สุรพศ ทวีศักดิ์: ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเคารพ ‘เจตนาดี’ ของพระสงฆ์และชาวพุทธที่รักพุทธศาสนา ต้องการปกป้องพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงคู่สังคมไทยและสังคมโลกตลอดไป ที่พยายามต่อสู้ขับเคลื่อนให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่า ‘พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย’ และต่อสู้ผลักดันให้รัฐออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาว ผมเข้าใจดีว่า การต่อสู้ผลักดันเรื่องดังกล่าวทำกันมาอย่างเหนื่อยยาก และผมเองก็เคารพเสรีภาพ เหตุผล ของทุกฝ่ายที่พยายามผลักดัน 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอุดมการณ์ เป้าหมาย แนวคิดเบื้องหลังของการต่อสู้ผลักดันเพื่อให้เกิดสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็น ‘ความมั่นคงของพุทธศาสนา’ นั้น ผมกลับพบว่ามีปัญหาน่ากังวลซึ่งอยากตั้งข้อสังเกตไว้

ปัญหาน่ากังวลที่ว่านี้ คือ เรากำลังติด ‘ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา’ ในจินตนาการแบบอดีต และกำลังผูกปมใหม่ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่? ซึ่งในที่สุดปมต่างๆ ที่พยายามผูกเพิ่มขึ้นมากมายนั้น อาจไม่ได้ทำให้เกิด ‘ความมั่นคงของพุทธศาสนา’ เลยก็ได้

‘ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา’ ที่ผมสังเกตเห็นในการแสดงออกของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในบ้านเรามีสามปมหลัก คือ


ปมหนึ่ง - ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมาได้เพราะกษัตริย์อุปถัมภ์ ฉะนั้น รัฐประชาธิปไตยปัจจุบันต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตย

แต่ปมนี้บดบังความจริงที่ว่า พุทธศาสนาที่ไม่ใช่ในเชิงพิธีการ แต่เป็นพุทธศาสนาในเชิงเนื้อหาสาระหรือเชิงวิถีชีวิตนั้น มักเป็นพุทธแบบบ้านๆ ที่เป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐ พระสงฆ์และชุมชนพุทธที่เข้มแข็งทางปัญญาและการปฏิบัติธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน มักเป็นฝ่ายที่ขบถหรือเป็นอิสระจากอิทธิพลครอบงำของอำนาจรัฐส่วนกลาง

เช่น เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ที่อ้างหลักธรรมคัดค้านการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของ รัชกาลที่ 6 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เรื่อยมาถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อชา สุภัทโท พุทธทาสภิกขุ พระไพศาล วิสาโล สมณสันติอโศก และสำนักปฏิบัติธรรมอื่นๆ ที่เข้มแข็งได้ด้วยการสร้างตัวเองให้เป็นที่เชื่อถือ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

และบดบังความจริงว่า รัฐประชาธิปไตยไม่อาจทำหน้าที่เหมือนรัฐราชาธิปไตยได้ เพราะรัฐประชาธิปไตยอ้างอิงความเป็นกลางทางศาสนา (และทางอื่นๆ) โดยอิงแนวคิดแบบ secularism และ liberalism ซึ่งหมายถึงความเป็นกลางของรัฐอ้างอิง ‘ความชอบธรรม’ อยู่บนเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น เสรีภาพทางเพศ ทางการเมือง การนับถือศาสนาฯลฯ

ฉะนั้น รัฐประชาธิปไตยจึงมีหน้าที่เป็นกลางทางศาสนา โดยต้องพิทักษ์เสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการนับถือศาสนาและอื่นๆ จะนำอุดมการณ์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นอุดมการณ์ของรัฐในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่พลเมืองไม่ได้


ปมสอง - ศาสนาพุทธถูกทำลายโดยกองทัพมุสลิมจึงสูญสิ้นจากอินเดีย ฉะนั้น ศาสนาอิสลามที่กำลังรุกในภาคใต้และภาคอื่นๆ ของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในระยะยาว

แต่ปมนี้บดบังความจริงว่า ก่อนจะถูกกองทัพมุสลิมรุกรานนั้น พุทธศาสนาอ่อนแอมากแล้ว มีการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ การศึกษาสงฆ์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาตัดขาดจากสังคม จากปัญหาของโลกภายนอก สนใจถกเถียงและชื่นชมความดีงามสูงส่งของหลักธรรมพุทธศาสนาเฉพาะในแวดวงเดียวกัน (เหมือนมหาวิทยาลัยสงฆ์ปัจจุบันที่แทบจะปิดกั้นตัวเองจากความเห็นต่าง ไม่มองฝ่ายที่ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์เป็น ‘กัลยาณมิตร’ หรือ ‘ผู้ชี้ขุมทรัพย์’ อย่างที่พุทธะแนะนำให้มอง)

และบดบังความจริงว่า การเผยแผ่ศาสนาในโลกปัจจุบัน ไม่ได้ใช้กองทัพหรือความรุนแรงนำทางอีกแล้ว แต่เป็นการใช้เหตุผลเสรีภาพ ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความเคารพระหว่างศาสนาและเกิดความร่วมมือที่จะสนับสนุนความเป็นธรรมและสันติภาพใน ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’ ร่วมกัน

ฉะนั้น ศาสนิกที่มีวุฒิภาวะทางศาสนาควร ‘ก้าวนำ’ ในการขจัดความหวาดระแวงระหว่างศาสนา สร้างความเข้าใจและความเคารพเชื่อถือระหว่างศาสนา อย่างที่ท่านพุทธทาสทำเป็นตัวอย่าง และอย่างที่พุทธะทำเป็นตัวอย่างมาแล้วในสมัยพุทธกาล

ปมสาม - ศาสนาอิสลามออกกฎหมายคุ้มครองตัวเอง ฉะนั้น พุทธศาสนาต้องมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเขาบ้าง

แต่ปมนี้บดบังความจริงว่า หลักการพื้นฐานของศาสนาอิสลามกับพุทธศาสนานั้นแตกต่างกัน ขณะที่ศาสนาอิสลามไม่ได้แยกความเป็นนักบวชกับความเป็นฆราวาสออกจากกัน ไม่ได้แยกกฎของพระเจ้ากับกฎหมายอย่างเป็นอิสระจากกัน แต่พุทธศาสนาแยกเรื่องดังกล่าวออกจากกันอย่างชัดเจน

และบดบังความจริงว่า พุทธศาสนามี ‘จุดแข็ง’ ในเรื่องการแสวงหาสัจจะ เสรีภาพ และความเสมอภาค เพราะพุทธะถือว่า ปัจเจกบุคคลต้องมีเสรีภาพจึงจะค้นพบสัจจะได้ สัจจะที่ค้นพบทำให้พ้นทุกข์ได้ และทุกคนต่างมีความเสมอภาคในการใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะหรือคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้พุทธศาสนาสามารถอยู่ร่วมในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้อย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์

ฉะนั้น โดยหลักการพื้นฐานแล้ว พุทธศาสนาจึงไม่ควรมีกฎหมายเอาผิดในเรื่องลบหลู่ศาสดา หรือสอนผิดจากพระไตรปิฎก เพราะการมีกฎหมายเช่นนี้ย่อมขัดต่อความเสมอภาคในการใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะ เพราะการศึกษาและปฏิบัติธรรมย่อมเป็นเสรีภาพอย่างสูงสุดของปัจเจกบุคคลที่จะตีความคำสอนผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์เฉพาะตน การออกกฎหมายให้อำนาจบางองค์กรมาคอยตรวจสอบเอาผิดจึงเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติของการแสวงหาสัจจะ และเป็นการทำลายมิติที่หลากหลาย มีชีวิตชีวาของพุทธศาสนาให้หายไป

เพราะยึดติด ‘สามปม’ ดังกล่าว (เป็นอย่างน้อย) จึงทำให้เกิดการพยายาม ‘ผูกปมใหม่ๆ’ ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปมให้รัฐประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตย ปมพุทธศาสนาประจำชาติ ปมให้มีกฎหมายคุ้มครองศาสดา ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนพิธี ปมให้รัฐรับผิดชอบการจัดการศึกษาพุทธศาสนา การจัดกองทุนอุดหนุนต่างๆ การใช้อุดมการณ์พุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์ในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของประชาชน ปมจัดกิจกรรมทางศาสนาแบบมหกรรม ฯลฯ

ซึ่งการผูกปมเหล่านี้คือการทำให้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐ องค์กรสงฆ์เป็นกลไกรัฐ ทำให้เสรีภาพในการศึกษา การตีความคำสอนพุทธถูกจำกัด คับแคบ ทำให้พุทธที่มีมิติหลากหลายมีสีสันมีชีวิตชีวาแบบชาวบ้านๆ กลายเป็น ‘พุทธทางการ’ แบบแข็งทื่อที่เน้นพิธีการ พิธีกรรมแบบแห้งแล้ง ไม่ประเทืองปัญญา และไร้ชีวิตชีวา


จะว่าไปแล้ว ความมั่นคงของพุทธศาสนาจะเป็นไปได้จริงเมื่อคลายปมเหล่านั้นเสีย ให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจะให้สอดคล้องกับแนวทางของพุทธะจริงๆ ควรยกเลิกระบบสมณศักดิ์ (ระบบขุนนางพระ) ยกเลิกกฎหมายปกครองสงฆ์ที่เป็นเผด็จการซึ่งขัดต่อหลักการของธรรมวินัยที่เป็นประชาธิปไตยเสีย

ให้คณะสงฆ์ปกครองตนเองด้วยหลักธรรมวินัย และให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องของชาวบ้านที่เขามีเสรีภาพจะศรัทธาเชื่อถือและสนับสนุนอุปถัมภ์ ไม่ต้องมีอำนาจศาสนจักรที่ใช้กฎหมายเป็น ‘ดาบ’ คอยควบคุม กำกับ และครอบงำทางความคิดของผู้คน

อย่างที่ไปบีบให้ปัจเจกบุคคลที่ใช้เสรีภาพตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ต้องออกมาขอโทษดังที่ทำกันอยู่!

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากที่ฟัง ‘วิจักขณ์ พานิช’ พูด ใน ‘สันติประชาธรรมเสวนา’ ที่ ‘สวนเงินมีมา’ เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา color:blue">

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท