บทความแสงสำนึก: การลุกขึ้นประท้วงของกระฎุมพีเงินเดือน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“ความรุนแรงที่ระเบิดขึ้น
ไม่ใช่เพราะมันมี “ความบังเอิญ” (contingency) มากเกินไปในสังคม

แต่ระเบิดขึ้นเมื่อมีความพยายามจะทำลายความบังเอิญนั้นลงต่างหาก”

 

ในช่วงวิกฤตนั้น ผู้ที่ต้อง “รัดเข็มขัด” ก่อนใคร
ก็คือพวกที่อยู่ในระดับล่างของกระฎุมพีเงินเดือน

การประท้วงทางการเมือง
เป็นหนทางเดียวในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ

และถึงแม้ว่าการประท้วงของพวกเขานั้น
โดยนามแล้วจะเป็นการต่อสู้กับตลาดอันเลวร้าย

แต่อันที่จริง
พวกเขาประท้วงเรื่องพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบอภิสิทธิ์ของตัวเอง
ที่กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว

 

การประท้วงปัจจุบันนี้ ไม่ใช่การประท้วงของชนชั้นกรรมาชีพ

แต่เป็นการต่อสู้ไม่ให้ตนเองกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพต่างหาก

 

0 0 0

บิล เกตส์ กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาได้อย่างไร? ความมั่งคั่งของเขาไม่ได้เกี่ยวกับว่า บริษัทไมโครซอฟท์ผลิตซอฟท์แวร์ที่ดีในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง หรือก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าบริษัท “ขูดรีด” คนงานของตัวเองเก่งกว่าหรอก (อันที่จริงไมโครซอฟท์จ่ายเงินเดือนให้แรงงานทางปัญญาค่อนข้างสูง) คนเป็นล้านซื้อซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟท์ เพราะว่ามันทำให้ตัวเองกลายเป็นสิ่งที่เกือบจะทุกคนต้องใช้ ซึ่งเป็นการผูกขาดในทางปฏิบัติ ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า “ภูมิปัญญาทั่วไป” (general intellect) หมายความถึงองค์รวมความรู้ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์จนถึงฮาวทู  บิล เกตส์ทำให้ภูมิปัญญาทั่วไปนี้กลายเป็นทรัพย์สินของเอกชน และร่ำรวยด้วยการเก็บค่าเช่าที่ตามมา

การแปรภูมิปัญญาทั่วไปให้กลายเป็นของเอกชนเป็นสิ่งที่มาร์กซ์มองไม่เห็นในงานเขียนเกี่ยวกับทุนนิยมของเขา (เหตุผลหลักก็เพราะเขามองข้ามมิติทางสังคมของมัน) แต่สำหรับในปัจจุบัน นี่คือแก่นใจกลางของการต่อสู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องด้วยบทบาทของภูมิปัญญาทั่วไป (ซึ่งเกิดจากการสั่งสมองค์ความรู้และความร่วมมือทางสังคม) ได้เพิ่มขึ้นในยุคทุนนิยมหลังอุตสาหกรรม ดังนั้นความมั่งคั่งจึงสะสมขึ้นจากแรงงานทั้งหมดที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตภูมิปัญญาทั่วไป และ (ดังที่มาร์กซ์เองก็ดูเหมือนจะเห็น) ผลของมันไม่ใช่การสลายตัวลงของทุนนิยม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผลกำไร ที่เปลี่ยนจากการขูดรีดแรงงานไปสู่การขูดรีดค่าลิขสิทธิ์ความรู้แทน

เช่นเดียวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแสวงหาประโยชน์ เป็นแหล่งรายได้จำนวนมหาศาล สิ่งที่ตามมาก็คือการต่อสู้กันอย่างไม่จบสิ้นว่าใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ประชาชนในโลกที่สามหรือบรรษัทข้ามชาติตะวันตก ดูเป็นเรื่องติดตลกที่ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างแรงงาน (ซึ่งสร้างมูลค่าส่วนเกิน) และสินค้าอื่น (ซึ่งการใช้สินค้าคือการบริโภคมูลค่านั้น) มาร์กซ์จัดให้น้ำมันเป็นสินค้า “ทั่วไป” ความพยายามจะเชื่อมโยงความผันผวนของราคาน้ำมัน กับความผันผวนของต้นทุนการผลิตหรือมูลค่าของแรงงานที่ถูกขูดรีด คงเป็นความพยายามที่ไร้ความหมาย เพราะต้นทุนการผลิตถือว่าจิ๊บจ๊อยหากเทียบกับราคาที่เราต้องจ่ายเวลาเติมน้ำมัน ซึ่งเป็นราคาค่าเช่าที่เจ้าของทรัพยากรสามารถเรียกเท่าใดก็ได้ เพราะความจำกัดของอุปทานนั่นเอง

กำลังการผลิตที่สูงขึ้นนำมาซึ่งผลกระทบที่มากขึ้นขององค์ความรู้ ทำให้ “การว่างงาน” เปลี่ยนความหมายไป และนี่คือความสำเร็จของทุนนิยม (ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น ฯลฯ) ที่ทำให้การว่างงานมีจำนวนมากขึ้น และทำให้คนงานไร้ประโยชน์ลงเรื่อยๆ จากสิ่งที่ควรจะเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเขา เช่นการมีงานหนักน้อยลง ได้กลับกลายเป็นโชคร้ายแทน หรือถ้าจะพูดในอีกแบบหนึ่ง โอกาสที่จะถูกขูดรีดในงานประจำบัดนี้ดูจะกลายเป็นสิทธิพิเศษที่น่าปรารถนาไปเสีย ดังที่เฟรดริก เจมสันกล่าวว่าตลาดโลก “ที่ๆครั้งหนึ่งทุกคนเป็นแรงงานการผลิตกำลังสูง ในที่สุดความสามารถในการผลิตนี้ก็ตอบแทนตัวเองด้วยการอัปเปหิแรงงานออกจากระบบการผลิต” ในกระบวนการอันต่อเนื่องของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์นั้น กลุ่มคนว่างงานไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน “กองทัพแรงงานสำรอง” อย่างที่มาร์กซ์ได้จัดประเภทเอาไว้ หากแต่ดังที่เจมสันว่า คนว่างงานนั้น รวมถึง “ประชากรจำนวนมหาศาลทั่วโลกที่ “ตกหล่นจากประวัติศาสตร์” ถูกกีดกัดออกไปจากการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่แบบประเทศโลกที่หนึ่ง และถูกตัดออกไปในฐานะผู้ที่ไร้ประโยชน์ หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ตัวอย่างเช่นในที่ๆเรียกว่า “รัฐที่ล้มเหลว” (อย่างคองโกและโซมาเลีย) หรือเหยื่อของสภาวะความอดอยาก หรือประสบหายนะทางนิเวศวิทยา หรือผู้ที่ถูกกักขังอยู่ในวิธีคิดโบราณจอมปลอมเรื่อง “การเหยียดเชื้อชาติ” หรือผู้รับบริจาคและการช่วยเหลือจากเอ็นจีโอ หรือเป้าโจมตีของสงครามต่อสู้การก่อการร้าย คำจำกัดความของ “การว่างงาน” จึงขยายกว้างออกไปและรวมคนจำนวนมากมายเอาไว้ ตั้งแต่ว่างงานชั่วคราว คนที่อยู่ในชุมชนแออัด (คนเหล่านี้ที่มักถูกมองข้ามจากมาร์กซ์ว่าเป็น lumpen-proletarian) และสุดท้ายรวมไปถึงประชากรและรัฐที่ถูกกันออกจากกระบวนการของทุนนิยมโลก ลองนึกถึงพื้นที่ว่างเปล่าบนแผนที่โบราณเอาก็แล้วกัน

บางคนอาจพูดว่าทุนนิยมรูปแบบใหม่นี้ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆในการปลดปล่อย และนี่เป็นข้อเสนอหลักของงาน Multitude ของไมเคิล ฮาร์ดท์และอันโตนิโอ เนกรี (ผู้ซึ่งพยายามดึงมาร์กซิสต์ไปสุดขั้ว) ที่เชื่อว่าถ้าเราตัดหัวของทุนนิยมออกเสีย เราก็จะได้สังคมนิยม พวกเขามองว่ามาร์กซ์มีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ และมองแรงงานอุตสาหกรรมในลักษณะรวมศูนย์ เป็นอัติโนมัติ และมีการจัดการอย่างเป็นลำดับชั้น มองภูมิปัญญาทั่วไปว่าเป็นอะไรบางอย่างที่ถูกวางแผนมาจากศูนย์กลาง ทั้งสองมองว่าการเกิดขึ้นของ “แรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุ” (immaterial labour) ในปัจจุบันเท่านั้น จึงจะทำให้การปฏิวัติกลายเป็นเรื่อง “เป็นไปได้ในทางภววิสัย” เหล่าแรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุนี้แบ่งเป็นสองพวกคือ แรงงงานทางปัญญา (intellectual labour - ผลิตความคิด ผลิตงานเขียน ออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ) ถึง “แรงงานบริการ” (affective labour – เช่น หมอ พี่เลี้ยงเด็ก หรือแอร์โฮสเตส) ในปัจจุบันนี้ แรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุมีอำนาจนำ แบบเดียวกับในอดีต ที่มาร์กซ์ประกาศว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีอำนาจนำในทุนนิยมของศตวรรษที่ 19  พลังของแรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุนี้ ไม่ใช่มาจากเรื่องจำนวน แต่โดยจากการเล่นบทบาทสำคัญทางสัญลักษณ์ในเชิงโครงสร้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือช่องทางใหม่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สิ่งที่ทุกคนต้องใช้” (common) คือความรู้ที่ทุกคนต้องใช้กันทั่วไป และรูปแบบการสื่อสารร่วมมือใหม่ ผลผลิตของแรงงานเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งของ แต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ ผลผลิตที่ไม่ใช่วัตถุเหล่านี้คือชีวิตการเมือง  เป็นการผลิตชีวิตทางสังคมเลยทีเดียว

ฮาร์ดและเนกรีอธิบายกระบวนการของทุนนิยม “หลังสมัยใหม่” ที่วันนี้มีผู้สนับสนุนเห็นดีเห็นงามด้วยมากมาย ว่าเป็นการเปลี่ยนจากการผลิตเชิงวัตถุ ไปสู่การผลิตเชิงสัญลักษณ์  เปลี่ยนจากตรรกะรวมศูนย์และมีลำดับชั้น ไปสู่การจัดการตัวเองและมีการร่วมมือจากหลายๆศูนย์ – ที่ต่างออกไปคือฮาร์ดท์และเนกรีศรัทธาในมาร์กซ์ พวกเขาพยายามพิสูจน์ว่ามาร์กซ์ถูก และการเกิดขึ้นของภูมิปัญญาทั่วไปนั้น ในระยะยาวจะไปกันไม่ได้กับทุนนิยม แต่ผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมหลังสมัยใหม่กำลังอ้างสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันเลย พวกเขาพยายามเสนอว่าทฤษฎี (และปฏิบัติ) ของมาร์กซิสต์ ยังตกอยู่ในข้อจำกัดของตรรกะลำดับชั้น และการรวมศูนย์อำนาจ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถใช้อธิบายผลกระทบของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารต่อสังคมได้ อันที่จริงมีเหตุผลเชิงประจักษ์ต่อข้อโจมตีนี้ด้วย นั่นคือ สิ่งที่ทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์พังครืนลง ก็คือการที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับตรรกะทางสังคมแบบใหม่ ที่วางอยู่บนฐานของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารได้ กลับกันพวกเขาไปมุ่งนำการปฏิวัติ ซึ่งก็เป็นแผนการรวมศูนย์ขนาดใหญ่ของรัฐอีกอันหนึ่งเท่านั้น ความจริงที่ย้อนแย้งคือ สิ่งที่ฮาร์ดท์และเนกรีเฉลิมฉลองในฐานะโอกาสครั้งสำคัญในการเอาชนะทุนนิยมนั้น ในขณะเดียวกันก็ถูกเฉลิมฉลองโดยเหล่าผู้สนับสนุนของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ว่าโลกทุนนิยมแบบ “ไร้ความขัดแย้ง” ได้เกิดขึ้นแล้ว

ข้อวิเคราะห์ของฮาร์ดท์และเนกรีมีจุดอ่อนบางอย่าง ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจว่าทุนนิยมนั้น ได้เหลือรอดสิ่งที่ควรจะเป็น (ในคำดั้งเดิมของมาร์กซิสต์) “การจัดการการผลิตแบบใหม่” (a new organisation of production) ที่ทำให้ทุนนิยมเสื่อมลงได้อย่างไร  พวกเขาประเมินความสามารถทุนนิยมปัจจุบันต่ำเกินไป เพราะในวันนี้ ทุนนิยมประสบความสำเร็จในการแปรภูมิปัญญาทั่วไปให้กลายเป็นทรัพย์สินของเอกชน (อย่างน้อยในระยะสั้น) ทำให้แรงงานเองมีความจำเป็นน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นว่าพวกเขาไม่แค่ว่างงานชั่วคราวเท่านั้น แต่ว่างงานในเชิงโครงสร้างเลยทีเดียว

ถ้าทุนนิยมแบบเก่าจะต้องมีนายทุน เป็นผู้ลงทุน (ด้วยเงินตัวเองหรือยืมมา) ในการผลิตที่เขาจัดการ ดำเนินการและขูดรีดเอากำไรด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ ทุนนิยมแบบใหม่นี้ไม่ต้องมีนายทุนที่เป็นเจ้าของบริษัท แต่มีผู้บริหารมืออาชีพ (หรือบอร์ดบริหารที่นำโดยซีอีโอ) ซึ่งบริหารบริษัทที่ธนาคารเป็นเจ้าของ (ธนาคารเองก็บริหารโดยผู้จัดการ ซึ่งก็ไม่ใช่เจ้าของอีกเหมือนกัน) หรือนักลงทุนรายใหญ่อื่นๆ ในทุนนิยมแบบใหม่นี้ “กระฎุมพี” ในความหมายแบบเก่าได้เปลี่ยนไป กระฎุมพีกลายเป็นฝ่ายบริหารที่มีเงินเดือน ได้ค่าจ้างและร่วมเป็นเจ้าของด้วย ได้รับหุ้นเป็นผลตอบแทน (เหมือนเป็น “โบนัส” จาก “ความสำเร็จ”)

กระฎุมพีใหม่ยังขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินอยู่ แต่คราวนี้ซ่อนเร้นมาในรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า “ค่าจ้างส่วนเกิน” (surplus wage) พวกเขาได้รับเงินเดือนมากกว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ของชนชั้นกรรมาชีพอยู่บ้าง (ซึ่งเป็นมายาคติที่อ้างกันบ่อยครั้ง ตัวอย่างจริงๆในเศรษฐกิจโลกวันนี้ก็คงจะเป็นค่าจ้างของคนงานที่ต้องทำงานหนัก ในกิจการร้านขนาดเล็กและกลางที่จีนหรืออินโดนีเซียเท่านั้น) และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ฐานะของพวกเขาต่างจากกรรมาชีพทั่วไป เพราะฉะนั้น “กระฎุมพี” ในความหมายคลาสสิกค่อยๆหายไป นายทุนใหม่ปรากฏขึ้นมาในฐานะส่วนหนึ่งของแรงงานมีเงินเดือน ในฐานะผู้จัดการ ที่มีคุณสมบัติควรจะได้เงินมากกว่า เพราะ “ความสามารถในการแข่งขัน” ของพวกเขา (นี่คือทำไม “การประเมินด้วยหลักวิทยาศาสตร์อันจอมปลอม” จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะมันให้ความชอบธรรมแก่ความเหลื่อมล้ำนี้) คนที่ได้รับค่าจ้างส่วนเกินไม่ได้มีเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ หมอ ทนาย นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนและศิลปิน ค่าจ้างส่วนเกินมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือเงินมากขึ้น (สำหรับผู้จัดการ เป็นต้น) แต่อีกด้านหนึ่งก็คืองานที่น้อยลง และเวลาว่างมากขึ้น (สำหรับปัญญาชนบางคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ) 

เกณฑ์ประเมินที่ใช้ในการพิจารณาว่า แรงงานคนไหนจะได้ค่าจ้างส่วนเกินนั้น เป็นกลไกอันพลการของอำนาจและอุดมการณ์ และไม่ได้มีจุดเชื่อมสำคัญใดๆถึงประสิทธิภาพการทำงานที่แท้จริงเลยแม้แต่น้อย ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเหตุผลทางการเมือง นั่นคือการรักษา “ชนชั้นกลาง” เพื่อดำรงเสถียรภาพของสังคม สภาวะพลการของช่วงชั้นทางสังคมไม่ใช่ความผิดพลาดแต่เป็นความจำเป็น ความพลการของเกณฑ์การประเมินนั้นก็เหมือนกับความพลการของความสำเร็จทางการตลาด เพราะฉะนั้นความรุนแรงที่ระเบิดขึ้นไม่ใช่เพราะมันมี “ความบังเอิญ” (contingency) มากเกินไปในสังคม แต่ระเบิดขึ้นเมื่อมีความพยายามจะทำลายความบังเอิญนั้นลงต่างหาก ในงานเรื่อง La Marque du sacre 

[2] นั้นชอง ปิแอร์ ดูปุย อธิบายเรื่อง “ช่วงชั้น” ว่าเป็นหนึ่งในสี่ขั้นตอน (“เครื่องมือทางสัญลักษณ์” – “dispositifs symboliques”) ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ที่เหนือกว่ากับผู้ที่ต่ำกว่ากลับกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขั้นตอนเหล่านั้นคือ 1) ช่วงชั้น (ระบบระเบียบจากภายนอกที่ทำให้เราสามารถมีประสบการณ์ของชนชั้นล่างอย่างเป็นอิสระจากคุณค่าที่เรามีแต่กำเนิด 2) การทำให้ความจริงปรากฏ (demystification – ขั้นตอนทางอุดมการณ์ที่จะแสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่มีคุณธรรม (meritocracy) แต่เป็นผลผลิตของการต่อสู้แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ทำให้ฉันสามารถจะหลีกหนีความเจ็บปวดว่า ชีวิตที่ดีกว่าของคนอื่นคือผลจากคุณธรรมและความสามารถของเขา  3) ความบังเอิญ (contingency - เป็นกลไกแบบเดียวกัน ที่ทำให้เราเข้าใจว่า ตำแหน่งแห่งที่ของเราในสังคมก็เหมือนกับการเล่นหวย คนที่แทงถูกคือคนที่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรงและร่ำรวย และ 4) ความซับซ้อน (complexity – พลังที่ควบคุมไม่ได้ส่งผลอันคาดเดาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น “มือที่มองไม่เห็น” ของตลาดอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของเราและความสำเร็จของเพื่อนบ้านก็ได้ ถึงแม้ว่าเราจะทำงานหนักกว่า และฉลาดกว่ามากก็ตาม) แม้ว่าจะเห็นได้ชัดเจน แต่ขั้นตอนทั้งสี่เหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกับช่วงชั้นทางสังคม แต่มันทำให้ช่วงชั้นเป็นเรื่องรับได้ ดูปุยกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนเกิดความไม่พอใจ อันมาจากความไม่เท่าเทียมในสังคมนั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่ว่าคนอื่นไม่ควรได้รับโชคของตน แต่ตรงข้ามกันเลย มันคือความเชื่อที่ว่าคนอื่นควรจะได้รับโชคของตนต่างหาก เพราะเป็นความเชื่อเดียวที่พวกเขาจะแสดงออกได้อย่างเปิดเผย   ด้วยฐานคิดเช่นนี้ ดูปุยสรุปว่า หากคิดว่าสังคมที่เป็นธรรมและมองตัวเองว่าเป็นธรรมนั้น จะปราศจากคนไม่พอใจล่ะก็ ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดใหญ่หลวงเลยทีเดียว ในสังคมแบบนี้แหละ คนที่อยู่ในช่วงชั้นต่ำกว่าจะหาทางระบายความไม่พอใจด้วยวิธีการที่รุนแรง

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พูดมา คือในทางอุดมคตินั้น จุดประสงค์ของการปฏิรูปยุคเติ้งเสี่ยวผิง คือการพยายามสร้างระบบทุนนิยมที่ปราศจากกระฎุมพี (ที่จะกลายเป็นชั้นปกครองใหม่ได้) อย่างไรก็ตามในตอนนี้ ผู้ปกครองจีนค้นพบความจริงอันเจ็บปวดว่า ระบบทุนนิยมอันปราศจากช่วงชั้นที่ชัดเจน จะยิ่งไปทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพเป็นการถาวร แล้วจีนจะไปทางไหนดีล่ะ ในวันนี้เราจะเห็นว่าประเทศคอมมิวนิสต์เก่ามักกลายมาเป็นผู้จัดการทุนนิยมที่มีประสิทธิภาพที่สุด ความเป็นปฏิปักษ์กับกระฎุมพีในประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านี้ ได้สวมเข้าพอดิบพอดีกับทิศทางของทุนนิยมในปัจจุบัน ซึ่งกลายมาเป็น “ทุนนิยมผู้จัดการ” (managerial capitalism) โดยไม่ต้องมีกระฎุมพี ซึ่งในทั้งสองกรณี อดีตและปัจจุบัน (ดังที่สตาลินกล่าวไว้นานแล้ว) “ผู้บริหารตัดสินใจทุกเรื่อง” (ความแตกต่างประการสำคัญระหว่างรัสเซียกับจีนในวันนี้คือ ในรัสเซีย อาจารย์มหาวิทยาลัยเงินเดือนห่วยแตก และพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่จีนนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับค่าจ้างส่วนเกิน เพื่อเป็นหลักประกันความ “เชื่อง” ของพวกเขา)

เรื่องค่าจ้างส่วนเกิน ทำให้เราเห็นการประท้วง “ต่อต้านนายทุน” ที่กำลังดำเนินไปอยู่เวลานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในช่วงวิกฤตนั้น ผู้ที่ต้อง “รัดเข็มขัด” ก่อนใครก็คือพวกที่อยู่ในระดับล่างของกระฎุมพีเงินเดือน การประท้วงทางการเมืองเป็นหนทางเดียวในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ และถึงแม้ว่าการประท้วงของพวกเขานั้น จะเป็นการต่อสู้ในนามของการสู้กับตลาดอันเลวร้าย แต่อันที่จริงแล้ว พวกเขากำลังประท้วงเรื่องพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบอภิสิทธิ์ของตัวเอง ที่กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว ไอน์ แรนด์แสดงความคิดเพ้อฝันเรื่องการประท้วงเหล่านายทุนผู้สร้างสรรค์ไว้ในงาน Atlas Shrugged [3] ความเพ้อเจ้อนี้ทำให้เห็นว่า การประท้วงในปัจจุบันเป็นเรื่องวิตถาร ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นกระฎุมพีเงินเดือนที่ประท้วงเพราะกลัวจะไม่ได้ค่าจ้างส่วนเกิน   นี่ไม่ใช่การประท้วงของชนชั้นกรรมาชีพ แต่เป็นการต่อสู้ไม่ให้ตนเองกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพต่างหาก ดังนั้นใครจะกล้าลุกขึ้นประท้วง เมื่อในสังคมวันนี้นั้น การมีงานมั่นคงถือได้ว่าเป็นอภิสิทธิ์ทีเดียว คนเหล่านี้ไม่ใช่คนงานค่าจ้างต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ หรอก แต่เป็นคนงานอภิสิทธิ์ที่มีงานมั่นคงแล้ว (ครู คนทำงานในภาคขนส่งสาธารณะ ตำรวจ) และนี่ก็ส่งผลไปถึงคลื่นนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาประท้วงด้วย แรงจูงใจของพวกเขานั้นอาจจะเป็นความกลัวว่า การศึกษาจะไม่ให้หลักประกันค่าจ้างส่วนเกินแก่พวกเขาในอนาคต

ในขณะเดียวกันก็ชัดเจนว่า การลุกขึ้นประท้วงขนาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา จากอาหรับ สปริงจนถึงในยุโรปตะวันตก จาก Occupy Wall Street จนถึงจีน จากสเปนถึงกรีซ ไม่ควรถูกมองเพียงแค่ว่า เป็นการลุกฮือของกระฎุมพีเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป   ในประเทศอังกฤษ  การประท้วงของนักศึกษาเรื่องการปฏิรูปการศึกษา กับเหตุการณ์จลาจลในเดือนสิงหาคม [4]  นั้นต่างกันแน่ ในกรณีหลังนี้ดูจะเป็นเทศกาลทำลายล้างของผู้บริโภค เป็นแรงระเบิดต่อการถูกกีดกัน   ในกรณีการลุกฮือที่อียิปต์ เราอาจจะเสนอได้ว่า ส่วนหนึ่งเริ่มจากการประท้วงของกระฎุมพีเงินเดือน (และคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา ในเรื่องความไม่มั่นคงของอนาคต) แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อต้านระบอบที่กดขี่โดยรวมทั้งหมด แต่ขณะเดียวกัน ในกลุ่มผู้ประท้วงไม่ค่อยมีคนงานยากจนและชาวนา และชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคอิสลามเร็วๆนี้ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าฐานสังคมของการเคลื่อนไหวนั้นเล็ก เป็นการประท้วงที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา – แต่กรีซเป็นกรณีพิเศษ ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา กระฎุมพีเงินเดือนใหม่ (โดยเฉพาะในสังคมที่อำนาจรัฐแผ่ขยายมากจนเกินไปอย่างกรีซ) ได้ถูกสร้างขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากเงินช่วยเหลือของสหภาพยุโรป และการประท้วงเองก็มีแรงผลักอย่างมากจากความกลัวว่าเงินช่วยเหลือนี้จะหยุดลง

การกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพของกระฎุมพีเงินเดือนในระดับล่างๆนั้น เกิดไปพร้อมกับการให้โบนัสแก่พวกผู้บริหารระดับสูงและนักการธนาคารในจำนวนที่สูงอย่างไร้เหตุผล (ไร้เหตุผลเพราะว่าตามที่มีการสอบสวนนั้น สัดส่วนของโบนัสผกผันกับความสำเร็จของบริษัท) แทนที่เราจะมองทิศทางนี้ว่าเป็นการตกต่ำทางศีลธรรม เราควรจะมองว่ามันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ระบบทุนนิยมไม่สามารถดำรงเสถียรภาพได้อีก และกำลังจะไม่มีใครควบคุมมันได้อีกต่อไป

 

 



 

[1] จาก The Revolt of the Salaried Bourgeoisie ใน http://www.lrb.co.uk/v34/n02/slavoj-zizek/the-revolt-of-the-salaried-bourgeoisie

 

[2] http://www.carnetsnord.fr/titre/la-marque-du-sacre

 

[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Atlas_Shrugged

 

[4] http://en.wikipedia.org/wiki/2011_England_riots

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท