Skip to main content
sharethis

 

นายคณิต ณ นคร ประธาน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ส่งข้อเสนอแนะฉบับล่าสุด ถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสาภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เกี่ยวกับกฎหมายการก่อการร้าย โดยเสนอให้ยกเลิกพ.ร.ก.ก่อการร้ายซึ่งจะเป็นหนทางในการนำไปสู่ความปรองดองและ เกิดสันติในชาติ  พร้อมระบุเหตุผลดังนี้

          1.บทบัญญัติเกี่ยวกับการก่อการร้ายในประมวลกฎหมายอาญา คือ “ลักษณะ 1/1 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย” ได้เกิดขึ้นในระบบกฎหมายของประเทศโดยไม่ถูกต้องตามหลักการแห่งประชาธิปไตย เพราะเกิดจากการตราเป็นกฎหมายโดย “พระราชกำหนด” จึงต้องถือว่าการกระทำของรัฐบาลในขณะนั้น (รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) เป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อเสียงข้างน้อยในรัฐสภา ซึ่งผิดหลักการแห่งประชาธิปไตย เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองด้วยเสียงข้างมากก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องเคารพต่อเสียงข้างน้อยในรัฐสภาด้วย  หากกฎหมายได้เข้าสู่รัฐสภาตามครรลองที่ถูกต้อง โดยเสนอเป็น “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา” แล้ว  เชื่อว่าจะมีการอภิปรายเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.อย่างกว้างขวางในรัฐสภาแน่นอน

          2. เนื้อหาใน พ.ร.ก.ก่อการร้าย ได้ บัญญัติขึ้นโดยฝ่าฝืนหลักประกันในกฎหมายอาญา  และขาดความชัดเจนแน่นอน โดยมาตรา 135/1 ที่ว่า “การกระทำในการเดินกระบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย” นั้น เป็นการยากที่จะแบ่งแยกระหว่างการก่อการร้ายกับการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานก่อการร้ายที่ยังไม่ได้ ถูกฟ้องและที่ผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยไปแล้วที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในบ้าน เมืองในครั้งนี้นั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้กระทำการไปโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง หรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

          3.ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับความผิดฐานก่อการร้ายขององค์กรในกระบวนการ ยุติธรรมฝ่ายเจ้าพนักงานของประเทศ อันได้แก่พนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมตลอดถึงพนักงานอัยการเกี่ยวกับความผิดฐานก่อการร้ายยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาอันเนื่องจากการใช้ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงทำให้การดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ดูจะขาดความเชื่อถือศรัทธา

          4.ความผิดฐานก่อการร้ายนั้น คอป. เห็นว่าเทียบได้กับความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ม. 209 กฎหมายอาญา กล่าวคือ ความผิดฐานเป็นอั้งยี่เป็นความผิดที่เป็นการสกัดกั้นการก่อตั้ง “สมาคมอั้งยี่” หรือ “สมาคมอาชญากรรม” และเพื่อสกัดกั้นการคงอยู่ต่อไปของสมาคมอาชญากรรม และป้องกันการกระทำความผิดทั้งหลายที่ร้ายแรงที่จะเกิดตามมาจากการตระเตรียม ที่จะกระทำความผิด เช่น วางระเบิด วางเพลิง หรือฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้โทษหนักสำหรับสมาชิกอั้งยี่ก็คือโทษของความผิดฐานวางระเบิด ความผิดฐานวางเพลิง หรือความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

          5.อั้งยี่หรือสมาคมอาชญากรรมภายในประเทศ ได้พัฒนาไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ และกลายเป็นสมาคมก่อการร้าย  ดังนั้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานก่อการร้ายก็คือการกระทำที่เป็นการรวมตัว กันจัดตั้ง “สมาคมก่อการร้าย” ซึ่งตามปกติการก่อการร้ายจะสัมพันธ์กับต่างประเทศอีกด้วย และหาก “สมาชิกสมาคมก่อการร้าย” ไปกระทำความผิดฐานอื่นใดขึ้น การกระทำก็จะเป็นการกระทำความผิดทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในความผิดฐาน เป็นอั้งยี่

          6.ในทางหลักคิดทางกฎหมายอาญาแล้ว คอป. เห็นว่าลำพังการรวมตัวกันตั้งเป็น “สมาคมก่อการร้าย” ซึ่งเป็นความผิดฐานก่อการร้ายนั้น ระวางโทษตามกฎหมายต้องเบากว่าระวางโทษของความผิดร้ายแรง เช่น วางระเบิด วางเพลิง หรือฆ่าผู้อื่น เพราะเป็นการลงโทษในชั้นการตระเตรียมกระทำความผิด โดยความผิดฐานก่อการร้าย ในประเทศเยอรมนี มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี  แต่ระวางโทษของความผิดฐานก่อการร้ายของไทย กลับมีระวางโทษถึงประหารชีวิต ซึ่งแสดงว่าการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นการกระทำที่ขาดความรู้ และขาดความคิดในทางหลักการแห่งกฎหมายอาญาโดยสิ้นเชิง เหตุนี้ คอป. จึงเห็นว่ากรณีเป็นการละเมิด “หลักนิติธรรม”หรือ “หลักนิติรัฐ” โดยแท้

          7.เมื่อกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายของไทยเราไม่ตั้งอยู่บนหลักการแห่งระบอบ ประชาธิปไตย และหลักแห่ง “นิติธรรม” หรือหลักแห่ง “นิติรัฐ” อย่างชัดแจ้ง คอป. จึงเห็นว่ากรณีเป็นปัญหาที่รัฐบาล รัฐสภา และฝ่ายค้าน ตลอดจนกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มในรัฐสภาจักต้องร่วมกันคิดทบทวนและร่วมกันในการ หาทางออกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเพื่อยับยั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

          สำหรับคดีในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายหลายคดีที่ได้ขึ้นสู่ศาลแล้วนั้น คอป. เห็นว่า การดำเนินคดีที่มีลักษณะเป็นการเหวี่ยงแหอันเกิดจากความไม่เข้าใจเนื้อหาที่ แท้ของความผิดฐานก่อการร้าย จนทำให้จำเลยทุกคนและทุกฝ่ายขาดความเชื่อถือต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มีความแน่ชัดว่าได้มีการก่อตั้งสมาคมก่อการร้าย หรือมีสมาคมก่อการร้ายเกิดขึ้นแล้วในบ้านเมืองเรา  เมื่อการดำเนินคดีในความผิดฐานก่อการร้ายทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศ ขาดความเชื่อถือศรัทธา ทางแก้โดยองค์กรในกระบวนการยุติธรรมตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่อาจทำได้ เช่น การสั่งไม่ฟ้องหรือการถอนฟ้องโดยพนักงานอัยการน่าจะเกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะองค์กรอัยการดูจะไม่ค่อยร่วมมือในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

          ในขณะที่รัฐบาลในอดีต (รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ) ได้ออกพ.ร.ก.เพิ่มความผิดฐานก่อการร้ายนั้น คอป.เชื่อว่ารัฐบาลในขณะนั้นคงจะไม่คาดคิดว่า ประเทศไทยเราจะเกิดความแตกแยกดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เมื่อสถานการณ์แห่งความแตกแยกกำลังปรากฏเป็นทางตันอยู่ในขณะนี้ กรณีจึงจำเป็นต้องปรับใช้ “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” (Transitional Justice) และ “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” (Restorative Justice) เพื่อสร้างความปรองดองและสันติให้เกิดขึ้นในชาติ ดังนั้น คอป.จึงใคร่ขอเสนอให้รัฐบาล รัฐสภา ฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มได้แสดงความกล้าหาญทางการเมืองโดยร่วมกัน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้ยกเลิกประมวลกฎหมาย อาญา ลักษณะ 1/1 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายเสีย เพื่อจักได้กลับไปสู่การเริ่มต้นที่ดีใหม่

          เมื่อภาคการเมืองทุกฝ่ายได้แสดงความกล้าหาญจนได้มีการยกเลิกความผิด เกี่ยวกับการก่อการร้ายแล้ว เงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดี ก็ย่อมจะตกไปตามป.วิ อาญา มาตรา39   ที่ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับเมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความ ผิดเช่นนั้น จึงทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยย่อมจะได้รับผลตามกฎหมายที่ยกเลิกกฎหมายนั้น โดย คดีความที่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานก็จะเป็นอันยุติลง และสำหรับคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น ก็จะยุติลงโดยศาลจะสั่งให้จำหน่ายคดีไป

          คอป. ระบุด้วยว่า การยกเลิกพ.ร.ก.ก่อการร้าย คือ การใช้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความปรองดองและสันติให้เกิดขึ้นในชาติโดยไม่กระทบต่อความรู้สึกขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าองค์กรใดทั้งสิ้น ส่วนการที่จะบัญญัติความผิดฐานก่อการร้ายในประมวลกฎหมายอาญาในอนาคต ซึ่งก็มีความสำคัญ ก็ย่อมจะกระทำได้ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติและทุกฝ่ายต้องมีความรอบคอบมากกว่านี้โดยถือเอาอดีตเป็น บทเรียน

          การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายตามข้อเสนอแนะของ คอป. นั้น เท่ากับเป็นการที่รัฐบาลปัจจุบันและทุกฝ่ายได้ร่วมกันส่งเสริมหลักแห่งการ ปรองดองโดยการกระทำที่มีนัยสำคัญของ “การขอโทษต่อประชาชน” ในความผิดพลาดในอดีต (ความผิดพลาดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ)  ซึ่งการขอโทษต่อประชาชนต่อความผิดพลาดในอดีตเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการสร้างสันติและความปรองดองในชาติอันกล่าวได้ ว่าเป็นหลักการอันเป็นสากล ดังเช่น ประธานาธิบดี Mauricio Funes แห่งประเทศเอล ซัลวาดอร์ และนายกรัฐมนตรี Kevin Rudd แห่งประเทศออสเตรเลีย และผู้นำประเทศคนอื่น ๆ ได้กระทำเป็นแบบอย่างมาแล้ว สำหรับประเทศไทยการขอโทษต่อประชาชนในความผิดพลาดได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวคำขอโทษต่อหน้าข้าราชการ ผู้นำทางศาสนา และผู้นำท้องถิ่นจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้  อันเป็นการขอโทษต่อประชาชนแทนรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ

          คอป. ยังเรียกร้องให้กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายได้ผนึกกำลังกัน แสดงต่อประชาชนให้เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความจริงจังและจริงใจที่จะแก้ปัญหา ของบ้านเมือง โดยถือเอาประโยชน์ของบ้านเมืองก่อนประโยชน์ส่วนตน  เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ เพื่อก้าวพ้นความขัดแย้งและเพื่อนำประเทศชาติไปสู่ความสงบและสันติต่อไป

 

ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net