ อำนาจเผด็จการล่มสลาย และเปิดให้มีการเลือกตั้งต้นปี พ.ศ.๒๕๑๘ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงรื้อฟื้นพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาอีก และส่งผู้สมัครแข่งขัน ในครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ได้จัดตั้งรัฐบาลเพียงระยะสั้น ต้องคอยมาจนถึงการเลือกตั้งเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๙ พรรคประชาธิปัตย์จึงชนะและได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนี้ ได้แตกเป็นปีกขวาและปีกซ้ายอย่างชัดเจน โดยกลุ่มปีกซ้ายแสดงลักษณะที่เป็นเสรีนิยม ไม่เห็นด้วยกับแนวทางขวาจัดที่ปราบปรามนักศึกษา ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอันแหลมคม ทำให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้เพียง ๖ เดือน ก็เกิดการรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ชนชั้นนำรื้อฟื้นเผด็จการอีกครั้ง
 
อำนาจเผด็จการครั้งนี้อยู่ได้เพียงระยะสั้น เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ เกิดการรัฐประหารเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย การเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๒ นี่เป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในกรุงเทพฯอย่างยับเยินต่อพรรคประชากรไทย จนทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค นายถนัด คอมันตร์ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคแทน พรรคประชาธิปไตยกลายเป็นฝ่ายค้านระยะสั้นสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อมา เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าร่วมรัฐบาล และเป็นฝ่ายรัฐบาลทุกสมัยตลอดการบริหารของ พล.อ.เปรม และยังร่วมรัฐบาลต่อในสมัยต้นของรัฐบาล พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นนายพิชัย รัตตกุล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕
 
พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓ และเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็นนายชวน หลีกภัย ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๔ หลังจากเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๓๔ พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร และเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงบทบาทก้าวหน้าที่สุด
 
หลังจากการล้มลงของรัฐบาลทหาร โดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร และมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๓๕ พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด และได้เป็นพรรคแกนกลางตั้งรัฐบาลผสม โดยมี นายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็กลายเป็นพรรคสำคัญที่สุดลงแข่งขันในระบอบรัฐสภา และได้เป็นแกนกลางในการตั้งรัฐบาลอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ ทำให้นายชวน หลีกภัยได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงต้นปี พ.ศ.๒๕๔๔ จนแพ้ในการเลือกตั้งต่อพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
ในระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ และเปลี่ยนมาเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ นายอภิสิทธิ์ได้นำพรรคให้เป็นแกนกลางในการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับการนำเสนอมาตรา ๗ เพื่อเปิดทางให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง จนได้ฉายาว่า “มาร์ค ม.๗” และต่อมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นหนึ่งเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ในการล้มล้างประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนเผด็จการ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สูญเสียสถานะพรรคแนวทางเสรีนิยม และประชาธิปไตย กลายเป็นพรรคฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเต็มที่
 
ลักษณะเช่นนี้ยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับคำเชิญของฝ่ายอำมาตย์ในการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำการต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนบริหารประเทศตามปกติไม่ได้ ต่อมา เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารประเทศแล้ว และประชาชนคนเสื้อแดงมาต่อต้านคัดค้าน นายอภิสิทธิ์ก็ใช้วิธีการทางทหารเข้าแก้ไขจัดการจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนนับร้อยคน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพรรค ที่มีผู้นำพรรคมือเปื้อนเลือดประชาชนเช่นนี้ นอกจากนี้ ยังแสดงบทบาทเป็นพรรคขวาจัด ล่าแม่มดโดยการจับกุมประชาชนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ จำนวนมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความเป็นธรรมภายใต้การบริหารของนายอภิสิทธิ์จึงสูญสิ้นไป
 
ต่อมา หลังการเลือกตั้ง กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔ พรรคประชาธิปไตยกลับมาแสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้าน เพราะแพ้การเลือกตั้งแก่พรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังแสดงบทบาทเป็นพรรคขวาจัด อนุรักษ์นิยมที่สุดเช่นเดิม ด้วยการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย คัดค้านการปฏิรูปมาตรา ๑๑๒ สนับสนุนกอดขาองคมนตรี คัดค้านการปรองดองสมานฉันท์ ใส่ร้ายป้ายสีประชาชน เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ยืนยันการฟอกถ่านให้ขาว รับระเบียบวาระของฝ่ายพันธมิตรมาเป็นวาระของตน และแสดงบทบาทเป็นฝ่ายค้านอันเหลวไหล ทำให้ประวัติศาสตร์ ๖๖ ปีของพรรค จึงเป็นประวัติศาสตร์อันไร้ค่าสำหรับประชาชน ตราบเท่าที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่
 
บทความนี้ จะขอลงท้ายด้วยปุจฉาว่า เหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงได้ชื่อว่าพรรคแมลงสาบ วิสัชนา คือ แมลงสาบเป็นสัตว์ที่อยู่นาน อยู่ทน ไม่เคยเปลี่ยนรูปร่างลักษณะมานานนับล้านปี แมลงสาบเป็นสัตว์ที่อยู่ในโลกนี้มานานยิ่งกว่าไดโนเสาร์ แมลงสาบจึงเหมาะแก่พรรคประชาธิปัตย์ด้วยประการฉะนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net