การปรองดองแท้จริงต้องควบคู่กับการทำความจริงให้ปรากฎ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ (รูปประกอบจาก ThaiEnews.blogspot.com)
ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.

 

ถ้าศึกษาการปรองดองในประเทศต่าง ๆ จะพบว่าการเกิดการปรองดองในประเทศใดประเทศหนึ่งได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผู้เขียนมาทบทวนพิจารณาดังนี้ คือเหตุผลชุดที่หนึ่งที่เป็นขั้นแรก

ประการแรก ความขัดแย้งได้ลุกลามร้าวลึก จนสร้างความเกลียดชังระหว่างกันอย่างรุนแรง

ประการที่สอง มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ มีการเข่นฆ่ากันโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนสองฝ่าย

ประการที่สาม ประเทศนั้น ๆ ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขอีกต่อไป มีโอกาสที่ความขัดแย้งจะลุกลามขยายตัว การลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธขยายตัวมีคนล้มตายมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประการที่สี่ ถึงเวลาที่คนในสังคมตระหนักว่าอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้

นำมาสู่เหตุผลชุดที่สองขั้นต่อมาเพื่อนำไปสู่การปรองดอง หลังจากที่คนในสังคมตกลงใจว่าจำเป็นต้องปรองดองเพื่อความปกติสุขของสังคม ถ้าคนในสังคมยังไม่สุกงอมที่จะปรองดอง การปรองดองด้วยความคิดของคนส่วนน้อยจะยังไม่สัมฤทธิ์ผลเป็นอันขาด ดังนั้นการปรองดองจะเกิดได้หรือไม่ต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของคู่ขัดแย้ง การทำความเข้าใจว่าคู่ขัดแย้งหลักและปัญหาหลักของประเทศคืออะไร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ให้ตรงจุด

เมื่อคนส่วนหนึ่งคิดว่าคู่ขัดแย้งหลักในสังคมไทยคือคุณทักษิณ ชินวัตรและพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ การแสดงออกของทั้งสองฝ่ายในทิศทางการปรองดอง จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญโด่งดัง และเชื่อว่าจะทำให้จบเรื่องขัดแย้งในสังคมได้ และเมื่อความต้องการให้เกิดการปรองดองขึ้นในประเทศไทยนั้นได้มาจากชัยชนะทางการเมืองในการเลือกตั้ง ทำให้พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณ ปรารถนาจะให้ก้าวต่อไปในการบริหารประเทศ มั่นคง แก้ปัญหาของประเทศและผู้ถูกกระทำทั้งหลายทั้งปวง สร้างนิติรัฐ นิติธรรมได้ อย่างรวดเร็ว กระบวนการปรองดองในรูปแบบต่าง ๆ จึงมีความพยายามให้เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด ในขณะที่กลุ่มเครือข่ายระบอบอำมาตย์ที่มีอำนาจกุมกลไกรัฐและกุมสังคมไทย ยังไม่ยินดีเข้าสู่กระบวนการปรองดอง เห็นได้ชัดจากเวทีรัฐสภาที่มีวุฒิสมาชิกและพรรคประชาธิปัตย์ ที่สำแดงกำลังขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างสุดกำลัง ประสานกองกำลังนอกระบบ มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า สส. และ สว. สี่ร้อยกว่าคนทำผิด จึงขอให้ศาลถอดถอน ในข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550

หรือกลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มสหธรรมิก กลุ่มสารพัดชื่อแปลก ๆ ก็พยายามเคลื่อนไหว (ที่ไม่มีคนร่วม) เพื่อต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่นำไปสู่การให้มี สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

แต่ด้วยเหตุที่คุณทักษิณและป๋าเปรมเป็นบุคคลสำคัญในฝ่ายความขัดแย้งสองข้าง การพยายามปรองดองของบุคคลสำคัญจึงเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย และส่งผลต่อกระแสรวมของความขัดแย้งในสังคม จึงเป็นเรื่องน่าพิจารณาว่า เพียงการตกลงใจของสองคนจะทำให้สังคมไทยตกผลึกในเรื่องการปรองดองหรือไม่ คำถามต่อมา คุณเปรมต้องการปรองดอง จริงหรือไม่? และเครือข่ายระบอบอำมาตย์ในระบบราชการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนทั้งหลายต้องการปรองดอง จริงหรือไม่?

ทั้งต้องเน้นที่คำถามสำคัญว่า เครือข่ายอำมาตย์รวมทั้งคุณเปรมยินดีที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน จริงหรือไม่? ทนได้หรือไม่? ยอมรับได้ไหมที่ประชาชนไทยจะมีอำนาจแท้จริงทางการเมืองการปกครอง โดยให้สิ้นสุดระบอบอำมาตยาธิปไตย

ถ้าคำตอบคือไม่จริงหรอก เช่นนั้น การปรองดองก็เป็นเพียงการต่อรองให้พื้นที่ระบอบอำมาตย์ยังมีอยู่จำนวนหนึ่งใช่หรือไม่? ปรองดองเพื่อแบ่งพื้นที่ของผู้ปกครองสองฝ่ายให้พออยู่ร่วมกันได้ อย่างน้อยชั่วระยะเวลาหนึ่ง นี่จึงไม่ใช่การปรองดองที่แท้จริง เป็นเพียงการปรองดองของผู้ปกครองกันเอง มิใช่การปรองดองของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยกับผู้ปกครองที่ไม่ต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชน และที่จริงประชาชนในโลกนี้ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปรองดองกับผู้ปกครอง ประชาชนมีแต่ถูกปกครองด้วยอำนาจปกครองที่ชอบธรรมหรือไม่ และถูกบังคับให้จำยอมต่ออำนาจปกครองที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ สัจธรรมมีว่า มีแต่การต่อสู้ของประชาชนเท่านั้น จึงจะได้อำนาจมาเป็นของประชาชน แต่การปรองดองของรัฐบาลกับคนสำคัญทางระบอบอำมาตยาธิปไตยก็สร้างความสบายใจให้กับประชาชนทั่วไปได้พอสมควร เพราะเป็นการมองในมิติรวมของสังคมไทยตามโพลที่ได้สำรวจกันมา ทั้งชอบธรรมสำหรับรัฐบาล แต่สร้างความไม่สบายใจให้กับคนเสื้อแดงจำนวนไม่ใช่น้อย เพราะประชาชนคนเสื้อแดงยังไม่ยินดีจะปรองดองกับผู้ปกครองในฝ่ายอำมาตยาธิปไตย จนกว่าสังคมรู้ความจริงและเอาคนผิดมาลงโทษ (ลองสอบถามดูได้)

สำหรับกระบวนการปรองดองจะเริ่มต้นนับหนึ่งได้นั้น สังคมไทยต้องมีความรับรู้ร่วมกัน ในระดับใกล้เคียงกัน ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อตระหนักถึงความจำเป็นในการเดินไปสู่ทิศทางเดียวกันในอนาคตสังคมไทย

ดังนั้น การทำความจริงให้ปรากฏชัดเจนในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตั้งแต่มูลเหตุของความขัดแย้ง เปิดเผยการทำรัฐประหาร ใครได้ใครเสียประโยชน์ และความจริงในการเข่นฆ่าประชาชน จนถึงการทำคดีและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ใช่นิติธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปิดเผยความจริงเหล่านี้ เป็นวาระเร่งด่วน มิฉะนั้นจะเกิดการปรองดองที่แท้จริงไม่ได้นอกจากแสดงลิเก สำหรับคณะ คอป. ที่ตั้งขึ้นมาในยุคประชาธิปัตย์ที่เอาอย่างการแก้ปัญหาในต่างประเทศ ก็ลืมชื่อของตนเองว่าต้องเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ เลยไม่มีผลงานในการค้นหาความจริงออกมาเลย ได้แต่ลอกตัวเลขจากหน่วยงานเกี่ยวกับคดีและคนได้รับผลกระทบ ไม่ได้นึกว่าชื่อองค์กรนี้บ่งถึงภาระหน้าที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป คือค้นหาและเปิดเผยความจริงเพื่อนำไปสู่การปรองดอง ผู้เขียนได้พยายามสอบถามประชาชนคนเสื้อแดง ทุกคนต้องการทำความจริงให้ปรากฏและเอาคนผิดมาลงโทษทุกคน แต่ก็ยินดีที่จะปรองดอง เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนเสื้อแดงไม่ได้ทำผิด ไม่มีกองกำลังอาวุธ มาเรียกร้องประชาธิปไตยให้ยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งเท่านั้น กระบวนการปรองดองในต่างประเทศก็ต้องเริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการคอป.(TRC) แบบนี้ขึ้น แล้วทำงานเพื่อค้นหาความจริงอย่างจริงจังก่อนเข้าสู่กระบวนการปรองดอง คณะกรรมการ คอป. (TRC) ในต่างประเทศจะเอาการเอางานในการค้นหาความจริง แล้วตีแผ่ในทั้งประเทศและต่างประเทศ

ขณะนี้คดีความที่ไต่สวนในคดีผู้เสียชีวิตก็เริ่มขึ้นแล้ว ชัดเจนว่าการตายของทหารที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยานั้น ตายด้วยระเบิดมือ M67 ที่คนเสื้อแดงไม่มีความสามารถจะไปขว้างได้ในระยะที่หวังผลการขว้าง เพราะอยู่ห่างกันกว่าระยะขว้างระเบิดมือ และเป็นไปไม่ได้ที่คนเสื้อแดงจะมีอาวุธเช่นนั้น นี่เป็นตัวอย่างในกรณีการตายของทหารว่าไม่ได้เกิดจากคนเสื้อแดงหรือ M79 หรืออาร์ก้าจากชายชุดดำ

ความขัดแย้งที่จะคลี่คลายได้ต้องทำให้ความรับรู้ในสังคมค่อนข้างเป็นเอกภาพ บนพื้นฐานของความจริง กระบวนการปรองดองจึงจะขับเคลื่อนต่อไป ถ้าไม่ใส่ใจที่จะทำให้สังคมชัดเจนว่ามีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาการปรองดองก็จะเดินหน้าโดยความขัดแย้งยังมีแต่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสังคมได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกกำลังผู้ปกครองในระบอบอำมาตย์ฯ แทรกแซง สร้างภาพให้กลุ่มตนถูกต้อง ให้ประชาชนเป็นพวกเลวร้าย ผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง จึงจำเป็นต้องทำให้ข้อมูลข่าวสารจริงได้เป็นที่รับรู้ในสังคม ดังนั้นการปฏิรูปสื่อเพื่อประชาชนต้องเกิดขึ้นให้ได้ พร้อมกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ได้นิติรัฐ นิติธรรม เปิดเผยการเข่นฆ่าประชาชนและกระบวนการใส่ร้ายป้ายสี มิใช่เพื่อความอาฆาตมาดร้าย แต่ให้ได้เอกภาพแห่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเรื่องจริง จากนั้นจึงจะปูทางสู่นิติรัฐ นิติธรรมและการปรองดองได้

ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า รัฐบาลนี้ต้องเร่งขบวนการทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุด ทำให้การไต่สวนคดีที่รัฐและประชาชนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่และผู้ทำผิดในการเข่นฆ่าประชาชนเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ และดำเนินการโดยเร็ว ให้ประกันและปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมือง

ทบทวนแก้ปัญหาการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม ตั้งข้อหารุนแรงเกินจริง พยานหลักฐานเท็จ บังคับให้สารภาพผิดในสิ่งที่ไม่ได้ทำ สารพัดความเลวร้ายที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์และคนไทยด้วยกัน ที่ยังไม่ได้ทำในยุคนี้ ก็เพียงแต่เผาในถังแดงเท่านั้น ถ้าไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ สังคมไทยไม่มีทางที่จะบรรลุความปรองดอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท