ยอดพล เทพสิทธา: ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งมหานครในระดับท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหาชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้นถือเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอชี้แจงก่อนว่าผู้เขียนนนั้นไม่ได้ศึกษาในทางประวัติศาสตร์ดังนั้นในงานชิ้นนี้จะไม่ลงไปถึงรายละเอียดในเชิงประวัติศาสตร์มากนักแต่จะเป็นการวิเคราะห์ในความเป็นไปได้ทางกฎหมายเท่านั้น ในอดีตการปกครองของไทยมีลักษณะของการปกครองแบบหัวเมืองจนมาถึงในยุคของรัชกาลที่5ที่มีการจัดตั้งมณฑลขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะใช้การปกครองในรูปแบบใดผู้ปกครองที่มักจะถูกส่งมาจากส่วนกลางจะต้องประสบปัญอย่างหนึ่งคือการที่ไม่สามารถเข้าถึงและเข้าใจประชากรในท้องถิ่นนั้นๆได้อันเนื่องมาจากความแตกต่างในแง่ของเชื้อชาติ ศาสนาและยังรวมถึงความเชื่อที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย ปัญหาด้านความแตกต่างนี่เองที่เรื้อรังมาจนกลายเป็นความไม่เข้าใจและการต่อต้านอำนาจรัฐ(ส่วนกลาง)แม้ว่าจะได้มีความพยามในการแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่ในอดีตและรวมถึงข้อเสนอของฮัจยีสุหลงที่ได้เสนอต่อนายปรีดี พนยมยงค์จนมาถึงข้อเสนอในการจัดตั้งปัตตานีมหานครในปัจจุบัน หากสังเกตแล้วจะพบว่าปัญหาเหี่ยวกับอำนาจในการจัดการตนเองของภาคใต้นั้นมักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจรัฐในทุกยุคทุกสมัยหากเป็นการสนใจแล้วก็จะเป็นในลักษณะของการปฏิเสธเสียมากกว่า สิ่งที่ได้เกริ่นมาทั้งหมดนั้นผู้เขียนไม่ได้จะสื่อสารว่าการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษแบบมหานครหรือการให้อำนาจในการปกครองตนเองนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาของภาคใต้ได้อย่างเด็ดขาดแต่หากเป็นเพียงอีกเสียงสะท้อนหนึ่งเท่านั้น

 

ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษ

ในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นรูปแบบพิเศษนั้นหากศึกษาถึงรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วโลกแล้วพบว่าในแต่ละประเทศจะมีการจัดตั้งรูปแบบขององค์กรกระจายอำนาจที่แตกต่างกันทั้งนี้ปัจจัยต่างๆอาจขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติของประชากร ภาษา ศาสนาแะประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ตัวอยางเช่นการจัดการปกครองในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่ประชากรมีความหลากหลายทั้งประชากรที่พูดภาษาเยอรมันและฝรั่งเศสเป็นต้น อย่างไรก็ตามในการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจนั้นมีเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นชื่อขององค์กรกระจายอำนาจ อาณาเขตพื้นที่ ความหลากหลายของประชากร อำนาจขององค์กรกระจายอำนาจและการได้มาของงบประมานในการบริหารงาน

  1. ชื่อขององค์กรกระจายอำนาจ โดยหลักแล้วชื่อขององค์กรกระจายอำนาจมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นักเพราะมักจะตั้งตามอาณาเขตของดินแดนนั้นๆหรือตั้งตามประวัติศาสตร์ของดินแดนเหล่านั้นตัวอย่างของการตั้งชื่อองค์กรกระจายอำนาจในฝรั่งเศสเองหากเป็นในระดับเทศบาลมักจะเป็นชื่อที่มีความเป็นมายาวนานอยู่แล้วแต่ถ้าเป็นองค์กรกระจายอำนาจระดับภาคนั้นเพิ่งจะมีการตั้งชื่อกันใหม่ในปี1972นี่เองโดยการตั้งชื่อขององค์กรกระจายอำนาจในระดับภาคนี้จะต้องคำนึงถึงท้องถิ่นในระดับด่างๆที่มารวมกันโดยหาจุดร่วมกัน ในส่วนของไทยนั้นการจะจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจนั้นการตั้งชื่อของตัวตัวองค์กรเองควรที่จะสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆและไม่ควรนำชื่อของท้องถิ่นใดแห่งหนึ่งมาเป็นชื่อขององค์กรกระจายอำนาจที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่
  2. เรื่องของอาณาเขตพื้นที่นั้นอาจถือได้ว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นปัจจัยแรกที่จะนำมาสู่การจัดเขตอำนาจขององค์กรกระจายอำนาจเองรวมถึงการกำหนดเขตแดนทางกฎหมายในกรณีที่มีการใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น กรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้กฎหมายศาสนาในข้อพิพาทบางประการเป็นต้น ดังนั้นการกำหนดเขตพื้นที่จึงต้องกระทำโดยศึกษาถึงเขตพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งองค์กรกระจายอำนาจขึ้นมามิฉะนั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆและโดยที่ปัญหาเดิมก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย
  3. ความหลากหลายของประชากร ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวเนื่องจากประชากรแต่ละกลุ่มย่อมมีความเชื่อที่แตกต่างกันไปดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือข้อเสนอของฮัจยีสุหลง ในข้อ1และ2 ที่ว่า ให้มีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงโดยมีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจในการแต่ตั้งข้าราชการในสี่จังหวัดอย่างสมบูรณ์และให้ออกโดยเหตุประการต่างๆผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสูงนี้จะต้องเป็มุสลิมในสี่จังหวัดนี้(หมายถึง สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส)และเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากปวงชนมุสลิมภาคนี้ และข้อสองคือ ข้ราชการในสี่จังหวัดนี้ในแต่ละแผนกจะต้องมีอิสลามประมานแปดสิบเปอร์เซนต์ หากสังเกตจากข้อเสนอเบื้องต้นดังกล่าวจะพบว่ามีการจำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนเชื้อสายอื่นไว้อย่างชัดเจนแม้ว่าผู้นำสูงสุดเองจะต้องมาจากการเลือกตั้งแต่คุณสมบัติเบื้องต้นคือต้องเป็นมุสลิม ข้อเสนอดังกล่าวนี้เองที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชากรทุกคนมีสิทธิทางการเมืองอย่างเสมอภาคกันดังนั้นการที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิลงสมัครเป็นผู้นำสูงสุดต้องเป็นมุสลิมจึงเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาค ดังตัวอย่างของร่างกฎหมายเกี่ยวกับสัดส่วนของสมาชิกสภาท้องถิ่นของฝรั่งเศสฉบับหนึ่งที่กำหนดสัดส่วนของผู้หญิงไว้ว่าต้องสำรองที่ให้ให้เพศหญิงจำนวนเท่าไหร่ซึงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายฉบับบนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการจะจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจจึงต้องคำนึงถึงประชากรทุกคนเป็นหลักและต้องไม่ละเลยที่จะพูดถึงประชากรส่วนน้อยด้วย
  4. อำนาจขององค์กรกระจายอำนาจ หากกล่าวอีกนัยหนึ่งในประเด็นของอำนาจนั้นคือเรื่องของการตรากฎหมายเพื่อกำหนดว่าองค์กรกระจายอำนาจนั้นมีอำนาจและหน้าที่อย่างไรบ้าง หากเทียบเคียงกับอำนาจและหน้าที่ขององค์กรกระจายอำนาจในปัจจุบันนั้นจะพบว่าอำนาจหน้าที่โดยมากขององค์กรกระจายอำนาจนั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่กล่าวคือจัดทำบริการสาธารณะในท้องถิ่นนั้นๆนอกจากนั้นยังมีอำนาจพิเศษทางเทคนิคซึ่งได้แก่อำนาจในการจัดสรรงบประมานเป็นต้น หากมีการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษขึ้นจะส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้องเนื่องจากอำนาจหน้าที่ที่เคยมีอยู่เดิมจะต้องถูกจัดสรรใหม่รวมทั้งอาจต้องมีการยกเลิกองค์กรกระจายอำนาจบางประเภทที่มีเขตอำนาจทับซ้อนกัน
  5. การได้มาซึ่งงบประมาณในการบริหารงาน โดยทั่วไปแล้วรายได้ขององค์กรกระจายอำนาจมาจากสองแหล่งด้วยกัน ได้แก่ งบประมานจากรัฐและการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆในท้องถิ่น เมื่อมีการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษแล้วนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันคืออาณาเขตและจำนวนประชากรดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าอาณาเขตและจำนวนประชากรนั้นจะสัมพันธ์กับรายได้เสมอหากท้องถิ่นใดมีอาณาบริเวณมากแต่มีประชากรน้อยยอมทำให้ไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีได้ตามที่ต้องการและยังเป็นการสร้างภาระอีกด้วยเพราะต้องใช้งบประมานมากในการบริหารจัดการพื้นที่อันกว้างขวางในทางกลับกันการจัดสรรพื้นที่เพื่อกำหนดขอบเขตของรายได้ก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกันหากมีการรวมกันของกลุ่มพื้นที่ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกันย่อมจะทำให้ส่วนที่เหลือนั้นเหลือแต่ท้องถิ่นที่ไม่สามารถจัดหารายได้ได้อย่างเพียงพอมารวมกันซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ส่วนกลางเป็นอันมาก ดังนั้นการจัดสรรพื้นที่จึงสัมพันธ์กับการงบประมานโดยตรง

กล่าวโดยสรุปคือการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษนั้นมีความเป็นไปได้แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆอีกด้วยซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

 

รูปแบบขององค์กรกระจายอำนาจที่จะถูกจัดตั้งขึ้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจลักษณะของไทยว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ไทยเป็นรัฐเดี่ยวดังนั้นองค์กรที่จะถูกจัดตั้งขึ้นใหม่นั้นต้องไม่กระทบต่อหลักการของรัฐเดี่ยวดังนั้นรูปแบบที่เป็นไปได้มากที่สุดคือจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษปัญหาที่ต้องทบทวนต่อมาคือ ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดองค์กรปกคองส่วนท้องถิ่นไว้ห้าประเภท ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด พัทยาและกรุงเทพมหานครหากจะมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ขึ้นจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมหรือร่างกฎหมายใหม่เพื่อรองรับองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ปัญหาที่ต้องพิจารณาประการต่อมาคือจะจัดตั้งในรูปแบบใดเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับรูปแบบเดิมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเดิมนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชากรในพื้นที่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในพื้นที่ที่ค่อนข้างอ่อนไหวซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยนั้นยังยึดติดกับการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นอย่างมากหรือกล่าวง่ายๆคือตัวแทนจากส่วนกลางยังมีอิทธิพลมากต่อส่วนท้องถิ่นหากสังเกตจากพระราชบัญต่างๆที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพบว่ากฎหมายให้อำนาจในการกับกับดูและแก่ตัวแทนของรัฐในส่วนภูมิภาคมากไม่วาจะเป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงยังมีส่วนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นซึ่งไปสัมพันธ์กับการจัดสรรงบประมานจากส่วนกลางอีกด้วยนอกจากนี้ตัวแทนของรัฐเองยังมีอำนาจหน้าที่ที่ไปทับซ้อนกับอำนาจของส่วนท้องถิ่นบางประการในทางปฏิบัติแน่นอนว่าส่วนกลางย่อมที่จะต้องสงวนอำนาจของตนเองไว้และไม่ยินยอมที่จะกระจายอำนาจอย่างแท้จริงนอกจากนี้ตัวแทนจากส่วนกลางมักจะเข้าไม่ถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและอาจมีเวลาในการทำงานน้อยเกินไปเนื่องจากการโยกย้ายนั้นเป็นสิทธิ์เฉพาะตัวของรัฐบาลที่จะแต่งตั้งหรือให้ย้ายก็ได้จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงานซึ่งผิดกับในส่วนท้องถิ่นเพราะมีที่มาจกการเลือกตั้งโดยตรงของประชากรในพื้นที่

อย่างไรก็ตามมีรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างประเทศที่น่าสนใจคือของประเทศอิตาลีและสเปน โดยในส่วนของประเทศอิตาลีนั้นลักษณะขององค์กรปกครองส่วนทท้องถิ่นจะคล้ายกับภาคของฝรั่งเศสแต่จะมีอำนาจและความเป็นอิสระที่มากกว่าซึ่งรูปแบบนี้จะใกล้เคียงกับรูปแบบของมลรัฐแต่ยังอยู่ในความเป็นรัฐเดี่ยวโดยที่รัฐธรรมนูญของอิตาลีในมาตรา 5 ได้บัญญัติว่าสาธารณะรัฐต้องตระหนักและส่งเสริมอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งลักษณะของการปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวเรียกว่าEtat régional ลักษณะพิเศษขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบนี้คืออำนาจที่กว้างขวางในการตรากฎหมายกล่าวคือในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทนี้สามรถที่จะตรากฎหมายเองได้แต่ต้องเป็นกรณีที่กำหนดไว้ในรัฐธรมนูญเท่านั้น ซึ่งทำให้ในแต่ละท้องถิ่นอาจมีกฎหมายที่ไม่เหมือนกันเช่นเดียวกับรูปแบบมลรัฐได้แต่ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังอยู่ภายใต้ระบบรัฐเดี่ยว

กลับมาดูในส่วนของไทยปัญหาที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้นจะเห็นว่าผู้เขียนเน้นไปที่ส่วนกลางแต่อย่างไรก็ตามการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจโดยปราศขากการกำกับดูแลจากส่วนกลางย่อมเป็นไปไม่ได้ แน่นอนว่าองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหหม่นี้จะต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่จะออกมาในรูปแบบใด?

ในข้อเสนอต่างที่พบตามสื่อสิ่งพิมพ์จะพบเห็นคำว่าปัตตานีมหานคร นครปัตตานี มากที่สุด เมื่อลงไปอ่านในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าเป็นการรวมกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมหลายๆแห่งด้วยกันเช่น อาจจะรวมอาณาเขตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของสงขลาและจัดตั้งขึ้นเป็นปัตตานีมหานครขึ้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือรูปแบบนี้เหมาะสมแล้วหรือยังกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และหากมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษโดยเฉพาะในภาคใต้แล้วจะกระทบต่อหลักความเท่าเทียมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่

แน่นอนว่าเมื่อมีการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษขึ้นนั้นย่อมที่จะต้องถูกจัดตั้งขึ้นเหมือนกันในทั่วทุกภาคของไทย สิ่งที่ต้องพิจารณาคือหากจะใช้โมเดลของมหานครนั้นจะจัดสรรพื้นที่กันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพยากรและปัญหาที่ตามมาคือสถานะของข้าราชที่เป็นตัวแทนของส่วนกลางว่าจะมีสถานะและอำนาจอย่างไร

รูปแบบที่ผู้เขียนจะเสนอต่อไปนี้ผู้เขียนได้นำโมเดลมาจากภาคของฝรั่งเศสผสมกับอำนาจของโมเดลอิตาลีและสเปน กล่าวคือ ให้คงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมไว้ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไว้ทั้งหมดแต่อาจต้องมีการยุบรวมบางแห่งในกรณีที่ไม่สมารถจัดการบริการได้อย่างทั่วถึงหรือไม่อาจบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังต้องมีการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหม่ที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ระดับภาค(région) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของพื้นที่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันโดยไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งตามคำเรียกภาคในปัจจุบันซึ่งก็คือเหนือใต้ตะวันออกและตะวันตกและอาจไม่ต้องจัดตั้งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ขนาดมณฑลในอดีตอาจตั้งโดยการรวมอาณาเขตของจังหวัดที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันและมีความคล้ายคลึงกันทางเชื้อชาติภาษาและวัฒนธรรมก็เป็นได้โดยอาจแบ่งรูปแบบขององค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหม่และเก่าได้ดังนี้

1.องค์กรกระจายอำนาจระดับภาคหรือมหานคร 2.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 3.เทศบาล 4.องค์การบริหารส่วนตำบล 5.กรุงเทพมหานครและ 6.พัทยา โดยที่องค์กรกระจายอำนาจระดับภาคหรือมหานครนั้นจะมีขนาดใหญ่ที่สุดเพราะเป็นการรวมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นเข้าด้วยกัน

อำนาจหน้าที่ขององค์กรกระจายอำนาจใหม่ที่จะถูกตั้งขึ้น

ในส่วนของอำนาจขององค์กรกระจายอำนาจนั้น เมื่อเป็นองค์กรขนาดใหญ่อำนาจย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องลงไปในรายละเอียดปลีกย่อยเฉกเช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือในระดับเทศบาล อำนาจขององค์กรกระจายอำนาจที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ควรจะเป็นไปในลักษณะของการวางแนวทางหรือนโยบายในการพัฒนา การจัดทำบริการสาธารณะขนาดใหญ่เช่นการจัดการขนส่งระหว่างภาคหรือจังหวัด นอกจากนี้องค์กรนี้ควรจะเป็นองค์กรหลักในการวางแผนพัฒนาเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มารวมกันนั้นพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่พัฒนาอย่างตัวใครตัวมันเฉกเช่นปัจจุบัน นอกจากนี้สิ่งที่ควรต้องเพิ่มเข้ามาคืออำนาจในการตรากฎหมายของตนเองแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดเนื่องจากแต่ละท้องถิ่นย่อมมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันเพราะฉนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดกรอบของกฎหมายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตราได้โดยอิสระ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีอำนาจในทางนิติบัญญัติแล้วจะทำให้องค์กรกระจายอำนาจเป็นอิสระจากรัฐหากแต่ยังเป็นองค์กรภายใต้รัฐที่ได้รับมอบอำนาจมาเท่านั้น ดังนั้นหากมีแนวคิดในการจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหม่ขึ้นจำเป็นจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในแง่ของอำนาจหน้าที่ขององค์กรกระจายอำนาจแห่งใหม่นี้ให้ชัดเจนด้วย เพื่อป้องกันความคลุมเครือในการตีความกฎหมายในภายหลัง

การกำกับดูแลก็เช่นกันเนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของพื้นที่ในหลายจังหวัดครั้นจะตั้งตำแหน่งใหม่จากส่วนกลางก็น่าจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมานและกำลังคนโดยใช่เหตุผู้เขียนมีแนวความคิดให้ตั้งจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งในองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบใหม่ขึ้นเป็นเมืองหลวงของมหานครนั้นๆและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการต่างๆของมหานครนั้นๆไปโดยจะต้องมีการกำหนดเขตอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่เพื่อให้ตอบสนองต่องค์กรใหม่ที่จะเกิดขึ้น

การจัดตั้งองค์กรกระจายอำนาจรูปแบบมหานครขึ้นนั้นอาจไม่ได้ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้แต่อย่างน้อยก็เป็นการเปิดมิติใหม่ในการเพิ่มอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่นโดยการลดอำนาจและความสำคัญจากส่วนภูมิภาคลงให้เหลือเพียงแค่การกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท