ยื่นประกัน 'สมยศ' รอบ 8 หลักทรัพย์ 3 ล้าน – จำเลยเบิกความ 1 พ.ค.

 

26 เม.ย. 55 ที่ศาลอาญารัชดาภิเษก นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ รักษาการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ พยานฝ่ายโจทย์ในคดีหมิ่นตามมาตรา112 ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ขึ้นเบิกความต่อศาลว่า ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งขึ้นในขณะที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงปี 53 โดยมีการประชุมเพื่อหารือกรณีมีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงจะแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ตรวจสอบพยานหลักฐานตาม “ผังล้มเจ้า” ของศอฉ. จากนั้นดีเอสไอจึงส่งเรื่องกลับไปให้เจ้าหน้าที่ใน ศอฉ. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ สำหรับการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐานในคดีนี้ พนักงานสอบสวนของดีเอสไอแบ่งการทำงานเป็น 3 กลุ่มคือ ทางเวทีปราศรัย ทางวิทยุชุมชนหรืออินเทอร์เน็ต และสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งตนมีหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์

เจ้าหน้าที่จากดีเอสไอ ระบุว่า ทางทหารได้มอบนิตยสาร Voice of Taksin ให้ดู 4 เล่มโดยระบุว่าทั้งหมดเข้าข่ายหมิ่น แต่เมื่อพนักงานสอบสวนตรวจสอบแล้วพบเพียง 1 เล่มซึ่งมี 1 บทความของนายจิต พลจันทร์ แต่จากพยานหลักฐานตรวจสอบไปไม่ถึงผู้เขียนและไม่สามารถเอาผิดได้ จากนั้นจึงได้หลักฐานเพิ่มอีก 1 เล่มระหว่างสืบสวนสอบสวน  อย่างไรก็ตาม การกล่าวหาครั้งนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ที่ระบุว่า บรรณาธิการต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่ เนื่องจากบก.ผู้จดแจ้งเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งสืบสวนแล้วพบว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่สืบทราบจากพยานซึ่งเป็นพนักงานที่นิตยสาร Voice of Taksin เองว่านายสมยศเป็นผู้รับผิดชอบคัดสรรบทความ จึงดำเนินคดีกับนายสมยศ

ด้านนางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 8 โดยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคา 1.6 ล้าน และเงินสดของกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม 1.4 ล้าน รวม 3 ล้านบาท พร้อมทั้งยื่นเอกสารแถลงการณ์จากองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เรียกร้องให้นายสมยศได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม Article 19, เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย, ศูนย์ข้อมูลชุมชน, เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ศูนย์พัฒนาเด็กและเครือข่ายชุมชน, โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ รวมถึงจดหมายของ ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบกรณีของสมยศ โดยเฉพาะการไม่ได้รับสิทธิในการประกัน

ทั้งนี้ การสืบพยานฝ่ายจำเลยจะเริ่มต้นในวันที่ 1-4 พ.ค. โดยนายสมยศจะขึ้นเบิกความเป็นปากแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสืบพยานวันนี้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่างประเทศ เช่น อียู และ Clean Clothes Campaign ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานจากประเทศเนเธอแลนด์เข้าร่วมรับฟังการสืบพยานด้วย โดย Jenneke Arens จาก Clean Clothes Campaign กล่าวว่า คดีของนายสมยศ และคดีมาตรา 112 อื่นๆ ในประเทศไทยกำลังเป็นที่จับตามองของนานาประเทศ เนื่องจาก Free Speech เป็นพื้นฐานของเสรีภาพที่สำคัญที่สุด การถูกละเมิดในสิทธิพื้นฐานทำให้เป็นการง่ายที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในการจัดตั้งองค์กร ฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราพยายามรณรงค์กับคนงานมาโดยตลอด นอกจากนี้ประเทศไทยยังรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้แล้วด้วย หากประเทศไทยต้องการจะมีที่ยืนในเวทีระหว่างประเทศต่อไป รัฐบาลควรเผชิญหน้ากับเรื่องนี้แทนที่จะหลบหลีก โดยอาจเริ่มต้นจากการให้ special repporteur เข้ามาตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหามาตรา 112 อย่างเป็นทางการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท