Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนภาคใต้ร่วม 100 ชีวิต ร่วมร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ชูผู้แทนคณะกรรมาธิการอาเซียนฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องปกป้องสิทธิชุมชนและให้สิทธิชุมชนปกป้องทรัพยากรจากกลุ่มทุน และให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติในทุกประเทศได้สิทธิเป็นพลเมืองอาเซียน

ประชาคมภาคใต้รับ อาเซียนจำเป็น แต่ต้องป้องสิทธิชุมชน

ยุคก้าวเข้าสู่โลกที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริงอาจกำลังมาถึงอย่างแท้จริงแล้ว เมื่อ “ประชาคมอาเซียน” กำลังจะเกิดขึ้นก้าวเป็นหนึ่งเดียวด้วยแนวคิดใหม่ที่ว่า เราจะหลอมรวมเป็นประชาคมหนึ่งเดียว สร้างสรรค์และดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน สร้างอัตลักษณ์เป็นหนึ่งเดียวภายใต้วิสัยทัศน์อาเซียน “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” (One Vision, One Identity, One Community) ซึ่งจะทำให้เป็นจริงภายในปี 2558 แต่ในความเป็นจริงแล้วแต่ละประเทศยังคงดำรงความเป็นตัวของตัวเอง แยกกันคิด แยกกันทำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คำถามคือจะทำอย่างไร ประเทศสมาชิกของอาเซียนจึงจะก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กัน

เพื่อเตรียมก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสัมฤทธิ์ผล หลายปีที่ผ่านมาได้มีการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดปฏิญญาอาเซียนขึ้นมามากมายหลายประเด็น เพื่อเตรียมการให้เอื้อต่อแนวทางในการอยู่ร่วมกันของการเป็นพลเมืองอาเซียน อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2552 ปฏิญญาอาเซียนเรื่องการปกป้องและส่งเสริมสิทธิด้านแรงงานข้ามชาติ เมื่อปี 2550 เป็นต้น เพื่อให้อาเซียนมีกฎกติการ่วมกันในทุกด้านให้ทันในปี 2558 ที่ทุกประเทศต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประชาชนระดับรากหญ้าเข้าถึงความรู้ประเด็นอาเซียนน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ทั้งยังเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาเซียนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย ซึ่งปฏิญญาที่จะร่างเป็นปฏิญญาแรกของอาเซียนคือ “ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”

ผู้แทนอาเซียน ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนคณะกรรมาธิการไทยระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ ไอชาร์ (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการระดมข้อเสนอเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศไทยเข้าสู่ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มองว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการจัดทำปฏิญญาฯ ในหมู่ประชาชนคนไทยและองค์กรต่างๆ ในสังคมไทยยังมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการเพิ่มพูนความเข้าใจและสร้างการตระหนักรู้ในสาธารณชนเกี่ยวกับ AICHR รวมถึงความหมายและความสำคัญของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

AICHR ได้ร่วมกับมูลนิธิเสฐียรโกเศศ – นาคะประทีป และมูลนิธิคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา โดยเชิญองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาชนทั่วภาคใต้จำนวน 70 คน ซึ่งทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านการศึกษา แรงงาน การพัฒนา เครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ผู้พิการ กลุ่มผู้หญิง รวมถึงกลุ่มเยาวชน ประกอบด้วย จังหวัดตรัง สุราษฎร์ธานี พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา ระนอง พังงา และจังหวัดสตูล เข้าร่วมระดมความคิดเห็นในประเด็นสิทธิคนพิการ สิทธิเด็กและเยาวชน สิทธิของผู้ไร้รัฐไร้สัญชาติ สิทธิสตรี สิทธิแรงงานข้ามชาติ สิทธิด้านการพัฒนาในภาพรวม

ประชาคมภาคใต้รับ อาเซียนจำเป็น แต่ต้องป้องสิทธิชุมชน

จากการสัมมนา ภาคประชาชนมีข้อเสนอหลากหลาย อาทิ คนพิการเรียกร้องให้คนพิการบางกลุ่มที่พิการเพียงเล็กน้อยมีสิทธิในการเรียนแพทย์ เข้าถึงการศึกษาได้เท่าเทียมกับคนปกติ เข้าถึงสิทธิการคุ้มครองค่าแรงและสวัสดิการเท่าเทียมคนปกติ กลุ่มเด็กและเยาวชนเรียกร้องให้มีการเตรียมการรองรับทางการศึกษา การเปิดโรงเรียนรองรับเด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัวเป็นสำคัญ ตลอดจนการเคารพอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

จากเวทีพบว่า มีประเด็นที่เป็นข้อเสนอใหม่ต่ออาเซียน มาจากกลุ่มคนทำงานแรงงานข้ามชาติที่เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้แทนคณะกรรมาธิการอาเซียนฯ อยากให้ในอาเซียนมีการเลือกผู้แทนโดยการเลือกตั้ง และให้มีผู้แทนตามประเด็นเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในอาเซียนทุกกลุ่ม เช่น แรงงานข้ามชาติ ผู้พิการ สตรี การคุ้มครองแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน ให้มีความเท่าเทียมกันกับคนที่ใช้แรงงานในประเทศที่แรงงานต่างชาติทำงานอยู่ เช่น เรื่อง ค่าจ้าง ภาษี การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและบริการของรัฐ กระบวนการยุติธรรมนอกจากนี้ยังมีประเด็นจากกลุ่มสิทธิการพัฒนาจากภาพรวมที่กลัวว่ากฎกติกาอาเซียนบางข้อให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนมากกว่า จึงเรียกร้องให้เขียนในปฏิญญาว่า “ชุมชนมีสิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์สาธารณะ” และประเด็นจากกลุ่มสิทธิคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เรียกร้องให้ปฏิญญาบัญญัติว่า คนที่ไร้รัฐไร้สัญชาติในทุกประเทศให้ถือว่าเป็น “พลเมืองของอาเซียน” และได้รับสิทธิในฐานะพลเมือง

ดร.ศรีประภา ได้ให้ความคิดเห็นในแง่ของการเลือกตั้งผู้แทนว่า การเลือกตั้งผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญของอาเซียน ในอนาคตหากเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียน ก็สามารถให้มีการเลือกตั้งผู้แทนได้ หากมีกลไกที่ทำหน้าที่เช่นนี้ เช่น การรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิ เรื่องการนำไปใช้ ต้องเป็นประชาชนนำไปใช้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนอ้างต่อรัฐและรัฐบาลไทย และมีความร่วมมือระหว่างรัฐที่จะทำให้ความร่วมมือได้รับการยอมรับ โดยสร้างกลไกความร่วมมือ เช่น เรื่องแรงงาน สิ่งที่ได้รับจากหลายกลุ่ม จะนำไปใช้สำหรับการเจรจา

นายสุรสีห์ โกศลนาวิน ประธานมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป กล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งประชาคมอาเซียนอยู่บนโครงสร้างของ 3 เสาหลัก คือ 1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้ง ระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน 2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ 3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม

การที่ประเทศสมาชิกอาเซียนรับรองกฎบัตรอาเซียนเมื่อปี 2550 ส่งผลให้แต่ละประเทศต่างมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียน เรียกว่าการก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนนั้น เราประเทศสมาชิกต้องยอมรับกติกาใหม่ของอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ในปี 2558 นี้ กล่าวง่ายๆ เราอาจต้องเปิดหน้าต่างหลายๆ บานจากที่ไม่เคยเปิดมาก่อน เพื่อต้อนรับเพื่อนบ้านอย่างเปิดกว้างภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการเปิดเสรีด้านแรงงาน อาชีพสงวนที่เปิดรับเฉพาะคนในประเทศเท่านั้นทำได้ แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะไม่เป็นเช่นนั้นอีก หรือในอนาคตการข้ามพรมแดนในแต่ละประเทศอาจทำได้อย่างเสรี กรณีเรื่องแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอาจเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีไปด้วย ประเด็นเหล่านี้ แต่ละประเทศจะเตรียมการอย่างไร ทัศนคติเดิมๆ ที่เคยมองแรงงานข้ามชาติจำต้องเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความเป็น “มนุษย์” เราต้องก้าวข้ามหรือก้าวให้พ้นเส้นพรมแดนที่ขีดแบ่งแยกเราให้ได้ เราจะยอมรับพวกเราในฐานะพลเมืองอาเซียนกันอย่างไร ....แบบเท่าเทียม เสมอภาค และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้

สำหรับเรื่องสิทธิมนุษยชนอาเซียน เป็นความพยายามของประเทศสมาชิกที่จะผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในกฎบัตรอาเซียน วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในอาเซียน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบริบทในภูมิภาคแห่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net