Skip to main content
sharethis

แรงงานไทย-ต่างด้าวแห่ย้ายฐาน ไหลเข้า 7 จังหวัดนำร่องค่าแรง 300 บาท / ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 ชี้ค่าจ้าง 300 บาทไม่ช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น / จี้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน / อีก 10 ปีผู้ใหญ่คุณภาพต่ำ-แรงงานสตรีค่าแรงต่ำ 

อีก 10 ปีผู้ใหญ่คุณภาพต่ำ-แรงงานสตรีค่าแรงต่ำ

ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เปิดเผยผลวิจัยเรื่องสถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทย ปี 2554-2555 พบว่าครอบครัวไทยบกพร่องในการทำหน้าที่สำคัญ คือ การเตรียมบุตรหลานของตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการปกป้องดูแลตน เอง

โดยเฉพาะการตั้งรับกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ มีความรุนแรง คือ ครอบครัวร้อยละ 10 ไม่มีการเตรียมให้ความรู้กับลูกวัยรุ่นว่าด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และการตั้งครรภ์เมื่อพร้อม ครอบครัวไทยร้อยละ 23 กำลังบกพร่องต่อการทำหน้าที่สำคัญ

ดร.วิมลทิพย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งการจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มีความสุขและไม่เป็นภาระของลูกหลานขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวก่อนเกษียณใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ การเตรียมตัวด้านเงินออม การเตรียมตัววางแผนอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ การออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และการเตรียมตัวเพื่อการพึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัย

โดยข้อค้นพบจากงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่าครอบครัวไทยราวร้อยละ 6.4 แทบจะไม่มีการวางแผนเรื่องเงินออมเลย ในขณะที่ครอบครัวอีกร้อยละ 23.3 ไม่มีการวางแผนเรื่องอาชีพ/กิจกรรมหลังเกษียณ อีกร้อยละ 15.9 ไม่มีการออกกำลังกายเพื่อเตรียมสุขภาพ และอีกร้อยละ 14.4 ยังไม่ได้เตรียมการด้านที่อยู่อาศัยเลย

ดังนั้น ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีทรัพยากรมนุษย์เกิดจากความไม่พร้อม ไม่ตั้งใจนำมาซึ่งโอกาสที่จำกัด และสุดท้ายกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่ำ และในเวลาเดียวกันเราจะได้แรงงานสตรีราคาถูกเพราะออกจากระบบการศึกษาก่อน กำหนด ภาครัฐต้องรับภาระผู้สูงอายุจำนวนมหาศาลซึ่งไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือดูแลตนเองได้ในระดับต่ำ ผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีทั้งเงินออมในการดูแลตนเอง ไม่มีอาชีพ ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เหล่านี้หมายถึงงบประมาณมหาศาลที่ภาครัฐจะต้องทุ่มลงไป ทั้งๆ ที่หลายประเด็นเป็นเรื่องที่จัดการได้ด้วยระบบและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญกว่านโยบายคือการลงมือทำ ซึ่งหมายถึงทุกหน่วยงานควรร่วมมือกันเพราะเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ต้อง การการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม หากสังคมไม่น่าอยู่ ท้ายที่สุดพวกเราทุกคนก็ไม่มีใครอยู่ได้อย่างมีความสุข

(กรุงเทพธุรกิจ, 22-4-2555)

แรงงานนอกระบบร้อง คปก.ชงคลอดกฎกระทรวงคุ้มครองสิทธิคนทำงาน

24 เม.ย. 54 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย - ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ  คนทำงานบ้านจากหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่นปัตตานี เชียงราย  และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพกว่า 30คน  เข้าพบ คปก. โดยนางสุนี ไชยรส ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์  นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ นายไพโรจน์ พลเพชร และดร.โชคชัย สุทธาเวศ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม  เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ขอให้เร่งรัดกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดว่าต้องจัดตั้งคณะกรรมการมากำกับภายใน 120 วัน รวมทั้ง ออกกฎ ระเบียบอีกหลายฉบับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 แต่ไม่มีการดำเนินการใด โดยพ.ร.บ.ประกาศเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553  มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 180 วัน คือในวันที่ 15 พฤษภาคม 2554

ทั้งนี้ความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่สามารถใช้ สิทธิตามกฎหมายรับรองและคุ้มครอง เช่น   ค่าจ้างขั้นต่ำ ความปลอดภัยในการทำงาน และสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ฯลฯ   ทำให้แรงงานนอกระบบไม่สามารถใช้สิทธิ  สูญเสียโอกาสและประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง แม้พระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้มากว่าหนึ่งปีแล้ว

นอกจาก แรงงานทำงานบ้านที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ยกเว้นไม่คุ้มครอง  ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในกฎหมายประกันสังคม ทั้งที่มีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน และข้อเสนอแนะฉบับที่ 201 คนทำงานบ้านยังถูกโกงค่าแรง  ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้าง บางส่วนปกป้องสิทธิตนเองได้ยากลำบากเพราะกลัวถูกเลิกจ้าง บางรายสะท้อนว่าเมื่อถึงยามอายุมาก ไม่มีใครดูแล ต้องอาศัยพี่น้อง และรับจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆ 

อย่างไรก็ตามหลังจากรับฟังแล้วคณะกรรมการฯ จะเชิญผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่ บ้าน สาเหตุของความล่าช้าในการออกกฎกระทรวงต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้านและคนทำงานบ้านตามกฎหมาย ต้นเดือนพฤษภาคมนี้

(ประชาไท, 24-4-2555)

คนงานโฮยาร้องสภาหอการค้าอเมริกัน จี้สมาชิกให้โฮยารับคนงานถูกเลิกจ้าง

24 เม.ย. 55 - ที่สภาหอการค้าไทยอเมริกัน เครือข่ายกู้ดอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยและคนงานที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทโฮยา จ.ลำพูน ได้ยื่นจดหมายให้สภาหอการค้าฯ เพือให้สภาหอการค้าฯ กดดันสมาชิกที่เป็นลูกค้าของโฮยา คือ บริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์อย่าง Seagate และ WD ให้เรียกร้องต่อโฮยา เพือให้มีการปฏิบัติต่อคนงานอย่างเป็นธรรมด้วยการรับคนงานที่ถูกเลิก จ้างกลับเข้าทำงาน โดยมีตัวแทนสภาหอการค้าฯ มารับจดหมาย

ทั้งนี้หลังจากการเจรจาที่กรรมาธิการแรงงานรัฐสภาให้มีการเจราจาเพื่อ รับคนงานเข้ากลับทำงานเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา นั้นปรากฎว่าไม่มีความคืบหน้า และสถานการณืยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเพราะหลังจากนั้นทางบริษัทได้มีการเลิก จ้างประธานสหภาพแรงงาน

(ประชาไท, 24-4-2555)

พนักงาน ชินเอโคราชบุกศาลากลางฯ ร้องขอความเป็นธรรม-เพิ่มสวัสดิการ

24 เม.ย. 55 - ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา พนักงาน บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี เลขที่ 183 หมู่ 3 ราชสีมา-โชคชัย ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กว่า 800 คน นำโดย นายสมพร รดจันทร์ รองประธานสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หลังคณะกรรมการสหภาพฯ ถูกบริษัทพักงานไปรวม 6 คนจากทั้งหมด 23 คน พร้อมเรียกร้องสวัสดิการจากบริษัทให้แก่พนักงานจำนวน 35 ข้อ
      
นายสมพร รดจันทร์ รองประธานสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค กล่าวว่า หลังจากสหภาพฯ ได้ยืนข้อเรียกร้อง 35 ข้อ ซึ่งเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการความปลอดภัยของพนักงาน และการเพิ่มเงินค่าตอบแทนในการทำงาน เช่น การเพิ่มค่ารถจาก 25 บาท เป็น 70 บาท, ขอรถเข็นพยาบาลประจำจุดทำงาน, ขอค่าอาหารกรณีอยู่ทำงานล่วงเวลาเกิน 2 ชั่วโมง, ขอชุดพนักงานที่มีคุณภาพ 4 ชุดต่อปี, ขอรองเท้าเซฟตี้ที่มีคุณภาพ, ขอเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 5 ต่อปี, ขอให้บริษัทจ่ายเงินโบนัส 2 ครั้งต่อปี และให้บริษัทปรับปรุงระบบการดูแลเรื่องการเจ็บป่วยจากการทำงาน เป็นต้น
      
ข้อเรียกร้องดังกล่าว ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้กลุ่มสหภาพแรงงานชินเอไฮเทคได้ ประชุมหารือกับทางผู้บริหารบริษัทมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงหาข้อยุติกันได้ ทางสหภาพฯ จึงยื่นเรื่องให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาเป็น ตัวกลางในการเจรจา ซึ่งสำนักงานสวัสดิการฯ ได้เรียกให้บริษัทกับสหภาพฯ ไปพูดคุยกันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้เหมือนเดิม ทางสำนักงานสวัสดิการฯ จึงนัดเจรจาในวันนี้อีกเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งได้ส่งตัวแทนฯ ไปเจรจาแต่ก็ไม่เป็นผล
      
นายสมพรกล่าวว่า เฉพาะในเดือนเมษายนผู้บริหารบริษัทได้สั่งพักงานแกนนำสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค ไปแล้วจำนวน 6 คน แบ่งเป็นทำงานอยู่โรงงานภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี ต.หนองบัวศาลา 3 คน และโรงงานในนวนคร อ.สูงเนินอีก 3 คน โดยให้เหตุผลว่าแกนนำสหภาพฯ ทั้งหมดสร้างความแตกแยกในองค์กร และล่าสุดเมื่อเช้านี้ (24 เม.ย.) มีพนักงานฝ่ายบุคคลเข้ามาบอกพนักงานที่ทำงานกะเช้ากว่า 500 คนที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ ให้หยุดทำงานและออกจากโรงงานไป
      
พนักงานทั้งหมดจึงเดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าฯ ในวันนี้ เนื่องจากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาทางบริษัทได้รับผู้จัดการฝ่ายบุคคลคนใหม่เข้ามาซึ่งมีประวัติ ในการล้มสหภาพฯ ของโรงงานใน จ.สมุทรปราการมาก่อนหน้านี้ และที่ผ่านมาทางสหภาพฯ พูดคุยกับผู้บริหารบริษัทมาด้วยดีตลอด ฉะนั้นเราจึงเป็นกังวลว่าบริษัทมีแผนที่จะล้มสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทคด้วย
      
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการชุมนุม สภ.เมืองนครราชสีมาได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อยกว่า 20 นาย โดยมี พ.ต.อ.ชัยเดช ปานรักษา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาตรวจความสงบเรียบร้อย ขณะที่ นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีภารกิจเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันที่จะยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เพียงคนเดียว โดยจะชุมนุมปักหลักรอที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีสหภาพแรงงานการรถไฟจังหวัดนครราชสีมา และสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย
      
ล่าสุดเวลา 18.00 น.วันเดียวกันนี้ กลุ่มพนักงานบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา และแกนนำประกาศจะชุมนุมค้างคืนที่หน้าศาลากลางฯ เพื่อรอผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามารับข้อเรียกร้องพร้อมดำเนินการแก้ไข ปัญหาต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-4-2555)

เครือข่ายแรงงาน ชง สธ.ออกกฎห้ามดื่ม-ขายเหล้า ในโรงงาน

25 เม.ย. 55 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นางสาวประนอม เชียงอั๋ง ผู้ประสานงานเครือข่ายโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า พร้อมด้วย นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กว่า 30 คน เข้าพบ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ผลักดันร่างกฎหมายห้ามขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ... และห้ามขาย ห้ามดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ถนน และทางสาธารณะ โดยขอให้เร่งนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แห่งชาติ และมีผลบังคับใช้ทันที
      
นางสาวประนอม กล่าวว่า จากผลสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายโรงงานฯ ระหว่างวันที่ 16-20 ก.พ.2555 ในประเด็นผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความคิดเห็นต่อมาตรการห้ามขาย หรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานจากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย แบ่งเป็น ลูกจ้าง 900 ราย และนายจ้าง 48 ราย ทั้งหมด 30 โรงงาน จากพื้นที่จังหวัดลำพูน นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม พบว่า ลูกจ้าง 95.78% เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ขณะที่ นายจ้างเห็นด้วย 100% โดยเชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการดื่มเหล้าของคนงานในโรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-4-2555)

ปัญหาคนงานบริดจสโตน อมตะนคร ยังไม่ยุติ หลังสหภาพแจ้งความบริษัทปิดงานโดยมิชอบ

25 เม.ย. 55 - สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ของบริษัทบริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตยางรถยนต์ส่งออกทั่วโลก ยี่ห้อบริดจสโตน ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 7 ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ได้สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน ตั้งแต่ในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายผลิตใหม่ และประกาศให้เงินเดือนสูงกว่าเดิม ในราคาฝึกงาน 300 บาทต่อวัน และหากรับเข้าทำงานใหม่จะได้วันละ 335 บาท ไม่รวมสวัสดิการ ทำให้พนักงานเดิมกว่า 1,400 คน ต้องตกงาน
 
โดยสาเหตุของการเลิกจ้างนั้น มาจากการที่สหภาพแรงงานของบริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนพนักงานทั้งหมดยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ผู้บริหาร ยกเลิกระบบการคิดเงินเดือนในอัตราค่าจ้างใหม่ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานได้นำระบบกระบอกเงินเดือนแบบโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ กล่าวคือ เป็นระบบเงินเดือนที่อายุงานยิ่งนาน เงินเดือนยิ่งน้อย และแรงงานที่ทำอยู่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่เคยได้
      
ทางสหภาพจึงเรียกร้องขอให้บริษัทฯ กลับไปใช้ระบบกระบอกเงินเดือนแบบเดิม คือให้เงินค่าจ้างตามอายุงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน
      
เมื่อทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือเรียกร้อง และขอให้ไปเจรจากันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ก็ได้มีการเจรจากันถึง 4 ครั้ง กระทั่งในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้บริหารได้สั่งปิดประตูโรงงาน พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ทำให้บรรดาพนักงานต้องไปรวมกันที่หน้าโรงงาน แต่โรงงานกลับส่ง SMS ชักชวนพนักงานให้กลับไปทำงานตามเดิม จนทำให้มีพนักงานบางส่วนยินยอมกลับเข้าทำงาน
 
ทั้งนี้คนงานได้ทำการประท้วงหน้าโรงงาน รวมถึงได้ยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และทางสหภาพฯ ยังได้ได้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรพานทอง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงานในข้อหา ปิดโรงงานโดยไม่ชอบโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งยังลอยแพพนักงาน
 
ล่าสุดในวันที่ 23 เม.ย.  พนักงานที่ได้เดินทางมาหลายร้อยคนเพื่อเป็นกำลังให้ตัวแทนเข้าแจ้งความ ดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงงานนั้น ได้ร่วมกันกดดันให้เจ้าพนักงานออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการโรงงาน มารับข้อกล่าวหาที่ปิดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
(ประชาไท, 25-4-2555)

นัดฟังคำพิพากษาคนงานถูกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ 25 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 24-25 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายสงคราม ฉิมเฉิด พนักงานจัดส่งแก๊ส สาขาสมุทรสาคร บริษัท ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ซึ่งเป็นอนุกรรมการสหภาพฯ ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

โดยคดีดังกล่าว เป็นคดีที่นางปาริชาติ พลพละ ผู้จัดการสาขาของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ฟ้องนายสงคราม ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3,4 รวมถึงข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดย ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เนื่องจากมีการส่งอีเมลหนังสือร้องเรียน ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาทไปยังองค์กรต่างๆ ซึ่งที่สุด หลังการเจรจาไกล่เกลี่ย นายจ้างได้ยอมความโดยถอนฟ้องไป แต่ยังคงเหลือข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่อาจยอมความได้ ทำให้ต้องต่อสู้คดีต่อไป

โดยในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์นำสืบพยาน 6 ปากได้แก่ นางปาริชาต พนักงานบริษัท 3 คน ผู้แปลเอกสาร 1 คน และพนักงานสอบสวน 1 คน ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำสืบเพียงจำเลย ทั้งนี้ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 25 พ.ค.55 เวลา 10.00น.

ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลย กล่าวว่า ในประเด็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยจะก่อความเสียหายต่อผู้ อื่นหรือประชาชน ได้นำสืบโดยชี้ว่า ไม่น่าจะผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ เพราะฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลในอีเมลดังกล่าวเป็นเท็จ โดยแม้จะมีพยานคนกลางในที่เกิดเหตุ 1 คนแต่ฝ่ายโจทก์กลับไม่มีการนำสืบ ส่วนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้นำสืบว่า เมื่อสงครามยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาแล้วก็ส่งแฟกซ์ให้กรรมการ สหภาพแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งสงครามไม่รู้ว่าจะมีการเผยแพร่ไหม เพราะเขาเองไม่ได้ใช้อีเมล ขณะที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ ก็ไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจนว่าอีเมลที่ได้รับนั้นใครเป็นผู้ส่ง เพียงแค่คิดว่าเมื่อสงครามเป็นเจ้าของจดหมายก็น่าจะเป็นผู้ส่งหรือให้ใครส่ง ให้

ทั้งนี้ รายงานประจำปีของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชื่อ "เสรีภาพและวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไทย ปี พ.ศ. 2554" ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 6 เม.ย.55 ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายหมิ่นประมาท หากแต่มีโทษจำคุกสูงกว่า และยอมความไม่ได้ เพราะถือเป็นความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน โดยในปี 2554 เป็นปีแรกที่มีบันทึกว่า มีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มาใช้ฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับประชาชน ในทางที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมี 3 กรณีด้วยกันที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะได้แก่ คดีของนายสงคราม ฉิมเฉิด คดีของนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ซึ่งถูกฟ้องโดยแพทย์ว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ อันได้แก่ข้อมูลคนไข้ที่เสียชีวิตและภาพความผิดพลาดในการรักษา ซึ่งนางปรียนันท์ใช้ในการรณรงค์เพื่อผลักดันร่างกฎหมาย และกรณี น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์แจ้งความต่อทวิตเตอร์แอคเคาท์ @NotMallikaBoon ที่ล้อเลียนทวิตเตอร์ @MallikaBoon ของเธอ ว่าเป็นข้อมูลเท็จซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดและเสื่อมเสียชื่อเสียง

โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางการรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ในอนาคต เนื่องจากประชาชนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารมากขึ้น เรื่อยๆ ทั้งกิจกรรมการรณรงค์ทางการเมือง รณรงค์ด้านสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิผู้ป่วย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

(ประชาไท, 25-4-2555)

เผดิมชัยอ้างขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั่ว ปท.ไม่ได้ เหตุน้ำท่วม นายจ้างขอเลื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาฯ วันนี้ (26 เม.ย.) นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์กระทู้ถามสดเรื่องการดำเนินการนโยบายของรัฐบาล เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ขอถามนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ว่า การประกาศนโยบายดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทันที โดยขณะนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีกิจการปิดตัวลงนับแสนราย เช่นเดียวกับคนตกงานจำนวนมาก เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น ต้องการทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายเยียวยาในส่วนนี้อย่างไร
      
นโยบายที่ออกมาเป็นเพียงการหวังประโยชน์ทางการเมืองระหว่างการหาเสียง เท่านั้น เพราะไม่สามารถทำได้ทันทีภายใน 1 ปีตามที่ประกาศไว้ หลังจากมีเพียง 7 จังหวัดนำร่องที่ได้รับค่าแรงงานอัตราใหม่ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70 จังหวัดต้องชะลอไปก่อน จึงอยากสอบถามว่ารัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบกับการไม่สามารถทำตามที่ประกาศ ต่อสาธารณชนไว้หรือไม่
      
นายเผดิมชัยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาทไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐบาลโดยตรง เพราะต้องมาจากการพิจารณาร่วมกันของไตรภาคี ประกอบด้วยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง รัฐบาล และลูกจ้าง ซึ่งไตรภาคีได้มีฉันทานุมัติร่วมกัน ทั้งนี้ ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงงานย่อมเกิดผลกระทบแต่รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเอาไว้ คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านการลดอัตราการเก็บภาษีจาก 30% เหลือ 23% แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าแรงวันที่ 1 ม.ค. 2555 พร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้ แต่รัฐบาลก็มีเหตุผลเพราะไม่รู้ว่าจะมีมหาอุทกภัยเกิดขึ้น ขณะนั้นนายจ้างขอความเห็นใจว่าขอให้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 เม.ย. 2556 แทน แต่ยืนยันในวันที่ 1 ม.ค.2556 จะขึ้นค่าแรงทั้งประเทศแน่นอน ดังนั้น ยืนยันได้ว่านโยบายนี้รัฐบาลได้เริ่มภายใน 1 ปีตามเจตนารมณ์

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-4-2555)

จี้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน

26 เม.ย.55 - เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของนักการเมือง จำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ โดยระบุว่า แม้จะมีขยายการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างฯ ที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน แต่กลับปรากฏว่า ยังไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่อ้างแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภานำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง เพื่อแสดงความจริงใจและแสดงความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับ การคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

ขอเรียกร้องความจริงใจรัฐสภาจากการพิจารณากฎหมายของภาคประชาชน
อย่าเป็นเพียง "ข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์"

สืบเนื่องจากการขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมาจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุม และอ้างถึงจดหมายลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เรื่องขอให้ประธานรัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติที่ขยายออกไปโดยยังไม่มีกำหนดปิด
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,624 รายชื่อของผู้ใช้แรงงาน  และเครือข่ายแรงงานได้เดินรณรงค์ไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้มีการหยิบยก ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของฝ่ายแรงงานเข้าสู่การพิจารณามาแล้ว 3 ครั้ง  เมื่อวันที่ 8, 22 มีนาคม และวันที่ 5 เมษายน นั้น  ถือว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการรับรู้ความต้องการของฝ่ายแรงงานแล้ว  เพราะผู้มารับเรื่องมีทั้งรองประธานสภาฯ  ประธานวิปรัฐบาล  ประธานวิปฝ่ายค้าน  กรรมาธิการการแรงงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  รวมทั้งหัวหน้าและ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน   และสื่อมวลชนก็ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันดังกล่าวจวบจนปัจจุบันกลับพบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ในการประชุมครั้งใด แม้ว่าจะมีการบรรจุวาระการประชุมทุกครั้ง และทางรัฐสภาได้ขยายเวลาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มี กำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็น จำนวนมาก โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อันประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่ง ประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มีความเห็นร่วมกันว่า

(1) จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อ รัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทุกคนที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังถือว่าเป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญ

(2) การที่รัฐสภาอ้างเรื่องการมีกฎหมายในส่วนของภาคประชาชนที่ต้องพิจารณาจำนวน มาก ทำให้มีการขยายการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปไม่มีกำหนด แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา กลับพบว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่ ได้อ้างแต่อย่างใด นี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า นักการเมืองได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมืองของ ตนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางรัฐสภาจะต้องแสดงความจริงใจและแสดง ความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ใน กระบวนการทางนิติบัญญัติ จึงขอเรียกร้องให้นำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง

(ประชาไท, 26-4-2555)

ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 ชี้ค่าจ้าง 300 บาทไม่ช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นเรื่องชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทโดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,180 คน พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 79.1 ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันแล้ว ขณะที่ร้อยละ 20.9 ยังไม่ได้รับ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ากิจการยังไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างให้ เมื่อสอบถามผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่าชีวิตการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 82.4 ระบุว่ามีชีวิตการทำงานเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 15.4 ระบุว่าต้องทำงานหนักขึ้น มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่ระบุว่าทำงานน้อยลง

ผู้ใช้แรงงานเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.9 ไม่เชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะทำให้กิจการที่ทำงานอยู่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนหรือเลิกกิจการ ตรงกันข้ามร้อยละ 23.0 เชื่อว่าจะทำให้กิจการมีกำไรจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 26.9 เห็นว่าจะกระทบทำให้กำไรลดลงเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 1.4 เห็นว่าขาดทุน และร้อยละ 0.8 เห็นว่าจะเลิกกิจการ

สำหรับความเห็นต่อค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลปรับขึ้น ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 เห็นว่าไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ในจำนวนนี้ร้อยละ 36.5 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะยังเหมือนเดิม และร้อยละ 2.8 เห็นว่าจะแย่ลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าที่เพิ่มทำให้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาทอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนร้อยละ 60.7 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น และเมื่อถามต่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ ร้อยละ 54.9 เห็นว่าจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ร้อยละ 45.1 เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ร้อยละ 93.2 ระบุเห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 6.8 ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ พบว่าร้อยละ 51.4 ไม่กังวลว่าแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ขณะที่ร้อยละ 31.1 กังวลมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 17.5 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดอันดับแรก คือ สวัสดิการร้อยละ 32.3 รองลงมาดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานร้อยละ 29.7 และดูแลคุณภาพชีวิตร้อยละ 14.9.

(สำนักข่าวไทย, 27-4-2555)

แรงงานไทย-ต่างด้าวแห่ย้ายฐาน ไหลเข้า 7 จังหวัดนำร่องค่าแรง 300 บาท

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ ส.อ.ท.ได้ติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง พบว่ามีสัญญาณชัดเจนว่าลูกจ้างทั้งคนไทยและคนต่างด้าวเริ่มเคลื่อนย้ายเข้า มาทำงานใน 7 จังหวัดที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นที่ ส.อ.ท.ได้รับรายงาน อาทิ ชัยภูมิ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชุมพร สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ สาเหตุมาจากลูกจ้างเองต้องการค่าจ้างสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง 6 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดภูเก็ตยังขาดแคลนแรงงานสูง

ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแบบเจาะลึก และเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่จะเสนอให้นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.พิจารณา

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.อ.ท.สำรวจผลกระทบหลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยสุ่มสำรวจภาคเหนือพบผู้ประกอบการ 119 รายได้รับผลกระทบรุนแรง 58% ผลกระทบปานกลาง 36% และผลกระทบน้อย 6%

แหล่งข่าวจากสำนักงานแรงงาน จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ยังไม่พบรายงานตัวเลขที่เป็นทางการปัญหาแรงงานย้ายถิ่น หลังเดือน เม.ย.ไปแล้วน่าจะได้รับข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เพราะทางกระทรวงแรงงานสั่งการให้ตั้งวอร์รูมสังเกตการณ์ทุกปัญหาทึ่เป็นผล กระทบจากการปรับค่าจ้างอยู่แล้ว

นายศักดิ์สกล จินดาสวัสดิ์ แรงงานจังหวัดสมุทรสงครามกล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานไว้บางส่วน ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ในจ.สมุทรสงคราม ทำให้ค่าแรงเดิม 172 บาท/วัน เพิ่มเป็น 240 บาท/วัน ก็ทำให้ลูกจ้างบางส่วนยอมรับได้

นาย สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาก เพราะต้นทุนสูงขึ้นแต่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ถ้าแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมผลกระทบอาจน้อยกว่านี้ นอกจากนี้การขึ้นค่าแรงฉับพลันทำให้ผู้ประกอบการในหลายจังหวัด อย่างสุพรรณบุรีขาดแคลนแรงงานหนัก เนื่องจากแรงงานบางส่วนย้ายถิ่นฐานไปทำงานใน 7 จังหวัดที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท สิ่งที่คาดหวังคือแรงงานจะต้องมีคุณภาพฝีมือมากกว่านี้ และการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ใน 70 จังหวัดที่เหลือน่าจะเลื่อนออกไป

(ประชาชาติธุรกิจ, 27-4-2555)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net