Skip to main content
sharethis



เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สรุปสถานการณ์สื่อทั่วโลก ชี้การทำร้ายผู้สื่อข่าวยังเกิดขึ้นทั่วโลก รายละเอียดมีดังนี้ 
 

 
 

                                                                                            00000


ผู้สื่อข่าวที่ทำงานในสื่อมวลชนทั่วไปทั้งที่ปากีสถานถึงโคลัมเบีย เม็กซิโกถึงซูดานและประเทศส่วนใหญ่ทั่วทั้งยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง ยังต้องเผชิญการคุกคาม การทำร้าย การสั่งคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ถึงแม้กระทั่งความตาย อันเป็นผลเนื่องมาจากการทำงานของตนเอง

อเมริกา
ผู้สื่อข่าวพยายามเปิดโปงการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทุจริต พวกเขามักตกเป็นเป้าหมายการโจมตีและการคุกคามทั่วทั้งทวีปละตินอเมริกาและแคริบเบียน

จากเม็กซิโกถึงโคลอมเบีย คิวบา ฮอนดูรัส และเวเนซูเอลล่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือและอาชญากรรมต่างๆ มุ่งโจมตีผู้สื่อข่าวซึ่งรายงานปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน การฉ้อฉลอำนาจและการทุจริต

เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายมากสุดในทวีปอเมริกาสำหรับผู้ทำงานด้านสื่อ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน มีผู้พบศพเรจีนา มาร์ติเนซ (Regina Martinez) ผู้สื่อข่าวอยู่ในบ้านของเธอเองที่เมือง Veracruz เรจีนาเป็นผู้สื่อข่าวสายการเมืองของนิตยสาร Proceso และในช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้รายงานข่าวปัญหาความมั่นคง การค้ายาเสพติดและการทุจริต หน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นระบุว่ากำลังจะสอบสวนเหตุฆาตกรรมครั้งนี้

ในขณะเดียวกัน สภาสูงของเม็กซิโกได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่เพื่อคุ้มครองผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคาม

แต่เม็กซิโกไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่คนทำงานด้านสื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างเหลือเชื่อจากการทำงานของตนเอง
ดีนา เมซา (Dina Meza) ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวฮอนดูรัสถูกคุกคามทางเพศหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี 2555 ในวันที่ 6 เมษายน ระหว่างที่เดินกับลูกแถวๆ บ้าน ก็สังเกตเห็นผู้ชายสองคนแอบถ่ายรูปเธอกับลูก

แอฟริกา
แอฟริกาเป็นพื้นที่อันตรายมากสุดแห่งหนึ่งสำหรับผู้สื่อข่าว ในประเทศต่างๆ อย่างเช่น เอธิโอเปียและแกมเบีย หน่วยงานความมั่นคงจับตามองเว็บไซต์และสถานีโทรทัศน์และวิทยุอย่างเข้มงวด พร้อมจะปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างจากรัฐ
ในรวันด้าและเอธิโอเปียมีการฟ้องร้องดำเนินคดีและมีการสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลานานต่อผู้สื่อข่าวที่วิจารณ์นโยบายของรัฐ ผู้สื่อข่าวที่รายงานการรณรงค์ให้มีการประท้วงอย่างสงบ หรือผู้สื่อข่าวที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงทุจริต

ทางการในซูดานใช้วิธีใหม่ๆ เพื่อจัดการผู้สื่อข่าวอิสระ รวมทั้งการใช้กฎหมายอย่างมิชอบเพื่อป้องกันและมีการสั่งปรับผู้ที่รายงานข่าวต่อต้านรัฐบาล

ในแกมเบียและโซมาเลีย สถานการณ์ของผู้สื่อข่าวอันตรายมาก หลายคนต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเพื่อความปลอดภัย คนที่เหลืออยู่ต้องเผชิญกับมาตรการสั่งห้ามไม่ให้มีการรายงานข่าวอย่างอิสระในประเทศ นับแต่ปี 2550 มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 27 คนที่ถูกสังหารในโซมาเลีย สามคนถูกสังหารจากการโจมตีโดยตรงที่กรุง Mogadishu เมืองหลวงในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา

อาลี อาเหม็ด อับดี (Ali Ahmed Abdi) ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์และสถานีวิทยุ Radio Galkayo ถูกมือปืนสามคนยิงจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ในเมือง Galkayo ภาคกลางของโซมาเลีย ในวันที่ 5 เมษายน มาหัด ซาลัด อาดาน (Mahad Salad Adan) ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุ Radio Shabelle ถูกคนร้ายสามคนยิงจนเสียชีวิตที่เมือง Beletweyne ใกล้กับพรมแดนติดกับประเทศเอธิโอเปีย ทางการยังไม่สามารถลงโทษบุคคลใดที่เกี่ยวข้องในการฆาตกรรมเหล่านี้เลย


เอเชีย-แปซิฟิก

ปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศอันตรายมากสุดในโลกสำหรับผู้สื่อข่าว เฉพาะในปี 2554 มีผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารอย่างน้อย 15 คน

ในปีนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม มูคาร์ราม อาติฟ (Mukarram Aatif) ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ Dunya TV และสถานีวิทยุ Deewa radio ถูกสมาชิกกลุ่มฏอลีบันปากีสถานยิงจนเสียชีวิตระหว่างทำละหมาดในตอนค่ำที่เมือง Shabqada ประมาณ 30 กม.จากเมือง Peshawar เมืองหลวงของแคว้น Khyber Pakhtunkhwa

โฆษกกลุ่มฏอลีบันแถลงในเวลาต่อมาว่า พวกเขาได้เตือนนายอาติฟ “หลายครั้งแล้วให้หยุดรายงานข่าวต่อต้านกลุ่มฏอลีบัน แต่เขาก็ไม่ยอม สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตเช่นนี้”

เช่นเดียวกับในจีน ผู้สื่อข่าวและผู้จัดทำเว็บบล็อกในศรีลังกาก็ต้องทำงานในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว เพราะรู้ดีว่าทางการน่าจะติดตามตรวจสอบอีเมลและโทรศัพท์ที่พวกเขาใช้

ในประเทศส่วนใหญ่ ทางการไม่สามารถสอบสวนอย่างเต็มที่เมื่อเกิดการละเมิดกับผู้สื่อข่าว อย่างเช่นในฟิลิปปินส์ นับแต่รัฐบาลนายอควิโนเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อปี 2553 มีผู้สื่อข่าว 12 คนที่ถูกคนร้ายไม่ทราบชื่อสังหาร แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการสั่งลงโทษผู้ใด

ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวทางอินเทอร์เน็ตก็ตกเป็นเป้าการละเมิดในหลายประเทศทั่วเอเชียในปี 2554

ในจีนซึ่งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 513 ล้านคน ทางการควบคุมสอดส่องอย่างเข้มงวดในสิ่งที่ประชาชนอ่านและแลกเปลี่ยนทางอินเทอร์เน็ต

ผู้จัดทำเว็บบล็อกที่มักเขียนประเด็นซึ่งรัฐบาลมองว่าอ่อนไหว จะถูกจับตามอง ถูกสอบสวนและถูกคุกคามอย่างเข้มงวดเป็นประจำโดยฝ่ายความมั่นคง และในบางกรณีก็หายตัวไปเลย

แต่นักเคลื่อนไหวทางอินเทอร์เน็ตของจีนก็ฉลาดพอที่จะหาวิธีการที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมของรัฐ ผู้ที่สนับสนุนนายเฉิงกวงเชิง (Cheng Guangcheng) นักเคลื่อนไหวที่ตาบอด ได้พากันโพสต์รูปตัวเองใส่แว่นตาดำ หรือบางคนก็ได้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในสื่อสังคมออนไลน์ของตนเองให้เป็นรูปใส่แว่นตาดำ

ยุโรป
ปี 2555 เป็นปีที่รัฐบาลเผด็จการในอดีตประเทศสหภาพโซเวียตได้กระชับอำนาจของตนเองมากขึ้น มีการปรับ มีการปราบปรามผู้เห็นต่าง ปราบปรามเสียงวิจารณ์และการประท้วง ไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับเสรีภาพของการแสดงออกเลย

ในเบลารุส มีการปราบปรามภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2554 ต่อเนื่องมาถึงปี 2555 เป็นเหตุให้นักเคลื่อนไหวในฝ่ายค้านและผู้นำเอ็นจีโอคนสำคัญหลายคนถูกสั่งขังคุก

ในอาเซอร์ไบจาน การลุกฮือรอบใหม่จากแรงบันดาลใจที่ได้ของการลุกฮือในตะวันออกกลางเป็นเหตุให้รัฐบาลปราบปราม มีการสั่งห้ามการประท้วงต่อต้านรัฐบาล และมีการตัดสินจำคุกแกนนำ 14 คนเป็นเวลานาน ตลอดทั้งปี ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวต้องเผชิญการคุกคามและการควบคุมตัว เนื่องจากไปเปิดโปงความฉ้อฉลของรัฐ โดยรัฐใช้ข้อหาที่กุขึ้นมาเอง
อุซเบกิสถานและเติร์กเมนิสถานยังคงปราบปรามเสียงที่แสดงออกอย่างเป็นอิสระ มีการปกปิดเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มงวด

ในรัสเซียมีภาพที่ค่อนข้างหลากหลาย ข้อกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เป็นเหตุให้มีการประท้วงครั้งใหญ่สุดนับแต่ปี 2534 แม้ว่าทางการจะอนุญาตให้มีการประท้วงซึ่งดำเนินผ่านไปอย่างสงบ แต่ก็มักปราบปรามการชุมนุมรายย่อย และจับกุมผู้ที่เข้าร่วม

ตะวันออกกลาง
แม้ว่าในประเทศที่มีการลุกฮือเมื่อปี 2554 อย่างเช่น ตูนิเซียและลิเบีย จะมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในการแสดงความเห็นของสื่อ แต่มาตรการควบคุมเสรีภาพสื่อทั้งด้านกฎหมายและอื่นๆ ยังดำเนินต่อไปอย่างกว้างขวางในภูมิภาคนี้ ที่อิหร่าน ทางการยังคงควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด มีการติดตั้งระบบตรวจสอบทางอินเทอร์เน็ตแบบใหม่ (Cyber Police) ทั่วประเทศ ที่ซาอุดิอาระเบีย มีการนำบทลงโทษใหม่มาใช้สำหรับผู้ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลที่ต่อต้านหรือขัดแย้งกับคำตัดสินตามกฎหมายอิสลาม

การโจมตีทำร้ายผู้สื่อข่าวและผู้จัดทำเว็บบล็อกในภูมิภาคนี้ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวถูกสังหารหรือถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกทรมานหรือถูกคุกคามในช่วงที่มีการลุกฮืออย่างต่อเนื่องในซีเรีย ในช่วงที่มีความขัดแย้งที่ลิเบียเมื่อปี 2554 และระหว่างการลุกฮือของประชาชนในตูนิเซีย อียิปต์ เยเมน และบาห์เรน การละเมิดยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าการลุกฮือของประชาชนจะยุติลงแล้ว ผู้สื่อข่าวและผู้จัดทำเว็บบล็อกในอียิปต์ที่วิจารณ์หน่วยงานทหาร จะถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำ ผู้ทำงานด้านสื่อในตูนิเซียถูกตั้งข้อหาก่อความไม่สงบหรือกระทำการที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี

ผู้สื่อข่าวและนักเขียนยังถูกควบคุมตัวโดยพลการหรือถูกคุกคามในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ทั้งที่อิหร่าน อิรัก จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และพื้นที่ยึดครองปาเลสไตน์ (Occupied Palestinian Territories) อันเป็นผลเนื่องมาจากการแสดงความเห็นต่อต้านทางการ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net