Skip to main content
sharethis
กรุงเทพโพลล์เผย ประชาชนร้อยละ 68.8 ระบุว่าการนิรโทษกรรม ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ โดยแนะให้นักการเมืองเลิกนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง และเลิกทะเลาะกันทั้งในและนอกสภา
4 พ.ค. 55 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,180 คน พบว่า 
 
ประชาชนร้อยละ 37.7 ระบุว่ายังไม่เห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 28.5 ระบุว่าเริ่มเห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นแล้ว ส่วนร้อยละ 33.8 ระบุว่าไม่แน่ใจ
 
ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความปรองดอง คือ นักการเมืองต้องเลิกนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ร้อยละ 26.7 รองลงมาคือ นักการเมืองต้องหันหน้าเข้าหากันเลิกทะเลาะกันทั้งในและนอกสภาฯ ร้อยละ 26.5 และคนไทยต้องเคารพและยึดกฎหมายของประเทศเป็นหลัก ร้อยละ 10.9
 
เมื่อถามถึงการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทางการเมืองว่าจะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่ประชาชนร้อยละ 68.8 ระบุว่าไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ (โดยให้เหตุผลว่า เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา อคติยังคงมีอยู่ทุกฝ่าย แต่ละฝ่ายไม่ยอมกัน ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ และเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกของคนในชาติ เป็นต้น) ในขณะที่ร้อยละ 31.2 ระบุว่า สามารถสร้างความปรองดองได้ (โดยให้เหตุผลว่า เป็นการให้อภัยกัน เรื่องคงจบ เป็นการเริ่มต้นใหม่โดยหันหน้ามาคุยกัน ให้โอกาสแก่ผู้ทำผิดได้กลับตัว เป็นต้น )
 
ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อการออก พรบ.ปรองดอง ว่ามีความจำเป็นต่อสังคมไทยเพียงใด พบว่า ประชาชนระบุว่าค่อนข้างจำเป็น ร้อยละ 35.4 และจำเป็นมาก ร้อยละ 24.9 ในขณะที่ระบุว่าไม่ค่อยจำเป็น ร้อยละ 19.3 และไม่จำเป็นเลย ร้อยละ 20.4 อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 51.5 ระบุว่ารัฐบาลยังไม่มีการสร้างความเข้าใจและรายละเอียดให้ชัดเจนถึงเหตุผล ความจำเป็น และกระบวนการในการออก พรบ.ปรองดอง ร้อยละ 40.4 ระบุว่า เข้าใจแต่ยังไม่ชัดเจน มีเพียงร้อยละ 8.1 ที่ระบุว่าเข้าใจชัดเจนแล้ว
สำหรับความกังวลที่มีต่อการออก พรบ. ความปรองดอง ว่าจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกนั้นประชาชนร้อยละ 42.1 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล และร้อยละ 17.4 กังวลมาก ในขณะที่ ร้อยละ 26.1 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 14.4 ระบุว่าไม่กังวลเลย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net