ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(3)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักคิดคนสำคัญอีกคนหนึ่งในสำนัก Egalitarisme liberale เช่น Ronald Dworkin ได้พัฒนาทฤษฎีการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมไปอีกขั้นหนึ่ง แนวความคิดเขาค่อนไปทาง John Rawls คือเน้นเรื่องการกระจายทรัพยากรภายนอกให้เท่าเทียมกันเป็นหลักทั้งนี้รวมถึงโชคชะตาและความสามารถส่วนบุคคลด้วย อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับรอว์ เขาคิดว่าปัจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบต่อความชอบ รสนิยมส่วนตัว และความทะเยอทะยานด้วยเช่นกัน ไม่จำเป็นเสมอไปที่ทุกคนจะต้องได้ในสิ่งที่อยากได้ต้องได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น ปัจเจกบุคคลต้องพยายามทำมันขึ้นมาโดยรัฐมีหน้าที่กระจายทรัพยากรพื้นฐานเพื่อช่วยให้ปัจเจกชนทำในสิ่งที่ตนทะเยอทะยานไว้ เช่น ถ้าปัจเจกชนอยากเป็นนักดนตรีชื่อดัง หน้าที่ของรัฐคืออำนวยสะดวกด้านอุปกรณ์และการสอน แต่ปัจจเจกชนจะบรรลุประสงค์ได้นั้นต้องขึ้นอยู่กับการพยายามซ้อมด้วยเช่นกัน

ดร์อวกินยังเชื่ออีกว่าความยุติธรรมกับเสรีภาพมิใช่เป็นสิ่งที่เป็นปฎิปักษ์กัน และสามารถดำเนินสนับสนุนไปด้วยกันได้ สำหรับกลไกตลาดเสรีนั้น เขาเชื่อว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมตามมา ขั้นแรกเขาเริ่มต้นโดยให้ทุกคนได้รับรัพยากรเริ่มต้นที่เป็นปัจจัยในการผลิตเท่าๆกัน เมื่อได้ทรัพยากรแล้วทุกๆคนจะเข้าสู่ระบบตลาดเสรีเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างอิสระเพื่อทุกคนจะได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนไม่ต้องการกับคนอื่นแล้วได้สิ่งที่ตนต้องการกลับคืนมา กลไกนี้จะเข้าสู่สมดุล และทุกๆคนได้สิ่งที่ตนพึงปราถนาตามรสนิยม และไม่เกิดการอิจฉาริษยาต่อกัน (envy free) ซึ่งหมายถึงว่าสังคมจะเข้าสู่ความยุติธรรม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน สมมติให้รัฐบาลแจกแจงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันทุกๆคนโดยเป็น แหวนเพชรและทับทิม โดยที่แหวนเพชรและทับทิมนั้นสมมติว่าไม่มีความแตกต่างกัน การจะเห็นคุณค่าและทำการเก็บรักษาแหวนเพชรเป็นของตัวเองต่อไปโดยไม่ขายแหวนเพชรไปนั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวของแต่ละคน เช่น นาย ก เห็นว่าสำหรับเขาแล้วแหวนเพชรไม่มีประโยชน์อะไร และอยากได้ทับทิมมากกว่า แต่ว่าเขากลับได้แหวนเพชรสองวงจากรัฐบาลและรู้สึกอิจฉา นาย ข ที่ได้ทับทิมสองเม็ดมาจากรัฐบาล ในขณะที่ นาย ข ที่ครอบครองทับทิมนั้นกลับชอบแหวนเพชรมากกว่าและรู้สึกอิจฉา นาย ก ที่มีแหวนเพชรถึงสองวง ดังน้นทั้งสองคนจึงแสวงหาการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน นาย ก แลกแหวนเพชรกับ ทับทิมของนาย ข แล้วเขาทั้งสองได้ของที่พึงพอใจกับรสนิยมเขา และความอิจฉาริษยาก็หายไป

อย่างไรก็ตามถ้า สมมติให้ นาย ก และ นาย ข ไม่มีความขวนขวายในการเสาะหาแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันแล้ว ทั้งสองต้องทนอยู่กับการครอบครองสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ทั้งสองคนก็ต้องทนรับสภาพไป เพราะรสนิยมเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบเอง ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบขวนขวายได้มาสิ่งที่ต้องตามรสนิยมเอง และถ้านาย ก และ นาย ข ไม่เคยเจอและเปรียบเทียบทรัพยากรที่มีระหว่างกัน ความอิจฉาริษยาย่อมไม่เกิดขึ้นมาและไม่เกิดการแลกเปลี่ยสินค้าด้วยเช่นกัน

นอกจากทรัพยากรภายนอกที่ต้องมีการกระจายอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ดร์อวกินคิดว่าความสามารถและโชคของคนก็ต้องมีการกระจายอย่างเท่าเทียมกันด้วย โชคและความสามารถส่วนบุคคลมีการกระจายแบบสุ่มในสังคมที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และเป็นสิ่งที่สังคมต้องรับผิดชอบ บางคนเกิดมามีความสามารถมากกว่าอีกคนหรือโชคดีกว่าอีกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ คนที่มีความสามารถมากกว่าต้องกระจายไปให้คนที่มีความสามารถน้อยกว่า คนที่มีความสามารถเท่ากันควรมีทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาคือ ความสามารถเป็นสินค้าที่ไม่สามารถแบ่งได้แล้วจะทำอย่างไรเพื่อแบ่งความสามารถคนที่มากกว่าให้คนที่มีความสามารถน้อยกว่า ดังนั้นเราจึงต้องใช้ตัวกลางที่เป็นสินค้าที่สามารถแบ่งได้ เช่นทรัพยากรอื่นที่แบ่งได้ หรือเงิน โดยเราจะพบว่าเงินเป็นตัวกลางที่ใช้ง่ายที่สุดเพราะ สามารถแบ่งได้และมีค่าชัดเจน และทุกคนต่างมีความชอบไม่ต่างกันคือ ทุกคนชอบครอบครองเงินจำนวนมากมากกว่าเงินจำนวนน้อยกว่า

สมมติให้คนที่มีความสามรถมากกว่า ผลิตสินค้าได้มากกว่า และสินค้าตีค่าออกมาเป็นเงินได้มากกว่า ในขณะที่อีกคนเป็นคนพิการมีความสามารถในการผลิตสินค้าได้น้อยกว่า และตีค่าออกมาเป็นเงินได้น้อยกว่า ถ้าตามแนวความคิดของดร์อวกินแล้ว สังคมต้องมีการกระจายความสามารถจากคนที่มากกว่าให้คนที่น้อยกว่า และวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการโอนเงินหรือเก็บภาษีจากคนที่มีความสามารถมากกว่าไปให้คนพิการเป็นต้น อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีกับพวกที่มีความสามารถมากเป็นจำนวนมากกว่าพวกที่มีความสามารถน้อยอาจส่งผลให้เกิดกลุ่มคนที่ดร์อวกินเรียกว่า ความเป็นทาสของพวกที่มีความสามารถ (l'esclavage des talentueux) ซึ่งหมายถึงสองกรณีดังต่อไปนี้คือ การที่พวกที่มีความสามาถต้องทำงานหนักเพื่อนำรายได้ไปให้พวกที่มีความสามารถน้อยกว่า หรือกรณีที่สองคือ พวกที่มีความสามารถแสร้งทำตัวไม่มีความสามารถเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีไป ซึ่งภาวะเช่นนี้ส่งผลให้ความสามารถของคนไม่ได้ถูกใช้ไปเต็มที่ ระบบทุนทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อขจัดปัญหานี้ดร์อวกินเสนอระบบการเก็บภาษีที่กระตุ้นการใช้ความสามารถของคนอย่างมีประสิทธิภาพ เขาเสนอว่าการเก็บภาษีเสมือนกับการเก็บเบี้ยประกันอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าสมมตินาย ก และ นาย ข มีความสามารถเท่าเทียมกัน แต่นาย ก มีรสนิยมที่ต้องการสินค้าราคาแพงกว่า นาย ข ผลที่ตามมาคือ นาย ก ต้องทำงานหนักกว่า นาย ข เพื่อให้ได้เงินมาซื้อสินค้าราคาแพง แต่ทว่าระบบภาษีไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของนาย ก เพราะว่าถึงแม้นาย ก ทำงานหนักกว่านาย ข เพียงใด รายได้หลังหักภาษีก็เท่ากับ นาย ข ซึ่งมีความสามารถเท่ากันแต่แสร้งทำเป็นไม่ทำงานหรือทำเป็นไม่มีความสามารถ ดังนั้นระบบภาษีต้องเอื้ออำนวยให้นาย ก ได้รับผลประโยชน์จากการที่เขาทำงานหนักมากขึ้น มิใช่เก็บภาษีจนหมดจนไม่มีความแตกต่างกันของรายได้หลังหักภาษีของ นาย ก และ นาย ข แนวความคิดนี้แปลงสภาพเป็นนโยบายและเห็นภาพชัดเจนมากในประเทศเสรีทุนนิยมอเมริกา ที่มีลักษณะดังนี้คือ แรกเริ่มแต่ละคนมีทรัพยากรเริ่มต้นเท่าๆกัน แล้วทุกคนเข้าสู่ระบบตลาดเสรีเพื่อทำการผลิตแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างเสรีโดยไม่มีการแทรกแซงเพื่อให้ทุนและความสามารถถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และพอหลังจากแลกเปลี่ยนผลิตสินค้ากันเสร็จจึงค่อยเกิดการเก็บภาษีกระจายรายได้เพื่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยลง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เห็นเศรษฐีอเมริกัน อย่าง บัฟเฟต ยังคงทำงานหนักทุกวันทั้งๆที่มีเงินมากชนิดใช้ร้อยชาติไม่จบก็ตาม ค่านิยมของอเมริกันคือ ค่าของคนขึ้นอยู่กับงานผลสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวเลขรายได้ที่เข้ามา แต่หลังจากทำงานประสบความสำเร็จแล้วสิ่งที่ต้องตามมาคือการรับผิดชอบต่อสังคม จ่ายภาษีนำรายได้กลับไปกระจายคืนกลับให้สังคมอีกครั้ง

ดว์อรกินเชื่อว่า สังคมก็ต้องกระจายโชคให้เท่าเทียมด้วยเช่นกัน เขาแบ่งโชคออกเป็นสองลักษณะคือ option luck และ brut luck สำหรับ option luck คือโชคที่ทราบความเสี่ยงในการเล่นและผลตอบแทนที่ได้ชัดเจน เช่นการเล่นการพนันเป็นต้น ส่วน brut luck คือ โชคที่ไม่ทราบความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ชัดเจน เช่นการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ดว์อรกินให้ความเห็นว่า เฉพาะ brut luck เท่านั้นที่สังคมต้องรับผิดชอบในการกระจายให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ option luck เช่น การที่ปัจเจกชนเลือกที่จะซื้อหวยโดยทราบอัตราการถูกหวยแน่ชัดแล้วยังยินดีที่จะเสี่ยงโชคนั้นก็เป็นเรื่องที่ปัจเจกชนเองต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงและผลเสียที่ตามมา

ยกตัวอย่าง brut luck ชัดเจนเช่นกรณีเกิดมหันตภัย น้ำท่วมหรือสึนามิ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเมื่อไหร หรือควบคุมไม่ให้เกิดได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโชคชะตา ซึ่งประชากรที่ประสบอุทกภัยนั้นมีความโชคร้ายมากกว่าคนที่ไม่โดนและได้รีบความเสียหายแล้ว รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายเพื่อโอนความโชคดีให้กับคนที่โชคร้ายกว่า ซึ่งการโอนด้วยวิธีให้เงินเป็นวิธีหนึ่งที่สะดวกที่สุด และโอนจากคนที่ไม่ประสบภัยให้กับคนที่ประสบภัย ดว์อรกินแนะนำวิธีการเปลี่ยนจาก brut luck เป็น option luck โดยการสร้างระบบประกันภัยสมบูรณ์ที่สมาชิกทุกคนได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์ทุกอย่างไม่ว่าเป็นความเสี่ยงผลที่ตามมา งบประมาณ ภายในการแข่งขันตลาดประกันภัยสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างระบบประกันสุขภาพสมบูรณ์ที่ทุกคนได้ข้อมูลความเสี่ยงการเกิดโรค รับทราบข้อมูลการรักษาเครื่องมือทางการแพทย์ผลการรักษาที่ตามมา และผู้ป่วยมีเสรีในการเลือกประกันภัยภายใต้งบประมาณที่จำกัดและในตลาดการแข่งขันเสรีที่มีบริษัทประกันจำนวนมาก

เชิงอรรถ

  1. DWORKIN R., « What is Equality ? Part 2: Equality of Resources », Philosophy and Public Affairs, 10, 1981.
  2. FLEURBAEY M., SCHOKKAERT E., « Equity in Health and Health Care », ECORE Discussion Paper, 2011.
  3. ROUX V., Le Mirage de l’Etat providence, Paris, L’Harmattan, 2007.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท