Skip to main content
sharethis

“บรรพชนของเราบนสรวงสวรรค์.. บัดนี้ ชนชาติอื่นรุมรังแกเรา พวกปฏิวัติอาละวาดหนัก เสนาบดีล้วนคดโกง ขายทุกอย่างที่ขายได้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว เราทำให้บรรพชนผิดหวัง อย่างน้อยซุนเหวินก็ยังมีเมตตาไม่บุกมาในวัง ไม่มีกิโยติน”

หยงลู่ไทเฮา พระมารดาของปูยี
จักรพรรดิองค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์จีน
กล่าวต่อหน้าขุนนางและเชื้อพระวงศ์อย่างขมขื่นพระทัยจนมือสั่น
ก่อนสั่งให้องค์จักรพรรดิสละราชสมบัติในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912

 

0 0 0

 

“เมื่อวานนี้ ฮ่องเต้ได้สละราชสมบัติแล้ว ระบอบจักรพรรดิที่มีมาสองพันปีสิ้นสุดลง นักปฏิวัตินับไม่ถ้วนได้เสียสละชีวิตเพื่อสาธารณรัฐใหม่ของเรา วันนี้ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1912 ตรงกับวันที่ 26 เดือน 12 ของปีซินไฮ่ ผมขอรักษาสัญญา ผมขอลาออกจากการเป็นประธานาธิบดี เราดิ้นรนเพื่อให้การปฏิวัติสัมฤทธิ์ผล แต่เราไม่ต้องการการยอมรับ เราทุกคนต่างมีใจเดียวกันในการตระหนักถึงเป้าหมายของการปฏิวัติ เป้าหมายก็คือการก่อร่างสร้างประเทศอิสระเพื่อชนชาวจีน เราสร้างสาธารณรัฐจีนที่แผ่นดินนั้นแบ่งให้แก่พวกเราทุกๆ คน ชาตินิยม ประชาธิปไตย มีกินมีใช้ นั่นคือสิ่งที่เราสู้เพื่อให้ได้มา”

ซุนยัดเซน
ผู้นำการปฏิวัติระบอบจักรพรรดิ
กล่าวกับสมาชิกขบวนการถงเหมิงฮุ่ยถึงเหตุผลและอุดมการณ์ของการปฏิวัติ
ในการสละตำแหน่งประธานาธิบดีหลังปฏิวัติสำเร็จ

 

0 0 0

 

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

 

ถ้อยคำข้างต้นมาจากฉากสำคัญในหนังเรื่อง “1911” (ชื่อไทย “ใหญ่ผ่าใหญ่”) ซึ่งสร้างจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า "การปฏิวัติซินไฮ่" (Xinhai Revolution) ในปี ค.ศ.1911 มีผู้นำขบวนการปฏิวัติคนสำคัญคือ ดร.ซุนยัดเซน เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การปกครองระบอบจักรพรรดิของจีนที่มีมายาวนานกว่าสองพันปีสิ้นสุดลง และเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐ เรื่องนี้เฉินหลงเป็นทั้งผู้กำกับ อำนวยการสร้าง และแสดงเอง เพื่อฉลองวาระครบ 100 ปีการปฏิวัติซินไฮ่ รวมทั้งเป็นหนังเรื่องที่ 100 ที่เฉินหลงแสดงด้วย (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538787083&Ntype=3 )

ในงานเสวนาและฉายภาพยนตร์ "1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง" ซึ่งจัดที่ The Reading Room สีลม 19 เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการฉายหนังเรื่องนี้ให้ผู้ร่วมงานชม ก่อนจะเป็นการพูดคุยวิเคราะห์แกะเกาถึงประวัติศาสตร์การปฏิวัติจากหนัง โดย หลิ่มหลี, ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง (นักวิเคราะห์ประจำร้านกาแฟ Cafe mes amis) และ บดินทร์ เทพรัตน์ (นักเขียนนิตยสาร Starpics) มีหลายคำถามที่น่าสนใจ เช่น อะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการปฏิวัติทั้งที่ซุนยัดเซนมีกำลังน้อย เหตุใดซุนยัดเซนถึงไม่ล้มราชวงศ์ไปตั้งแต่ตอนแรก จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ค่อยฉลอง 100 ปีการปฏิวัติเหมือนไต้หวันเพราะอะไร คนจีนคิดยังไงกับราชวงศ์ที่เคยมี เหตุใดสถาบันกษัตริย์จีนถูกล้ม แต่สถาบันกษัตริย์ไทยยังยืนหยัดได้หลังปฏิวัติ จึงขอหยิบมานำเสนอเพื่อการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

 

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

ขอบคุณภาพบรรยากาศงานจากเฟสบุ๊ค The Reading Room

 

ผลงานเรื่องที่ร้อย เฉินหลงยอมเป็นพระรอง อุทิศให้การปฏิวัติ

บดินทร์: เฉินหลงกำกับหนังเรื่องนี้โดยควักเงินส่วนตัวสร้าง หนังเป็นการแสดงเรื่องที่ 100 ของเฉินหลง แต่เฉินหลงไม่ได้ให้ตัวเองเล่นบทเด่นเพื่อเชิดชูตัวเอง กลับเป็นตัวประกอบซึ่งบทนิดเดียว บู๊แค่นานๆครั้งให้คนดูหายคิดถึง แสดงว่าเฉินหลงเชิดชูการปฏิวัติครั้งนี้มากขนาดอุทิศหนังเรื่องที่ 100 ของตัวเองให้เรื่องนี้

ภาพันธ์: แม้จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว แต่คนจีนก็ยังให้ความนับถือซุนยัดเซนซึ่งเป็นแนวประชาธิปไตย เพราะเขาถือเป็นมังกรตัวที่หนึ่งในการสร้างชาติ ที่ผ่านมามีหนังที่พูดถึงเหมาเจ๋อตุงไปแล้วคือ “The Founding of a Republic” (มังกรสร้างชาติ)คราวนี้จึงหันไปพูดถึงมังกรอีกตัวบ้าง

 

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

เฉินหลง รับบทเป็น หวงซิง ผู้บัญชาการใหญ่ในการปฏิวัติ ในหนัง 1911

 

ราชวงศ์พินาศ เพราะไม่มีเศรษฐกิจพอเพียง โครงการทูบีนัมเบอร์วัน

บดินทร์: ก่อนการปฏิวัติ มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้เท่าทันต่างชาติ แต่การปฏิรูปถูกขัดขวางจากคนใหญ่คนโตอย่างพระนางซูสีไทเฮา จนสถานการณ์มาถึง “the point of no return” ถ้าราชวงศ์ลองออกไปมองดูโลกนอกวังว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหนแล้วค่อยๆก้าวทันก็อาจปรับตัวได้ แต่เมื่อมีอำนาจมากเกินไป ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง อยู่แต่ในโลกแคบๆของตัวเอง

หลิ่มหลี: ตอนแรกซูสีไทเฮายอมให้มีโรงเรียน และมหาวิทยาลัยแบบตะวันตก ไม่ใช่เพราะต้องการให้ประเทศพัฒนา แต่ยอมเพราะเกมการเมือง ซูสีไทเฮาต้องการใช้ประโยชน์จากองค์ชายกง น้องชายของสวามีที่มีฐานอำนาจอยู่ที่ต่างชาติและเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ พระนางจึงยอมให้มีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีโรงเรียนที่ไม่ได้เรียนลัทธิขงจื๊อแต่ใช้หลักสูตรตะวันตก มีนักเรียนไปเรียนเมืองนอก ทำให้นักเรียนนอกซึมซับอุดมการณ์ประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค และค้นพบว่าประเทศที่เขาอยู่ยังล้าหลัง นั่นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้พระนางซูสีไทเฮาสั่งห้ามนักเรียนไปเรียนเมืองนอกในภายหลัง แต่ก็สายไปแล้ว

ภาพันธ์: ประเด็นคือสมัยนั้นกระบวนวิธีคิดทางการเมืองยังน้อย ถ้าสมัยนั้นราชวงศ์คิดได้ว่าให้มีโครงการในพระราชดำริ มีเศรษฐกิจพอเพียง หรือโครงการทูบีนัมเบอร์วัน มันจะราบรื่นในการดึงมวลชนเข้าหาตัวราชวงศ์ แต่สมัยนั้นคงคิดไม่ออก ทำให้เผชิญแรงต่อต้านมาก

 

ระบบศีลธรรมและสงครามฝิ่น สิ่งที่ดับความเป็น “เจ้าโลก” ของจีน

ภาพันธ์:จักรวรรดิจีนได้อิ่มตัวในความสำเร็จมาตั้งแต่สมัยต้นราชวงศ์หมิงที่อำนาจและวิทยาการต่างๆรุ่งเรืองถึงขีดสุด หย่งเล่อ จักรพรรดิองค์ที่ 3 ของราชวงศ์หมิง สามารถสร้างกองเรือที่ยิ่งใหญ่ออกสำรวจโลกอย่างกองเรือเจิ้งเหอได้ ในยุคโบราณ ถ้าพูดถึงศูนย์กลางจักรวาลจริงๆคงต้องเป็นจีน ส่วนตะวันตกยังไปไม่ถึงไหน แต่สิ่งที่มากับความเจริญก็คือ การหวนกลับเข้าไปหาระบบคุณธรรมศีลธรรม ระบบคุณธรรมมากำกับให้การพัฒนาเทคโนโลยีการสงครามของจีนหยุดชะงักไปลองไปดูอุดมการณ์ของขงเบ้งในเรื่องสามก๊กที่มองว่าการใช้อาวุธหนักๆล้างผลาญกันคือความบาป สะท้อนความคิดเรื่องคุณธรรมของหลอกว้านจง ผู้แต่งที่อยู่ในสมัยต้นราชวงศ์หมิง

หลังจากรัชสมัยหยงเล่อ นโยบายจักรวรรดิจีนเปลี่ยนไป กองทัพเรือ เทคโนโลยีทางอาวุธไม่พัฒนา ระบบขงจื๊อพัฒนามาเรื่อยๆ แม้จะเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ชิงแล้วก็ตามก็ยังใช้กองทหารม้าศึกรบ แต่เทคโนโลยีนั้นไปเติบโตในตะวันตก ตะวันตกระบบศีลธรรมไม่ค่อยมี รบปล้นชิงเขาไปทั่ว ความเจริญที่พัฒนาขึ้นในตะวันตกเข้ามาคุกคามจีนที่เลิกพัฒนามาสองร้อยปีแล้ว แต่จีนยังเชื่อว่าศักยภาพตัวเองในการทำสงครามยังดีอยู่ ฝรั่งเป็นพ่อค้าฝิ่น หลังจีนต่อต้านฝิ่นจนเกิดสงครามและพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งแรก จีนก็เสียสิทธิต่างๆ ความเป็นศูนย์กลางจักรวาลของจีนก็พังทลายนับแต่นั้นมา ไม่มีสถานะนำในการเมืองโลกอีกแล้ว จักรวาลได้เคลื่อนไปทางตะวันตกแทน

หลิ่มหลี: สงครามฝิ่นส่วนหนึ่งเกิดจากประเทศแถบยุโรปพยายามเข้ามาหารายได้ในประเทศจีน แต่ขายอะไรไม่ค่อยได้เพราะเมืองจีนมีสินค้ามากอยู่แล้ว จึงเอาฝิ่นจากอินเดียที่เป็นประเทศอาณานิคมอังกฤษเข้าไปขาย เขาไม่มีโครงการทูบีนัมเบอร์วันเลยเสร็จ สงครามฝิ่นทำให้จีนเสียอะไรและราชวงศ์ชิงมีเค้าจะล่มมาก่อนสมัยซูสีไทเฮาแล้ว สมัยซูสีไทเฮาเป็นช่วงที่เล่นการเมืองเพื่อประคับประคองราชวงศ์ในช่วงที่ราชวงศ์น่าจะล่มแล้วด้วยซ้ำ เพราะต่างชาติยกทัพมาบุกปักกิ่งแล้ว แต่ก็ยังประคองสถานการณ์จนได้ตายบนบัลลังก์

ภาพันธ์: ความเก่งของซูสีไทเฮาคือการหนุนหลังกบฏนักมวยเพื่อต่อต้านฝรั่ง เพราะที่ผ่านมาความเป็นฮั่นไม่ถูกกับความเป็นแมนจู (เผ่าพันธุ์ของราชวงศ์ชิง) แต่กบฏนักมวยที่รวมพลังกันต่อต้านตะวันตกทำให้ฮั่นกับแมนจูรวมกันเป็นหนึ่งเดียว คนที่อยู่ในกบฏนักมวยเป็นชาวฮั่นจำนวนมาก ถือเป็นการประคองสถานการณ์ของซูสีไทเฮาไม่ให้ราชวงศ์ซึ่งเป็นแมนจูถูกเกลียด แต่พระนางประมาทที่เอาเด็กมาขึ้นครองราชย์ เมื่อตัวเองตาย ราชวงศ์ก็ขาดที่พึ่ง

หลิ่มหลี: จริงๆซูสีไทเฮาปกครองประเทศได้ แต่ธรรมเนียมจีนไม่ให้ผู้หญิงปกครอง พระนางจึงใช้วิธีคล้ายโจโฉที่ให้ฮ่องเต้เป็นหุ่นเชิดและตัวเองดูแลบ้านเมืองอยู่หลังม่าน ซูสีไทเฮาไม่ใช้วิธีแบบบูเช็กเทียนที่เป็นจักรพรรดินีเพราะอาจถูกต่อต้าน

 

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

กบฏนักมวยที่ร่วมกันสู้กับต่างชาติโดยราชสำนักแอบหนุนหลัง ถูกพูดถึงในหนังเรื่อง “หวงเฟยหง”
(Once Upon a Time in China)

 

ทำไมซุนยัดเซนเลือกที่จะไม่กำจัดราชวงศ์ในตอนแรก

บดินทร์: ในหนังจะเห็นว่าซุนยัดเซนไม่ได้ปฏิวัติครั้งเดียว แต่พยายามมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ว่าเขาทำไม่สำเร็จสักทีกระทั่งปี 1911 ที่ทำสำเร็จทั้งที่กำลังพลไม่ได้มากกว่าเดิม

หลิ่มหลี: การปฏิวัติที่อู่ชัง ปี 1911 (การต่อสู้ครั้งสำคัญที่ทำให้รัฐบาลชิงพ่ายแพ้) รัฐบาลชิงยึดเอาทางรถไฟที่เอกชนสร้างเป็นของรัฐ และเอาไปมัดจำกับสี่ประเทศ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน เพราะต้องการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ชาวบ้านรับไม่ได้ คณะปฏิวัติเลยใช้โอกาสนี้ก่อปฏิวัติจนสำเร็จ จริงๆแล้วไม่ใช่คนของซุนยัดเซนที่รบชนะ แต่เป็นเพราะทหารแปรพักตร์เอง

ภาพันธ์: ซุนยัดเซนปฏิวัติโดยมีข้อตกลงให้ราชวงศ์ยังอาศัยอยู่ในวังต้องห้ามได้รวมถึงให้เงินสนับสนุน เป็นเพราะซุนยัดเซนยังไม่มีกำลังทหารมากพอที่จะคุมฝ่ายนายพลหยวนซื่อไข่ (ขุนศึกที่ทรยศราชวงศ์และช่วยซุนยัดเซนปฏิวัติ) จึงต้องให้คนอื่นมาดุลอำนาจเป็นสามขั้ว ตามคำพังเพยจีน “เมียสองต้องห้าม เมียสามตามตำรา” หากมีเมียสองคน จะทะเลาะกันจนคุมไม่ได้ แต่หากมีเมียสามคน จะดุลอำนาจกันเองทำให้เราไม่เหนื่อย การที่ซุนยัดเซนผูกมิตรกับราชวงศ์ทำให้เกิดสภาพดุลอำนาจสามขั้วคล้ายสามก๊ก สามารถรอโอกาสพลิกสถานการณ์มาเป็นผู้ชนะในภายหลังได้ ในอีกด้านราชวงศ์เองก็กำลังจะล่มอยู่แล้ว เพราะจักรพรรดิยังเด็ก

 

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

ซุนยัดเซน ในหนัง 1911

 

อะไรทำให้ราชวงศ์ชิงถูกล้มล้างภายหลัง แต่ปฏิวัติ 2475 ราชวงศ์ไทยยังอยู่

หลิ่มหลี: พื้นฐานนิสัยคนจีนได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื๊อที่ให้ความนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ เชื่อในความดีงามของผู้ปกครอง เดิมคณะปฏิวัติจึงไม่คิดว่าจะต้องกำจัดราชวงศ์ แต่สาเหตุที่ราชวงศ์ถูกล้มในภายหลังเป็นเพราะจักรพรรดิปูยีพยายามจะกลับมามีอำนาจใหม่ หากย้อนไป ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้าย หมดอำนาจในปี 1912 โดยพระมารดาหยงลู่ประกาศสละราชบัลลังก์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน คณะรัฐประหารที่สนับสนุนราชวงศ์ก็บุกเข้ามาในกรุงปักกิ่งเพื่อช่วยเหลือราชวงศ์ ทำให้เห็นว่าฝ่ายราชวงศ์ยังมีพลังอยู่ เมื่อฝ่ายปฏิวัติยึดอำนาจในปักกิ่งอีกครั้งจึงต้องขับไล่ปูยีออกไป ปูยีกระเสือกกระสนจะกลับเข้ามามีอำนาจในปักกิ่งตลอดเวลา ตอนที่ญี่ปุ่นยึดแคว้นแมนจูเรียและตั้งประเทศแมนจูกัวเพื่อเป็นฐานทัพบุกเข้าจีน ปูยียังร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยตกลงเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดในประเทศแมนจูกัว หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ประเทศแมนจูกัวถูกล้ม อดีตจักรพรรดิจึงกลายเป็นอาชญากรสงคราม แม้ปูยีพยายามหนีไปโซเวียต แต่เพราะโซเวียตเป็นมิตรกับจีนจึงทำให้ปูยีถูกส่งตัวกลับมาเป็นนักโทษที่จีน

 

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ขณะเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดของประเทศแมนจูกัว
ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นและพระชายา ภาพจากหนัง The Last Emperor (1987)

 

ภาพันธ์: หากเปรียบการปฏิวัติ 1911 ของจีน กับ ปฏิวัติ 2475 ของไทย ตอนที่รัชกาลที่ 7 เสียอำนาจ ราชวงศ์ยังมีพื้นฐาน connection ภายในที่แข็งแกร่ง แต่ปูยียังเด็กมากตอนที่ถูกปฏิวัติ เมื่อโตขึ้นมาและต้องการฟื้นอำนาจตัวเองจึงขาด connection ภายใน ทำให้ต้องไปยืมมือผู้อื่น เป็นหุ่นเชิดให้ญี่ปุ่นซึ่งกำลังมีบทบาทในจีนตอนนั้น แต่หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม อำนาจของปูยีจึงหมดไปด้วย หากจะกลับมาก็ลำบาก เพราะปูยีตกอยู่ในฐานะศัตรูของชาติแล้วเพราะร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่ในประเทศไทยไม่มีเหตุการณ์ที่สถาบันกษัตริย์ไปพึ่งพาอำนาจของต่างชาติที่เป็นศัตรูของชาติ สำหรับจีนยังมีเงื่อนไขอื่นๆที่เป็นลบต่อราชวงศ์ เช่น อุดมการณ์คอมมิวนิสม์ที่ทำงานมานานพอที่จะปฏิเสธความมีอยู่ของราชวงศ์ ราชวงศ์ชิงยังเป็นชาวแมนจูที่ถูกมองว่าเป็นคนนอกด่านสำหรับชาวฮั่น

 

หากจีนเปลี่ยนราชวงศ์ โฉมหน้าการเมืองจีนอาจพลิกมาเหมือนไทย

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

ภาพเปรียบเทียบจากหนัง 1911 และตัวจริงของนายพลหยวนชื่อไข่ นักการเมืองและนักการทหารผู้คุมกองทัพราชวงศ์ชิง แต่แปรพักตร์มาช่วยซุนยัดเซนล้มอำนาจราชวงศ์เพื่อแลกกับการเป็นประธานาธิบดี หลังเป็นประธานาธิบดีเขาได้ใช้อำนาจทางทหารรื้อฟื้นระบอบราชาธิปไตยและตั้งตนเป็นจักรพรรดิเป็นระยะสั้นๆ ก่อนจะล้มเลิกไปเพราะถูกต่อต้าน

 

บดินทร์: ตัวละครที่เห็นในหนัง 1911 ยังมักจะมีมิติเดียว ไม่ดีก็ชั่ว แต่จะมีตัวละครหนึ่งที่น่าจะอยู่ในความทรงจำของคนดูหนังเรื่องนี้นานที่สุด คือ หยวนซื่อไข่ จะเป็นคนเลวก็ไม่ใช่ แต่เป็นนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจ ตอนแรกเหมือนกับเข้าข้างราชวงศ์ แต่พอราชวงศ์ไม่สนองความต้องการของตนก็แปรไปอยู่กับซุนยัดเซน ตอนแรกแสดงจุดยืนว่าต้องรักษาราชวงศ์ แต่ภายหลังกลับบอกว่าล้มก็ได้ ดูเป็นนักการเมืองมาก และเป็นคนที่มีอำนาจแทนซุนยัดเซนในเวลาต่อมา

ภาพันธ์: หยวนซื่อไข่เป็นคนที่รู้จักโลกดีพอสมควร ถ้าเขาไม่ตายเสียก่อนระหว่างเป็นจักรพรรดิ โฉมหน้าการเมืองจีนอาจเปลี่ยน ระบบการเมืองอาจจะสวิงเข้ามาเหมือนประเทศไทยก็ได้ เพราะการปฏิวัติ 2475 ใช้การยืมพลังทหาร และหลังจากนั้นทหารก็ไม่เคยออกจากการเมืองไทยอีกเลย เช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็เป็นการยืมมือทหารเข้ามาปฏิวัติล้มราชวงศ์ เพียงแต่ว่าขั้วอำนาจที่มีพลังมากที่สุดนี้ตายเร็วไปหน่อย ขั้วอำนาจอื่นขึ้นมาแทน ถ้าอำนาจหยวนซื่อไข่ยังอยู่ มันเราอาจจะเห็นจีนอีกแบบหนึ่งที่คล้ายบ้านเราก็เป็นได้

หลิ่มหลี: หยวนซื่อไข่เป็นคนที่หาผลประโยชน์ใส่ตัว คืออยากจะใหญ่ที่สุดให้ได้ เขาใช้ฝีปากชนะราชวงศ์ ขณะเดียวกันใช้กำลังชนะคณะปฏิวัติ เพราะกำลังทหารอยู่ในมือเขา มันน่าเสียดายที่เขาตาย ถ้าไม่ตายระบบเปลี่ยนแน่นอน นโยบายของเขาคือกลับขึ้นมาเป็นจักรพรรดิอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นการเปลี่ยนราชวงศ์ หากเขาเป็นชาวฮั่นอาจยิ่งได้รับการยอมรับ เพราะชาวฮั่นลึกๆแล้วต่อสู้เพื่อการล้มล้างการปกครองของแมนจูมาตลอด เพราะเขาถือว่าคนแมนจูเป็นคนนอกด่าน น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ทำให้เขากลายเป็นตัวตลกเกินไป จริงๆเขาโหดเหี้ยมมากกว่านั้น แต่เข้าใจว่าเฉินหลงคงอยากให้หนังมีมุขบ้าง

 

เหมาเจ๋อตุง กับเจียงไคเชค สองขั้วที่ต่าง แต่เป็นทายาทซุนยัดเซนทั้งคู่?

บดินทร์: เหตุการณ์ในหนังเหมือนจะกินเวลานาน แต่ที่จริงเป็นเหตุการณ์ช่วงระยะเวลาปีกว่าๆเอง เหตุการณ์สลับซ้อนพลิกไปพลิกมา การตัดสินใจบางครั้งของตัวละครอาจเปลี่ยนจีนทั้งประเทศได้ ทำให้เห็นว่าสถานการณ์แปรผันได้ในชั่วพริบตา ใครที่มองว่านักการเมืองต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ซุนยัดเซนต้องเป็นพ่อพระ ปฏิวัติง่ายดาย ใช้ความดีชนะ เป็นการมองที่ผิดหลักความเป็นจริง เพราะเรื่องนี้จะเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ และมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คิด อย่างหนัง “มังกรสร้างชาติ” (The Founding of a Republic) เหมาเจ๋อตุงพยายามจะอ้างตัวเองว่าเป็นทายาทซุนยัดเซน ส่วนเจียงไคเชคก็พยายามอ้างซุนยัดเซนเหมือนกัน ทั้งที่สองฟากนั้นอยู่คนละโลกกัน เจียงไคเชคเป็นชาตินิยมประชาธิปไตย ส่วนเหมาเจ๋อตุงเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ทั้งสองคนนี้ก็พยายามอ้างสิทธิ์ว่าเป็นทายาทซุนยัดเซน

 

1911 ปฏิวัติ (ขับไล่) ราชวงศ์ชิง: คุยเรื่องเจ้า และล้มเจ้า (จีน)

เจียงไคเชค และ เหมาเจ๋อตุงจากหนัง“มังกรสร้างชาติ” (The Founding of a Republic)
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน สร้างเพื่อฉลองวาระครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

หลิ่มหลี: การที่เหมาเจ๋อตุงอ้างถึงซุนยัดเซน คงคล้ายๆกับการรับช่วงงานต่อเนื่อง หลังซุนยัดเซนปฏิวัติราชวงศ์ชิงในปี 1911 ระบอบสาธารณรัฐก็ล้มลุกคลุกคลานเพราะการยึดอำนาจของขุนศึกต่างๆ ประเทศแตกเป็นกลุ่มขุนศึกหลายสาย ขณะที่ขุนศึกกลุ่มต่างๆทำสงครามกัน ซุนยัดเซนตั้งพรรคก๊กมินตั๋งเพื่อพยายามรวมชาติจีนอีกครั้ง เขาได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียต รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็เสียชีวิตก่อนจะรวมจีนสำเร็จ ทำให้เหมาเจ๋อตุงมีสิทธิจะอ้างว่ารับงานต่อจากซุนยัดเซน เพราะซุนยัดเซนเคยร่วมงานกับพวกมาร์กซิสม์เพื่อรวมจีน ส่วนการที่เจียงไคเชคอ้างซุนยัดเซนนั้นอาจจะดูใช่กว่า เพราะสืบทอดพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งเป็นแนวทางประชาธิปไตยมาจากซุนยัดเซนโดยตรง และเป็นเขยในตระกูลซ่งด้วยกัน มีความสนิทสนม

 

100 ปีปฏิวัติราชวงศ์ ไต้หวันฉลอง จีนแผ่นดินใหญ่เงียบ

บดินทร์: การฉลอง 100 ปี ปฏิวัติซินไฮ่เมื่อปีที่แล้ว จะเห็นว่าที่ไต้หวันฉลองกันเยอะมาก ผู้คนเอารูปท่านซุนยัดเซนมาชูหรา แต่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ดูจะฉลองไม่เต็มที่ เหมือนมีความย้อนแย้งว่าซุนยัดเซนกับเหมาเจ๋อตุง แม้จะเป็นรากฐานของชาติเหมือนกัน แต่ก็เป็นคนละลัทธิ ฉะนั้นการฉลองให้ซุนยัดเซนจะไปขัดกับท่านเหมาเจ๋อตุงหรือเปล่า ไม่เหมือนไต้หวันที่เขาอ้างความเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ประโยคหนึ่งที่ซุนยัดเซนพูดในหนัง เอามาคิดแล้วมันเหมือนเสียดล้อจีนแผ่นดินใหญ่ “ในที่สุด ประชาชนจีนก็มีสิทธิเลือกผู้นำของตัวเองได้ซะที มีการเลือกตั้ง”

ภาพันธ์: เหตุทำให้จีนแผ่นดินใหญ่พูดถึงเหมาเจ๋อตุง ไต้หวันพูดถึงซุนยัดเซน มันคล้ายๆครูของใครของมัน คนจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้รับอิทธิพลจากเหมาเจ๋อตุงมาก จึงไม่ได้เชิดชูย้อนขึ้นไปถึงซุนยัดเซน หาแค่เหมาเจ๋อตุงก็พอ ขณะที่ไต้หวันซึ่งมาจากสายเจียงไคเชค เขาต้องแสวงหาสัญลักษณ์ที่เป็นประชาธิปไตยเหมือนกันคือซุนยัดเซน ยกตัวอย่าง เด็กศิลปากรจะไม่ค่อยพูดถึงครูช่างยุคแรกๆ อย่างเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็นครูช่างขนบเก่า แต่จะพูดถึงศิลป์พีระศรี แต่คนยุคเก่ากว่านั้นเขาจะพูดถึงกรมนริศฯ และมีการไหว้ครูของกรมนริศฯซ้อนไปกับการไหว้ครูของศิลป์พีระศรี มันเป็นความผูกพันของคนแต่ละรุ่น

 

เจียงไคเชคกับเหมาเจ๋อตุงแข่งกันรวมชาติจีน แต่อะไรทำให้เหมาเจ๋อตุงชนะ

ภาพันธ์: มองในเชิงสงคราม หลังซุนยัดเซนตาย สายปฏิรูปก็แตกออกมาเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือกลุ่มของเจียงไคเชค กับกลุ่มของเหมาเจ๋อตุง ทำไมเจียงไคเชคถึงแพ้ เหมาเจ๋อตุงถึงชนะ มันคล้ายกับยุทธการกวนตู้สมัยสามก๊ก โจโฉที่มีกำลังเพียงเจ็ดหมื่นสามารถเผด็จศึกอ้วนเสี้ยวที่มีกำลังถึงเจ็ดแสนได้ กองทัพใหญ่กว่าไม่จำเป็นต้องชนะเสมอไป ขึ้นอยู่กับความฉลาดและอะไรหลายๆอย่างด้วย ช่วงที่ญี่ปุ่นบุกจีนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คิดว่ากองกำลังหลักที่ไปยันกับญี่ปุ่นเป็นกองกำลังของเจียงไคเชค ไม่ใช่กองกำลังของเหมาเจ๋อตุง ทำให้เสียกำลังพลไปมากและรับมือกับเหมาเจ๋อตุงในภายหลังไม่ไหว ส่วนเหมาเจ๋อตุงไปทำงานเกลี้ยกล่อมมวลชนไว้พอสมควรและมียุทธศาสตร์ที่ไม่ดูเบาสถานการณ์ ขณะที่กองทัพเจียงไคเชคค่อนข้างจะดูเบาสถานการณ์ และถูกหลอกหลายครั้งในหลายสมรภูมิสำคัญ ทำให้สถานการณ์พลิก เจียงไคเชคพ่ายแพ้ในที่สุด เพราะเชื่อในศักยภาพของกองทัพรวมถึงเชื่อมั่นว่ามันมีกองกำลังจากต่างชาติเข้ามาสนับสนุนด้วย เหมาเจ๋อตุงจึงรวมจีนสำเร็จ

หลิ่มหลี: มองในแง่ของลัทธิ คนจีนอยู่ด้วยลัทธิขงจื๊อมาตลอด ซึ่งพูดถึงความดีงาม ศีลธรรมที่จะต้องเทิดทูนพ่อ เทิดทูนผู้นำ เทิดทูนผู้ครองอำนาจ ภายหลังประชาชนค้นพบว่าลัทธินี้ไม่ได้ทำให้เค้าพ้นความลำบากได้จริง รวมทั้งเหมาใช้ระบบกว้านส่งคนตระเวนไปปลูกฝังลัทธิมาร์กซิสม์ในหมู่ชาวนาโดยพูดถึงความเท่าเทียมกัน การแบ่งปัน ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน กรรมกร ชาวนามีอะไรเท่ากัน พอปลูกฝังลัทธิตรงนี้ก็กลายเป็นเครือข่ายที่มี connection หนาแน่น ขณะที่เจียงไคเชคจะอยู่กับกลุ่มสังคมทุนนิยม กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มคนชั้นกลาง คนชั้นสูง คนมีการศึกษา นักเรียนนอก กลายเป็นการต่อสู้ของคนจนซึ่งเป็นคนหมู่มาก กับคนรวยคนชั้นกลางซึ่งเป็นคนหมู่น้อย เมื่อมีการรบกันจริงๆ คนชั้นกลางก็หนีก่อน แต่ชาวนาเขาสู้ตาย เหมาเจ๋อตุงสร้างลัทธิให้คนสู้เพื่อชาติ ตายเพื่อชาติ หลังจากนั้นคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ จะเห็นว่า propaganda ของเหมาเจ๋อตุงสุดยอดมาก โดยให้ละทุกอย่างเพื่อประเทศ เข้าถึงระบบคอมมูน กลับไปทำนา มีสิ่งหนึ่งที่ผูกใจชาวนาที่สุดคือใน 7 วันจะต้องมีวันหนึ่งที่หัวหน้าหน่วยงานลงมาเป็นลูกน้อง แสดงให้เห็นความเท่าเทียมอย่างแท้จริง และทำให้ชาวบ้านชอบมาก

 

ซุนยัดเซนเคยมาเดินสายแถวเยาวราช

ผู้ฟัง1: ดูหนังแล้วติดใจในเรื่องความเป็นคนจีนโพ้นทะเล แม่เล่าให้ฟังว่าอากงมีรูปซุนยัดเซนแขวนอยู่ในบ้านสมัยก่อนตอนอพยพมา สงสัยว่าคนจีนโพ้นทะเลนึกถึงความเป็นชาติของตนยังไง หรือเชื่อมโยงกับแผ่นดินแม่ยังไง

หลิ่มหลี: ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวจีนโพ้นทะเลยังนับถือซุนยัดเซน เพราะว่าการปฏิวัติที่ซุนยัดเซนทำเป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้พวกเขา และการปฏิวัติก็สำเร็จส่วนหนึ่งเพราะชาวจีนโพ้นทะเล

บดินทร์: ซุนยัดเซนต้องออกไปต่างประเทศบ่อยๆ ก็เพราะระดมทุนมาสนับสนุนการปฏิวัติ

ภาพันธ์: ซุนยัดเซนเคยมาพบปะจีนโพ้นทะเลในไทยย่านเยาวราช (ในเยาวราชจะมีซอยหนึ่งชื่อ ซอยซุนยัดเซน) และมาระดมทุนที่ศาลเจ้าชิกเซี้ยม่า ตรงวงเวียน 22 กรกฎาซุนยัดเซนมีความผูกพันกับจีนโพ้นทะเลสูงเพราะเขาออกตระเวนอย่างจริงจัง การตระเวนมันสร้างพลังในหมู่คนจีนโพ้นทะเลให้มีความรู้สึกร่วมกับอุดมการณ์ใหม่ สร้างความภาคภูมิที่ได้ทำอะไรให้บ้านเกิด และเมื่อทำตามอุดมการณ์สำเร็จก็เกิดความผูกพัน

 

คนรักเจ้า ยังเหลืออยู่ไหม

บดินทร์: อุดมการณ์ราชานิยมของชาวจีนไม่มีแล้ว ทุกวันนี้ไปบ้านชาวจีนคงไม่มีใครแขวนรูปปูยี หรือรูปจิ๋นซีฮ่องเต้ ดูได้จากการเขียนประวัติศาสตร์ให้ซูสีไทเฮาเป็นตัวร้าย เขาสามารถสร้างหนังเรื่อง 1911 ได้โดยให้ราชวงศ์เป็นตัวร้าย แต่ประเทศไทยสมมติมีคนอยากสร้างหนังเกี่ยวกับคณะราษฎร หรือรัชกาลที่ 7 ก็คงสร้างไม่ได้ เว้นแต่ปรีดีเป็นตัวโกง อุดมการณ์ชาวจีนเปลี่ยนไปเป็นสมัยใหม่ เขามองว่าราชวงศ์หรือระบบกษัตริย์ทำให้ประเทศชาติเสื่อมโทรม การนำประเทศไปสู่สมัยใหม่คือความความดี เขาจึงเลือกเอาอุดมการณ์ซุนยัดเซนอุดมการณ์หลักในใจของเขา ไม่แปลกที่เขาจะแขวนรูปซุนยัดเซนแทนที่จะเป็นรูปปูยีหรือจิ๋นซีฮ่องเต้

ผู้ฟัง 2: เพื่อนคนจีนเคยบอกว่า อุดมการณ์ราชานิยมในจีนแทบจะหมดไปแล้วเหลือแค่คนแก่บางคน คนรักเจ้ามีอยู่น้อยและทยอยตายไปหมด เมื่อเหมาเจ๋อตุงชนะก็มีการ propaganda โจมตีศักดินาจนอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสม์ต์มาแทนที่

ภาพันธ์: ถ้าหากจีนจะชูเจ้าขึ้นมาหลังการปฏิวัติ เขาคงนึกไม่ออกว่าจะจูงสายเลือดเจ้าองค์ไหนขึ้นมาด้วย ราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นแมนจูจบลงด้วยความล้มเหลว ขณะที่จะไปหาสายเลือดเก่า คือราชวงศ์หมิงก็หาไม่ได้ เพราะสิ้นราชวงศ์ไปสองร้อยกว่าปีแล้ว เมื่อ “ล้มชิง กู้หมิง” ไม่สำเร็จ จึงไม่รู้จะไปหาแซ่อย่างไร

บดินทร์: เขาว่ากษัตริย์ของทุกประเทศในทุกวันนี้อยู่ด้วยความรู้ตัวว่าตัวเองจะเป็นราชวงศ์สุดท้าย เพราะถ้าจบราชวงศ์ตัวเองแล้วคงไม่มีใครมาลงเลือกตั้งเป็นกษัตริย์แทน จบก็คือจบ ปกครองแบบอื่นไปเลย

ภาพันธ์:การเป็นกษัตริย์ในยุคปัจจุบันต้นทุนมันสูง ต้องรวยและทำธุรกิจเป็น ถ้าทำธุรกิจไม่เป็น ต้องไปขูดรีดประชาชนก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าทำธุรกิจไม่เป็นก็ไม่มีเงินไปทำพระราชพิธีทั้งหลายซึ่งแพงมาก

 

ประชาธิปไตยสำคัญสำหรับจีนไหม

ภาพันธ์: ขณะที่พม่ากำลังพยายามทำตัวเป็นประชาธิปไตย แต่จีนกลับสามารถพัฒนาและมีอิทธิพลบนเวทีโลกโดยไม่มีใครมากดดันเรื่องประชาธิปไตยได้ มองว่าหากรัฐบาลสามารถทำให้คนอยู่ดีกินดีได้ด้วยระบบนี้ ประชาชนก็ชื่นชมรัฐบาลเขาจีนจะปฏิเสธโลกตะวันตกได้ และบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่เหมือนพม่าหรือไทยที่ต้องแคร์สายตาต่างชาติ อุดมการณ์นี้ถ้าเราต้องพึ่งตะวันตกก็คือเราต้องเป็น แต่จีนหยิ่งผยองพอที่จะบอกตัวเองว่าเราจะไม่เป็นประชาธิปไตย จะเป็นประเทศหลายระบบแบบนี้ ใช้ทุนนิยมขายอะไรก็ได้ และจีนคิดว่าจีนกำลังบอกว่าวันหนึ่งตัวเองจะกลับมาเป็นศูนย์กลางจักรวาลอีกครั้ง

ผู้ฟัง 3: วิธีคิดแบบคนจีนเขาไม่ค่อยสนใจเรื่องการปกครองเท่ากับเรื่องการค้าขาย ไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตย สิงคโปร์ก็ไม่ได้พยายามบอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ต้องดูคือการกระจายรายได้ ปัจจุบันสิงคโปร์การกระจายรายได้ก็ยังสูง นิสัยอีกอย่างของคนจีนคือพร้อมจะอพยพ เช่น คนจีนที่ไม่พอใจกับสิทธิที่จำกัดและไม่สามารถเรียกร้องได้ เขาอาจไปอยู่ออสเตรเลีย หรืออเมริกาก็ได้ จะว่าไปแล้วระบอบสังคมนิยมแบบที่จีนยังเป็นมันสามารถสร้างความมั่นคงทางการค้าได้ดีกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำไป นั่นน่าจะตอบสนองจีนได้ง่ายกว่าการเป็นประชาธิปไตยเสรี โดยส่วนตัวคิดว่าจีนจะไม่มีทางจะเป็นประชาธิปไตยจ๋าแน่นอน เทรนด์อย่างหนึ่งของการเมืองในโลกปัจจุบันกลับกลายเป็นว่ากำลังเริ่มวิพากษ์กับความเป็นประชาธิปไตย ทำให้บางประเทศสามารถอ้างได้ว่าประชาธิปไตยมันเลวร้าย อย่างกรณีของพม่าก็เหมือนกัน มีแต่ประเทศเล็กที่ต้องง้อว่าต้องเป็นประชาธิปไตย แต่จีนมันไม่จำเป็น เทรนด์ของความเป็นประชาธิปไตยมันลด เทรนด์เหล่านี้น่าจะเป็นเทรนด์ที่ซับพอร์ตจีนพม่า

ผู้ฟัง 1: มีคนจีนสมัยก่อนพูดว่า จีนใหญ่เกินไป คนเยอะเกินไป มันเป็นประชาธิปไตยทางตรงไม่ได้ จะเกิดความโกลาหล การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนแรกในหนังก็เป็นการเลือกโดยตัวแทนผู้มีอำนาจจากแต่ละมณฑล ไม่ใช่ว่าทุกคนมีสิทธิเลือกผู้นำเท่ากันหมด ถามว่าจำนวนคนหรือรัฐระดับใหญ่แค่ไหนที่ทำให้ประชาธิปไตยทำงานไม่ได้ การคัดสรรผู้นำคนเดียวจากคนกว่าพันล้านจะทำได้ไหม

ภาพันธ์: คิดว่ากลไกประชาธิปไตยมันทำงานได้ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยทำงานไม่ได้ไม่ใช่เรื่องขนาดหรือปริมาณคน แต่เป็นเรื่องของความคิดความเชื่อที่อยู่มานานพอที่จะเป็นธรรมชาติในการใช้ชีวิตของผู้คน เช่น คิดว่าใช้ชีวิตโดยไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็มีความสุขได้ ตัวนี้ที่มันทำให้คุณบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยก็ได้ คนมีหลายแบบ บางส่วนอาจจะมองว่าความสุขในโลกเผด็จการเป็นสิ่งลวงตา ต้องเป็นอีกแบบ เป็นปัจเจก มีความเป็นเสรี แต่คนอีกส่วนก็มองกลับไปว่าความเป็นอยู่แบบอุปถัมภ์มันดีกว่า มันต่างเงื่อนไขกับอเมริกาที่แบกอุดมการณ์ใหม่ๆไปสร้างในพื้นที่ใหม่บนเงื่อนไขใหม่ แต่ถ้าจะสวมอุดมการณ์ใหม่ลงบนพื้นฐานเก่าๆมันต้องต่อรอง เหมือนอย่างอังกฤษ กว่าสภาจะต่อรองกับกษัตริย์ได้ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net