องค์กรแรงงานเรียกร้องปล่อย 'สมยศ' ฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 
30 เม.ย. 55 - โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและเครือข่ายออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัว 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' เพื่อฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข ทันที
เพื่อฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ในวาระโอกาสวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) 1 พฤษภาคม 2555  โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) องค์กรสาธารณะประโยชน์ รณรงค์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ใช้ พร้อมองค์กรสนับสนุนแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้   ขอเรียกร้องให้รัฐบาลที่นำโดยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมกับนักโทษการเมืองคดีเดียวกันทั้งหมด และเร่งฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและประชาธิปไตยในประเทศ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการรัฐประหารปี 2549 ในการคุกคามสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงของประชาชน
 
ก่อนอื่นเราขอเตือนความจำของท่านว่า คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นผู้ต่อต้านการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยสันติวิธี  และยังเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงานที่มีบทบาทอย่างมากในการรณรงค์สิทธิเสรีภาพของประชาชนและประชาธิปไตยที่ถูกลิดรอน และทำสื่อวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่ปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนที่เห็นต่างจากเผด็จการรัฐประหาร   ทว่าเขากลับถูกจับกุมคุมขังเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ด้วยข้อหาข้างต้นและถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัวหลายครั้ง  ซึ่งเป็นสิทธิที่ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและปฎิญญาสากลของสหประชาชาติ  ขณะนี้ศาลอาญา รัชดากำลังดำเนินการไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยในระหว่างวันที่ 18-20, 24-26 เมษายน 2555 และวันที่ 1-4 พฤษภาคม 2555 
 
นอกจากนี้คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังเป็นที่รู้จักในขบวนการแรงงานไทย โดยเริ่มต้นทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน จากนั้นได้เข้าสู่ขบวนการแรงงานโดยมีผลงานการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม เช่น การเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานอ้อมน้อย เป็นที่ปรึกษาให้สหภาพแรงงานไทยเบลเยี่ยมและคนงานโรงงานทอผ้าพาร์การ์เม้นท์ ในการต่อสู้เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำและการเลิกจ้างคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของคนงานย่านรังสิต ปทุมธานี การช่วยเหลือคนงานเนื่องจากไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ร่วมกับองค์กรแรงงานไทยและต่างประเทศ ก่อตั้งกลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ลูกจ้างหญิงได้รับสิทธิการลาคลอด 
 
นอกจากนี้เขายังได้ก่อตั้งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและอบรมคนงานด้านสิทธิการจ้างงานและฝึกอบรมคนงานใน สายการผลิตต่างๆ เช่น โรงงานเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รถยนต์และจักรยานยนต์ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 จนถึง 2548 ต่อจากนั้นสมยศหันเหความสนใจมาสู่การทำหนังสือและเป็นคอลัมนิสต์  ทั้งหมดนี้คือการทำงานเพื่อสร้างมาตรฐานสิทธิแรงงาน และร่วมสร้างความเป็นพี่น้องระหว่างแรงงานในประเทศและต่างประเทศ
 
ด้วยความตระหนักถึงความเป็นพี่น้องและเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ทำให้องค์กรแรงงานอื่นๆ ร่วมกันแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพในไทยและเรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข รวมถึงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ เช่น สภาแรงงานแห่งรัฐวิคตอเรีย (Victorian Trades Hall Council) ประเทศออสเตรเลียออกจดหมายเรียกร้องท่านและเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เกี่ยวข้องให้ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยส่งผ่านสถานทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2555 
 
เราขอย้ำหลักการและเหตุผลของการเรียกร้องท่านให้ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคนทันที    5 ประการ 
 
1. นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยต้องได้รับการปกป้องจากเผด็จการทั้งปวง ตามปฎิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุว่า มนุษย์ไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกบุคคลหรือในนามกลุ่มองค์การทางสังคม ต่างได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมให้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักการแห่งเสรีภาพ ที่ผ่านการลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ซึ่งปฏิญญานี้ยอมรับถึงสิทธิในการดำเนินกิจกรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิในการรวมตัวและเรียกร้อง  เพื่อให้รัฐบาลสร้างหลักประกันว่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิสามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยไม่ต้องกลัวการถูกปราบปราม
 
2. เสรีภาพเป็นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตย และสร้างอำนาจให้แก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ จะต้องยึดถือไว้เป็นหลักประกันสำหรับปกป้องสถาบันประชาธิปไตยและถ่วงดุลอำนาจกับเผด็จการในอนาคต
 
3. การก่อรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะเป็นรัฐบาลที่ก่อปัญหามากมายและถูกประณามว่าทุจริตคอรัปชั่น จนทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง แต่การใช้กำลังทหารและอาวุธออกมายึดอำนาจรัฐ ไม่สามารถยอมรับได้ตามหลักการประชาธิปไตยสากล เพราะเป็นการทำลาย/ลิดรอนอำนาจของประชาชนอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังใช้วิธีการรุนแรงหลากหลายรูปแบบ เช่น ข่มขู่ ปราบปราม กักขัง หน่วงเหนี่ยว สลายการชุมนุม มีการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น เช่น กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 กฎหมายรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 และมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับอื่นๆ มากขึ้น เช่น กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 กฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น  ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่  แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มเติม และก่อให้เกิดความร้าวฉานในสังคมระหว่างสองขั้วคือ ผู้ก่อ/สนับสนุนการทำรัฐประหารกับผู้ที่คัดค้านการทำรัฐประหาร  รวมถึงการเสื่อมศรัทธาและการตั้งคำถามต่อองค์กร/สถาบันสำคัญ เช่น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ระบบยุติธรรมไทย  เพราะไม่สามารถเป็นเครื่องมือระงับความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
 
4. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เปิดช่องให้มีการแจ้งความกล่าวหาโดยใครก็ได้  ซึ่งคลุมไปถึงให้มีการตีความเกินจริง  เหมารวมว่าประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ สร้างอคติ คับแคบ สุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้ง ทำร้ายผู้ที่เห็นต่างจากรัฐโดยง่าย  ทั้งก่อให้เกิดการไต่สวนพิจารณาคดีที่เอนเอียง ไร้มาตรฐาน ลงโทษอย่างหนักเทียบเท่าหรือยิ่งกว่าอาชญากรฆ่าคน  และยังกักขังนักโทษการเมืองให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจ ใส่ห่วง ล่ามโซ่ตรวนตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผู้ต้องหากลายเป็นอมนุษย์ไปในที่สุด ซ้ำยังก่อให้ผลทางจิตวิทยา สร้างความหวาดกลัวให้แก่สาธารณชน
 
5. การต้องยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศจะเป็นการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย  และทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติต่อหน้ากฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
 
แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นจุดยืนและเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  หากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทางการเมือง การจัดตั้ง รวมกลุ่มตามระบอบประชาธิปไตยถูกเพิกเฉย ละเลย ย่อมเท่ากับว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสิทธิแรงงาน ประชาชน จะไม่ได้รับการปกป้องใดๆ   เราจะยังคงยืนหยัดรณรงค์ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุขและนักโทษคดีหมิ่นฯ ต่อไปเพื่อให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าประชาชนไทยยังขาดเสรีภาพและความยุติธรรม
 
ด้วยความศรัทธาต่อเสรีภาพของประชาชน
 
รายนามองค์กรที่สนับสนุนแถลงการณ์ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
1. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์เครื่องหนังประเทศไทย
2. สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย (ประกอบด้วยสมาชิก 145 สหภาพแรงงาน)
3. สหภาพแรงงานกิจการปั่น-ทอแห่งประเทศไทย (พิพัฒนสัมพันธ์)
4. สหภาพแรงงานมอลลิเก้เฮลท์แคร์
5. กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า
6. สหภาพแรงงานสหกิจวิศาล
7. สหภาพแรงงาน พี.ไอ.เอ็ม
8. องค์กรเลี้ยวซ้าย (องค์กรสังคมนิยม)
9. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท