Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในภูมิภาค ร่วมแถลงข่าวหลังการเลื่อนการพิพากษา "จีรนุช" ระบุ พ.ร.บ. คอมฯ จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อคุ้มครอง "ตัวกลาง" ในโลกไซเบอร์

 30 เม.ย. 55 - เมื่อเวลา 15.00 น. ภายหลังการเลื่อนการตัดสินคดีความผิดในมาตรา 14 และ 15 ตาม พ.ร.บ. คอม ของ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท องค์กรสิทธิและองค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อระหว่างประเทศ อาทิ พันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ได้ร่วมกันแถลงข่าว  ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยชี้ว่า การตัดสินใจของศาล เป็นการหล่อเลี้ยงบรรยากาศของความกลัวให้ยาวนานยิ่งขึ้นในวงการอินเทอร์เน็ตไทย พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อปกป้องสิทธิของ "ตัวกลาง" ในโลกอินเทอร์เน็ต

photo (2)

คดีตัวกลางที่เป็น "หมุดหมาย" ในวงการอินเทอร์เน็ตไทย

ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ ตัวแทนจากองค์กรรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Media Defense กล่าวว่า คดีที่เป็นหมุดหมายนี้ เมื่อถูกตัดสินแล้ว จะมีผลอันน่ากลัว (chilling effects) ต่อแวดวงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย เนื่องจากหากตัดสินว่าผิดจริง จะหมายถึงว่า ต่อไปนี้ เพียงการปรากฏเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในเว็บไซต์หนึ่งๆ ไม่ว่าจะด้วยระยะเวลานานเพียงใด ก็ถือว่าผู้ให้บริการเว็บไซต์นั้นมีเจตนาทำความผิดกฎหมายตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แล้ว 

"ถ้าผลการตัดสินออกมาว่าผิดจริง ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ต้องเฝ้าเว็บไซต์ของตัวเองวินาทีต่อวินาที ไม่ใช่ต่อชั่วโมง ไม่ว่าข้อความนั้นจะขึ้นมากี่วินาทีหรือกี่นาที คุณก็จำเป็นต้องลบมันออกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" เขากล่าว 

ด้านตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตั้งข้อสังเกตว่า การตีความกฎหมายตัวนี้ของศาลแตกต่างจากเจตนารมณ์เดิมที่กฎหมายถูกร่าง โดยเฉพาะมาตรา 14 ใน พ.ร.บ. คอมฯ ที่เดิมกำหนดไว้เพื่อเอาผิดกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ในเชิงเทคนิค เช่น รหัสข้อมูลต่างๆ ที่อาจถูกนำไปใช้เพื่อโจมตีหน่วยงานรัฐหรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของโครงการกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) ระบุว่า ในระยะสามปีแรกของการใช้กฎหมายดังกล่าว ส่วนใหญ่กลับถูกใช้ส่วนใหญ่ในคดีหมิ่นประมาทแทบทั้งสิ้น 

อาทิตย์ชี้ว่า นอกจากการใช้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เนื่องจากโทษจำคุกสูงสุดของพ.ร.บ. คอมฯ ที่มี 5 ปี ดูจะผิดสัดส่วน เมื่อเทียบกับกฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาที่มีโทษสูงสุด 1-2 ปีแล้ว การทำให้กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะยอมความไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความลักลั่นในการใช้ ประกอบกับกระบวนการจับกุมที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ยิ่งชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขตีความและแก้ไขกฎหมายตัวนี้ใหม่มีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 

การเลื่อนพิพากษา ยิ่งทำให้ "ความกลัว" ปกคลุมในสังคม

สุนัย ผาสุก นักวิจัยประเทศไทย จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่า ในระยะหนึ่งเดือนที่ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษานี้ หวังว่าศาลไทยจะนำเอาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติมาพิจารณา ซึ่งเสนอไม่ให้รัฐไทยเอาผิดกับตัวกลางในอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นการเซ็นเซอร์ขึ้นในสังคม

"การดำเนินคดีของตัวกลางอย่างจีรนุช ไม่สมควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าการตัดสินคดีจะถูกเลื่อนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็คือความพยายามของทางการไทยที่จะตีความการใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดกับตัวกลางสำหรับความคิดเห็นอื่นที่ถูกโพสต์ออนไลน์ และผลที่ตามมาก็คือ มันสร้างบรรยากาศความกลัวในหมู่ผู้ดูแลเว็บไซต์และผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ที่จำเป็นต้องเซนเซอร์เนื้อหาต่างๆ ที่ผู้อื่นเป็นผู้โพสต์ เพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีแบบเดียวกัน" สุนัยกล่าว

"การเลื่อนคดีคำพิพากษาของจีรนุช จึงเป็นการทำให้บรรยากาศความไม่แน่นอนและความกลัวที่ปกคลุมยืดเยื้อมากยิ่งขึ้น" 

ด้านจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทและจำเลยในคดีพ.ร.บ. คอมฯ กล่าวว่า ถึงแม้เธอจะหวังว่าผลการพิพากษาจะออกมาดี แต่ก็ยอมรับว่ายังมีความไม่มั่นใจอยู่บ้าง เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่ และการตีความก็ยังไม่แน่นอน

จีรนุชตอบคำถามของผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้วยว่า ถึงแม้การรณรงค์และแรงสนับสนุนจากนานาชาติจะเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นการช่วยประกันว่าการดำเนินคดีเป็นไปอย่างโปร่งใส แต่ในความคิดของทางการไทย อาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างชาติ และเป็นปัญหาที่อยู่ภายใต้ของอธิปไตยของไทย จึงอาจมีผลต่อคดีไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่า ยังมีกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกมาก ที่ยังต้องการความสนใจจากสาธารณะ และเสริมว่า การรณรงค์ไม่ควรมุ่งเน้นที่ตัวบุคคลมากเกินไป แต่ควรจะให้ความสำคัญกับประเด็นของปัญหามากกว่า  

ทั้งนี้ ตามกำหนดเดิม ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีของจีรนุชวันที่ 30 เม.ย. 55 แต่เมื่อเวลาราว 9.47 น. ของวันนี้ ผู้พิพากษาได้ขึ้นบัลลังก์เพื่อแจ้งว่า เนื่องจากเอกสารในคดีนี้มีจำนวนมาก จึงขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.55

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net