ศปช.สับรัฐบาล นปช.อย่าปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ เสนอ นิรโทษกรรมให้มวลชนทุกฝ่าย

แถลงการณ์ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม( ศปช.) เนื่องในโอกาสครบรอบสองปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ระบุรัฐบาลไร้มนุษยธรรมร ชี้ ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง แสดงความรับผิดชอบ นิรโทษกรรมให้กับมวลชนผู้เข้าร่วม  ชี้กรรมการสิทธิล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการปฏิบัติหน้าที่ 

  ::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

แถลงการณ์ “สองปีของการสลายการชุมนุม ยังไม่มีความยุติธรรมให้กับเหยื่อ”
โดย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

19 พฤษภาคม 2555
 
การสลายการชุมนุมของประชาชน เม.ย.-พ.ค. 2553 ได้ผ่านเข้าสู่ปีที่สอง แต่การคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบกลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า  แม้ว่า ศปช.จะชื่นชมความกล้าหาญที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้อนุมัติเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบแล้วก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความยุติธรรมที่เหยื่อพึงได้รับ แต่ความยุติธรรมที่แท้จริงยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจนบัดนี้ ยังไม่มีการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่รายเดียว  ซ้ำร้ายยังมีแนวโน้มว่าจะมีการนิรโทษกรรมผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอีกด้วย ความถดถอยที่เกิดขึ้น ทำให้ ศปช.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล พรรคเพื่อไทย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดังนี้

1.ต่อรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และนปช.   

กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวทำนองว่าประชาชนที่สูญเสียจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จำต้องเสียสละเพื่อให้เกิดการปรองดองและเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้นั้น ศปช.เห็นว่าเป็นการกล่าวอย่างไร้ความรับผิดชอบและไร้มนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง หากรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และนปช.เดินตามแนวทางดังกล่าวจริง ย่อมถือเป็นการทรยศต่อประชาชน ที่ยอมสละชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ  

บัดนี้เมื่อพวกท่านได้มีเป็นรัฐบาลแล้ว จงอย่าบังคับให้เหยื่อต้องเป็นผู้เสียสละ ด้วยข้ออ้างกลวง ๆ ว่าเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้   มีแต่คนที่พิกลพิการทางศีลธรรมเท่านั้นที่สามารถเดินไปข้างหน้าได้ด้วยการเหยียบย่ำลงไปบนซากศพของคนที่สนับสนุนตนเอง โปรดเข้าใจด้วยว่าการปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นจากการยอมจำนนและความพ่ายแพ้ของเหยื่อ  เราต้องหยุดวัฒนธรรมการเมืองที่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวลกันเสียที

นอกจากนี้ การปล่อยให้มวลชนเสื้อแดงกว่า 40 คนถูกคุมขังต่อไป คือสิ่งที่ตอกย้ำภาวะ “สองมาตรฐาน” ที่ “สามัญชนเสื้อแดง” มักถูกเลือกปฏิบัติจากกระบวนการยุติธรรมและการเมือง ราวกับว่าพวกเขาเป็น “คนชั้นสอง” ที่ไม่ได้มีศักดิ์ศรีและสิทธิอันเท่าเทียมกับบรรดาคนเสื้อสีอื่น, กลุ่มพันธมิตร, พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม, และแกนนำ นปช.

การนิรโทษกรรมให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ระดับล่างเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่ต้องไม่มีการนิรโทษให้กับผู้นำของทุกฝ่ายโดยเด็ดขาด รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องไม่นำเรื่องนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ไปปะปนกับการนิรโทษกรรมผู้ที่อยู่เบื้องหลังการปราบปรามประชาชนโดยเด็ดขาด ศปช. ขอเตือนว่าหากมีการนิรโทษกรรมแบบเหมารวมเกิดขึ้น ในอนาคตประชาชนจะต่อสู้เพื่อทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะในที่สุด  

การนิรโทษกรรมจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการเปิดเผยความจริงและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน นี่เป็นเงื่อนไขต่ำสุดของการนิรโทษกรรม เป็นเงื่อนไขต่ำสุดที่จะทำให้เกิดเยียวยาเหยื่อและการปรองดองได้จริง

 2.ต่อคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ  

ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นวาระครบรองสองปีของการทำงานของ คอป. ศชป. เชื่อว่าประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ กำลังเฝ้ารอรายงานการตรวจสอบและค้นหาความจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 พวกเขากำลังเฝ้ารอว่า “ความจริง” ในทัศนะของ คอป.นั้นจะสามารถคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้หรือไม่ ทั้งนี้ คอป.น่าจะตระหนักได้ว่า สองปีที่ผ่านมา ความกำกวมสับสนของ คอป. ในเรื่องการ “ค้นหาความจริง” กับจุดยืนของคอป.ที่ “จะไม่ชี้ถูกชี้ผิด” นั้น ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากวิตกกังวลและไม่เชื่อมั่นในการทำงานของ คอป. กระนั้น รายงานการตรวจสอบและค้นหาความจริงที่ คอป.มีหน้าที่นำเสนอต่อประชาชนในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นสิ่งพิสูจน์ตัวตนของ คอป. ที่ชัดเจนที่สุด



3. ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คงไม่เกินเลยเกินไปที่จะกล่าวว่า ห้าปีที่ผ่านมา กสม. ชุดนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการส่งเสริมให้เกิดการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนไทย ในระหว่างการล้มตายบาดเจ็บของประชาชนในเมื่อวันที่ 10 เม.ย. และ 19 พ.ค. 2553 กสม.ไม่เคยมีความกล้าหาญที่จะออกมาประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐบาลแม้แต่ครั้งเดียว ซ้ำร้าย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554  ร่างรายงานของ กสม. ที่ว่าด้วยการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ “หลุด” ออกมาหนึ่งวันก่อน กสม.จะแถลงรายงานดังกล่าว ก็ชี้ชัดว่า กสม.เลือกที่จะปกป้องอำนาจรัฐ มากกว่าปกป้องประชาชนธรรมดา

เมื่อมีผู้ประท้วง กสม. ที่ละเลยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนายอำพล หรืออากง และผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ประธาน กสม. นางอมรา พงษ์ศาพิชญ์ได้อธิบายว่า เพราะมาตรา 112“ถูกนำไปโยงกับการเมือง” จากคำอธิบายข้างต้น ก็น่าจะอนุมานได้ว่า กสม.ใช้เหตุผลเดียวกัน เพื่อที่จะไม่ทำอะไรในกรณีการปราบปรามประชาชน เหตุผลดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง เพราะมันแสดงให้เห็นว่า กสม.สอบตกวิชา “ความรู้เบื้องต้นว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” กล่าวคือ  สิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม-การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เพศสภาพ ฯลฯ ล้วนไม่สามารถแยกออกจากการต่อสู้ทางการเมืองได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิด้านสังคม-การเมืองในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในประเทศที่อำนาจรัฐเคยชินกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นคู่กรณีหรือตัวการสำคัญที่ละเมิดสิทธิของประชาชนอยู่เสมอ ฉะนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญของแนวคิดสิทธิมนุษยชนก็คือ ปกป้องประชาชนธรรมดาจากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของรัฐ


นอกจากนี้ กสม.ดูจะสับสนในหน้าที่ของตนเองอย่างยิ่ง กล่าวคือ แทนที่ กสม.จะมัวกังวลว่าจุดยืนของ ตนอาจทำให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้หรือเสียประโยชน์ หน้าที่ของ กสม. ควรอยู่ที่การตรวจสอบว่าเหตุการณ์นั้น ๆ ใครเป็นผู้ละเมิดสิทธิของใคร และใครคือได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลที่พรั่งพร้อมไปด้วยอำนาจทางกฎหมายและกำลังอาวุธได้กระทำการเกินกว่าเหตุจนถึงขั้นล่วงละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนอย่างไร กล่าวโดยสรุปคือ “สิทธิมนุษยชน” คือหลักการที่ กสม. ต้องยึดมั่นไว้อย่างเที่ยงตรง โดยไม่ปล่อยให้อคติหรือการเลือกข้างมาครอบงำการทำงานของตน

ศปช.ใคร่เรียนว่าในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เขามักถูกประณามว่าชอบแทรกแซงและทำให้องค์กรอิสระอ่อนแอ ซึ่งศปช.ไม่ปฏิเสธว่ามีความจริงในข้อกล่าวหานั้น แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมาชี้ว่า การแทรกแซงของนักการเมืองก็ยังไม่มีพลังที่จะทำลายความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระทั้งหลาย ได้เท่ากับที่สมาชิกขององค์กรเหล่านั้นร่วมกันละเลยหรือกระทำย่ำยีต่อหลักการขององค์กรของตนเสียเอง ประการสำคัญ ความอ่อนแอเช่นนี้ได้ส่งผลต่อภาวะตีบตันในการแก้ไขปัญหาการเมืองโดยตรง เมื่อองค์กรอิสระละทิ้งหลักการของตนเสียแล้ว ข้อเสนอทางการเมืองใด ๆ จากพวกเขา ก็เป็นเพียงมลภาวะทางการเมืองที่ประชาชนพากันดูถูกดูแคลนในที่สุด

ท้ายนี้ ศปช. ขอเรียนว่าตลอดสองปีที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปราบปรามประชาชน เม.ย.-พ.ค.2553 ได้ถูกนำไปเปิดเผยในที่สาธารณะอย่างมากมายเสียจนสามัญชนที่มีวิจารณญาณย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ใช้กำลังอำนาจจนเกินกว่าเหตุล่วงละเมิดต่อสิทธิในชีวิตของผู้ชุมนุม จะมีก็แต่หน่วยงานของรัฐอย่าง กสม., คอป., ดีเอสไอ, ตำรวจ, ทหาร ที่ยังไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง และพยายามช่วยกัน “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ต่อไป


จึงเรียนมาด้วยความสลดใจต่อความอยุติธรรมที่ปกคลุมสังคมไทย
 
ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท