ธเนศ วงศ์ยานนาวา: ว่าด้วยไฮเปอร์เท็กซ์ อำนาจของผู้ประพันธ์ และปลายทางของการอ่านยุคดิจิตอล

(5 พ.ค.55) ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ "การอ่านในยุคดิจิตอล" ในค่ายเขียนงานสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร จัดโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ Bookmoby   เนื้อหาการบรรยาย มีดังนี้

0000

วัฒนธรรมการอ่านหนังสือกำลังเปลี่ยนแปลงไป เพราะการอ่านไม่ได้มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถอ่านได้ แต่ยังมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถอ่านได้เช่นกัน การอ่านในโลกคอมพิวเตอร์ก็จะเห็นได้จากแปล เช่น ใช้กูเกิลทำการแปล หรือ ชีวิตของ Hal คอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถอ่านปากของมนุษย์ผู้เป็นศัตรูตัวฉกาจที่คิดจะฆ่าคอมพิวเตอร์ Hal ในนิยายวิทยาศาสตร์ 2001 Space Odyssey (1968) ผลงานประพันธ์ของ Arthur C.Clarke จินตนาการอยู่ไม่ไกลไปจากความเป็นจริง พัฒนาการของโลกดิจิตอลคอมพิวเตอร์ทำให้ยากที่จะแยกได้ว่าเครื่องจักรกำลังจะกลายเป็นมนุษย์หรือมนุษย์กำลังจะกลายเป็นเครื่องจักร

สภาวะของความเป็น Cyborg ที่ร่างกายกับเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามารวมอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อทดแทนอะไรบางอย่างโดยมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน ดังจะเห็นได้จากการมีขาไทเทเนียม กระดูกไทเทเนียม วงการทหาร การแพทย์ อุตสาหกรรม ฯลฯ จนสภาวะของการเป็น cyborg เป็นสภาวะปกติของมนุษย์ เพราะ cyborg เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือเพิ่มความรวดเร็วและราคาถูกลง การเชื่อมต่อของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีจนทำให้สามารถที่จะกล่าวได้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือก็เป็นรูปขั้นต่ำของการเป็น cyborg ชีวิตในเมืองจึงเป็นชีวิตของ cyborg ได้เสมอ สำหรับคอมพิวเตอร์ มนุษย์และเครื่องจักร ได้ประสานกันในพื้นที่ของฐานข้อมูล (database) ความหวาดกลัวต่อการขึ้นมามีอำนาจของเครื่องจักรไปจนถึงหุ่นยนต์ปรากฏให้เห็นได้จากภาพยนตร์อย่าง Metropolis (1927) หรืออย่างใน The Terminator (1984) มาจนถึง The Matrix (1999) เป็นต้น

ในขณะที่สื่อกระดาษที่เป็นรูปแบบหนึ่งของข้อมูลและเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมและอักษรในฐานะเทคโนโลยีแบบหนึ่งด้วยนั้น ก็กำลังจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รูปแบบของการอ่านก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณการอ่านหนังสือผ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบด้านความเร็วของการอ่านหนังสือบนจอกับหนังสือกระดาษแล้ว การอ่านจากบนจอช้ากว่าการอ่านผ่านกระดาษ 20-30% แต่ในมิติของการเรียนรู้ พบว่า สื่อดิจิตอลจะดึงดูดความสนใจสำหรับเด็กมากกว่า จนทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ดี ผู้อ่านในพื้นที่คอมพิวเตอร์ก็มักจะต้องเผชิญกับการถูกรบกวนสมาธิจากอะไรอื่นๆ บนจอที่ถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่ในใจกลางของสายตา แต่อะไรที่อยู่ชายขอบจอก็ยังทรงพลังมากพอที่จะทำให้ผู้อ่านเบี่ยงเบนความสนใจไปได้ โดยนี่ยังไม่ต้องคำนึงถึงเสียงอะไรอื่นๆ ที่คอมพิวเตอร์สามารถจะส่งเสียงเตือนขึ้นมาได้อีก ทั้งหมดนี้ก็ทำให้นักประพันธ์ชาวอเมริกันคนดังอย่าง Philip Roth ทำนายว่าอีก 25 ปีข้างหน้านวนิยายนั้นคงจะเข้าข่ายเกือบจะสูญพันธุ์ จำนวนคนอ่านนวนิยายที่อยู่ในรูปแบบของกระดาษก็คงจำมีจำนวนลดน้อยลงมาก จนทำให้มนุษย์ที่อ่านหนังสือกระดาษกลายเป็นมนุษย์สายพันธุ์พิเศษ ทั้งนี้ก็เพราะวัฒนธรรมการอ่านนวนิยายต้องการสมาธิสูง ในขณะที่วัฒนธรรมจอ ไม่ว่าจะเป็นจอภาพยนตร์ จอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องการความเข้มข้นขนาดนั้น โดย Roth กล่าวว่า ถ้าใครอ่านนิยายเกินสองอาทิตย์ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปแล้ว ส่วนตัว Roth เองก็ยืนยันว่า เขาเลิกอ่านนวนิยายไปแล้วด้วยซ้ำ

ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2009 นักเขียนอเมริกันคนดัง Paul Auster กลับตอบโต้ว่า สิ่งที่ Roth เสนอนั้นก็เป็นเรื่องปกติของเขาที่พูดมาเป็นสิบปีแล้ว สำหรับ Auster มนุษย์ต้องการฟังเรื่องราว (story) อันเป็นสิ่งที่หาได้ทุกที่จากโทรทัศน์ไปจนถึงวิทยุ เด็กๆ ก็ต้องการฟังเรื่องเล่าเฉกเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ จริงอยู่ที่คนปัจจุบันอ่านนวนิยายน้อยลง แต่นวนิยายก็ยังคงมีอยู่และผลิตออกมามหาศาล นวนิยายเป็นอะไรที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว เราจะทำอะไรมันก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ นวนิยายจึงประดิษฐ์ตัวตนซ้ำขึ้นมาใหม่ ได้เหมือนกับสังคมที่สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เสมอๆ ในประวัติศาสตร์แต่ละช่วงของมนุษย์ก็ต้องการประดิษฐ์ตัวตนซ้ำขึ้นใหม่

อย่างไรก็ดี คนอย่าง Auster ซึ่งดูราวกับว่าเป็นพวก Neo-Luddite ที่ได้ประกาศตัวเขาเองว่า เขาไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ อนาคตของนวนิยายจะเป็นอย่างไร Auster ก็เห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับหนังสือ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สำคัญในความเห็น Auster ก็คือ การอ่าน แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ความหวัง เพราะใช่ว่าทุกๆ คนนิยมที่จะอ่านหนังสือ อย่างน้อยก็คงไม่มีใครทำให้ผู้ทรงอิทธิพลและเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่าง Rupert Murdoch หันมาอ่านหนังสือได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่มหาเศรษฐีสื่อและสิ่งพิมพ์อย่าง Murdoch ไม่นิยมทำ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจหนังสือพิมพ์ของเมืองใหญ่ๆ ก็กำลังประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

โลกของคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการอ่านและการนำเสนอวิถีชีวิตแบบใหม่หรือวัฒนธรรมการสื่อสารแบบดิจิตอล การอ่านหนังสือผ่านโลกดิจิตอลก็ยังทำให้วัฒนธรรมวัตถุ (material culture) เพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น หรือถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ ภูมิปัญญานั้นยากที่จะต่อต้านกับเทคโนโลยีได้อีกต่อไป ในขณะที่วัตถุและเทคโนโลยีนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพอยู่ตลอดเวลา การอ่านก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อมเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะอ่านไม่ได้ การอ่านจึงเป็นการอ่านเพื่อวิ่งตามกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ดังนั้น โลกแห่งวัตถุจึงได้กลายเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้เหมือนทีวีตู้เย็นที่จำเป็นต้องใช้ นี่ไม่ใช่ความสุขเล็กน้อยอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นอะไรที่ขาดไปเสียไม่ได้ในชีวิตอีกแล้ว

ความสุขที่ได้จากการเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ที่กลายเป็นเพื่อนๆ กันในโลกของความจริงลวงที่เสมือนจริงแบบในเฟซบุ๊ก ก็ทำให้การสร้างสายสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนทำเงินให้กับใครบางคนจนเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก ความบันเทิงจากการอ่านข้อความและการนำเสนอของอีกหลายๆ คนจึงทำให้คนอีกหลายๆคนมีความสุขจากเงินที่ได้มาจากความบันเทิงของคนอีกหลายต่อหลายคน แต่การสร้างสายสัมพันธ์ผ่านโลกดิจิตอลก็ใช่จะมีแต่สร้างมิตรภาพเท่านี้น การทำลายมิตรภาพและสร้างศัตรูก็พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา การเป็นมิตรและศัตรู แสดงออกให้เห็นอย่างเด่นชัดและมีความเป็นสาธารณะ ราวกับว่าสานสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนและศัครูจะต้องกระทำแบบรัฐที่ต้องประกาศและลงนามความสัมพันธ์หรือไม่ก็ประกาศสงครามต่อกัน เส้นทางของสายสัมพันธ์ในโลกการสื่อสารดิจิตอลจึงดำเนินไปสู่เส้นทางแบบกึ่งกฎหมายหรือกึ่งเป็นทางการ

ความสุขที่เกิดขึ้นจากการได้อ่านข้อความและการอ่านทุกชนิดที่ปรากฏอยู่บนจอทำให้โลกดิจิตอลหรือคอมพิวเตอร์ไม่ได้แบ่งแยกงานออกจากความบันเทิง ทุกอย่างอยู่ในที่เดียวกันจนทำให้โลกดิจิตอลเป็นอะไรที่มากยิ่งกว่า "บ้านที่ทำงาน" เพียงแต่การอ่านในโลกแห่งนี้นั้นไม่ได้อ่านผ่านวัสดุที่เป็นกระดาษอีกต่อไป หนังสือกระดาษกำลังจะหมดบทบาทลงไปเรื่อยๆ แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ เพราะแม้กระทั่งห้องสมุดหลายต่อหลายแห่ง (แม้กระทั่งในโลกตะวันตก) ที่หลังจากได้ทำสิ่งพิมพ์จากอดีตให้มาอยู่ในพื้นที่ดิจิตอลแล้ว ก็มีความต้องการที่จะทำลายสิ่งพิมพ์เก่าๆ เช่น หนังสือพิมพ์ที่ทำเป็นไมโครฟิล์มแล้วก็ต้องทำลายหนังสือพิมพ์เก่าทิ้ง เพราะเปลืองพื้นที่และค่าเก็บรักษา เป็นต้น

ตอนธรรมศาสตร์ รังสิต น้ำท่วม บรรณารักษ์ต้องเก็บหนังสือใหม่ขึ้น และปล่อยให้หนังสือเก่าน้ำท่วมไป ... นี่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในวิธีคิด คุณลองไปถามนักเศรษฐศาสตร์ว่ามีใครบ้างที่อ่านอดัม สมิธ ไม่มีแล้ว อ่านไปก็ไม่ได้รางวัลโนเบล เสียเวลาเปล่าๆ เป็นของที่อยู่ในกรุ คลังหนังสือ ระหว่างหนังสือใหม่เล่มละ 4,000-5,000 บาทกับหนังสือเก่า ที่ซื้อจากเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนสโตร์ วังบูรพา เล่มละ 90 บาท คนก็ต้องเก็บเล่มละ 4,000 ผมคิดว่ามันเป็นวิธีคิดปกติสำหรับสังคมแบบนี้ และไม่คิดว่าในโลกตะวันตกก็จะไม่คิดแบบนี้ พูดแบบนี้ ไม่ได้จะมาดีเฟนด์รัฐไทย แต่คิดว่ามันมีอะไรบางอย่างใน mentality แบบนี้

กาลอวสานของหนังสือและสิ่งพิมพ์กำลังคืบคลานใกล้เข้ามา แต่ชะตากรรมภายใต้การโหยหาอดีต ความอนุรักษ์นิยม การยึดติดอยู่กับคุณค่าของหนังสือที่แสดงสถานะที่คงทนถาวรกว่า มีอายุยืนยาวกว่า ฯลฯ ก็ย่อมทำให้หนังสือนั้นยังไม่ตายไปจากวิถีชีวิตได้อย่างง่ายๆ

แต่อย่างไรก็ดี ความตายของสิ่งหนึ่งย่อมนำมาซึ่งอะไรใหม่ๆ เฉกเดียวกันกับการเกิดของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความตาย แม้ว่าคงจะไม่สามารถกล่าวได้ว่านี่เป็นความตายแบบเสียสละเพื่ออนาคตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะความตายของหนังสือไม่ได้เป็นอะไรที่วัฒนธรรมวัตถุ/หนังสือ เลือกได้ด้วยตนเอง หนังสือกระดาษกำลังจะกลายเป็นเพียงโทรเลขที่ใครๆ ก็คิดด้วยตัวเลขแล้วว่าเป็นการสื่อสารในแบบที่ไม่คุ้มค่า ความตายของหนังสือทำให้ความฝันเรื่องสังคมไร้กระดาษใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น การไม่ต้องตัดต้นไม้ การทำลายสิ่งแวดล้อมกำลังจะหมดไป นี่เป็นความหวังอีกประการหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 21 เฉกเช่นเดียวกันกับความหวังที่ต้องการให้โลกเย็นขึ้นด้วยการไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนไปจนถึงการเดินทางไกลโดยไม่ต้องใช้เครื่องบิน แต่ในขณะเดียวกัน แร่ที่มีธาตุโลหะหายาก (Rare Earth Elements--REE) ก็กลับเป็นสิ่งที่โลกดิจิตอลเสาะแสวงหา

สำหรับการอ่านด้วยสื่อที่แตกต่างกันมีผลต่อการรับรู้ในสมองที่แตกต่างกันหรือไม่ การอ่านบนจอคอมพิวเตอร์และโลกดิจิตอลกับกระดาษ สถานะและสภาวะของโลกคอมพิวเตอร์และกระดาษย่อมเป็นอะไรที่มีความแตกต่างกัน วัตถุและวัสดุก็เป็นคนละชนิด วิธีการนำเสนอก็แตกต่างกันออกไป เพราะอย่างน้อยๆ สิ่งทีนำเสนอบนจอก็มีอะไรหลายๆ อย่างเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน การอ่านบนจอคอมพิวเตอร์เปรียบได้เหมือนกับการดูหนังแผ่นอยู่ที่บ้าน ผู้ดูสามารถจะสูบบุหรี่ รีดผ้า ผัดกับข้าว ฯลฯ ได้พร้อมๆ กันไป การอ่านบนจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีแค่การอ่านที่มีความต่อเนื่องแบบที่เกิดขึ้นกับหนังสือกระดาษ


ภาพประกอบโดย Mykl Roventine (CC BY 2.0)
 

สำหรับการอ่านผ่านโลกยุคดิจิตอลในแบบที่ hypertext (การคลิกลิงก์ไปยังข้อความต่างๆ) ที่พร้อมเสมอที่จะทำให้เกิดการย้ายตัวบทไปสู่ตัวบทใหม่ๆ โดยการย้ายข้ามตัวบทใหม่ๆ แสดงให้เห็นถึงความไม่ต่อเนื่องในการอ่าน แต่ก็กลับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อกับตัวบท (text) ที่มีการข้ามตัวบทจากตัวบทหนึ่งไปสู่อีกตัวบทหนึ่ง สถานะของ hypertext จึงไม่มีขั้นตอนว่าอะไรอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าที่จะจำเป็นต้องเข้าถึงก่อนหรือเป็นส่วนสรุปสุดท้าย หรือถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ hypertext ไม่มีลำดับชั้น เมื่อไม่ลำดับขั้นก่อนหลังและสูงต่ำ เส้นทางของความเป็นเสรีประชาธิปไตยในการอ่านก็มีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ส่วนการอ่านใน hypertext ก็ทำให้การอ่านอยู่ในโลกของความเป็นอนันต์ (infinity) เพราะอาณาเขตของตัวบทเป็นสิ่งที่กำหนดได้ยาก แต่ละประโยคมีช่องทางออกเสมอ ช่องทางที่จะนำพาผู้อ่านไปสู่โลกใหม่ๆ ที่ไม่มีอาณาเขตของความรู้ ไม่มีการแยกกันระหว่างสาขาต่างๆ เพราะทุกอย่างถูกเชื่อมโยงถึงกันได้หมด ตราบใดก็ตามที่ต้องการจะเชื่อมโยง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้เกิดการบูรณาการของความรู้ได้ เมื่อทุกอย่างดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็ทำให้ทุกอย่างไม่มีจุดเริ่มและไม่มีจุดจบ ทุกๆ ที่เป็นจุดเริ่มและจุดจบได้ในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นอะไรที่ไม่มีที่สิ้นสุดก็ทำให้ยากจะรู้ว่าสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อใดที่คิดถึงสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด ก็กลับทำให้วิตกกังวลกับอะไรที่ไม่รู้ถึงจุดที่สิ้นสุด ราวกับว่าไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้

พื้นที่ของ hypertext เป็นพื้นที่ทำให้ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ จากศาสนาไปสู่วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอะไรอื่นๆ อีกมากมาย พื้นที่ของการอ่านในโลก Hypertext จึงเป็นอะไรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่างและทุกอย่างเป็นไปได้หมด การอ่านในโลก Hypertext จึงเป็นการอ่านที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกอย่างเป็นไปได้ เมื่อทุกอย่างเป็นไปได้ก็ทำให้การอ่านในพื้นที่ของ Hypertext เปรียบประดุจการอ่านนิยาย/วรรณกรรม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ สามารถอุบัติขึ้นได้พร้อมกับความตื่นตาตื่นใจที่มีเรื่องราวและความแปลกใหม่ต่างๆ พื้นที่นี้ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีข้อห้าม ความฝันของโลกเสรีประชาธิปไตยปรากฏขึ้นในโลกของ Hypertext ที่โลกแห่งความจริงและความฝันเกือบจะไม่ได้แยกออกจากกัน

อย่างไรก็ดี การอ่าน Hypertext ทำให้การอ่านข้อความหรือเรื่องราวต่างๆ นั้นเคลื่อนตัวไปสู่พื้นที่ของความเป็นนวนิยาย/วรรณกรรมนั้นก็แสดงว่า คนอานพร้อมที่จะผสมปนเปภาษาและประโยคที่ใช้กันในภาษาของวรรณกรรมกับชีวิตประจำวัน เพราะโลกของชีวิตประจำวันก็คงจะไม่มี "โยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา" ถึงแม้ว่า โยคีและรุ้งจะเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริง แต่ "โยคีขี่รุ้ง" นั้นก็คงจะหาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ภาษานวนิยาย/วรรณกรรมจึงรังแต่จะสร้างความฉงนงงงวย เพราะชีวิตจริงนอกจอคอมพิวเตอร์กลับไม่มี แต่ก็พร้อมที่จะมีได้ เมื่อเคลื่อนไปสู่พื้นที่ใหม่ เช่น คำว่า cyberspace ที่มาจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ โดย William Gibson ดังเรื่อง Neuromancer (1984) ก็ได้กลายมาเป็นคำที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย คำที่ถูกใช้ในนวนิยายได้กลายมาเป็นอะไรบางอย่างในชีวิตประจำวัน พื้นที่นวนิยายและชีวิตประจำวันได้ถูกผสมผสานเข้า ด้วยกัน พลังของนวนิยายประโลมโลกจึงอาจจะทรงพลังเหมือนกับที่พวกเหล่าอนุรักษ์นิยมในอดีตได้มีความหวาดกลัวต่อการอ่านนวนิยายประโลมโลกว่าจะทำให้คนอ่านเสียผู้เสียคน

ดังนั้นการเข้าใจภาษาปกติธรรมดาๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและภาษานวนิยาย/วรรณกรรม ตลอดจนภาษาที่ใช้เป็นอุปมาอุปไมย ฯลฯ ก็อาจจะเป็นอะไรที่แยกออกจากกันได้ยากในสังคมที่มีโครงสร้างและระบบวิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ไม่ได้มีการแยกโลกที่จับต้องได้กับโลกที่อยู่เหนือปรสาทสัมผัสทั้งห้า ภาษาของชีวิตประจำวันกับภาษาในตำนานเองก็ยังแยกออกจากกันได้ยาก ความแตกต่างของโครงสร้างความคิดและระบบความคิดของสังคมใดสังคมหนึ่งก็จะทำให้การรับรู้เรื่องราวในลักษณะที่แตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่งๆ ดังนั้นคนอ่านจำนวนหนึ่งในกรอบความคิดแบบหนึ่งก็สามารถที่จะแยกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงและอะไรเป็นเรื่องที่ไม่มีวันที่จะเป็นจริง เช่น ถ้าเอา Hamlet หรือ Macbeth ของ Shakespeare ไปอ่านให้เหล่าชนเผ่าพื้นเมืองในดินแดนต่างๆ ฟัง ก็จะได้ความเข้าใจในอีกรูปแบบ เป็นต้น

นิยายมัน reinvent ตัวเองเมื่อคุณฟัง เพราะคุณรับรู้นิยายภายใต้โครงสร้างชุดความรู้หรือความเข้าใจของคุณ เช่น ถ้าคุณไปบอกป๋าเปรมว่า พระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่สี่สร้างขึ้นมา คงเข้าใจไม่ได้ มันไม่เมคเซ้นส์สำหรับแก ลองนึกภาพว่าเข้าไทม์แมชชีนไปหาสมเด็จพระนเรศวรแล้วถามว่ารู้จักพระสยามเทวาธิราชไหม แกคงถามว่ามึงพูดอะไรของมึง

กรอบความคิดที่เชื่อในภาษาตามธรรมชาติและภาษาวรรณกรรมหรือภาษาในตำนานนั้น เมื่อผนวกเข้ากับระบบความคิดและความเข้าใจทางวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกก็คือการเพิ่มปริมาณของความหลากหลาย ครั้นเมื่อผนวกกับความหลากหลายของตัวบทอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังเปิดโอกาสให้กับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องราวต่างๆ ได้ ก็ยิ่งเพิ่มความหลากหลายให้มีมากขึ้นไปอีก สำหรับในโลกของหนังสือแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมิติของการเขียนหรือจะเป็นการอ่าน ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้จากคนนอก เป็นความรู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขได้แบบที่เกิดขึ้นกับวิกิพีเดียแต่ความรู้แบบนี้ก็สามารถที่จะหาผู้ประพันธ์ได้อย่างแท้จริง เพราะทุกๆ คนสามารถที่จะเข้าไปแก้ไข ตัดทอน เพิ่มเติม จนกลายเป็นผู้ประพันธ์ร่วมไปได้ แต่ก็ไม่ได้มีใครที่ได้ “คะแนน” หรือ “เงิน” จากการประพันธ์ลักษณะนี้ไป เพราะทุกๆ คนเป็นผู้ประพันธ์นิรนาม
 

พื้นที่ของตัวบทแบบวิกิพีเดียจึงเป็นโลกในอุดมคติของศาสนาที่ไม่มีใครสามารถที่จะแสดงความเป็นเจ้าของ หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกๆ คนก็เป็นเจ้าของ นี่เป็นอุดมคติของคอมมิวนิสต์ที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในโลกดิจิตอล ทุกๆ คนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองให้กับสถาบันการศึกษาที่นับวันค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาก็มีแต่สูงขึ้น เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของก็ทำให้สถานะของการไม่มีเจ้าของเป็นหมายเลขหนึ่ง เลขที่จะต้องปรากฏออกมาเมื่อใดก็ตามที่มีใครสักคนใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อแสวงหาอะไรบางอย่าง เพียงแต่เลขหนึ่งนี้ไม่ได้ถูกกำกับด้วยกรอบความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวอีกต่อไป

พื้นที่ความรู้แบบวิกิพีเดียนั้น สภาวะของการเป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อไม่มีความเป็นของส่วนตัว ไม่มีใครเป็นผู้แสดง “อำนาจ” ของผู้ประพันธ์ ก็ทำให้ผลงานชิ้นนั้นหาคนรับผิดชอบไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบรวมหมู่” ที่เกิดขึ้นจากการไม่มีใครลงนาม ตัวบทแบบนี้มีความยืดหยุ่นไม่มีลักษณะที่ตายตัวแบบตัวบทสิ่งพิมพ์กระดาษ เนื้อหาจึงพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปได้ในทุกๆ วินาที จนไม่มีอะไรเพียงพอที่จะจับต้องได้ว่าเป็นฝีมือใคร ตัวบทแบบนี้จึงไม่เหลือร่องรอยแห่งการแห่งอัตลักษณ์ของผู้เขียนเอาไว้ ความหวาดกลัวต่อการสูญหายของอัตลักษณ์แห่งปัจเจกชนดูจะไม่แตกต่างไปจากความหวาดวิตกของ เพลโต เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียนเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว การเกิดขึ้นของตัวอีกษรทำให้การใช้ความทรงจำจาการเรียนรู้ผ่านมุขปาถะหรือภาษาพูดหมดความสำคัญลงในสังคมกรีกโบราณ

พื้นที่ของการอ่านและความรู้ที่เกิดขึ้นจาก “คอมมิวนิตส์ดิจิตอล” จนทำให้อัตตาและความเป็นปัจเจกชนสลายหายไปนั้นถือได้ว่าเป็นภัยอันตรายสำหรับสำนึกแบบปัจเจกชนเป็นใหญ่ ความหวาดวิตกนี้ทำให้หนึ่งในเจ้ายุทธจักรแห่งโลกดิจิตอล Jaron Lanier ในปี ค.ศ.2006 เรียกว่า “ลัทธิดิจิตอลเหมา” (Digital Maoism) ที่ทุกอย่างตกเป็นของส่วนรวมและอยู่ภาตใต้ “อภิ” (meta) ภายใต้นามของ Google หรือวิกิพีเดียมากกว่าจะเป็นของปัจเจกชนคนหนึ่งๆ ผู้สร้างสรรค์งานขึ้นมา สภาวะของความเป็น “อภิ” นั้นเป็นอะไรที่ดูจะขัดแย้งและสร้างความวิตกจริตให้กับสำนึกอุดมคติแบบอเมริกันที่พร้อมจะเห็นการกระทำของส่วนรวมในลักษณะที่ไม่ปรากฏอัตลักษณ์ ว่าคือรูปการแสดงออกของเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) และองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำตัวเป็นศูนย์กลาง

โดย Lanier เห็นว่า เหมือนกับอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลที่ไม่รู้ว่าใครเขียน สภาวะของพระคัมภีร์ก็ทำให้ทุกอย่างเป็นเพียงการบงการของพระผู้เป็นเจ้าที่ทำให้มนุษย์เป็นพียงผู้แบกรับภาระให้กับพระองค์ แต่มนุษย์ก็จะไม่ได้ชื่อเสียงหรือการยอมรับใดๆ แตในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเห็นตัวตนของพระผู้เป็นเจ้า การเขียนเป็นการเขียนแบบ “มือที่มองไม่เห็น”ของ Adam Smith แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว การทำงานของ “มือที่มองไม่เห็น”มักจะล้มเหลวเสมอๆ เช่นที่ปรากฏให้เห็นในอาณาเขตของเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่ามือผู้ประพันธ์ที่มองไม่เห็นนั้นดำรงอยู่เสมือนหนึ่งว่าไม่ได้ดำรงอยู่

พื้นที่ของการอ่านในโลกคอมพิวเตอร์หรือ “ความจริงที่เสมือนจริง” ยังเป็น Hypermedia ที่เชื่อมต่อโลกของภาพ เสียง ดัชนี สัญลักษณ์ และภาษาเข้าด้วยกัน ไปจนถึงสภาวะของการตอบโต้กัน (interactivity) พื้นที่ของ Hypermedia จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องต่อสู้แข่งขันกัน ประสาทสัมผัสจึงต้องทำงานด้วยกันหมดทุกส่วนการอ่านแบบเงียบๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไปในโลกของ Hypermedia การอ่านจึงไม่ได้ต้องการความนิ่ง แต่ต้องการพลวัตร การเปลี่ยนสถานะไหลลื่นไปตามที่ต่างๆ โดยการเดินทางก็ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นแต่ละลำดับแต่ละขั้น โดยที่พัฒนาการของการเล่าเรื่องก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ประหนึ่งกับการประกอบสร้างโครงสร้างปิรามิดที่ทุกอย่างต้องไปรวมศูนย์อยู่ที่จุดยอดหรือรวมศูนย์อยู่ที่พระผู้เป็นเจ้าตามกรอบคิดของเอกเทวนิยม (monotheism) พัฒนาการแบบเส้นตรง (unilinear) กำลังจะกลายเป็นอดีต แต่ถึงกระนั้นก็ดี สิ่งที่แปลกใหม่บนโลกดิจิตอลก็ยังคงนำเสนออะไรบางอย่างที่คุ้นเคย เช่น การพลิกหน้า เป็นต้น เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีเสียงคลิกไปจนถึงเสียงการพลิกจากมือผ่านโลกดิจิตอล

หนังสือดิจิตอลไม่ได้เป็นภาพที่เคลื่อนไหวแบบสื่ออื่นๆ เพราะยังไม่ได้พัฒนาจนมีหนังสือแบบที่เป็นหนังสือในจินตนาการแบบ Harry Potter แม้ว่ากระบวนการ Automation นั้นจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกถ่ายทอดลงไปในโลกดิจิตอลเพื่อความสะดวกมากกว่าที่จะสร้างความสัมมพันธ์สองทางระหว่างผู้ประพันธ์กับผู้อ่าน เพราะสภาวะของการตอบโต้กันยังคงเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หนังสือที่มีผู้ประพันธ์ยากที่จะเกิดสภาวะของสหกิริยา (interactive) ขึ้นมาได้ ยกตัวอย่าง หากมีหนังสือเล่มหนึ่ง ปราบดา หยุ่นเขียน แล้วทุกคนเข้าไปแก้หมด แบบวิกิพีเดีย ตกลงแล้วใครเป็นคนเขียน ยังจินตนาการไม่ออก ตอนนี้มีนักเขียนอเมริกันหลายคนพยายามที่จะทำในลักษณะนี้ แต่ส่วนตัวยังไม่เคยอ่าน

สถานะของผู้ประพันธ์ของดินแดนแห่งสำนึกเรื่อง “ทรัพย์สินส่วนตัว” (private property) ซึ่งก็เป็นประเทศอังกฤษนี่เองที่ทำให้คำว่า “copyright” ได้สำแดงอานุภาพออกมาในปี ค.ศ.1710 และเมื่อเป็นทรัพย์สินส่วนตัวอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติตามกรอบคิดของ John Locke ก็หมายความว่าหนังสือเป็นอะไรที่ละเมิดไม่ได้ สิ่งที่ละเมิดมิได้นั้นคือความคิดริเริ่ม (originality) อันเป็นความคิดของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ แต่กลายมาเป็นความคิดกระแสหลักในศตวรรษที่สิปแปด เพื่อแสดงลักษณะของความเป็นปัจเจกชน จนทำให้ผลงานวรรณกรรมกลายเป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่มีรูปร่างไม่มีตัวตนแต่มีเจ้ารของที่ครอบครองอะไรที่ไม่มีความเป็นวัตถุเหล่านี้

ภายใต้กฎหมายและสำนึกของผู้อ่านก็ไม่สามารถที่จะเป็นได้ทั้งผู้ประพันธ์และผู้อ่านในเวลาเดียวกัน โลกทุนนิยมหนังสือยังไม่มีพื้นที่ของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันระหว่างผู้ประพันธ์และคนอ่าน สิ่งที่ผู้อ่านอาจจะเป็นไปได้ก็คือ เป็นผู้อ่านที่มีจิตสำนึกและมีความคิดเป็นของตัวเองในการประเมินสิ่งที่ผู้อ่านอ่านมากกว่าที่ผู้ที่มี “สิทธิอำนาจ” ในเรื่องราวของบทประพันธ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลกของ Hypertext นั้นเป็นเพียงว่า หนังสือถูกถ่ายทอดลงไปสู่โลกดิจิตอล หนังสือเล่มหนึ่งภายใต้ความเป็นเจ้าของที่เป็นของมนุษย์นั้นไม่สามารถเกิดภาพ Hypertext ได้เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนๆ หนึ่งจะประพันธ์เรื่องราวต่างๆ ขึ้นได้ทั้งหมดเพียงคนเดียวในโลก Hypertext เพราะโลกของ Hypertext เองก็วางอยู่บนฐานความคิดในเรื่องของการเชื่อมต่อของตัวบทที่แต่ละชิ้นต่างก็มีเจ้าของ จนทำให้กรอบความคิดของ Roland Barthes เรื่อง “ความตายของผู้ประพันธ์” (the Death of the Author) เกิดขึ้นไม่ได้อย่างน้อยๆ ก็ในความเข้าใจของกฎหมาย แต่ในโลกวรรณกรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กรอบความคิดเรื่อง “ผู้ประพันธ์ตายแล้ว” ที่ไม่ใช่ผู้ประพันธ์ที่มีชีวิตเลือดเนื้อละมีความเป็นเจ้าของนั้น เป็นกรอบความคิดที่วางอยู่บนฐานคิดที่ให้ความสำคัญกับ “ความคิด” ในฐานนะที่เป็นนามธรรมที่แสดงรูปลักษณ์ออกมาเป็นรูปธรรม สภาวะของการเป็นเจ้าของที่มี “อำนาจเหนือสิ่งนั้นๆ ” ได้แสดงพลังแห่งอำนาจของบุคคลผู้นั้นในการสร้างและประดิษฐ์คิดค้น สภาวะที่เป็นรากฐานให้กับมนุษยนิยมและมนุษย์ศาสตร์เพียงแต่การแสดงอำนาจเหล่านี้ก็ต้องดำเนินไปตามกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง อย่างไรก็ดี ตัวบทเป็นอะไรที่หลากหลาย และอย่างน้อยๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่ปรากฏในความคิดของ Roland Barthes ผู้เสนอความคิดเรื่อง "ความตายของผู้ประพันธ์"

สำหรับ Barthes แล้ว ตัวบทที่ไม่ใช่หนังสือนั้นก็มีลักษณะของความเป็นพหุ (plural) ไม่ได้มีความเป็นหนึ่งเดียว เพราะตัวบท “ระเบิด” “กระจาย” ไปในที่ต่างๆ ตัวบทไม่ได้เป็นอะไรที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็น “เครือข่าย” นอกจากนั้นมันก็เป็นอะไรที่ “นับไม่ได้” เพราะตัวบทต่างๆ เหล่านี้ถูกนำไปผลิตซ้ำๆ ไม่ได้แตกต่างไปจากการสร้างไฟล์หรือการคัดลอกไฟล์ในโลกคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ในโลกดิจิตอลสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลับเข้ามาอยู่ในโลกของภาพและจอประมวลผล โลกที่แตกต่างไปจากโลกของภาษา ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการอธิบายภาพผ่านหลักการและการทำงานของภาษาจนทำให้ภาพ (image) และประติมาน (icon) ถูกลดทอนให้เหลือเพียงภาษาก็ตามที

ครั้นถ้าพิจารณาจากตัวบทกลับไปสู่สภาวะของการเป็นหนังสือก็เป็นสภาวะที่หลากหลายด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยหนังสือนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ประพันธ์ เพราะยังต้องมีสำนักพิมพ์ เจ้าของสำนักพิมพ์ คนจัดหน้า จัดรูปแบบของตัวอักษร คนออกแบบรูปร่าง ขนาด และปกหนังสิอ ไล่เรียงไปจนถึงบรรณาธิการที่ดูแลตั้งแต่เรื่องของภาษาไปจนถึงการจัดพิมพ์ หนังสือไม่ได้มีเพียงแค่นักเขียน แต่ต้องการอะไรอื่นๆ อีกมากมายจนกระทั่งถึงกระบวนการที่กลายเป็นหนังสือ สำหรับก่อนที่หนังสือจะมีสถานะของการมี ‘เจ้าของคนเดียว’ นั้น หนังสือในฐานะกระบวนการเรียนรู้เป็น “ของขวัญที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน” ให้กับมนุษย์ ดังนั้นเมื่อเป็น “ของขวัญ” จากพระผู้เป็นเจ้า ก็ย่อมไม่มีใครหรือผู้ใดที่ได้ครอบครองเป็นของส่วนตัว แต่ต้องเป็นของส่วนรวม เมื่อเป็นของส่วนรวมก็ไม่สามารถที่จะใช้ไปเพื่อหวังผลกำไรได้


ภาพโดย Ozyman (CC BY-NC-SA 2.0)

สถานะของหนังสือเป็นกระบวนการสร้างวัตถุที่มีวัฒนธรรมของการผลิต หนังสือที่แต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็มีวิธีการนำเสนอหรือการทำที่แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวัตถุสำหรับการอ่านจากเป็นม้วน (scroll) มาสู่การเย็บเล่ม เปลี่ยนจากการอ่านจากบนลงล่างมาสู่การพลิกหน้า การจัดย่อหน้า การจัดประโยคให้อยู่ในรูปแบบของการเล่าเรื่องที่มีย่อหน้าไปสู่การจัดประโยคให้อยู่ในรูปของประโยคๆ เดียว ประโยคที่ปรากฏในรูปแบบของบทกวี ประโยคที่ไม่ได้ถูกกั้นด้วยช่องไฟหรือจุด ประโยคหัวกระสุน (Bullet Point) ในรูปแบบที่นำเสนอกันในลักษณะของ Power Point ที่ไม่มีความเป็นบทกวี แต่เป็นคำสั้นๆ เป็นจุดๆ และไม่ได้มีอะไรเชื่อมต่อกันก็ได้ ไม่ต้องการคำสันธาน คำบุพบท ประธาน หรือกรรม เป็นต้น ประโยคหัวกระสุนแสดงให้เห็นถึงความรู้ที่ถูกย่อยและตัดถอนแตกเป็นเสี่ยงๆ เพื่อให้เหลือเพียงหัวกระสุนเพียงหัวเดียว หัวกระสุนที่แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็ว สั้นและกระชับเสียยิ่งกว่าบันทึกช่วยจำ (memo) ซึ่งทั้งหมดก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของสภาวะสมัยใหม่

ความเร็วและความต้องการจะมีอะไรพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน มากกว่าที่จะพุ่งเป้าไปที่ๆ เดียวทำให้การอ่านในโลกคอมพิวเตอร์เต็มไปด้วยความหลากหลาย การอ่านไม่ได้เป็นเพียงแค่การอ่านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการอ่านใน “วัตถุแบบอื่น” หรือ “สื่อ” อื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่น การอ่านอีเมล เป็นต้น ผู้อ่านเองก็พร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนไปสู่การอ่านอะไรแบบอื่นๆ เพียงในระยะเวลาไม่กี่นาที ถึงแม้ว่าการอ่านตัวบทในโลกดิจิตอลจะทำให้ผู้อ่านไม่ได้ติดตรึงอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยผู้อ่านสามารถที่จะเคลื่อนตัวไปในพื้นที่ต่างๆ ของตัวบทต่างๆ ได้อย่างเสรี การอ่านในโลกดิจิตอลจึงเป็นการอ่านที่มีเสรีภาพ แม้ว่าเสรีภาพที่กล่าวถึงนั้นจะหมายความถึงความไม่อดทนต่อการอ่านอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระบะเวลายาวนานก็ตาม ถ้าจะกล่าวในเชิงศีลธรรมนั่นก็คือ ผู้อ่านทุกๆ คนพร้อมที่จะถูกล่อลวงไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ดี หนังสือไม่ว่าจะเป็นกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ซี่งไม่ใช่ตัวบทก็ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่ถูกตรอกตรึงไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือชื่อของผู้ประพันธ์ยังอยู่เหมือนเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงถูกติดตรึงไว้อย่างแน่นหนาให้เห็นถึงการไม่เปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ผู้ประพันธ์นำเสนอ แต่ในพื้นที่ของโลกดิจิตอลที่ทุกอย่างกลายเป็นเพียงแค่การแทนที่ข้อความหรือใส่อะไรบางอย่างใหม่ลงไปในพื้นที่อันเดิม ในขณะที่หนังสือกระดาษต้องการพื้นที่ในลักษณะแบบเดียวกันกับรัฐสมัยใหม่ตลอดจนปัจเจกชนซึ่งต่างก็ต้องการดินแดนที่แน่นอนตายตัว แถมยังถูกกำกับด้วยกรอบความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน สำหรับในโลกดิจิตอลทุกอย่างนั้นก็สามารถเล็ดรอดออกไปได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของโลกดิจิตอลก็คือการเชื่อมต่อกับอะไรอื่นๆ จนทำให้ไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าอยู่ข้างนอกหรืออยู่ข้างใน แต่เป้าหมายของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้มีความมุ่งหวังที่จะเชื่อมต่อกับหนังสือเล่มอื่นๆ เพราะหนังสือแต่ละเล่มถูกกำหนดให้มีขอบเขตด้วยกฎหมาย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จึงไม่ได้ใช้กรอบความคิดเช่นดียวกับการทำวีซ่าครั้งเดียวแล้วเข้าได้หลายๆ ประเทศ

ในขณะที่พื้นที่ของดิจิตอลเป็นพื้นที่ของการเชื่อมต่อ การแบ่งปัน ร่วมกันใช้พื้นที่ที่เดียวกัน ผลัดหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป หรือถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ การกำหนดแบ่งหรือแยกพื้นที่ถูกทำลาย นอกจากนั้น ในโลกของ Hypertext ทุกอย่างไม่ได้พุ่งเป้าไปสู่จุดสุดยอดหรือมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว สถานะของผู้ประพันธ์จึงไม่ได้มีอำนาจ (authority) ในฐานะที่เป็น “ผู้ประพันธ์” (author) ได้ง่ายๆ แบบเดิมอีกต่อไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า Hypertext ที่ผู้อ่านสามารถจะเริ่มต้นเรื่องราวเรื่องหนึ่งแล้วก็เดินทางแยกไปตามแต่ความต้องการของผู้อ่านว่าจะสนใจและต้องการทำความเข้าใจประเด็นที่ตนเองสนใจก่อนหรือหลังอย่างไร ความต้องการของผู้อ่านนั้นมาก่อนเสมอ จนยากที่จะมีใครบังคับได้ ในขณะเดียวกัน การอ่านที่แยกออกไปจากความต้องการอ่านตัวบทเดิมก็สามารถที่จะหันกลับมาบรรจบกับเส้นทางของการอ่านอันแรกก็ได้ การแสวงหาความเป็นเอกภาพร่วมกันจาการอ่านจึงเป็นอะไรที่ยากมากยิ่งขึ้นไปกว่าการอ่านที่นำไปสู่การตีความที่ไม่เหมือนกัน

เส้นทางของการอ่านจึงไม่ได้มีการบังคับตายตัวแบบหนังสืออันเป็นการอ่านที่ดำเนินไปแบบเส้นตรงหรือใช้ตรรกะนิรนัย (deductive) จนไม่สามารถทำให้ผู้อ่านออกนอกลู่นอกทางไปได้ ถึงแม้ว่าผู้อ่านจะไม่ได้เป็นผู้ประพันธ์ แต่ผู้อ่านก็เป็นผู้แสดงที่สามารถจะแหวกจารีตของการอ่านเพื่อไม่ต้องถึงจุดสุดยอดเหนือเป้าหมายที่ผู้เขียนตั้งเป้าเอาไว้ จนทำให้การอ่านเหลือเพียงแค่การได้แสดงหรือเล่นกับการอ่านที่กระทำด้วยการบังคับทิศทางที่ผู้อ่านพึงปรารถนา แรงปรารถนาที่ไม่สามารถจะคาดได้ว่าผู้อ่านจะเลือกไปในเส้นทางใด ผลลัพธ์จึงเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้

แล้วแต่คุณจะอ่าน ผมอ่านเรื่องซีเรียอาจจะจบลงที่ปัญหาความขัดแย้งของอังกฤษกับอาร์เจนตินาก็ได้ เหมือนทุกวันนี้ เหมือนว่า ที่เราคิดว่ากระทรวงไอซีทีอยากปิดก็ปิดไป ยังไงก็อ่านได้อยู่แล้ว ทุกคนเล็ดรอดออกไปได้ ถ้าพูดแบบอนุรักษนิยม โอกาสที่สังคมจะไม่ปรองดองจะมีสูงขึ้นในระยะยาว เพราะไม่สามารถบังคับให้คนอ่านในสิ่งที่ต้องการได้อีกแล้ว

การคาดเดาไม่ได้ของผู้อ่านสร้างเส้นทางแห่งการเป็นองค์อธิปัตย์ (sovereign) ที่กำหนดเส้นทางการอ่านของตนเอง เส้นทางที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัตวิสัยที่สามารถยกระดับไปสู่ของการหลงใหลในตนเองเพราะสิ่งที่ตัวตนรับรู้หรือบริโภคข้อมูลข่าวสารก็คือการแสดงออกของความเป็นองค์อธิปัตย์ เพราะไม่เพียงแต่ได้บริโภคเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเติมความเป็นอัตวิสัยออกไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะในโลกของสหกิริยาย่อมเป็นพื้นที่ที่ใครต่อใครก็สามารถแสดงตัวตนของตัวเองออกมาได้ ตัวตนที่แสดงออกมามีตั้งแต่การจัดรูปแบบของตัวหนังสือ สีที่จะใช้ เป็นต้น การเขียนด้วยคอมพิวเตอร์จึงแตกต่างไปจากพิมพ์ดีด เพราะตัวอักษรของพิมพ์ดีดเป็นอะไรที่เลือกไม่ได้ รูปแบบของตัวอักษรมีลักษณะที่ตายตัว สำหรับการใช้เครื่องพิมพ์ดีดหรือเขียนด้วยลายมือนั้นก็ยังทำให้เห็นร่องรอยของต้นฉบับที่มีการขีดเขียน ระโยงระยางของการแก้ไขคำ เปลี่ยนคำใหม่ ตัดคำ เพิ่มคำ ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นอะไรที่หลงเหลือไว้แต่ในห้องสมุดและเป็นเพียงแค่ร่องรอยในประวัติศาสตร์

ในโลกของ Hypertext ทุกอย่างมีอะไรที่จะต้องอยู่ “เบื้องหลัง” ที่ทุกๆ อณูสามารถที่จะสืบหาได้ต่อเรื่อยๆ ดังราวกับว่าทุกๆ ประโยคต้องมีการอ้างอิงและยังเป็นการอ้างอิงต่อไปได้เรื่อยๆ จนราวกับว่าการเขียนหรือการเล่าเรื่องใน Hypertext เป็นการเขียนที่ไม่มีที่สิ้นสุด การเขียนที่ไม่มีจุดจบในอนาคต ไม่เพียงแต่เท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกเรื่องยังสามารถที่จะผลิตซ้ำได้เรื่อยๆ การเขียนในโลกของ Hypertext จึงเป็นโลกของหลุมดำที่ดูดทุกสิ่งทุกอย่างนำมาหลอมรวมเข้าไว้ในพื้นที่เสมือนจริงที่ดูจะเป็นจริงเสียยิ่งกว่าสิ่งที่เป็นจริงที่ผ่านประสบการณ์การอ่านของโลกสองมิติ ไม่มีอะไรอยู่ในตัวหนังสือบนระนาบแบนๆ ของตัวอักษรที่เรียงรายกันขึ้นมาเป็นประโยค ตัวอักษรบนหนังสือสิ่งพิมพ์กระดาษเป็นอะไรที่ตายตัวไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการของ “ตัวเลขที่ตรงกันข้ามกัน” (binary digit) อันเป็นสิ่งที่ไม่มีมองเห็น

โลกดิจิตอลเป็นทั้งภาษาและรหัส แต่ก็ไม่ได้มีใครสนใจรหัสว่าเป็นอะไรและทำงานอย่างไร เพราะคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ผู้ใช้มีหน้าที่ใช้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามันมีการทำงานอย่างไร หนังสือในโลกของดิจิตอลเป็นโลกของการทำงานที่ใช้ทั้งเวลาและสถานที่ ในขณะที่หนังสือกระดาษไม่มีมิติของการเดินทางของเวลาในการทำให้ตัวอักษรปรากฏ หนังสือกระดาษไม่มีการผสมกันของรหัสต่างๆ ด้วยรหัสที่ไม่มีความสัมพันธ์อะไรกันตั้งแต่เริ่มแรกก็สามารถจับนำมารวมและเรียงลำดับตำแหน่งกันใหม่ รหัสของคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นอะไรที่สำคัญสำหรับชีวิตบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ สิ่งที่เห็นบนจอคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่เนื้อแท้ภายใน แต่ก็ไม่มีใครสนใจว่าเนื้อแท้จริงๆ นั้นเป็นอะไร เพราะสิ่งที่มีเสน่ห์และให้ใคร่ครวญโหยหาก็เป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก สิ่งที่อยู่ภายนอกจึงเป็นอะไรที่สำคัญกว่าสิ่งที่อยู่ภายใน

ภาพภาษาบนจอคอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้เป็นภาษา แต่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางรหัสคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตัวเลขแปลงออกมาเป็นภาพมากว่าที่จะเป็นภาษา ในแง่นี้ ภาพของตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์จึงเป็นเพียงภาพที่ให้ความหมายของคำพูดมากกว่าที่จะเป็นตัวอักษรล้วนๆ ในการที่จะเห็นภาพที่เป็นตัวอีกษรก็ต้องผ่านกระบวนการของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น Mouse ที่ย่อมไม่ใช่สัตว์ที่เรียกว่าหนู และเครื่องหมายที่ต้องการใช้เป็นคำสั่ง เป็นต้น ในขณะที่หนังสือเมื่อเห็นอยู่ตรงหน้าก็รู้แล้วว่าคือตัวหนังสือ เปิดหน้าแรกก็เห็นเรื่องราวและตัวอักษรได้ทันที เบื้องหลังของหนังสือกระดาษก็ไม่ได้มีอะไรลึกลับที่ผู้อ่านเข้าไม่ถึง

ส่วนตัวอักษรและการเล่าเรื่องในตัวบทคอมพิวเตอร์เป็นเพียงเสมือนจริงที่ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรเป็นสิ่งที่จริงหรือไม่จริงอันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากกรอบความคิดของวัฒนธรรมวัตถุหนังสือ วัฒนธรรมที่เป็นเพียงสองมิติ วัฒนธรรมหนังสือจึงมีความชัดเจน ไม่ได้ซ่อนอะไรที่ลึกลับมองไม่เห็น ไม่มีวันหนังสือจะหายไปแบบม้วนเทปคำสั่งเช่นในภาพยนตร์โทรทัศน์ Mission Impossible แต่โลกหนังสือดิจิตอลก็พร้อมเสมอที่จะสลายหายไปจากโลกเสมือนจริง (virtual reality) เมื่อผู้ใช้ออกคำสั่งทำลาย โลกที่ไม่มีใครมองเห็นและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมองให้เห็น ความชัดเขนแบบความต้องการเจาะลึกของโลก Hypertext จึงไม่มีและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี

โดยสรุป ในโลก hypertext ในโลกของการเขียนแบบนี้ มันไม่สามารถจะทำให้ "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" อีกแล้ว มันไม่สามารถทำให้คุณมีโฟกัสร่วมกันอีกได้ง่ายๆ แบบเดิม คุณกำหนดไม่ได้เลยว่าคนอ่านจะอ่านอะไร เพราะถึงแม้ว่ากูเกิลจะขึ้นให้คุณ 10 ที่ แต่มันก็สามารถจะพาคุณไปไหนต่อไหนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดแบบง่ายๆ ในนัยยะทางการเมือง คือ คุณเลิกคิดได้แล้วว่าทุกคนจะคิดในแบบเดิม เพราะไม่ต้องพูดถึงเนื้อหา คุณจะบอกว่ารักชาติศาสน์กษัตริย์แบบที่คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) พูด อ่านใน text นี้ แต่มันพาคุณไปไหนก็ไม่รู้ อาจจะไปลงท้ายที่สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ก็ได้ คุณคุมมันไม่ได้ เหมือนกับที่เราบอกว่าอินเทอร์เน็ตคุณคุมมันไม่ได้ มันล็อคอยู่ในโครงสร้าง มันไม่เหมือนเขียนหนังสือที่ฟอร์มของหนังสือมันตายตัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท