Skip to main content
sharethis

 


หลังการตรวจเลือกทหารประจำปี 2555 ผ่านพ้นไปตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย (Thai Transgender Alliance) ได้ประชาสัมพันธ์เรื่อง การเตรียมความพร้อมสำหรับการเกณฑ์ทหาร ให้ความรู้ด้านกฎหมาย รวมถึงเคล็ดลับการเกณฑ์ทหาร เราได้สอบถามผลที่ได้รับจากโครงการ การทำงานด้านๆ อื่นของเครือข่ายฯ รวมทั้งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานะของกะเทยในสังคมไทย

เจษฎา แต้สมบัติ ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยกล่าวว่า ในช่วงที่มีการตรวจเลือกฯ พร้อมกับที่การประชาสัมพันธ์ข้อมูลดำเนินอยู่นั้น สิ่งที่กะเทยกังวลมากที่สุดสามารถสังเกตได้จากการโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม คือการถูกละเมิดสิทธิ เช่น ถูกบังคับให้ถอดเสื้อต่อหน้าคนจำนวนมาก กะเทยหลายคนจะรู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่แห่งอำนาจของผู้ชาย จึงมีการขอคำแนะนำเพื่อให้ปฏิบัติตัวได้เหมาะสม นอกจากนี้ยังรู้สึกกังวลว่าเมื่อไปเข้ารับการตรวจเลือกแล้วจะถูกเจ้าหน้าที่ระบุลงในเอกสาร สด.43ว่า เป็นโรคจิตถาวร 


เจษฎา แต้สมบัติ

ในส่วนของเรื่องร้องเรียนภายหลังเข้ารับการตรวจเลือกนั้น ทางเครือข่ายฯ ก็ได้รับเข้าและได้บันทึกไว้แล้ว หลังจากนี้จะมีการประชุมปรึกษาร่วมกับทางทหารและกระทรวงกลาโหมเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

เมื่อถามถึงที่มาของปัญหาที่ทางเครือข่ายฯรวบรวมไว้ เจษฎากล่าวว่า ในอดีต ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว มีปัญหาต่างๆ ซึ่งได้ให้คำแนะนำออกไป ไม่ว่าจะเป็นการถูกสั่งให้ถอดเสื้อ การถูกชักชวนหรือชวนเชื่อต่างๆ ถูกชวนไปมีเพศสัมพันธ์ ถูกสั่งให้ทำกิจกรรมที่จะลดความเท่าเทียมกันระหว่างกะเทยกับเพศอื่น เช่น ถูกสั่งหรือขอให้ไปช่วยเสิร์ฟน้ำบีบนวดเจ้าหน้าที่ หรือเข้าร่วมการประกวดเพื่อสร้างบรรยากาศ สิ่งเหล่านี้จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหาเลย เพราะคนภายนอก คนที่มองดูเห็นเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หรือความเสมอภาคทางเพศ สังคมไม่ได้ยอมรับว่ากะเทยเป็นเพศหนึ่ง แต่มองว่ากะเทยคือชายที่ผิดปกติ ดังนั้นการเป็นกะเทยจึงเป็นเรื่องผิดปกติ สังคมยังไม่อาจหาแบบแผนการปฏิบัติที่เหมาะสมมาใช้กับกะเทยได้

อีกทั้งการที่มีกะเทย (นายสามารถ มีเจริญ) ยื่นฟ้องแก้ไขข้อความ“โรคจิตถาวร” ที่ระบุลงในใบสด.43 เมื่อปี 2554 ก็ทำให้กะเทยถูกมองว่าไม่อยากเกณฑ์ทหาร ทั้งที่จริงแล้วกะเทยก็มีความหลากหลาย การเกณฑ์ทหารนำมาซึ่งสวัสดิการและประสบการณ์ใหม่ๆ กะเทยที่อยากเกณฑ์ทหารก็มี แต่ก็เป็นเพราะอคติที่ซ้อนทับกันหลายอย่าง ทั้งความเป็นชาติและความเป็นชายจึงไม่ค่อยให้การยอมรับในเรื่องนี้ อันที่จริงการที่กะเทยออกมาเรียกร้องเช่นนี้กลับจะทำให้กะเทยมีโอกาสได้เป็นทหารมากกว่า หากดูกันตามกฎหมายการจัดแบ่งประเภทผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นโรคจิตถาวรจะถูกจัดเป็นบุคคลประเภทที่4 คือสภาพร่างกายและจิตใจไม่ปกติ ไม่อาจรับราชการได้ จึงไม่มีโอกาสเป็นทหารเลย แต่ถ้อยคำที่เปลี่ยนมาเป็น “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด”ทำให้กะเทยถูกจัดอยู่ในคนประเภทที่2 คือสภาพร่างกายมีปัญหาแต่ไม่ถึงกับทุพลภาพ ซึ่งทำให้กะเทยมีโอกาสได้รับใช้ชาติ เมื่ออยู่ในภาวะที่บ้านเมืองคับขัน

ในประเด็นเรื่องสิทธิประโยชน์ที่กะเทยจะได้รับเมื่อการระบุถ้อยคำเปลี่ยนไป เจษฎาอธิบายว่าถ้อยคำที่คิดขึ้นมาจะถูกใช้เฉพาะในใบสด.43 หรือใช้สำหรับการเกณฑ์ทหารเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่มีร่างกายโดยกำเนิดเป็นเพศชาย ที่เคยเข้ารับการตรวจเลือกฯจะต้องนำใบสด.43นี้ไปประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ เช่นการสมัครงาน และแน่นอนว่าถ้อยคำ “โรคจิต” กับ “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ย่อมจะทำให้กะเทยถูกมองอย่างแตกต่างกันออกไป ส่งผลต่อการที่กะเทยจะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆในสังคมอย่างมาก

เจษฎาเล่าว่าการทำงานของเครือข่ายฯ จะมีการประชุมระดมความคิดจากกะเทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ถ้อยคำ “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ก็ได้มาจากการประชุมนี้ ซึ่งทางเครือข่ายฯเห็นตรงกันว่าเหมาะสมเป็นที่น่าพอใจแล้ว แต่หากดูคำภาษาอังกฤษกลับใช้ว่า Gender Identity Disorder คำนี้ระบุบัญชีไว้ในจำแนกโรคสากลขององค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งขณะนี้ก็มีกลุ่มTGEU หรือ Transgender Europe กำลังเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีความหมายว่าการเป็นกะเทย ถือเป็นโรค เป็นความผิดปกติ

ในส่วนของถ้อยคำภาษาไทย จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่มีเพศสภาพอื่นๆ จะถูกสังคมนิยามเรียกขานอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊ด สาวประเภทสอง ผู้หญิงข้ามเพศหรือกะเทย ซึ่งแต่ละคำก็แฝงความหมายและทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป ก่อนหน้านี้ทางเครือข่ายก็เคยถกเถียงกันว่าคำที่เหมาะสมควรใช้ว่าอะไร ภายหลังจึงได้ข้อตกลงให้ใช้คำว่า “กะเทย” เพื่อเป็นการยืนยันอัตลักษณ์ของคนเพศนี้ว่าเป็นเพศหนึ่ง ไม่ใช่ผู้หญิงประเภทที่สอง หรือคนข้ามเพศแต่อย่างใด เนื่องจากการระบุเช่นที่กล่าวมาจะทำให้กะเทยสูญเสียอัตลักษณ์ ต้องปฏิบัติตัวตามจารีตประเพณีแบบผู้หญิง

อย่างไรก็ดี ทางเครือข่ายฯ ทราบดีว่า ในอดีตคำว่ากะเทย จะมีวาทกรรมความหมายในแง่ลบ คือเป็นความผิดปกติ กะเทยหลายคนก็ไม่พอใจเมื่อถูกเรียกเช่นนี้  แต่เพื่อเป็นการรื้อสร้างวาทกรรมใหม่โดยใช้คำเก่า ทางเครือข่ายฯ จึงเลือกคำนี้แทนคำอื่นๆ ดังนั้น สิ่งที่ควรตระหนักเป็นอย่างยิ่งก็คือการใช้ถ้อยคำ เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้กะเทยถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ

เจษฎายังเล่าอีกว่า ในการทำงานของเครือข่ายฯ จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพต่างๆ สำหรับการทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกคู่มือการเกณฑ์ทหารสำหรับกะเทย ในขณะนี้ก็กำลังจัดทำคู่มือทหารซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่ทหารจะต้องปฏิบัติต่อกะเทยว่าทำอย่างไรจึงจะมีความเหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับทางการแพทย์ เนื่องจากที่ผ่านมาหรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน การสื่อสารและสังคมมักจะสร้างวาทกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการศัลยกรรมและความงามขึ้นมา กะเทยจึงต้องผ่าตัดทำศัลยกรรมมากขึ้น และปัญหาที่เกิดตามมาก็คือความไม่ปลอดภัยหรืออันตรายจากการศัลยกรรมที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้รับการรับรองที่ถูกต้องและการขาดความรับผิดชอบของแพทย์ การทำงานตรงนี้จึงเป็นไปเพื่อช่วยพิทักษ์รักษาสิทธิของกะเทย

นอกจากนี้ยังมีการผลักดันกฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิต และการจัดทำคู่มือการรณรงค์ตามแผนงานสุขภาวะทางเพศ ซึ่งจะมีคณะสัญจรไปทุกภาคในประเทศ เพื่อจะเก็บรวบรวมปัญหา เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พยายามจะทำให้คนในสังคมเข้าใจและตระหนักว่ากะเทยไม่ได้ป่วยทางจิต

ช่วงท้ายของการพูดคุย เจษฎาให้ความเห็นไว้ว่าอยากให้สังคมปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกะเทยว่าเป็นเพศหนึ่ง ไม่ใช่ผู้ที่ผิดปกติ แต่สิ่งที่สำคัญไปไม่น้อยกว่าก็คือการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย แม้ว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา30 จะระบุว่าไม่ให้มีการกีดกันทางเพศ แต่ในกฎหมายอื่นที่นอกเหนือไปจากกฎกระทรวงกลาโหมซึ่งเพิ่งผลักดันสำเร็จก็ยังไม่มี ดังนั้นทางเครือข่ายจึงแบ่งการทำงานออกเป็นหลายส่วน คือทำงานร่วมกับส่วนราชการ และจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจ สร้างทัศนคติใหม่ๆ ที่สังคมพึงมีต่อกะเทยดังที่ได้กล่าวมา

ท้ายที่สุด เจษฎาฝากถึงเพื่อนๆ ไว้ว่า เมื่อถูกตั้งคำถามว่า “คุณเป็นกะเทยหรือเปล่า” ขอให้กะเทยมีจุดยืน ตอบไปเลยว่า “ใช่”  เพื่อยืนยันถึงศักดิ์ศรี และเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net