Skip to main content
sharethis

"โฆษก ปชป." ชี้เพื่อไทยแพ้เพราะตระบัดสัตย์ ไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ ด้าน "โฆษกเพื่อไทย" ยินดี ปชป. ชนะเลือกตั้งซ่อมปทุม - อ้างประชาชนเชื่อ "ยิ่งลักษณ์" เตรียมนำ ครม. ดำหัว "เปรม" เป็นเรื่องดี-นำไปสู่ปรองดอง ส่วน "สสจ." เห็นแย้ง-ชี้ไม่ด่าเปรมก็แล้วไป แต่ไม่จำเป็นต้องไปส่งเสริมการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (22 เม.ย.) ว่านายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ปทุมธานีเขต 5 ที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง ว่า ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ทางพรรคเพื่อไทย ขอแสดงความยินดีกับนายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชนะการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นเพราะคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยตกนั้น มองว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์การเลือกตั้งครั้งนี้เพียงร้อยละ 30 และคะแนนที่ชนะการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ต่างกันประมาณ 3 พันคะแนน ระหว่าง 2 หมื่น 7 พันคะแนน กับ 2 หมื่น 4 พันคะแนน อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.) ทางพรรคเพื่อไทยจะประชุมสมาชิก ส.ส พรรคเพื่อไทย เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์ จุดอ่อนจุดแข็ง และปรับแนวทางการทำงาน รวมถึงการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงการเดินทางเข้าพบ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศน์ ในวันที่ 26 เมษายนนี้ เพื่อรดน้ำอวยพรปีใหม่ ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปพร้อมกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งการเข้าพบประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ครั้งนี้ ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีนำไปสู่บรรยากาศการปรองดอง ความสามัคคี ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

 

โฆษกประชาธิปัตย์ชี้เพื่อไทยแพ้เพราะตระบัดสัตย์

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์สุทธิชัย หยุ่น รายงานความเห็นของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าว่า การเลือกตั้งที่ปทุมธานีเมื่อวานนี้  ต้องขอขอบคุณประชาชนทุกท่านที่ให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์  โดยเฉพาะ ดร. เกียรติศักดิ์ ส่องแสง ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะการทุ่มเททำงานหนักของผู้สมัคร

แต่ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็น ว่าความล้มเหลวของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลคะแนนหายไปที่ปทุมธานี เขต 5 เพียงเขตเดียว ถึงกว่าสองหมื่นคะแนน ไม่ว่าจะเป็นการตระบัดสัตย์เรื่องค่าครองชีพ การทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เรื่องการทำให้เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เรื่องการทุจริตคอรรัปชั่นเงินเยียวยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่รัฐบาลกลับไม่สนใจ และไม่ใช่มาต่อล้อต่อเถียงกับฝ่ายค้าน เรื่องการปฏิบัติงาน เพราะฉะนั้นขอเรียกร้อง รัฐบาลหันกลับไปให้ความสนใจ กับการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ในการลดค่าครองชีพ และทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้  นโยบาย 300 บาท และ 1.5 หมื่นบาท ขณะนี้รัฐบาลไม่ได้ปฏิบติตามที่ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้น และไม่มีแนวโน้มที่จะไปดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการปฏิบัตินโยบายดังกล่าว

 

"พะจุณณ์" เผย "เปรม" รู้แล้วยิ่งลักษณ์จะมารดน้ำ 26 เม.ย.

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (22 เม.ย.) ว่า พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษและนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี กล่าวว่า วันที่ 26 เม.ย. นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรี(ครม.) เดินทางที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ เพื่อเข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์หรือวันปีใหม่ไทย และ พล.อ.เปรม รับทราบเรื่องแล้ว ด้านพล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษ กล่าวด้วยว่า การเข้าไปรดน้ำดำหัวเป็นขนบธรรมเนียมของคนที่เคารพกัน แต่น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นทางการในการเข้าไป

 

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ชี้ ครม.ดำหัวเปรมคือ "ส่งเสริมการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง"

ต่อข่าวดังกล่าว นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. วันนี้ (22 เม.ย.) ต่อกรณีนายกรัฐมนตรีและ ครม. เตรียมเข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม โดยนายสมศักดิ์ ได้โพสต์แสดงความในเฟซบุค ตั้งค่าการเข้าถึงสาธารณะ มีรายละเอียดดังนี้

ตำแหน่งองคมนตรี เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีกำหนดไว้เลยให้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงใดๆ กับคณะรัฐมาล

อันที่จริง องคมนตรีควรไม่มีบทบาททางสาธารณะใดๆ เลยด้วยซ้ำ เพราะถ้ามี แล้วมีปัญหาใดๆ ขึ้นมา ย่อมกระทบถึงสถาบันกษัตริย์ (อันทีจริง ทางกฎหมายต้องถือว่าองคมนตรีเป็นส่วนหนึงของสถาบันกษัตริย์)

ตำแหน่งประธานองคมนตรี ก็ไม่ได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ต้องถือเป็นตำแหน่งพิเศษอะไร

การที่ รัฐบาล และพรรคเพื่อไทย จะเลิกวิพากษ์วิจารณ์โจมตี พล.อ.เปรม นั้น ก็แล้วแต่

แต่อันที่จริง ถ้าพูดในแง่ของกฎหมาย หลักทางนิติรัฐ และรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีความจำเป็นต้อง มีการนำคณะรัฐมนตรีไปแสดงความเคารพอะไร พล.อ. เปรม ในลักษณะทางการเช่นนี้

คือต่อให้หยุดโจมตี พล.อ.เปรมแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลเชิงหลักการ เชิงกฎหมาย หรือนิติธรรม อะไร ที่ต้องให้ความสำคัญพิเศษ หรือแสดงการเคารพเป็นพิเศษต่อตัว พล.อ.เปรม

จะว่าไปแล้ว ในประวัติศาสตร์ ก็มีแต่ พล.อ.เปรม ที่วางตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นประธานองคมนตรี คือออกมามีบทบาทสาธารณะ และการเมือง อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่เกรงต่อข้อกำหนด รัฐธรรมนูญ (แสดงการฝักใฝ่พรรคการเมืองไม่ได้) และความเหมาะสม เชิงมารยาท และการปฏิบัติทางการเมือง (คนอื่นมีบทบาทแทรกแซงการเมือง ไมใช่ไม่มี แต่อย่างน้อย ยังรู้จักทำแบบหลบๆสายตาคนทั่วไป ไมใช่ทำแบบโจ่งแจ้งเช่นนี้)

พูดง่ายๆ คือ ไม่โจมตี เปรม ก็แล้วไป แต่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทีต้องไปส่งเสริมการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้

หมายเหตุ: ตามรายงานข่าวนี้ ที่ "ลูกป๋า" อ้างว่า "เป็นขนบธรรมเนียมไทย" นั้น เป็นการพูดแบบไม่รู้เรื่องรู้ราว "ขนบธรรมเนียม" ของการมีองคมนตรี (ตั้งแต่ 2492 เป็นต้นมา) ไม่เคยมีการให้ความสำคัญกับตำแหน่งประธานองคมนตรีในลักษณะนี้เลย และจะอ้างว่า นี่เป็นเรื่อง "ส่วนบุคคล" ก็ไม่ได้ เพราะที่จะไปกัน ไปในฐานะ คณะรัฐมนตรี ทั้งคณะ และที่ไป ก็ไมใช่เพราะ พล.อ.เปรม คือ นาย เปรม ที่ไหน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net