Skip to main content
sharethis

ชี้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนไม่ได้เอาจริงเอาจังเหมือนกับเรื่องของทักษิณ ข้องใจรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ปรองดอง-รักเคารพสถาบันกษัตริย์ แต่กลับมีการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง และมีรัฐมนตรีไปปราศรัย ปัดให้คะแนนรัฐบาล แต่ขอให้ติดตามชมการอภิปรายงบประมาณ 21 พ.ค.นี้

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า วันนี้ (11 พ.ค. 55) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทางสถานีโทรทัศน์ Blue Sky Channel ได้แสดงความเห็นถึงการบริหารประเทศเป็นเวลา  9 เดือนของรัฐบาลว่า

การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลยังไม่ได้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ส่วนเรื่องการเมืองนั้น ตอนไปหาเสียงได้พูดถึงเรื่องประชาธิปไตย และการปรองดอง แต่ที่เห็นรัฐบาลมีความมุ่งมั่นชัดเจน และทำอย่างต่อเนื่องอย่างไม่ลดละความพยายามเลยก็คือ การหาทางช่วย พ.ต.ทักษิณ

“ผมคิดว่าคงคิดกันไม่ค่อยต่างกัน ผมว่าเราดูภาพใหญ่ก่อนตอนที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงในช่วงการเลือกตั้ง ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องใหญ่ที่แข่งขันกัน ก็คือ 1. เรื่องเศรษฐกิจ กับ 2. คือเรื่องการเมือง

เรื่องเศรษฐกิจก่อน ชัดเจนครับ ตอนนั้นผมถูกโจมตีมากเรื่องของแพง คงนึกออกเพราะช่วงประมาณตอนยุบสภา ประมาณช่วงนี้ปีที่แล้ว ก็บังเอิญเป็นช่วงซึ่งมีปัญหาที่ราคาน้ำมัน เริ่มจะปรับขึ้น แล้วก็สินค้าบางตัว เช่นไข่ เช่นหมู มีราคาแพง ซึ่งผมไม่เคยปฏิเสธข้อเท็จจริง ก็ยอมรับว่า สินค้าบางตัวแพง แล้วก็พยายามเร่งแก้ไข จนกระทั่งบางเรื่องเช่นเรื่องไข่ ความจริงก็อานิสงส์ก็ตกมาถึงรัฐบาลชุดนี้ที่ทำให้ราคาไข่ถูกลง

แต่ว่าสาระสำคัญที่เขาบอกว่าพรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนในการเลือกตั้งนั้น ก็พูดกันง่าย ๆ ก็บอกว่า จะเพิ่มรายได้ให้แล้วก็จะลดรายจ่าย ก็จึงเป็นที่มาของนโยบาย ผมก็ไม่ได้นับนะครับว่า 30 นโยบายรึเปล่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นเรื่อง 300 บาท 15,000 แล้วก็เกษตรกรก็พูดถึงเรื่องนโยบายจำนำ 15,000 บาททุกเม็ด แล้วก็ทางด้านรายจ่ายก็ที่ทราบกันดีครับ จะมีการ กระชากค่าครองชีพลงมา แล้วก็จะเริ่มต้นจากเรื่องของน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บอกจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน

ถ้ามองในภาพใหญ่ตรงนี้ 9 เดือนผ่านมา ผมว่า ไม่ต้องดูโพลล์ครับ เอาคำพูดของท่านนายกฯ เมื่อ 2 – 3 วัน จะเป็นคำตอบ เพราะว่าท่านนายกฯ พอถูกถามว่า ตอนแรกที่พูดเรื่องของแพง แล้วก็ท่านพูดหรือไม่พูดว่าเป็นความรู้สึก คิดไปเองอะไรนั้น จนกระทั่งท่านบอกว่า ไม่ใช่แล้วท่านก็พยายามจะอธิบายบอกว่า ที่คนรู้สึกว่าของแพงนั้น เพราะเงินในกระเป๋าลดลง

ผมก็ถามว่า ถ้าได้ดำเนินการตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้นั้น เงินในกระเป๋ามันจะลดลงได้อย่างไร เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นคนยืนยันว่าจะเพิ่มรายได้ให้ และจะลดรายจ่ายให้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า ปฏิเสธได้ยากว่าในภาพรวมภาพใหญ่ตรงนี้เป็นปัญหา

แน่นอนถ้าไปไล่เรียงตามนโยบายแต่ละด้าน แต่ละเรื่องก็จะเห็นเช่นเดียวกันว่าความไม่สำเร็จนั้นยังมีอยู่มากพอสมควร ค่าแรง 300 บาท ที่หาเสียงนั้น แข่งขันกับผมที่พูดว่า 25% ใน 2 ปี ทุกคนก็เข้าใจว่า 300 บาททันที ทุกแห่งทั่วประเทศ มาถึงวันนี้เป็น 300 บาทที่เกิดขึ้นใน 7 จังหวัด

15,000 ที่บอกว่าเป็นเงินเดือนปริญญาตรี สุดท้ายกลายเป็นเรื่องของการไปเพิ่มเงินช่วงในเรื่องค่าครองชีพสำหรับข้าราชการ แล้วก็ลูกจ้างของภาคราชการเท่านั้น และให้เฉพาะคนที่จบปริญญา ความจริงเวลาเขาช่วยกันเรื่องค่าครองชีพนั้น เขาจะต้องช่วยเท่า ๆ กันทุกคนนะครับ

เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องยอมรับครับว่า ยังไม่ได้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ขณะเดียวกัน มาตรการที่มารองรับผลกระทบอีกด้านจากนโยบายแบบนี้ซึ่งเราก็เตือนไว้ ที่จะมีต่อผู้ประกอบการ ก็เห็นได้ชัดว่าไม่มีคำตอบให้เขา จึงเป็นที่มาของเสียงของการสะท้อนจากนักเศรษฐศาสตร์บ้าง จากทางหอการค้าบ้าง ใครต่อใครบ้าง

ส่วนเกษตรกร เราก็ย้ำกันแล้ว ย้ำกันอีกครับว่า สุดท้ายแล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าเดินทางมากี่จังหวัดแล้ว มีเกษตรกรคนไหนบ้างครับที่ไปจำนำข้าวแล้วได้ราคา 15,000 บาท ก็แทบไม่มีนะครับ แล้วก็รวมทั้งบางคนเข้าโครงการไม่ได้เลย แล้วก็ชาวมันสำปะหลังนั้นเดือดร้อนที่สุด

เพราะฉะนั้นความล้มเหลวตรงนี้ก็ยังตีถึง ส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของการทรุดลงของการส่งออก เพราะฉะนั้นในแง่ของเศรษฐกิจจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ นายกฯ ก็ยอมรับว่าเงินในกระเป๋าลดลง แล้วก็ทางนักเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ก็มองด้วยความกังวลว่า เศรษฐกิจขณะนี้เจอทั้งภาวะเงินเฟ้อ แล้วก็ดูเหมือนกับว่า จะเจอลักษณะความฝืดเคืองพร้อม ๆ กันไปด้วย ท่ามกลางความไม่ชัดเจนในเรื่องของการที่จะรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ตั้งแต่เรื่องการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทยมาจนถึงเรื่องของการกู้เงิน แล้วก็นโยบายประชานิยมที่ไม่มีคำตอบในเรื่องของรายได้เลย ด้านเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายน่าจะเห็นพ้องต้องกัน แล้วก็การที่ขอนแก่น ที่ไปทำโพลล์ เฉพาะพี่น้องชาวอีสานก็ยิ่งเป็นคำตอบที่ชัดว่า ในขณะที่อาจจะยังสนับสนุนทางพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลอยู่ แต่ก็ยอมรับว่า สอบไม่ผ่านในเรื่องของเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องการเมืองนั้น ที่จริงแล้วการหาเสียงก็ไปในทางที่พูดถึงประชาธิปไตย กับปรองดอง แต่ที่เราเห็นมุ่งมั่นชัดเจน แล้วก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ลดละความพยายามเลยก็คือ หาทางในการที่จะช่วยคุณทักษิณ เพราะฉะนั้นกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ผมก็ยืนยันว่าขณะนี้ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกในสังคมเป็นว่าความขัดแย้งกำลังลดลงหรือเราจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีแต่ความวิตกกังวลกันว่า วิธีการที่พยายามผลักดันในสิ่งเหล่านี้กำลังนำไปสู่ปมความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม

เพราะฉะนั้น 9 เดือนตรงนี้ จึงเป็น 9 เดือนที่ผมคิดว่าไม่ได้เป็นไปตามแนวทางของการหาเสียง ที่เป็นความคาดหวังของพี่น้องประชาชน

ส่วนในระหว่าง 9 เดือน ก็มีเหตุน้ำท่วมใหญ่ เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้มองเห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาลด้วย ตรงนี้แน่นอนว่าไม่ได้พูดเอาไว้ในช่วงหาเสียงนะครับ แต่ก็ในช่วงสมัยประชุมปีที่แล้ว ที่เราได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมก็คิดว่าเราก็ได้เห็นชัดเจนนะครับว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาล การบริหารจัดการ การวางแผน รวมไปถึงการใช้อำนาจทางการเมือง หรือการปลดบทบาททางการเมืองของตั้งแต่ ส.ส. ไปจนถึงตัวรัฐมนตรี และตัวนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีจุดที่จะต้องปรับปรุงอีกเยอะ

เพราะฉะนั้นผมก็เรียนยืนยันนะครับว่า 9 เดือนที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับประเทศ เหมือนที่ทางพรรคเพื่อไทยเคยให้ความหวังไว้ แล้วก็หลายเรื่องนั้นสวนทางจากเดิมที่บอกว่า ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ตอนนี้ไล่เก็บเงินประชาชนเข้ากองทุนน้ำมันอย่างเดียว แล้วก็ความพยายามในการขึ้นค่าก๊าซ ค่าไฟ ก็ยังมีต่อเนื่อง แม้ว่าในขณะนี้จะมีการพยายามมาบอกว่า ช่วงเดือน พฤษภา หรืออะไรจะพยายามตรึงอยู่ก็ตาม

นายอภิสิทธิ์แสดงความเห็นต่อสภาพการส่งออกในรอบ 9 เดือนว่า ตอนนี้ที่ทำให้ภาพพื้นฐานไม่ชัดเจนเป็นเพราะมีปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา แต่ต้องจับตาอยู่อย่างใกล้ชิดถึงผลที่จะต่อเนื่องต่อไป

“ส่วนหนึ่งตอนนี้ที่ผมคิดว่าจะทำให้ภาพพื้นฐานยังไม่ชัด ก็เพราะว่ามันมีปัญหาน้ำท่วมเข้ามา ซึ่งก็อาจจะทำให้เป็นสาเหตุที่ตัวเลขหลายอย่างอาจจะมีความผิดปกติอยู่ แต่ก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพราะว่าการขาดดุล การลดลงของการส่งออก การเพิ่มขึ้นของการนำเข้านั้น ก็ต้องดูว่าเป็นผลที่จะต่อเนื่องไป แม้ว่าตัวเลขของโรงงานที่กลับมาประกอบการได้เหมือนเดิมหลังจากน้ำท่วมนั้น พอกลับมาได้ 8 – 9 – 10% แล้วยังขาดดุล ยังมีปัญหาเรื่องการส่งออก เรื่องการนำเข้าอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่ก็แสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องจับตาดู

แต่บางตัวนั้นก็ชัดเจนนะครับ อย่างการส่งออกข้าว มันไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมหรอกครับ มันเป็นเรื่องนโยบายจำนำ ทั่วโลกเขาก็พูดกันอย่างนั้นไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นตรงนี้ก็เป็นปัญหา เป็นความล้มเหลวแน่นอน ที่จะต้องมีการแก้ไข

ส่วนในแง่ของตัวเลขอื่น ๆ นั้น ผมก็มีตัวเลขที่น่าสนใจแต่ว่ากำลังตรวจสอบอยู่นะครับ เหมือนกับเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีการแถลงว่าการเปิดโรงงานใหม่ การเปิดการประกอบการกิจการใหม่ในเดือนที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี อันนี้สัญญาณไม่ดีแน่นอนครับ เพราะว่าเท่ากับเป็นการบอกว่าความสามารถของประเทศไทยในการที่จะดึงดูดให้เกิดการประกอบการการลงทุนนั้นมีปัญหา แล้วก็จากการที่ผมเองนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนกับบรรดากลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ตามแนวทางที่เราทำงานอยู่ในขณะนี้ ปัญหาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเหตุผล หรือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีปัญหาในเรื่องนี้แน่นอน ต้นทุนที่ว่าก็คือเรื่องพลังงาน ต้นทุนเรื่องค่าแรง แล้วก็ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ เช่นเรื่องประกันภัย และเรื่องอื่น ๆ”

“มีวาทกรรมหลายเรื่องซึ่งไม่ได้ดูข้อเท็จจริง ถ้าไปถามว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เป็นเพราะฝ่ายค้านไปขัดขวางอะไรทำให้นโยบายไม่สำเร็จนั้น ผมยืนยันว่าคงจะไม่มีนะครับ ผมก็ยืนยันอีกครั้งนะครับ ในช่วงน้ำท่วมไม่มียุคไหนหรอกครับ อย่าว่าแต่ฝ่ายค้านเลยครับ ประชาชนที่เคยมีความขัดแย้งกัน ก็มีแต่จะช่วยกันว่าจะให้พ้นจากวิกฤติได้อย่างไร แต่จะเห็นว่าคนขนาดระดับรัฐมนตรีออกมาพูดว่าประชาธิปัตย์ค้านทุกเรื่อง วันก่อนผมก็ยังขำนิด ๆ นะครับ เพราะว่าคุณประชา ประสพดีมาหาเรื่องผมว่า ไม่ได้กดบัตร ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมแล้วก็ต้องไปอ้าง สถิติการลงมติ คนส่วนใหญ่ไม่ได้สังเกตหยิบประเด็นนี้ขึ้นมานะครับ นั่นเป็นตัวอย่างเลยครับว่า กฎหมายเรื่องขนส่งเรื่องอะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้วยนั้น พรรคประชาธิปัตย์ลงคะแนนให้นะครับ

แล้วก็ผมกล้าพูดได้ว่ากฎหมายส่วนใหญ่ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ได้กดบัตร หรือลงมติสนับสนุนด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดเลยนะครับ ในช่วงที่ฝ่ายประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นคำพูดที่บอกว่า ยุคนี้ ฝ่ายค้านขัดขวางนั้นคงไม่จริง ถามว่าขัดขวางเรื่องอะไรบ้าง ขัดขวางเรื่องความพยายามที่จะล้างผิดให้กับคนโกงเท่านั้น หรือการที่จะรวบอำนาจ หรือทำอะไรที่ไม่เป็นทำนองคลองธรรมที่ควรจะเป็น ไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย อันนั้นขัดขวางครับ อย่างเช่นเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งเราเห็นว่ามีจุดอ่อนมากมายที่จะเป็นการเปิดทางนำไปสู่ระบบการเมืองที่มีการผูกขาด ขาดการตรวจสอบ อย่างนี้เรายอมรับครับ เราคัดค้านเต็มที่

แต่ถ้าเป็นเรื่องนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน นอกจากจะสนับสนุนกฎหมายหลายฉบับแล้ว ยังเสนอแนะไปตั้งหลายเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินเลยในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน”

สำหรับงานในเชิงสังคม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเสริมสร้างบรรยากาศการปรองดอง การส่งเสริมรณรงค์ให้ประชาชนรักเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น นายอภิสิทธิ์มองว่ารัฐบาลมีจุดยืนที่ไม่ชัดเจน ในขณะที่มีคนในรัฐบาลออกมาแสดงทิศทางอย่างที่มันควรจะเป็น แต่กลับมีคนในแวดวงเดียวกันออกมาเดินไปในอีกทิศทาง

“คือมีปัญหาพื้นฐานในขณะนี้ว่ารัฐบาลมีจุดยืนอย่างไรแน่ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการจุดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อย่างเช่นเรื่องมาตรา 112 ก็ดี หรือเรื่องการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงก็ดี จะเห็นได้ว่าในทางสาธารณะก็จะต้องมีคนในรัฐบาลมาแสดงออกในทิศทางที่มันควรจะเป็น แต่ในทางปฏิบัติก็ปล่อยปละให้กับคนที่อยู่ในแวดวง หรือคุ้นเคยกับตนเองเดินไปอีกคนละแนวเลย

ในที่สุดแล้วจากเดิมซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยยอมรับว่าเหตุด้วยว่าการไปขยายเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม วันนี้กลับกลายเป็นว่ากลไกราชการกำลังไปรองรับการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงในหลายพื้นที่อย่างที่เราเห็น คนเป็นรัฐมนตรีหรือคนที่กำลังอยากจะเป็นรัฐมนตรีก็ไปปราศรัยเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงกันอย่างไม่จบไม่สิ้น แม้แต่ในพื้นที่ซึ่งมีความละเอียดอ่อนเรื่องความขัดแย้งอยู่แล้วเช่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

“9 เดือนนะครับ ผมคิดว่ามันก็ถ้าบอกว่าอายุรัฐบาล 4 ปีนั้น ก็ยังไม่ถึง 1 ใน 4 ผมว่าก็เป็นโอกาสดี รัฐบาลก็ไปทบทวนตนเอง ปรับปรุงแก้ไขเสียครับ”

มีนโยบายอย่างน้อย 2 นโยบายที่มีการขีดเส้นชัดเจน คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปภายใน 12 เดือน และ นโยบายแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไปภายใน 4 ปีนั้น นายอภิสิทธิ์มองว่า เรื่องการแก้ปัญหาเรื่องความยากจนนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะตัวนายกฯ เอง ก็ระบุว่าขณะนี้เงินในกระเป๋าลดลง ส่วนเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดนั้น น่าสนใจว่าเหตุใดยิ่งจับกุม ยิ่งพบว่ามีการกระทำผิดเพิ่มขึ้น และเห็นว่าลำพังการปราบปรามเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องทำด้านป้องกันควบคู่ไปด้วย

“เรื่องความยากจนไม่ต้องพูดถึงอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลตัวนายกฯ บอกเงินในกระเป๋าก็ลดลงนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าการแก้ปัญหาความยากจนมันประสบความสำเร็จ ส่วนยาเสพติดนั้น ผมยอมรับว่าข่าวเรื่องยาเสพติดในการจับกุมอะไรเยอะเหลือเกิน ซึ่งก็ผมก็ต้องเห็นความเอาจริง เอาจัง แต่ว่าตอนแรก ๆ พอเห็นข่าวการจับกุมอะไรต่าง ๆ คนก็มีความหวังขึ้นมา สงสัยมันจะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย แต่ว่าตอนนี้ทำไปทำมา คนกลับมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมยิ่งจับ มันยิ่งจับได้เพิ่ม หรืออะไรอย่างนั้น ก็น่าสนใจครับว่า ในที่สุดแล้วแนวทางนี้มันจะไปได้แค่ไหน เพราะว่าผมก็ยืนยันมาตลอดนะครับว่า การปราบปรามจำเป็นแต่ว่าไม่เพียงพอ ถ้าจะปราบปรามยาเสพติดหรือว่าถ้าจะขจัดยาเสพติดแล้ว ลำพังการปราบปรามอย่างเดียวมันไม่สามารถเป็นคำตอบสุดท้ายที่ยั่งยืนได้ งานทางด้านป้องกัน งานทางด้านอื่น ๆ จำเป็นจำต้องทำมากขึ้น แล้วก็มันก็จะควบคู่แล้วโยงมาถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย เพราะว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดี โอกาสที่คนจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็จะมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมองในแง่ของผู้ค้าหรือผู้เสพ”

เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีบางนโยบายยังไม่ได้เริ่มหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าตนไม่ทราบ และตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลทุ่มเท สติปัญหา กำลัง และเวลาทำแต่นโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเหมือนกับช่วยแก้ปัญหาให้กับพ.ต.ท.ทักษิณแล้ว คงจะเห็นประเทศมีความก้าวหน้าชัดเจนกว่านี้

“ไม่ทราบได้นะครับ  ผมก็ตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ แต่ว่าอย่างที่ผมย้ำครับว่า ถ้ารัฐบาลจะทุ่มเทความคิด กำลัง ทุกเรื่อง สติปัญญา กำลัง เวลา ทำในนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เหมือนกับที่กำลังทำที่กำลังทำที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับคุณทักษิณ ก็คงจะเห็นความก้าวหน้าชัดเจน แต่วันนี้กลับไม่ใช่ เรื่องที่เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนั้นไม่ได้เอาจริงเอาจัง ไม่ได้เคลื่อนอย่างเป็นระบบ เหมือนกับเรื่องของคุณทักษิณ”

ส่วนคำถามที่ว่าอะไรคือสิ่งที่ 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ทำแล้วประสบความสำเร็จ และพอจะอ้างเป็นผลงานได้นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล บางเรื่องที่ดำเนินการไปนั้นเป็นเพียงการลงมือทำเพียงบางส่วน และยังไม่เป็นไปตามสัญญา เช่นการปรับค่าแรง 300 บาท ใน 7 จังหวัด แต่ตนอยากตำหนิรัฐบาลคือว่า แม้จะเป็นการเริ่มต้นนโยบาย แต่ถ้าไม่ระมัดระวัง และมีมาตรการรองรับ สุดท้ายแทนที่จะทำให้เกิดการปรับค่าแรงเป็น 300 บาท กลับจะทำให้เกิดการตกงานเพิ่มขึ้น

“ผมคิดว่าเพื่อความเป็นธรรม บางเรื่องก็ได้ดำเนินไปแต่เพียงว่ามันบางส่วน มันไม่ได้เป็นไปตามสัญญา การขยับค่าแรงขึ้นใน 7 จังหวัดอย่างน้อยก็เป็นการปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ประกาศไว้ แม้ว่าจะไม่เหมือนกับตอนที่ประกาศ ทุกคนเข้าใจว่าทันทีทุกแห่ง แต่ว่ามาช้า และมาไม่ทั่วถึง แต่ก็อย่างน้อยก็เป็นการขยับไป เพียงแต่ที่ผมตำหนิก็คือว่า คนที่ได้รับผลกระทบในทางลบแล้วก็ถ้าไม่ระมัดระวังทำแบบไม่มีมาตรการรองรับ สุดท้ายก็จะมีการปลดคนออกจากงาน คนที่เคยได้ 200 กว่าบาท แทนที่จะได้ 300 บาท ก็เลยไม่มีอาชีพเสียอีก มันก็ไม่ได้ผล แต่ว่าเรื่องนี้ก็อย่างน้อยก็มีการดำเนินการไป”

“ผมว่าขณะนี้ก็คือทิศทางการบริหารเศรษฐกิจ เพราะว่าแม้แต่ที่เป็นความสำเร็จเช่นการที่บางคนได้รับค่าแรง 300 หรือค่าแรงเพิ่มขึ้นไป แต่ถ้าภาวะเศรษฐกิจอยู่ภายใต้ความเสี่ยง ความไม่แน่นอนจากความผิดพลาดในการบริหารนโยบายอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตข้างหน้า หรือในระยะยาวความเป็นอยู่จะดีขึ้น”

ส่วนที่นายอภิสิทธิ์จะให้คะแนนการทำงานของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนเท่าไหร่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอให้ติดตามชมการอภิปรายงบประมาณในวันที่ 21 พ.ค.นี้

“ผมไม่ค่อยอยากให้เป็นคะแนนหรอกครับ เอาอย่างนี้ดีกว่า วันอภิปรายงบประมาณ วันที่ 21 พ.ค. ผมก็จะได้อภิปรายโดยอิงกับนโยบายของรัฐบาล ก็จะประเมินให้เห็นเลยครับว่าเรื่องไหนผ่าน เรื่องไหนตก เรื่องไหนทำ เรื่องไหนไม่ได้ทำ เสร็จแล้วเดือนสิงหาคม เปิดสมัยประชุมสามัญ รัฐบาลจะต้องแถลงการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญครบรอบ 1 ปี แล้วก็คงจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ก็รอฟังตอนนั้นดีกว่าครับ”

ส่วนการประเมินบทบาทของตนเองในฐานะฝ่ายค้านนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนยืนยันว่าฝ่ายค้านทำเต็มที่ และยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังปรับปรุงได้อีก และยังต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะมีปัญหามากขึ้น และมีเรื่องราวสลับซับซ้อนมากขึ้น

“ผมก็ยืนยันว่าทำเต็มที่นะครับ แล้วก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่า แม้จะทำเต็มที่หลายเรื่องก็ยังปรับปรุงได้ แล้วก็ยังจะต้องทำงานกันหนักมากขึ้น เพราะว่าปัญหาก็มีมากขึ้น ความสลับซับซ้อนของเรื่องราวต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราเองก็จะต้องมีการปรับปรุงการทำงานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าก็ต้องบอกครับว่ายุคนี้ก็เหมือนกับยุคเวลาคุณทักษิณเป็นนายกฯ คนเป็นฝ่ายค้านก็ทำงานไม่ง่ายนัก เพราะว่าถูกปิดกั้น หรือว่าถูกสกัดหลายช่องทางเหมือนกัน”

“ต้องเกาะติดหลาย ๆ เรื่องมากกว่านี้ เพราะว่าต้องยอมรับว่าหลายเรื่องนั้น เราได้มีการพูดทักท้วงในเชิงหลักการแต่ว่าพอมันมีการดำเนินการต่อไปในรายละเอียดในทางปฏิบัติแล้วมันมีผลกระทบ บางครั้งก็ยังควรจะติดตามให้ละเอียดมากกว่านี้ ซึ่งก็จะมีการปรับปรุงในเรื่องนี้ครับ เช่นเราจะติดตามเรื่องความล้มเหลวที่มาจากเรื่องของนโยบายจำนำพืชผล ก็คงต้องเอาข้อมูลที่ลึกกว่านี้ออกมา อย่างนี้เป็นต้น” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net