Skip to main content
sharethis

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยตั้งศูนย์ป้องกันและรับเรื่องร้องทุกข์แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศการสร้างกลุ่ม สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันปัญหาการค้าแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ

เนื่องด้วยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้ดำเนินโครงการ “ป้องกันปัญหาการค้าแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ” ในเขต ต.หนองไผ่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี มาได้ระยะหนึ่ง ณ บัดนี้ ทางโครงการฯ ได้ร่วมกับกลุ่มคนงานในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ป้องกันและรับเรื่องร้องทุกข์แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2555  เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิแรงงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแก่คนงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ รณรงค์แก้ไขปัญหาการค้าแรงงาน  และส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงานให้สามารถต่อสู้เพื่อสิทธิและมีอำนาจต่อรองกับรัฐและทุน ดังคำประกาศด้านล่างนี้ 

“สิทธิแรงงานข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครอง”

กว่าห้าสิบปีที่กรรมกรจากภาคเกษตรชนบทถูกดึงเข้าสู่กลไกตลาด และชักนำสู่การส่งออกแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ด้วยแรงจูงใจเรื่องการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ นำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศหลายหมื่นล้านบาท และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานป้อนเข้าสู่ตลาดโลก เช่น ยุโรป เอเชียตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา อเมริกา เป็นต้น  ซึ่งได้กลายเป็นทางเลือกให้แก่คนงานไทยเพื่อพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตในชนบทให้ดีขึ้น เนื่องจากเดิมมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ที่คนชนบทมีสถานะความเป็นอยู่ไม่มั่นคงด้วยรายได้และสวัสดิการต่ำ เพราะด้อยการศึกษาจึงไม่สามารถหางานทำที่มีรายได้มากพอจะส่งลูกเรียนถึงระดับสูงได้

ความฝันของคนชนบทจึงถูกทำให้เป็นการค้า เป็นความฝันที่ต้องทนสู้อย่างลำพังเนื่องจากรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐทั้งต้นทางและปลายทางไม่สามารถประกันว่า ความฝันนี้จะเป็นจริง คุ้มค่า และให้ความคุ้มครองสิทธิของแรงงานจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้  แม้จะมีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สัญญาจ้างเป็นเพียงเศษกระดาษ เป็นเพียงรูปแบบ ที่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง  ทำให้คนงานเสียเปรียบ ถูกหลอก ถูกกระทำ เป็นหนี้กลับมาและผลักให้ไปทำงานแก้ตัวใหม่ จนขาดอำนาจขาดความมั่นใจในการต่อรองเจรจากับนายจ้าง นายทุนจัดหางาน

นโยบายการส่งออกแรงงานข้ามชาติ  การค้าฝันนี้เติบโตและมั่งคั่งได้ด้วยการปล่อยให้นายทุนภาคเอกชนฉ้อโกงประชาชน ละเมิดกฎหมายและใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ทั้งนี้แทบไม่มีบริษัทใดเลยที่เรียกเก็บ “ค่าหัวคิว”ตามกฎหมาย ปัจจุบันการไปเมืองนอก คนไทยต้องจ่ายเกิน อาทิเช่น อิสราเอล 350,000 -380,000 บาท โปรตุเกส 330,000-350 000 บาท สเปน 580,000 บาท ลิเบีย 120,000 บาท ฝรั่งเศส 300,000 บาท โปแลนด์ 180,000-280,000 บาท เกาหลี 280,000 บาท ในขณะที่การกำหนดค่าหัวคิวตามกฎหมายของไทยนั้นกำกวม และมีช่องโหว่ในการตีความ ระบุเพียงไม่เกิน 56,000 บาท ที่แย่คือ กระทรวงแรงงานได้ทำการออกกฎระเบียบการเก็บค่าหัวคิวหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพียงเดือนเดียว โดยกำหนดวงเงินให้บริษัทเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากคนงานได้ไม่เกิน 4 เดือนของเงินเดือนที่จะได้รับ ซึ่งนับว่าสูงมาก สูงกว่าประเทศฟิลิปปินส์ที่ระบุว่าเก็บได้ไม่เกินหนึ่งเดือนเท่านั้น

นอกจากนี้ การค้าแรงงานไทยนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มองคนงานว่า “เมื่อมีปัญญาหาเงินแสนมาให้เขาหลอก ก็ต้องมีปัญญาชดใช้กรรม” ดังนั้นเมื่อคนงานล้มเหลวกลับมาร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่เพียงเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย เอาข้อมูลที่เป็นหลักฐานเอาผิดบริษัทของคนงานไปให้บริษัทจัดหางาน จนทำให้คนงานถูกบีบ ข่มขู่ และยอมรับเงินน้อยนิดที่บริษัทเสนอ การต่อสู้คดีเอาผิดบริษัทจึงมักไม่เกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มุ่งที่การเอาผิดบริษัท เรื่องราวของคนงานจึงถูกทำให้เงียบ และทิ้งให้คนงานเผชิญชะตากรรมด้วยตัวเอง เช่น ถูกข่มขู่ ถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทโดยบริษัท ต้องฟ้องศาลแรงงานด้วยตัวเอง และท้ายสุดแทบไม่มีบริษัทใดถูกดำเนินคดี ถูกลงโทษอย่างจริงจัง หรือขึ้นบัญชีดำประกาศให้คนงานในพื้นที่ทราบเพื่อเฝ้าระวัง   ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่รัฐไทยจึงไม่สามารถแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างจริงจัง  และนี่จึงทำให้คนงานในพื้นที่ที่ถูกกระทำส่วนหนึ่งมองว่า ถึงร้องเรียนไป เจ้าหน้าที่รัฐก็คงไม่สามารถเจรจาต่อรองให้แก่คนงานได้ เช่น การขอขึ้นค่าจ้าง สวัสดิการความปลอดภัยกับนายจ้าง บริษัทจัดหางาน เพราะเจ้าหน้าที่รัฐก็อ่อนแอเช่นเดียวกัน และไม่ให้ความสำคัญแก่คนงานตัวเล็กๆ

เราเคยเสนอให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งแรงงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวง ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว และความล่มสลายของครอบครัว ชุมชนเกษตรกรไทย แต่รัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย อ้างเสมอว่า กระทรวงแรงงานไม่มีศักยภาพในการจัดส่งแรงงานเพราะงบและบุคลากรจำกัดและกฎระเบียบหยุมหยิม จึงต้องให้บริษัทจัดหางานจัดส่งเพื่อความคล่องตัว

แต่ด้วยความคล่องตัวได้กลายเป็นช่องทางการค้าแรงงานไทยโดยง่าย ทางเครือข่ายภาคประชาชนที่ประกอบด้วยคนงานในชุมชน นักพัฒนาเอกชน นักปกครองส่วนท้องถิ่นจึงร่วมมือกันพัฒนากลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะพัฒนาเป็นศูนย์ป้องกันและรับเรื่องร้องทุกข์แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 

พวกเราจึงขอประกาศจัดตั้งศูนย์ป้องกันและรับเรื่องร้องทุกข์แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ  อย่างเป็นทางการ ที่บ้านของคุณสงวน สมพิทักษ์ บทบาทของศูนย์ฯ มี 3 ประการ ดังนี้ 

1) เพื่อจัดอบรม แลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย สถานการณ์ปัญหาและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่แกนนำคนงาน เพื่อสร้างความมั่นใจและศักยภาพในการให้คำปรึกษาแก่คนงานไทยไปทำงานต่างประเทศ

2) เพื่อให้คำปรึกษาแก่คนงานในพื้นที่ก่อนที่จะตัดสินใจทำงานและเตรียมการเดินทางไปต่างประเทศ  รวมถึงเมื่อมีปัญหาในการทำงาน เพื่อช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และเมื่อเกิดปัญหา คนงานต้องทราบช่องทางกลไกการเข้าถึงสิทธิของตนเอง 

3) เพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงาน และต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ได้แก่ สิทธิการรวมกลุ่มของคนงาน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง โดยการสร้างเครือข่ายการทำงานกับคนงานในพื้นที่ต่างๆ เช่น ขอนแก่น หนองคาย อุบลราชธานี เป็นต้น 

สำหรับแกนนำคนงานประจำศูนย์ฯ มาจากพื้นที่บ้านหนองขาม บ้านหนองไผ่ ต.หนองไผ่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ที่เคยทำงานต่างประเทศและมีสมาชิกในครอบครัวไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 10 ท่านและจะขยายอีกในอนาคต

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์ฯ นี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนงานของหน่วยงานรัฐที่ยังขาดการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง และผลักดันปัญหาให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนรับผิดชอบดูแลประชาชนในพื้นที่มากขึ้น โดยให้สามารถคิดตามทันนายจ้าง นายทุนจัดหางานที่มีกลวิธีล่อลวงคนงานให้เสียประโยชน์มากมายเกินกว่าที่สังคมจะยอมรับได้

ประกาศ ณ เทศบาลตำบลหนองไผ่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี

วันที่ 9 พฤษภาคม 2555

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net