สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: จะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของทหาร ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ที่เขียนถึงต่อไปนี้เป็นเรื่องพม่า แต่จะไม่ห้ามปรามผู้อ่านคิดถึงหรือคำนึงสถานการณ์และบริบทในประเทศอื่นโดยเทียบเคียง

พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซานซูจี ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับท่าทีต่อรัฐธรรมนูญที่ทหารเป็นผู้อำนวยการสร้างไว้อย่างน่าคิด เมื่อพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งใหม่ 43 คนหลังการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ได้ปฎิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 23 เมษายน ด้วยเหตุผลว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนคำปฎิญาณตนก่อนปฎิบัติหน้าที่ว่า จากคำว่าจะ “ปกป้อง” เป็น “เคารพ” ซึ่งรัฐธรรมนูญ

บังเอิญว่าไม่มีความรู้ภาษาพม่าพอจะทำความเข้าใจได้ว่าโดยพื้นฐานแล้วคำสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันเพียงใด แต่ในภาษาอังกฤษซึ่งชาวพม่าแปลได้ว่า “Uphold” (พวกฝรั่งแปลว่า Safeguard)และ “Abide”(ฝรั่งแปลว่า Respect) นั้นให้ความหมายแตกต่างกันทีเดียว คำแรกนั้นแปลได้ว่าปกป้องหรือในภาษาไทยอาจจะใช้คำว่า “รักษาไว้ซึ่ง” ส่วนคำหลังแน่นอนแปลว่าเคารพเชื่อฟังและกินความได้ว่าต้องปฏิบัติตามด้วย

ความจริงพรรคเอ็นแอลดีไม่ได้ขอเปลี่ยนคำปฎิญาณหรอก แค่ขอตัดทิ้งคำหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะในตัวบทของคำปฎิญาณคำทั้งสองคำนี้อยู่ด้วยกันในประโยคเดียวกัน คือแปลความได้ว่า สมาชิกสภาจะต้องรักษาไว้ซึ่งและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพ และปรากฎว่าผู้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าต้องปฏิญาณด้วยถ้อยคำแบบเดียวกันนี้ด้วย

ชาวพม่าให้ความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างกันหลายทางบ้างก็ว่าเรื่องนี้มันหยุมหยิมเกินกว่าเอ็นแอลดีจะหยิบมาเป็นประเด็นหาเรื่องไม่เข้าสภา บ้างก็ว่าพรรคนี้ควรรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าคำปฏิญาณตนเป็นแบบนี้ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรไปลงสมัครรับเลือกตั้ง บ้างก็ว่าอย่าให้เรื่องเล็กน้อยนี้มาเป็นอุปสรรคการปรองดองแห่งชาติเลย บ้างก็ว่าคำว่า Abide นั้นความหมายหนักหน่วงกว่า Uphold เสียอีกเพราะมันมีสภาพบังคับอยู่ด้วยแต่ถึงอย่างไรเรื่องพวกนี้ก็เป็นประเด็นเล็กน้อยเมื่อประชาชนเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนในสภา ยังไงก็ต้องเข้าไปทำหน้าที่จะเกี่ยงงอนทำไมกับเรื่องแค่นี้คำสาบานจะมีความหมายอะไรหากใจคนไม่เอนเอียง

พรรคเอ็นแอลดีหรือแม้แต่ตัวอองซานซูจีไม่ได้ให้เหตุผลเรื่องนี้ชัดเจนนักว่าทำไมจะปฏิญาณว่าจะปกป้องหรือรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเองไม่ได้ บางทีเรื่องนี้ทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ความคิดของเธอตั้งแต่ต้นก็เป็นได้ แต่ดูจากรายงานข่าวทั้งที่ชาวพม่าเขียนเองและที่ฝรั่งเขียน เห็นว่าพรรคนี้ไม่อยากจะปฏิญาณเช่นนั้นเพราะมีนโยบายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว

แต่เชื่อว่านี่คงไม่ใช่เหตุผลสำคัญเพราะมันฟังดูแปร่งๆ ด้วยว่ารัฐธรรมนูญที่ไหนในโลกมันล้วนแล้วแต่แก้ไขได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะแก้ไขง่ายหรือแก้ไขยาก แต่ต้องแก้ไขได้แน่นอน ทุกประเทศล้วนแก้ไขและรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วย ไม่ว่าอย่างไร รัฐสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันล้วนแล้วแต่ต้องมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีแบบเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม บางประเทศอย่างพม่าเองว่างเว้นการใช้รัฐธรรมนูญถึง 20 ปี แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมีกับเขาเหมือนกัน การแก้ไขความจริงก็คือการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแบบหนึ่งนั่นแหละ เพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับใดแข็งขืนต่อสถานการณ์หรือไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้วไม่แก้ไข เดี๋ยวก็จะมีคนมาฉีกมันทิ้ง

เชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่พรรคเอ็นแอลดีไม่อยากจะเปล่งวาจาว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเองนั้นเป็นเพราะไม่ชอบที่มาของมันมากกว่าเหตุผลอย่างอื่น

รัฐธรรมนูญในอุดมคติที่หลายๆคนอยากจะได้นั้น จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยมหาประชาชนหรือผู้แทนที่ประชาชนเลือกมาเป็นสำคัญ และจะต้องร่างในเงื่อนไขและบรรยากาศที่ปราศจากการบงการของใครทั้งสิ้น นั่นจึงสมควรเป็นรัฐธรรมนูญที่มีค่าควรแก่การปกป้อง หรือ หากจะมีใครต้องพลีชีพเพื่อรักษามันไว้ก็นับว่าคุ้มค่า

ในชีวิตจริงนั้นรัฐธรรมนูญแบบอุดมคติหาได้ยาก ในบางประเทศเคยมีรัฐธรรมนูญแบบนี้ แต่พอมีคนฉีกจริงๆ ปรากฎว่าคนที่สาบานว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเองนั่นแหละ เอาดอกไม้ไปให้คนฉีกรัฐธรรมนูญก่อนใครเพื่อน คนที่พลีชีพเพื่อมันจริงๆกลับไม่ปรากฎว่าเคยสาบานอะไร รัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยที่บังคับใช้ในปัจจุบันก็ร่างโดยคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆที่ไม่มีใครเลือกตั้งมาเลย อย่างดีหน่อยก็เอามาถามความเห็นว่าคนอื่นจะยอมรับได้ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้การมีรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เท่ากับว่ามีประชาธิปไตยก็ได้ มีรัฐธรรมนูญจำนวนมากในโลกนี้มีเนื้อหาขัดกับหลักการประชาธิปไตย แม้ว่าวิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญจะดูเป็นประชาธิปไตยอย่างมากก็ตาม

รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปัจจุบันไม่ได้เป็นรัฐธรรนูญในอุดมคติของประชาชนพม่าเพราะมันถูกสร้างขึ้นโดยการอำนวยการของทหารและใช้เวลายาวนานมากนับแต่ปี 1993 แม้จะปรากฎว่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง เช่นผู้แทนของพรรคเอ็นแอลดีแต่ก็ได้ถอนตัวออกไปตั้งแต่ปี 1995และสมาชิกกว่า 1000 คนของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นล้วนแล้วแต่ทางกองทัพสรรหามาทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่าถูกโจมตีตั้งแต่ต้นมือว่าเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจของทหารในการเมืองพม่าต่อไป เพราะเขียนรับรองฐานะและบทบาทของกองทัพและนายทหารในสภานิติบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจน สมาชิกสภา 25 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากการสรรหาของกองทัพทั้งหลายทั้งปวงรวมความแล้วรัฐธรรมนูญของทหารพม่านั้นวิธีการได้มาและมีเนื้อหาแบบไม่สู้จะเป็นประชาธิปไตยเท่าใดนัก แม้ว่าจะผ่านการลงประชามติในปี 2008 แต่ก็ช่างเป็นการลงประชามติที่น่ากังขามาก เพราะมันเกิดขึ้นท่ามกลางห่าพายุนากีสเลยก็ว่าได้

จำได้คลับคล้ายคลับคลา แต่ไม่ค่อยแน่ใจนัก ว่ามีนักการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือพวกนิยมทหารคนไหนออกมาพูดทำนองว่าให้ประชาชนลงมติรับๆกันไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขใหม่ทีหลังก็ได้หรือเปล่า ถ้าจำผิดก็ขออภัยเพราะอาจจะไปปนเปกับเหตุการณ์ในประเทศอื่น

ด้วยที่มาและเนื้อหาที่ไม่ต้องด้วยระบอบประชาธิปไตยเช่นว่านั้นเอง ทำให้พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจี ไม่อยากจะเปล่งวาจาว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย

ในทางอุดมคติแล้วต้องถือว่า ท่าทีทางการเมืองแบบนี้ของเอ็นแอลดี น่าสรรเสริญยิ่งนัก เพียงแต่ปัญหาว่าเรื่องมันไม่ได้จบแค่นั้น เรื่องของเรื่องคือ พรรคเอ็นแอลดี ซึ่งปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับฝ่ายทหารมาโดยตลอด เกิดเปลี่ยนใจมาลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาแล้วประสบชัยชนะเหนือพรรครัฐบาลอย่างท่วมท้นเสียด้วย

คำถามคือ ถือว่าพรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจียอมรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับทหารเขียนแล้วหรือยัง? คำตอบก็น่าจะเป็นว่ายอมรับไปแล้วตั้งแต่ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งนั่นแหละ ถ้าเป็นเช่นนั้น พรรคเอ็นแอลดีจะฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปกล่าวคำปฏิญาณแบบอื่นได้หรือไม่ คำตอบในทางกฎหมายต้องบอกว่าไม่ได้ และผลในทางกฎหมายสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีที่ได้รับการเลือกตั้งก็ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาแห่งสหภาพไม่ได้ด้วยเพราะยังไม่ได้สาบานตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ถ้าหากพรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีประสงค์จะเป็นผู้แทนนอกสภา แล้วจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งทำไม เป็นพรรคนอกกฎหมายอยู่อย่างเดิมไม่ดีหรือจะกระเสือกกระสนเข้าไปทำไมให้เปลืองตัว ตรรกแบบนี้ดูเหมือนเคยมีนักการเมืองและนักนิยมทหารในประเทศอื่นใช้เพื่อตีกันคู่แข่งทางการเมืองของตัวในการเลือกตั้งเช่นกันแต่บังเอิญว่าไม่ค่อยมีคนเชื่อถือเท่าไหร่ เพราะเอาเข้าจริงการแสดงการยอมรับหรือไม่ยอมรับสิ่งใดอาจจะใช้ได้แค่ระดับกลยุทธทางการเมืองระยะสั้นเท่านั้นในที่สุดเอ็นแอลดีก็กลับเข้าสู่การเมืองในระบบเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทั้งๆที่กฎเกณฑ์เดิมที่ตัวเองรังเกียจก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย

ถ้าเช่นนั้นการเกี่ยงงอนเรื่องคำสาบานเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่มีผลในทางปฎิบัติอะไรเลยแบบนี้จะทำไปทำไม ในทางการเมืองก็มีความหมายแค่ว่า พรรคเอ็นแอลดี ไม่ได้ยอมรับกฎเกณฑ์ของทหารโดยดุษฎี ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงมันยังจะไม่หมดไป

เรื่องนี้พอจะทำให้มีความหมายในเชิงสัญญลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยในพม่า หรือเห็นเป็นทางทางออกได้หรือไม่ ความจริงก็พอมีทางอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าพลเอกเต็งเส่งและพรรครัฐบาลจะอยากรักษาความเป็นพลังประชาธิปไตยที่บริสุทธิผุดผ่องของเอ็นแอลดีและอองซานซูจีเอาไว้แค่ไหน ถ้าเต็งเส่งใจกว้างหน่อยอาจจะต้องยอมเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในสภาแห่งสหภาพบางประการ กล่าวคือยอมให้สมาชิกกล่าวคำปฏิญาณตนอย่างใดก็ได้ตามใจชอบหรือตามอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขา

ถ้าทำอย่างนั้นพม่าก็ไม่ใช่ประเทศแรกในโลกหรอกที่ทำกันแบบนี้ ในสภาอังกฤษมีคำปฏิญาณมากกว่า 1 แบบให้สมาชิกเลือกเปล่งวาจาสาบานตามความเชื่อของตัวเอง เรื่องสบถสาบานอะไรนี่มันก็เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้วจะบังคับกันได้อย่างไร

ในปี 2010 สภาอังกฤษยอมให้สมาชิกพรรค Sinn Fein ของไอร์แลนด์เหนือเขียนคำสาบานก่อนเข้ารับตำแหน่งเอง เพราะพวกเขาไม่สบายใจที่จะเปล่งวาจาว่าจะจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

อันที่จริงนี่ก็น่าจะเป็นหลักการแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ประเทศประชาธิปไตยจริงๆนั้นอุดมการณ์หลายแบบสามารถอยู่ด้วยกันได้ มันเป็นเรื่องขัดกับหลักการพื้นฐานในการปกครองมากเลยหากจะบังคับให้สมาชิกซึ่งไม่นับถือศาสนาคริสต์วางมือบนพระคัมภีร์แล้วเปล่งวาจาว่าจะเชื่อถือในพระเจ้าหรือขอให้พระเจ้าคุ้มครอง หรือ จะให้สมาชิกซึ่งมีอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐเปล่งวาจาว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ต่อให้ประเทศนั้นเป็นราชอาณาจักรเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ สมาชิกรัฐสภาสามารถทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของชาติได้โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีความจงรักภักดีต่อประมุขของรัฐ แต่ในหลายประเทศก็ไม่ยอม เพราะถือว่าการจงรักภักดีต่อประมุขของรัฐเป็นการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าพฤติกรรมอย่างอื่นเขาจะสารเลวเพียงใดก็รับกันได้ หากเขาเหล่านั้นอ้างว่าตัวจงรักภักดี

ในกรณีของพม่า อองซานซูจีและพรรคเอ็นแอลดี จะไม่เปล่งวาจาสาบานว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญซึ่งพวกเขาไม่ชอบก็ไม่เห็นเป็นไร ตราบเท่าที่เขาพูดว่าเขาจะยังเคารพมันอยู่ หรือ ต่อให้ไม่พูดอะไรเลย ในฐานะกฎหมายพวกเขาก็หนีสภาพบังคับของมันไปไม่พ้นอยู่แล้ว

คำถามต่อไปคือ ถ้าเต็งเส่งยอมให้มีคำปฏิญาณในรัฐสภาได้หลายแบบ และพรรคเอ็นแอลดีเลือกเอาแบบที่ไม่ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ วันข้างหน้าเกิดบังเอิญจะด้วยอะไรก็ตามที เกิดมีการแก้ไขเนื้อหา ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ ลดบทบาททหารลงได้ตามที่อองซานซูจีต้องการ หรือ เอาถึงขนาดว่าแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้คนที่เคยสมรสกับชาวต่างชาติเป็นประมุขของรัฐและประมุขรัฐบาลได้ ถึงวันนั้นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้จะมีค่าสำหรับพรรคเอ็นแอลดีที่ควรจะ “ปกป้อง” มันหรือไม่ และถ้าหากมีคณะนายทหารรุ่นหนุ่มอยากจะฉีกมันเพื่อพาประเทศกลับไปเป็นอย่างเก่าในอดีต หรือ ปกครองแบบไม่มีรัฐธรรมนูญเลยเหมือนช่วงปี 1988-2008 พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีก็จะไม่ปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตัวเองอุตส่าห์ลงทุนลงแรงแก้ไขมันมาเลยหรือ

ไม่มีใครรู้หรอก ถึงวันนั้นอองซานซูจีอาจจะออกมาเรียกร้องให้ประชาชนพม่าทั้งมวลปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท