Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“.....สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่กระทำความผิดคิดวางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิดอย่างแยบยลแนบเนียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งสมควรใช้วิธีการที่เหมาะสมในการคุ้มครองรักษาความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนด้วย จึงไม่แน่แท้เสมอไปว่าชราชน ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวไปเสมอไป....”

บทความ "อากงปลงไม่ตก"
โดยโฆษกศาลยุติธรรม
14 ธ.ค.2554

 

อากงจบชีวิตลงแล้ว ระหว่างอยู่ในเงื้อมมือของกระบวนการยุติธรรม โดยสังคมยังไม่สิ้นสงสัยว่า อากงทำความผิดจริงหรือไม่ เป็นความผิดที่สมควรลงโทษจำคุก 20 ปี รุนแรงยิ่งกว่าคนร้ายฆ่าคนตายขนาดนั้นหรือไม่ เพราะอากงไม่มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ ฎีกา

ก่อนจบชีวิต อากงตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ เช่นเดียวกับจำเลยคดี 112 คนอื่นๆ เพราะหากยื่นอุทธรณ์ ฎีกา ก็อาจต้องถูกจองจำอีกยาวนาน กว่าจะมีคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานว่าผิด หรือไม่ผิด หนทางเดียวที่จะได้อิสระ คือยอมรับสารภาพ หรือยอมให้คดีสิ้นสุด เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ

นี่คือความโหดร้ายของมาตรา 112 ที่ทำให้จำเลยต้องพึ่งพระมหากรุณาธิคุณทางเดียวเท่านั้น หลายสิบปีที่ผ่านมา จึงไม่เคยมีคดีใดขึ้นถึงฎีกา จนมีคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐาน

แน่ละ บางคนอาจเถียงได้ว่า สุขภาพของอากงย่ำแย่มานาน ถ้าได้รับการประกันตัวตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ อากงก็อาจเสียชีวิตที่บ้าน หรือต่อให้ไม่ถูกดำเนินคดีอะไรเลย อากงก็คงเสียชีวิตด้วยโรคร้ายอยู่ดี แต่ป่วยการที่จะโต้แย้ง เพราะความตายของอากงครั้งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระบวนการยุติธรรมเต็มๆ ไม่ใช่เรื่องอ้าง “ถ้า” (เพราะเราก็อ้างได้ว่าถ้าอากงได้อยู่บ้านกับลูกหลาน มีกำลังใจมีความสุขตามอัตภาพ ก็อาจสู้โรคร้ายได้อีกหลายปี)

ทำไมอากงจึงไม่ได้ประกันตัวระหว่างสู้คดี ขณะที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีฆ่าคน ทุจริต ฉ้อฉล ยังได้ประกันตัวกันเกร่อ

ยกตัวอย่างผู้กว้างขวางระดับชาติ “กำนันเป๊าะ” สมชาย คุณปลื้ม ต้องคดีจ้างวานฆ่า “กำนันยูร” นายประยูร สิทธิโชติ ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 25 ปี พร้อม สท.เหี่ยว เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ให้จำคุก 25 ปี โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนคดีทุจริตที่ดินทิ้งขยะเขาไม้แก้ว จำคุก 5 ปี 4 เดือน ศาลให้นับโทษต่อกันเป็นจำคุก 30 ปี 4 เดือน แต่ก็ยังให้ประกันตัวในวงเงิน 10 ล้านบาท

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ไม่มีเจตนาหลบหนี ทั้งยังไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

วันที่ 12 ตุลาคม 2548 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีฆ่ากำนันยูร วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตที่ดินทิ้งขยะ กำนันเป๊าะอ้างว่าป่วย ขอเลื่อน เลื่อนไปเรื่อยๆ จนหนีไปในที่สุด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 ศาลฎีกาจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง ว่ากำนันเป๊าะผิดจริง แต่ให้ลดโทษเป็น 3 ปี 5 เดือน

ส่วนคดีฆ่ากำนันยูร ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาเมื่อ 29 พ.ย.2554 แต่อย่างที่รู้กัน กำนันเป๊าะหายแซบหายสอยไปแล้ว ศาลจึงสั่งปรับนายประกันคือลูกสาว 15 ล้านบาท ส่วน สท.เหี่ยวมีหนังสือขอเลื่อน อ้างว่าติดภารกิจช่วยเหลือน้ำท่วมที่ปทุมธานี (?) ศาลมาอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 นี่เอง ให้จำคุกทั้งคู่ 25 ปี โดยจำเลยหนีไปเรียบร้อย

วัฒนา อัศวเหม “เจ้าพ่อปากน้ำ” ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 10 ปี ตามมาตรา 148 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือ จูงใจ ให้บุคคลอื่นมอบให้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น คือใช้อำนาจข่มขู่หรือจูงใจ ให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และกรมที่ดิน ร่วมกันออกโฉนดที่ดิน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เนื้อที่ 1,900 ไร่ ซึ่งทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม ต่อมาได้มีการนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปสร้างสนามกอล์ฟ และนำไปขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ

คดีนี้ ปปช.ชี้มูลความผิดตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.2550 และมาตัดสินในวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยศาลนัดอ่านคำพิพากษาครั้งแรกวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 แต่นายวัฒนาหลบหนี ศาลสั่งปรับนายประกัน 2.2 ล้านบาทตามที่จำเลยยื่นบัญชีเงินฝากเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว (ศูนย์ข่าวอิศราเคยประเมินทรัพย์สินวัฒนาว่า มีสินทรัพย์ 9,760 ล้านบาท กำนันเป๊าะ 1,254 ล้านบาท)

“เจ้าพ่อปากน้ำ” ไปเบิกความที่ศาลครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ยืนยันความบริสุทธิ์ของตน ถ้าทำผิดจริงให้ลงโทษประหารชีวิต และยังให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะไม่หนีไปไหน จะไปฟังคำพิพากษาแน่นอน แต่ถึงวันที่ 18 สิงหาคม วัฒนาก็ไม่ไป โดยก่อนหน้านั้น 3 วันยังคุยโทรศัพท์กับทนายว่า จะไปฟังคำพิพากษา แต่ไม่ทราบว่ารู้อะไรมาจึงเปลี่ยนใจ

คดีวัฒนายังไม่พิลึกเท่าคดี “น.ช.ทักษิณ”

วันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งสุดท้าย ในคดีที่ดินรัชดา ซึ่งทักษิณ-พจมาน เป็นจำเลย ก่อนหน้านั้น 1 วัน จำเลยได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศ ทักษิณขอไปญี่ปุ่น และจีน ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.ถึง 10 ส.ค. พจมานขอไปจีน 5-10 ส.ค.และไปอังกฤษ 15-20 ส.ค. องค์คณะผู้พิพากษาอนุญาตให้ไปญี่ปุ่นและจีนแต่ให้กลับมาวันที่ 11 ถ้าจะไปอังกฤษให้ยื่นคำร้องใหม่

เหตุผลที่ทักษิณขอไปจีน ถ้ายังจำกันได้ ทนายคำนวณ ชโลปถัมภ์ อ้างว่าเพื่อไปรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ ในพิธีเปิดโอลิมปิก

แล้วเป็นไงละครับ ทักกี้ก็ลอยนวลมาจนทุกวันนี้ท่ามกลางความเป็นเดือดเป็นแค้นของพวกเสื้อเหลือง สลิ่ม แมลงสาบ โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 17 กันยายน 2551 แต่จำเลยหลบหนีไปอยู่ที่อังกฤษเรียบร้อย จึงมาอ่านคำพิพากษาใหม่วันที่ 21 ตุลาคม โดยมีมติ 5 ต่อ 4 “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก 2 ปี”

แทนที่พวกพันธมิตรจะเป็นเดือดเป็นแค้นว่าทักกี้เล่นเล่ห์หนีคดี พวกเขาควรตั้งคำถามว่า ทำไมศาลจึงอนุญาตให้ผู้ร้ายตัวเอ้เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปดูโอลิมปิก ผมยังจำข่าวได้ว่าตอนนั้นพจมานขนกระเป๋าไป 9 ใบ โอ๊ค เอม อุ๊งอิ๊ง ไปส่ง ด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย บางคนถึงกับร่ำไห้ (แค่ไปดูโอลิมปิกเนี่ยนะ)

คำถามวัดใจ
จะลดแรงกดดันไหม
ที่ยกตัวอย่างมาคือ 3 “ชราชน” คนดัง ซึ่งในวันที่หลบหนีอายุได้ 67,71 และ 59 ตามลำดับ โดยมีโทษหนักเบาต่างกัน (25 ปี, 10 ปี, 2 ปี) ทั้งสามได้ประกันตนตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ แม้วางหลักทรัพย์สูง แต่เทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดที่มีก็ไม่ถือเป็นขนหน้าแข้ง

ถามว่าถ้าอากงได้ประกัน อากงมีปัญญาหลบหนีไปอยู่เขมร จีน อังกฤษ หรือไม่ ลูกหลานอากงมีทรัพย์สินพอจะยอมเสี่ยงให้ถูกปรับ ถูกยึด หรือไม่ ระหว่างอากง กำนันเป๊าะ กับวัฒนา ใครมีปัญญาไปยุ่งกับพยานหลักฐานมากกว่ากัน

แน่นอน ประเด็นนี้ถ้ากล่าวให้ถึงที่สุด อย่างที่ อ.วรเจตน์พูดเสมอ ปัญหาของ 112 ข้อสำคัญที่สุด อยู่ที่อุดมการณ์ซึ่งกำกับการบังคับใช้

แต่ขณะเดียวกัน ผู้พิพากษาก็อ้างได้ว่าเนื่องจากความผิดตามมาตรา 112 กำหนดโทษ 3-15 ปี หมายถึงมีโทษขั้นต่ำ ศาลจะลงโทษจำคุกต่ำกว่า 3 ปีไม่ได้ในแต่ละกระทง เมื่อโทษสูงเช่นนี้ก็มีแนวโน้มที่จำเลยจะหลบหนี และมักหลบหนี

ซึ่งมันก็พันกันเป็นงูกินหาง เมื่อโทษสูง และมีแนวโน้มว่าศาลไม่ให้ประกัน ถ้าจำเลยหนีได้ก็หนี หนีไม่ได้ก็ต้องรับสารภาพ เพื่อเร่งให้คดีจบๆ จะได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ผลก็คือคำพิพากษาที่ออกมา มักสิ้นสุดแค่ศาลชั้นต้น ไม่มีคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานจริงๆ ว่า การกระทำอย่างนั้น คำพูดอย่างนี้ เป็นการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จริงหรือไม่ มาตรฐานของการดำเนินคดี 112 ก็ยิ่งคลุมเครือขึ้นไปอีก

คำถามสุดท้ายคือ เมื่อคดีอากงสิ้นสุดลงด้วยความตายของจำเลย ผลสะเทือนที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่อะไร

1.อยู่เฉยๆ ไม่เห็นเป็นไร สื่อทั่วโลกก็ตีข่าวไป สื่อไทยไม่ได้สนใจลงข่าว ใครวิพากษ์วิจารณ์ในเฟซบุคก็ Let It Be (ปากไม่ดีก็เล่นงานอีก)

2.ผู้จงรักภักดีที่มองการณ์ไกล ออกมาเป็นตัวกลางเสนอให้แก้ไขปัญหาบางประการ เช่น แก้ไขกฎหมายที่ไม่ใช่แก้ตามข้อเสนอนิติราษฎร์ แต่แก้เพื่อลดข้อวิพากษ์วิจารณ์ลงระดับหนึ่ง สมมติเช่น ลดโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 7 ปี (เหมือนก่อน 6 ตุลาคม 2519) และให้มีหน่วยงานกลางวินิจฉัยการแจ้งความกล่าวโทษก่อนดำเนินคดี นอกจากนี้ อาจรวมถึงเร่งรัดให้มีการประกันตัว หรือเร่งกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับผู้ที่คดีถึงที่สุดแล้ว

ข้อสองเป็นการมองโลกในแง่ดีสุดๆ คือถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงหลักการ แต่ถ้ามันสามารถประนีประนอมไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในระยะเฉพาะหน้า ผมก็ยอมรับได้ กลัวแต่จะเป็นข้อหนึ่งสิครับ นี่คือเรื่องที่ต้อง “วัดใจ” กัน และต้องวัดพลังว่าพวกผู้จงรักภักดีที่คิดสั้น กับผู้จงรักภักดีที่มองการณ์ไกล อย่างอานันท์ ปันยารชุน หรือราชนิกูลที่เคยเสนอแก้ 112 ใครจะมีพลังผลักดันมากกว่า

สิ่งที่น่ากลัวคือกลัวจะเป็นอย่างที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ไว้ในบทความเรื่อง “สัมพันธภาพเชิงอำนาจ กับความรุนแรง” ว่าพวก “สถาบันเชิงเครือข่าย” ยอมรับไม่ได้กับข้อเสนอของนิติราษฎร์ ไม่ใช่เพราะตัวเนื้อหา “คณะนิติราษฎร์เสนออะไรก็ไม่สำคัญ แต่ท่าทีของคณะนิติราษฎร์ที่กล้าเสนอต่างหากที่สำคัญกว่า”

พูดง่ายๆ คือพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้วมักคิดว่า “ถ้าไม่เรียกร้อง ก็อาจให้ด้วยความกรุณา เหมือนหยาดฝนหลั่งมาเอง แต่ถ้ามาเรียกร้อง แล้วยอมให้ ก็แปลว่ายอมแพ้แรงกดดัน ฉะนั้นยอมไม่ได้”

ถ้าคิดแบบนี้ก็จะหลีกเลี่ยงแรงกดดันไม่พ้น มีแต่จะถาโถมหนักหน่วงขึ้นทุกที

                                                                                     ใบตองแห้ง
                                                                                       9 พ.ค.55

 

ป.ล.ที่จริงคดีกำนันเป๊าะเป็นคดีพิสดาร เพราะถึงที่สุดแล้วไม่สามารถหาตัวได้ว่าใครเป็นมือปืนฆ่ากำนันยูร แต่มีมือปืนอีกทีม แอ่นอกมารับสารภาพกับตำรวจ ว่ากำนันเป๊าะ กับ สท.เหี่ยว จ้างวานฆ่ากำนันยูร แต่วางแผนฆ่าตั้ง 4 ครั้งไม่สำเร็จ รวมทั้งที่งานแต่งงานซึ่งกำนันยูรถูกฆ่าจริง ก็วางแผนไว้แต่แผนรั่วกำนันเป๊าะสั่งระงับ

ศาลชี้ว่าแม้ความผิดยังไม่เกิด แต่จำเลยก็มีความผิดฐานจ้างวาน ส่วนที่จำเลยอ้างว่า หัวหน้าพนักงานสอบสวนคือ พล.ต.ต.ภานุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบช.ก.(ยศตำแหน่งขณะนั้น) ให้ตำรวจกองปราบอุ้มพยาน (มือปืนที่ไม่ได้ยิงปืน) ไปซ้อมเพื่อให้ปรักปรำโดยหวังเลื่อนตำแหน่งนั้น ศาลเห็นว่าฟังไม่ขึ้น

ส่วนคดีวัฒนา “เจ้าพ่อปากน้ำ” เคยร่วมกับ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, พินิจ จารุสมบัติ, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และไพโรจน์ สุวรรณฉวี ตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่ "ชนชั้นนำ" ฝากความหวังว่าจะช่วยหยุดทักษิณและพรรคพลังประชาชนในภาคกลางและภาคอีสาน แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ จำต้องกลับลำร่วมรัฐบาล กระนั้น ระหว่างพิจารณาคดี มั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที (ในรัฐบาลสมัคร) ก็ให้การต่อศาลเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ว่าวัฒนาถูกทักษิณใช้อำนาจทางการเมืองกลั่นแกล้ง เช่นเดียวกับกำนันเซี๊ยะ (ประชา โพธิพิพิธ) และกำนันเป๊าะ เพื่อบีบให้รวมกับพรรคไทยรักไทย แต่ศาลชี้ว่า “แม้อาจมีมูลความจริงอยู่บ้าง แต่เหตุดังกล่าวก็เกิดจากที่จำเลยมีจุดอ่อนให้การเมืองเข้ามาสอดแทรกได้ ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net