Skip to main content
sharethis

กฟผ.มีแผนผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินสตูล ผญ.ละงูเผยถูกติดต่อกว้านซื้อที่ดินริมชายฝั่งบุโบย-แหลมสน ซักผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม หวั่นเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา นายหน้าวิ่งหาควั่กเสนอไร่ละ 4-5 แสนบาท

ชายหาดบ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายน 2554 เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เข้ามาหาตนที่มูลนิธิอันดามัน โดยนำสิ่งของจำนวนหนึ่งมามอบให้ ตนจึงเชิญดื่มกาแฟและร่วมนั่งพูดคุยกัน โดยเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนดังกล่าว บอกถึงแผนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่ปลดระวางเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และความสะดวกในการขนส่งถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ

“สำหรับในภาคใต้ เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนนั้น บอกกับผมว่า กฟผ.มีแผนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ 9 โรง บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ อาทิ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ ตรัง สตูล” นายภาคภูมิ กล่าว

นายเจ๊ะยาหยา สาเบต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา มีคนติดต่อทางโทรศัพท์แนะนำตัวว่ามาจากบริษัทสุโขทัยปิโตรเลียมจำกัด สอบถามตนว่าพอจะหาที่ดินในตำบลแหลมสน 400 ไร่ บริเวณชายฝั่งทะเลได้หรือไม่ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งต้องอยู่ใกล้กับปากร่องน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อทำเรือขนถ่ายสิ่งของได้ 

นายเจ๊ะยาหยา เปิดเผยต่อไปว่า ตนถามไปว่าการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แล้วเสียงปลายสายก็ชะงัก ก่อนจะตอบมาว่าจะตรวจสอบให้ว่าสร้างแล้วมีผลกระทบอย่างไร แล้ววางสาย ก่อนโทรศัพท์มาหาตนอีกครั้ง โดยบอกว่ามีผลกระทบกับชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าจากผงถ่านหินที่เผาไหม้กระจายออกไป ประมาณ 30 กิโลเมตรต่อหนึ่งวัน ตนจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นอย่าสร้างดีกว่าเดี๋ยวจะทำให้ชาวบ้านในตำบลแหลมสนเป็นโรคปอดกันหมด กลัวผลกระทบด้านสุขภาพ และกังวลเรือที่บรรทุกขนถ่านหิน 

นายเจ๊ะยาหยา เปิดเผยอีกว่า ตนถามไปว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าสำรองไว้เพื่อคนในจังหวัดสตูลเพิ่มขึ้นในอนาคต และจะปรึกษาทีมงานอีกทีว่าสามารถหาที่ดินได้ที่ไหนอย่างไร แล้วจะโทรมาหาตนอีกครั้ง แล้วก็วางสายไป

“ก่อนหน้ามีคนโทรศัพท์มาหาผมนั้น มีนายหน้าวิ่งหาซื้อที่ดินในไร่ละ 4-5 แสนบาท ส่วนบริษัทสุโขทัยปิโตรเลียมจำกัด เท่าที่ผมรู้นั้นได้กว้านซื้อที่ดินบริเวณรอยต่อระหว่างบ้านบุโบย กับบ้านสนกลาง ตำบลแหลมสน เพื่อสร้างคลังน้ำมันไว้แล้วแต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นผมไม่แน่ใจว่าหน่วยงานไหนดำเนินการ” นายเจ๊ะยาหยา กล่าว

อนึ่งก่อนหน้าได้มีการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่บุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อปี 2540 และได้ทำการศึกษาทบทวนฯเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบาราเปรียบเทียบกับพื้นที่บริเวณบุโบยเมื่อปี 2546 แล้วพบว่าบริเวณพื้นที่ปากบารามีความเหมาะสมมากกว่า โดยได้รับงบประมาณประจำปี 2548-2549 ในวงเงิน 38.40 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มิถุนายน 2548 

ต่อมาบริษัทสุโขทัยปิโตรเลียม จำกัด ขอลงทุนโครงการวางท่อขนส่งปิโตรเลียม มูลค่า30,755 ล้านบาท เพื่อขนส่งน้ำมันทางท่อปริมาณ 536 ล้านบาร์เรล/ปี โดยท่อขนส่งน้ำมันประกอบไปด้วย ท่อบนบก ขนาด 48 นิ้ว ฝังลึกประมาณ 1.5 เมตร จากบ้านบุโบย อำเภอละงู จังหวัดสตูล จากฝั่งทะเลอันดามันไปชายฝั่งทะเลตะวันออกด้านอ่าวไทย ที่บริเวณบ้านวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ระยะทาง 130 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างวางแนวท่อขนส่งน้ำมันตามทางหลวง

ท่อใต้ทะเล แบ่งเป็น ขนาด 36 นิ้ว จำนวน 2 ท่อ จากฝั่งทะเล จ.สตูล ไปกลางทะเลที่ระดับน้ำลึก 27 เมตร ระยะทาง 20-30 กิโลเมตร กับท่อขนาด 36 นิ้ว จำนวน 3 ท่อ จากฝั่งทะเล จ.สงขลา ไปยังกลางทะเลที่ระดับน้ำลึก 16 เมตร และ 25 เมตร ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร และ 23 กิโลเมตร 

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมัน แบบ floating roof ด้านฝั่งทะเลละ 6 ถัง รวม 12 ถัง ความจุถังละ 1 ล้านบาร์เรล, ทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลรวม 5 ทุ่น, สถานีควบคุมบริเวณชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้าน และ การติดตั้ง block valve ตามแนวท่อขนส่งน้ำมันทุกๆ ระยะห่าง 3 กิโลเมตร มีปั๊ม crude oil transmission จำนวน 17 ตัว 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net