Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ที่โรงงานของบริษัทบีเอสทีอิลาสโตเมอร์ ในเครือบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่ได้ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด ได้ออกมาให้ความเห็นว่า แม้การรับมือสถานการณ์ อาทิ การควบคุมเพลิง การตัดสินใจประกาศอพยพจะเป็นไปอย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ในด้านอื่นๆ ยังคงมีปัญหาอยู่โดยเฉพาะการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี เช่น สารโทลูอีน ซึ่งแท้จริงแล้วมีอันตราย และเป็นไปได้ว่าจะยังคงตกค้างอยู่ในพื้นที่อีกเป็นเวลานาน ไม่เฉพาะวันเกิดเหตุ จนเป็นเหตุให้การป้องกันตัวเองจากสารเคมีของประชาชนยังไม่รัดกุมเพียงพอ นอกจากนี้ในด้านระบบจัดการกับอุบัติภัยสารเคมีของประเทศไทยที่ยังมีส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก

7 พฤษภาคม 2555 ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ นางสาววลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารเคมี ระบุว่า แม้สารโทลูอีนโดยลำพังจะระเหยง่าย แต่เมื่ออยู่ในบรรยากาศที่มีโอโซนและแสงแดด จะคงตัวอยู่ได้นานถึง 27,950 วัน หรือมากกว่า 76 ปี ทั้งนี้ในพื้นที่มาบตาพุดมีการตรวจพบสารโอโซนโดยกรมควบคุมมลพิษในจำนวนเกินค่ามาตรฐานทุกปีและในทุกสถานีตรวจวัดของพื้นที่มาบตาพุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า สารโทลูอีนที่ปล่อยออกมาจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ จะคงอยู่ยาวนานมากกว่า 2 วัน และอาจมากถึง 70 กว่าปี เพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะได้รับสารโทลูอีน ซึ่งมีฤทธิ์เฉียบพลัน คือ ระคายเคืองจมูกและปอด เจ็บในทรวงอก และในระยะยาว สารโทลูอีนมีพิษต่อตับ ไต สมอง กระเพาะปัสสาวะ และระบบประสาท รวมทั้งพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ดังนั้นมาตรการเฝ้าระวังสารเคมีปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มิใช่ว่าเพียงสองวันก็ประกาศว่าสถานการณ์เป็นปกติแล้ว

การเฝ้าระวังค่าปนเปื้อนของสารเคมีในอากาศยังจำเป็นต้องตรวจวัดสารเคมีอีกหลายชนิด มิใช่สารโทลูอีนเพียงอย่างเดียว เพลิงไหม้ที่โรงงาน BST ทำให้สารโทลูอีนถูกเผาไหม้ ก่อปฏิกิริยาทางเคมีเปลี่ยนเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายได้อีกหลายชนิด เช่น หากโทลูอีนถูกเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ จะเกิดสารคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้คลื่นไส้ เวียนหัว จนถึงหมดสติและเสียชีวิตได้หากได้รับในปริมาณมาก หากเผาไหม้เกือบสมบูรณ์ จะเกิดสารคาร์บอนมอนออกไซด์ เป็นพิษเมื่อสูดดม ระคายเคืองผิวหนัง ระคายตา ทางเดินหายใจส่วนบน และยังเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ควันดำที่เห็นจากเหตุเพลิงไหม้โรงงาน BST เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าสารโทลูอีนได้ถูกเผาไหม้อย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องทางเคมี กลายเป็นสารเคมีอีกหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารอันตรายและมีฤทธิ์เฉียบพลัน บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวังค่าปนเปื้อนของสารเคมีอื่นๆและแจ้งผลให้ประชาชนทราบเป็นระยะ

การให้ข้อมูลทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐเฉพาะเจาะจงที่สารโทลูอีนและการย้ำว่าไม่เป็นสารก่อมะเร็ง จึงถือเป็นการบิดเบือนข้อมูล ทำให้ความน่ากลัวของเหตุการณ์น้อยลง ซึ่งเข้าใจได้ในแง่ที่ไม่อยากให้สาธารณะชนแตกตื่น อย่างไรก็ตาม อาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่นหน่วยกู้ภัยและนักข่าวที่เข้าไปทำข่าวหรือชุมชนรอบๆ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดและไม่ป้องกันตัวอย่างเพียงพอ เช่นมีรายงานว่านักข่าวที่บินไปทำข่าวกับเฮลิคอปเตอร์ในวันต่อมาถึงกับหน้ามืดและอาเจียนจากการสูดสารเคมีเข้าไปเป็นระยะเวลานาน

ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า การที่สามารถควบคุมเหตุเพลิงได้ภายในที่ค่อนข้างรวดเร็ว รวมทั้งตัดสินใจประกาศอพยพ 18 ชุมชน เพื่อป้องกันผลกระทบหากเหตุลุกลามเป็นวงกว้างในครั้งนี้ ถือได้ว่าการจัดการกับอุบัติภัยสารเคมีของประเทศไทยมีพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนจำเป็นต้องปรับปรุงอีกมาก ซึ่งส่วนที่สำคัญคือการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเหตุครั้งนี้ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติอยู่หลายส่วน เช่น ชาวบ้านไม่ได้ยินเสียงตามสายเพราะฝนตกหนัก ระบบ sms ไม่แจ้งเตือนเพราะเจ้าหน้าที่เพิ่งรับทราบข่าวหลังเหตุสงบแล้ว จุดรวมพลในการอพยพไม่ชัดเจน หรือแม้จะมีการประกาศผ่านทางสื่อโทรทัศน์แต่ประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้ดูทีวีก็ไม่ได้รับข้อมูล เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากมาบตาพุดเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ ผลิต และเก็บสารเคมีอันตรายมากที่สุดในประเทศไทย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดอุบัติภัยสารเคมี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการแจ้งเตือนภัย การอพยพ และการจัดการกับอุบัติภัยจะต้องทำงานได้ สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ หากอุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นที่ถังเก็บสารโทลูอีน แต่เป็นสารเคมีชนิดอื่นที่ร้ายแรงกว่า เพราะโรงงานปิโตรเคมีทุกโรงในมาบตาพุดมีการใช้และผลิตสารเคมีอันตรายอีกจำนวนมากที่มีอันตรายร้ายแรงกว่าสารโทลูอีน และหากไม่ได้เกิดในระหว่างที่โรงงานดังกล่าวปิดทำการในวันหยุด โศกนาฏกรรมครั้งนี้ก็อาจรุนแรงและส่งผลเสียหายยิ่งกว่านี้ การป้องกันและเตรียมรับมือจึงมีความจำเป็น

ในแง่การเยียวยารักษาผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยในครั้งนี้ อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนงานทั้งของบริษัท BST และบริษัทรับเหมาเฉพาะทาง และเนื่องจากสารที่ได้รับสัมผัสจำนวนมากซึ่งยังระบุไม่ได้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพระยะยาวของคนงานผู้ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนจะต้องเร่งสร้างมาตรการเหล่านี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net