Skip to main content
sharethis

นายกสมาคมโรงแรมไทย เผยกระทรวงแรงงานยอมผ่อนกฎให้รวมค่าเซอร์วิสชาร์จเป็นค่าแรงได้ แต่ทั้งนี้ลูกจ้าง-นายจ้างต้องเห็นชอบร่วมกัน ส่วนทิปห้ามนำมารวม ขอกระทรวงแรงงานช่วยหาแรงงานคนพิการให้ผู้ประกอบการได้จ้างตามกฎหมาย พร้อมวอนคลังจัดสินเชื่อระยะยาวช่วยเอสเอ็มอี

(16 พ.ค.55) นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ผลการหารือกับ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีนโยบายอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ล่าสุดทางคณะทำงานของกระทรวงแรงงานเห็นชอบแล้วว่าให้นำค่าเซอร์วิสชาร์จมารวมเป็นค่าจ้างได้ แต่ทั้งนี้ต้องการให้สมาคมโรงแรมฯ หาแนวทางแนะนำสมาชิกให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างแรงงาน โดยหากโรงแรมใดนำเซอร์วิสชาร์จมารวมเป็นค่าจ้างก็ควรต้องแก้ไขสัญญาจ้างงานและลูกจ้างก็ต้องเห็นด้วยในข้อสัญญา หรือทั้งลูกจ้างและนายจ้างเห็นชอบในข้อตกลงร่วมกัน แต่หากนำรายได้ 2 ส่วนมารวมกันแล้วรายได้ยังไม่ถึง 300 บาทต่อวัน นายจ้างก็ต้องเติมส่วนที่เหลือให้ครบ ส่วนค่าทิปที่ลูกค้าผู้ใช้บริการให้เป็นรางวัลแก่พนักงาน ถือเป็นการให้รายบุคคล ตรงนี้ไม่สามารถนำมารวมเป็นค่าจ้างได้

กรณีผู้ประกอบการโรงแรมจ้างคนพิการเข้ามาทำงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้สถานประกอบการ หน่วยงานรัฐบาล ต้องจ้างคนพิการเข้ามาทำงานในองค์กรของตัวเอง ในสัดส่วน คนพิการ 1 คนต่อพนักงานปกติ 100 คน ตั้งแต่ 1 มกราคม 55 ปรับจากข้อกำหนดเดิมที่ใช้สัดส่วน 1 : 200 ยอมรับว่าข้อกำหนดนี้สร้างความกังวลใจแก่ผู้ประกอบการ เพราะในประเทศไทยแรงงานที่เป็นคนพิการยังมาสมัครงานจำนวนน้อย สมาคมฯ จึงขอให้กระทรวงแรงงานช่วยหาแรงงานที่เป็นผู้พิการมาสมัครงานให้มากขึ้น โดยสาขาอาชีพที่โรงแรมสามารถจ้างคนพิการได้ คือ พนักงานนวด-สปา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ อยู่ระหว่างการสำรวจว่าโรงแรมที่มีพนักงานไม่ถึง 100 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายต้องจ้างคนพิการ มีอยู่จำนวนเท่าใด และที่พนักงานเกิน 100 คนมีจำนวนเท่าใด เพื่อรู้ถึงความต้องการแรงงานผู้พิการ

เท่าที่สำรวจเบื้องต้นมีโรงแรม 700 แห่ง ห้องพักรวม 1.2 แสนห้อง มีพนักงานราว 1.8 แสนคน เท่ากับต้องจ้างคนพิการเข้ามาทำงานอย่างน้อย 1,800 คน หากกระทรวงแรงงานสามารถหาแรงงานกลุ่มนี้มาได้ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ ที่จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกำหนดว่าผู้พิการก็ต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับจังหวัดที่มีค่าจ้างต่ำสุดของประเทศไทย คือ จังหวัดพะเยา ค่าจ้าง 222 บาทต่อวัน หากไม่จ้างคนพิการเข้าทำงาน ผู้ประกอบการนั้นก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนปีละ 81,030 บาท เป็นการคำนวณจากค่าจ้างต่อวัน คูณด้วยจำนวนวันใน 1 ปี คือ 365 วัน

ทางด้านนายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ทีเอชเอ กล่าวว่า สมาคมฯ ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอให้ช่วยประสานไปยังธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ช่วยปล่อยสินเชื่อระยะยาว 7-10 ปี จากปกติจะได้สินเชื่อแค่ระยะ 5 ปีเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวรับมือกับค่าแรง 300 บาทต่อวันในช่วงแรกนี้ เพราะเชื่อว่ามีผลให้ต้นทุนดำเนินงานสูงขึ้น หากรัฐไม่ช่วยเหลือ เชื่อว่าในสิ้นปีนี้ผู้ประกอบการโรงแรมรายกลาง และเล็กอาจต้องปิดตัวจำนวนมาก
 


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net