Skip to main content
sharethis

 เผยผลสำรวจพบลูกจ้างในไทยเหนื่อยหน่ายกับงาน 2 ใน 3 เล็งหางานใหม่ปีหน้า

 
ผลสำรวจล่าสุดของ เคลลี่ เซอร์วิสเซส (Kelly Services(R)) บริษัทจัดหางานชั้นนำระดับโลก ระบุว่า ลูกจ้างจำนวนมากในประเทศไทยรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการทำงาน โดยเกือบครึ่งหนึ่งคิดอยู่บ่อยครั้งว่าจะลาออกจากงานเกือบสองในสามของผู้ตอบ แบบสอบถาม (65%) เปิดเผยว่า ตั้งใจจะหางานทำกับบริษัทใหม่ภายในปีหน้า
 
“พนักงานจำนวนมากเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยหน่ายเมื่อคิดถึงเป้าหมายการทำงานในอนาคต หากนายจ้างไม่มอบหมายงานที่มีความสำคัญและไม่ให้โอกาสได้เติบโต พนักงานจำนวนมากก็พร้อมเปลี่ยนงานตลอดเวลาเพื่อประโยชน์ของตนเอง” วรรณา อัศวการินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เคลลี่ เซอร์วิสเซส ประเทศไทย กล่าว
 
ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจดัชนีแรงงานโลกของเคลลี่ (Kelly Global Workforce Index: KGWI) ซึ่งเป็นการสำรวจประจำปีที่จัดทำโดยเคลลี่ เซอร์วิสเซส โดยมีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานเกือบ 170,000 คนใน 30 ประเทศ
 
การสำรวจนี้เป็นการพิจารณาปัจจัยที่ลูกจ้างใช้ประเมินนายจ้างที่ต้องการ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกงาน และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการตัดสินใจเรื่องงาน
 
ผลสำรวจในประเทศไทยชี้ว่าประชากรกลุ่ม Gen X (อายุ 31-48 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานหลัก มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนนายจ้างมากที่สุด โดย 68% ของกลุ่มนี้วางแผนว่าจะเปลี่ยนงานในปีหน้า เทียบกับ 62% ทั้งในประชากรกลุ่ม Gen Y (อายุ 19-30 ปี) และประชากรกลุ่ม Baby Boomers (อายุ 49-66 ปี) แม้จะมีสัญญาณบ่งบอกถึงความเหนื่อยหน่ายในหน้าที่การงาน แต่ผู้ตอบแบบสอบถาม 60% เปิดเผยว่ายังมีความสุขกับงานที่ทำ
 
เกือบสามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถาม (71%) กล่าวว่า งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันทำให้รู้สึกว่าตัวเอง “มีค่า” ขณะที่ 76% ระบุว่า ความสามารถในการ “ยกระดับหรือพัฒนาตนเอง” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รู้สึกมีค่า
 
มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (70%) ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการตัดสินใจเรื่องงานหรือการจ้างงาน
 
“เห็นได้ชัดว่าหลายคนไม่มีความสุขกับงานที่ทำและพยายามหางานใหม่ ขณะที่อีกหลายคนพอใจกับงานพอสมควรแต่ก็พยายามหางานใหม่ที่มั่นคงและมีความ หมายกว่าเดิม และพร้อมเดินออกมาจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถให้สิ่งที่พวกเขาต้องการได้” วรรณา อัศวการินทร์ กล่าวสรุป
 
รายละเอียดทั้งหมดของผลสำรวจอยู่ในรายงานฉบับใหม่ชื่อ Acquisition and Retention in the War for Talent สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีแรงงานโลกของเคลลี่ รวมถึงผลสำรวจสำคัญที่ได้จากคนแต่ละรุ่นและแต่ละภูมิภาค ได้ที่ห้องข่าวของเคลลี่ หรือ www.kellyservices.com
 
ดัชนีแรงงานโลกของเคลลี่ เป็นการสำรวจความคิดเห็นรายปีเรื่องงานและสถานที่ทำงานจากมุมมองของคนแต่ละ รุ่น นับตั้งแต่เริ่มทำดัชนีเมื่อปลายปี 2554 ได้มีการสำรวจความเห็นของแรงงานไปแล้วประมาณ 170,000 คน ทั้งในทวีปอเมริกา เอเชียแปซิฟิก รวมถึงยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ทั้งนี้ ผลสำรวจจะได้รับการเผยแพร่ตลอดปี 2555 ในหลากหลายประเด็น อาทิ การจูงใจพนักงานให้อยู่กับบริษัท สื่อสังคมออนไลน์ และสถานที่ทำงานเสมือนจริง เป็นต้น สามารถดูผลการสำรวจได้ที่ www.kellyservices.com
 
ทั้งนี้ เคลลี่ เซอร์วิสเซส อิงค์ (NASDAQ: KELYA, KELYB) เป็นบริษัทจัดหางานชั้นนำระดับโลก เคลลี่นำเสนอบริการให้คำปรึกษาและจัดจ้างพนักงานที่หลากหลายและครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการจัดจ้างพนักงานชั่วคราว พนักงานชั่วคราวที่มีโอกาสเลื่อนขั้นเป็นพนักงานประจำ และพนักงานประจำ เคลลี่ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลกด้วยการจัดหางานให้พนักงานกว่า 550,000 คนต่อปี บริษัทมีรายได้ 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kellyservices.co.th และติดตามความเคลื่อนไหวของเราได้ทางเฟซบุ๊ก ลิงค์อิน และทวิตเตอร์ และสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Talent Project สำหรับ iPad ได้ฟรี
 
(ฐานเศรษฐกิจ, 14-5-2555)
 
ศก.ซบ-รง.น้ำท่วม ภาคอุตสาหกรรมใช้กำลังผลิตแค่ 60%
 
หลายโรงงานที่ประสบภาวะน้ำท่วมยังไม่สามารถฟื้นกลับมาผลิตได้เต็ม 100% ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอความร้อนแรงลงมา และเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ตลาดในประเทศเองกำลังซื้อยังซบเซา และบางกิจการแม้จะไม่ถูกน้ำท่วมแต่ไม่สามารถขยายกำลังผลิตได้สูงเนื่องจาก เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทั้งระบบประมาณ 100,000 คน
 
“การใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังอยู่แค่ 60% เพราะปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นโดยหากพิจารณาเฉพาะโรงงานที่ถูกน้ำท่วมจากการ สำรวจล่าสุดเฉลี่ยกว่า 40% ที่ยังไม่เริ่มผลิต เช่น สวนอุตสาหกรรมโรจนะจากโรงงานที่ประสบน้ำท่วมต้องหยุดกิจการชั่วคราว 213 แห่ง เปิดผลิตเต็ม 100% เพียง 56 แห่ง เปิดผลิตบางส่วน 82 แห่ง ยังไม่เปิด 42 แห่ง ที่เหลือย้ายและปิดกิจการ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 90 แห่ง ผลิต 100% เพียง 45 แห่ง เดินเครื่องผลิตบางส่วน 10 แห่ง ที่เหลือยังอยู่ระหว่างฟื้นฟู เป็นต้น” นายธนิตกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าโรงงานต่างๆ ที่ประสบภาวะน้ำท่วมจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวกลับมา เร็วสุดจะเป็นมิถุนายนนี้ และช้าสุดคงจะเป็นช่วงปลายปี แต่ภาพรวมอัตรากำลังการผลิตในครึ่งปีหลังจะสูงมากน้อยเพียงใดคงจะต้องติดตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วยโดยเฉพาะการส่งออก
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-5-2555)
 
ก.แรงงานผ่อนกฎรวมเซอร์วิสชาร์จเป็นค่าแรงได้
 
กระทรวงแรงงานยอมผ่อนกฏ ให้รวมค่าเซอร์วิสชาร์จ เป็นค่าแรงได้ แต่ทั้งนี้ ลูกค้าและนายจ้างต้องเห็นชอบร่วมกัน ส่วนค่าทริป ห้ามนำมารวมอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ยังอ้อนกระทรวงแรงงานช่วยจัดหาแรงงานพิการ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้จ้างตามข้อกำหนดของกฏหมาย พร้อมขอคลัง จัดสินเชื่อระยะยาว ช่วยเอสเอ็มอี
 
นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ผลการหารือกับ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีนโยบายอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ วันละ 300 บาท ล่าสุด ทางคณะทำงานของกระทรวงแรงงาน เห็นชอบแล้วว่า ให้นำค่าเซอร์วิสชาร์จมารวมเป็นค่าจ้างได้ แต่ทั้งนี้ต้องการให้สมาคมโรงแรมฯ หาแนวทางแนะนำสมาชิก
 
ให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างแรงงาน โดยหากโรงแรมใดนำเซอร์วิสชาร์จมารวมเป็นค่าจ้าง ก็ควรต้องแก้ไขสัญญาจ้างงานและลูกจ้างก็ต้องเห็นด้วยในข้อสัญญา หรือ ทั้งลูกจ้างและนายจ้างเห็นเห็นชอบในข้อตกลงร่วมกัน แต่หากนำรายได้ 2 ส่วนมารวมกันแล้วรายได้ยังไม่ถึง 300 บาทต่อวัน นายจ้างก็ต้องเติมส่วนที่เหลือให้ครบ ส่วนค่าทริป
 
ที่ลูกค้าผู้ใช้บริการให้เป็นรางวัลแก่พนักงาน ถือเป็นการให้รายบุคคล ตรงนี้ไม่สามารถนำมารวมเป็นค่าจ้างได้
 
กรณีผู้ประกอบการโรงแรมจ้างคนพิการเข้ามาทำงาน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้สถานประกอบการ หน่วยงานรัฐบาล ต้องจ้างคนพิการเข้ามาทำงานในองค์กรของตัวเอง ในสัดส่วน คนพิการ 1 คน ต่อ พนักงานปรกติ 100 คนตั้งแต่ 1 ม.ค. 55 ปรับจากข้อกำหนดเดิม ที่ใช้สัดส่วน 1 : 200 ยอมรับว่า ข้อกำหนดนี้ สร้างความกังวลใจผู้ประกอบการ เพราะ ในประเทศไทย
 
แรงงานที่เป็ฯคนพิการ ยังมาสมัครงานจำนวนน้อย สมาคมฯจึงขอให้กระทรวงแรงงานฯ ช่วยหาแรงงานที่เป็นผู้พิการ มาสมัครงานให้มากขึ้น โดยสาขาอาชีพที่ โรงแรมสามารถจ้างคนพิการได้ คือ พนักงานนวก,สปา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สมาคมฯอยู่ระหว่างการสำรวจ ว่าโรงแรมที่มีพนักงงานไม่ถึง 100 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายต้องจ้างคนพิการ มีอยู่จำนวนเท่าใด และที่พนักงงานเกิน 100 คน มีจำนวนเท่าใด เพื่อรู้ถึงความต้องการแรงงานผู้พิการว่ามีจำนวนเท่าใด
 
เท่าที่สำรวจเบื้องต้นมีโรงแรม 700 แห่ง ห้องพักรวม 1.2 แสนห้อง มีพนักงานราว 1.8 แสนคน เท่ากับต้องจ้างคนพิการเข้ามาทำงานอย่างน้อย 1.8 พันคน หากกระทรวงแรงงานสามารถหาแรงงานกลุ่มนี้มาได้ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ ที่จะต้องส่งเงินเข้ากองทุน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกำหนดว่าผู้พิการก็ต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำ
 
เท่ากับจังหวัดที่มีค่าจ้างต่ำสุดของประเทศไทย คือ จังหวัดพะเยา ค่าจ้าง 222 บาทต่อวัน หากไม่จ้างคนพิการเข้าทำงาน ผู้ประกอบการนั้นก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนปีละ 81,030 บาท เป็นการคำนวณจากค่าจ้างต่อวัน คูณด้วยจำนวนวันใน 1 ปี คือ 365 วัน
 
ทางด้านนายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ทีเอชเอ กล่าวว่า สมาคมฯ ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอให้ช่วยประสานไปยังธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ช่วยปล่อยสินเชื่อระยะยาว 7-10 ปี จากปรกติจะได้สินเชื่อแค่ระยะ 5 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวรับมือกับค่า แรง 300 บาท ต่อวัน ในช่วงแรกนี้
 
เพราะเชื่อว่ามีผลให้ต้นทุนดำเนินงานสูงขึ้น หากรัฐไม่ช่วยเหลือ เชื่อว่าในสิ้นปีนี้ผู้ประกบอการโรงรายรายกลางและเล็ก อาจต้องปิดตัวจำนวนมาก
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-5-2555)
 
ประกันสังคมเดินหน้าปล่อยกู้ให้แรงงานไปทำงาน ตปท.
 
16 พ.ค. - นางดุษฎี อัมรานุรักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปส.เตรียมจัดทำโครงการเงินกู้เพื่อไปทำงานต่างประเทศ แก้ปัญหาแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ กฎหมายกำหนด ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รูปแบบของโครงการเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สปส. กรมการจัดหางาน (กกจ.) และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดย สปส.จะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปฝากไว้ในธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้ให้แรงงานไทยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ กกจ.จะทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกแรงงานไทยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
 
ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) สปส.จะเชิญตัวแทนธนาคารทุกแห่งเข้าร่วมหารือกับ สปส.และ กกจ.ที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อกำหนดรายละเอียดในการจัดทำโครงการ เช่น จำนวนแรงงานที่จะไปทำงาน คุณสมบัติแรงงานที่จะปล่อยกู้ หลักเกณฑ์การปล่อยกู้ และอัตราดอกเบี้ย คาดว่ารายละเอียดต่างๆจะชัดเจนหลังการประชุมวันพรุ่งนี้ โดยหลังได้ข้อสรุปจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อขอความเห็นชอบการดำเนินโครงการและอนุมัติวงเงินปล่อยกู้ต่อไป.
 
(สำนักข่าวไทย, 16-5-2555)
 
เผยแรงงานไทยทำงานต่างแดนโรคเครียดรุมเร้า
 
17 พ.ค. 55 - กงสุลไทยเมืองฮ่องกง เผยแรงงานไทยในไต้หวัน และฮ่องกง มีโรคเครียดรุมเร้า เหตุไม่เข้าใจภาษา อยู่ต่างถิ่นไม่คุ้นชินกับแรงกดดัน บางรายเครียดจัดถึงขั้นทำร้ายตัวเอง พร้อมเตือนนักช็อปคนไทยระมัดระวังทรัพย์สินขณะซื้อสินค้า ฮ่องกงยังมีมิจฉาชีพระบาด
 
น.ส.สุรีย์ ไตรรัตนนุกูล รองกงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเดินทางไปดูงานของกรมควบคุมโรค เรื่อง “การรับมือโรคระบาด” ระหว่างวันที่ 12-15 พ.ค.ว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่อาศัยในฮ่องกง และมาเก๊า ประมาณ 30,000 คน ในจำนวนนี้อยู่ในฮ่องกง 27,800 คน ส่วนใหญ่ทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน และสมรสกับชาวฮ่องกง จากการตรวจสอบปัญหาสุขภาพจะมีเรื่องความเครียด เนื่องจากอยู่ต่างถิ่น ไม่เข้าใจภาษาแต่ไม่มากเหมือนกับคนไทยที่ไปทำงานที่ไต้หวัน ปัญหามักเกิดจากกรณีถูกส่งตัวกลับไทยเมื่อหมดสัญญาจ้าง นายจ้างจะออกตั๋วให้มาต่อเครื่องที่ฮ่องกง ซึ่งมีปัญหาเรื่องภาษา ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพจิตเป็นทุนเดิมในช่วงที่ทำงาน หรือขาดยา ยาหมด ทำให้อาการกำเริบ จนเครียดจัด ทำร้ายตัวเอง บางรายถึงขนาดตัดอวัยวะเพศที่ท่าอากาศยานฮ่องกงก็มี ทางเจ้าหน้าที่กงสุลไทย ณ เมืองฮ่องกง ต้องประสานความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ทางสถานกงสุลฯ ขอแนะนำให้นายจ้างหรือแรงงานไทยในไต้หวันควรออกตั๋วเที่ยวบินตรง ไทเป-กรุงเทพฯ จะดีที่สุด
 
น.ส.สุรีย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยว ซื้อสินค้าที่ฮ่องกงและมาเก๊าจำนวนมาก ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ หนังสือเดินทางหาย ถูกล้วงกระเป๋าจากกลุ่มมิจฉาชีพในฮ่องกง ซึ่งยังมีการฉก ชิง วิ่งราวอยู่ ดังนั้น สถานกงสุลฯ แนะนำว่าอย่าเก็บหนังสือเดินทางหรือเอกสารสำคัญไว้ในกระเป๋าสะพาย หรือในกระเป๋าสตางค์ ควรแยกเก็บไว้คนละที่ และควรถ่ายสำเนาหนังสือเดินทาง บัตรประชาชนไว้ เพื่อเป็นการยืนยันกับเจ้าหน้าที่กงสุลฯ ให้ออกหนังสือสำคัญประจำตัว (ซีไอ) ว่าเป็นเจ้าของหนังสือเดินทางตัวจริงไม่มีการสวมรอยจากบุคคลอื่น และนักท่องเที่ยวชาวไทยควรมีเบอร์โทรศัพท์ของสถานกงสุลฯ ติดตัวไว้ด้วยกรณีฉุกเฉิน ที่หมายเลข (+852) 6821-1545 และ 6821-1546 หรือเว็บไซต์ www.thai-cosulate.org.hk
 
(สำนักข่าวไทย, 17-5-2555)
 
ไตรมาสแรกเลิกจ้างพุ่งปรี๊ด กสร.จับตาผลกระทบขึ้นค่าจ้าง หากเลิกจ้างเกิน 20% ถือว่าน่าเป็นห่วง
 
สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานการเตือนภัยด้านแรงงาน ไตรมาสแรกปี 2555 ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเลิกจ้าง พบว่า ข้อมูลแรงงานที่ถูกเลิกจ้างที่ได้จากการแจ้งและตรวจพบของเจ้าหน้าที่กรม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ เดือน ก.พ. มีจำนวน 7,903 คน เพิ่มขึ้น 19,600% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่เลิกจ้าง 40 คน
 
ขณะที่จำนวนผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานของกรมการจัดหางาน มีจำนวน 1.59 หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 206% และตัวเลขผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวน 1.13 แสนคน เพิ่มขึ้น 38.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
 
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานในระบบประกันสังคม จากข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 พบว่า แนวโน้มการจ้างงานในภาพรวมอยู่ในระดับเตือนภัยที่ต้องเฝ้าระวังในระยะเริ่ม ต้น โดยระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของผู้ประกันลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 2% ในเดือน พ.ย. 2554 เหลือ 1.1% ในเดือน ธ.ค. 2554 เหลือ 0.78% ในเดือน ม.ค. และเหลือ 0.46% ในเดือน ก.พ. และข้อมูลล่าสุดในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 0.21%
 
นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า อย่าตกใจกับตัวเลขการเลิกจ้างที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กสร.ยังอยู่ระหว่างการจับตาผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่าจะทำให้มีการ เลิกจ้างมากขึ้นหรือไม่ โดยอยู่ระหว่างการประเมินและจะทราบผลในเร็วๆ นี้ หากตัวเลขเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% แสดงว่าน่าเป็นห่วง เพราะภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจนเกิดการเลิกจ้าง
 
(msn การเงินการธนาคาร, 17-5-2555)
 
สธ.เสนอแรงงานหญิงพกถุงยาง แก้ติดเชื้อ HIV-วัณโรค
 
18 พ.ค.55 - ที่กรมควบคุมโรค นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบหมายให้ ดร.นายแพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และบริหารจัดการด้านวัณโรคและเอดส์ ในสถานประกอบกิจการ ดำเนินงานโดยมูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมบูรณ์ วัชโรทัย และเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก
 
ดร.นายแพทย์ พรเทพ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินงานควบคุมป้องกันและลดวัณโรคให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดย เร็ว รวมถึงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคในประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าวัณโรคกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่ทำให้ผู้ป่วยเอดส์มีภูมิ คุ้มกันบกพร่อง จนทำให้ป่วยเป็นวัณโรคมากขึ้น ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศของโลกที่ยังมีปัญหาวัณโรครุนแรง คาดว่า มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคประมาณปีละ 11,000 ราย และองค์กรอนามัยโลกได้ประมาณการว่าประชากรไทย ที่คาดว่า มีเชื้อวัณโรคมาแอบแฝงอยู่ที่ปอด ประมาณร้อยละ 30 หรือ 20 ล้านคน และกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 94,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 50 อยู่ในระยะแพร่เชื้อและร้อยละ 16 ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
 
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คาดว่า มียอดสะสมรวมกว่า 1,100,000 ราย และยังคงมีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 ราย ร้อยละ 84 ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ สาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยวัณโรคและเอดส์ในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เกิดจากความยากจน แรงงานเคลื่อนย้าย แรงงานต่างชาติ แรงงานในสถานประกอบกิจการ สภาพที่แออัดภายในเรือนจำที่เอื้อต่อการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค และผลกระทบจากการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราตายสูง และมีปัญหาเชื้อดื้อยาวัณโรคเพิ่มขึ้น
 
ดร.นายแพทย์ พรเทพ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา วัณโรคและเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน การดำเนินงานตามแนวปฏิบัติตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและบริหารจัดการ ด้านเอดส์ ตลอดจนเป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่อมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม (CSR) การส่งเสริมการตลาดต่างประเทศจากการได้รับรองมาตรฐานการบริหารจัดการด้าน เอดส์ ASO-T THAILAND และเป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติส่วนรวม ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล ความรู้ที่ทันสมัยในเรื่องวัณโรคและเอดส์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจน โดยนำร่องให้กับผู้บริหารจากสถานประกอบกิจการภายในกรุงเทพมหานครและจังหวัด นนทบุรี ประมาณ 50 แห่ง
 
ทั้งนี้ สาระสำคัญในการประชุม ได้แก่ การอภิปราย เรื่อง มาตรฐานการบริหารจัดการเรื่องวัณโรคและเอดส์ (ASO-T Thailand) แนวทางการดำเนินงานและประโยชน์ที่สถานประกอบกิจการได้รับ โดย ดร.แอนโทนี่ ประมวญรัตน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ คุณประยูร บุญสถิต ผู้อำนวยการบริหารบริษัท โปรดักส์ ดีเวลลอปเม้นท์ เมนูแฟคเจอร์ริง จำกัด (บริษัทได้รับมาตรฐาน ASO-T Thailand ระดับ PLATINUM ยอดเยี่ยมของประเทศไทยปี 2551) นายอนันตวิทย์ วัชโรทัย ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมบูรณ์ วัชโรทัย และผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อวางแผนการบริหารจัดการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
 
สำหรับวัณโรค สามารถติดต่อโดยผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากปิดจมูก และผู้อยู่ใกล้หายใจที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการของตนเองและคนใกล้ชิด เช่น ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ ไอแห้งๆ มีเสมหะ น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก ไข้ต่ำๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่อาศัย หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดสารเสพติดชนิดฉีด ผู้มีประวัติต้องขังในเรือนจำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต เป็นต้น ให้สงสัยว่า เป็นวัณโรคและควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อในสถานบริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ ใช้เวลาในการรักษา 6-8 เดือน โดยกินยาครบทุกเม็ด ครบทุกมื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยา ไม่ควรหยุดยาเอง และควรมีพี่เลี้ยงดูแลการกินยาจนครบการรักษา หากมีอาการแพ้ยารีบปรึกษาแพทย์ทันที
 
“ส่วนปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี ขอให้ทุกคนหันมาป้องกันตนเอง และรับผิดชอบเมื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกกลุ่ม พร้อมแนะนำแรงงานหญิงพกถุงยางอนามัยติดตัวเป็นประจำ เพื่อความปลอดภัยจากโรคเอดส์ถ้าต้องการคำปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลและเครือข่ายบริการที่เป็นมิตรใกล้บ้าน ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี(เอดส์) ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โอกาสป่วยเป็นวัณโรครวดเร็วและรุนแรงมากกว่าผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวี หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” ดร.นายแพทย์ พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-5-2555)
 
ทีดีอาร์ไอชี้อุตสาหกรรมไทยกำลังขาดแคลนแรงงานระดับล่าง
 
ความไม่สอดคล้องของกำลังแรงงานและคุณภาพการศึกษากับความต้องการของตลาด แรงงาน เป็นปัญหาใหญ่ที่ปรากฏชัดจนนำมาสู่การปฎิรูปการศึกษาอีกครั้งในปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้วโครงสร้างประชากร อายุ การศึกษา เพศ และภูมิลำเนาและการเปลี่ยนแปลงลักษณะต่างๆดังกล่าวก็มีผลอย่างสำคัญต่อกำหนด นโยบายหรือการวางแผนการใช้กำลังคนที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ทีดีอาร์ไอได้วิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรกับ ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานภาคอุตสาหกรรมพบว่าลักษณะทางประชากรของแรงงานมี ผลต่อประสิทธิภาพการผลิตอย่างมาก
 
ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโสและคณะ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษาดังกล่าวให้กับโครงการ การจัดทำฐานข้อมูลอุปสงค์อุปทานกำลังคนเพื่อรองรับการวางแผนพัฒนาภาค อุตสาหกรรม หรือโครงการ LEED-X+ ซึ่งสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำ นำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์และพฤติกรรมของตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม
 
จากการวิเคราะห์ย้อนหลัง 20 ปี (2543-2553) พบว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร (อายุ เพศ การศึกษา ฯลฯ) โดยในปี 2553 มีจำนวนแรงงานทั้งประเทศ 38.1 ล้านคน เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมราว 7.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตจริง ๆ ราว 5.4 ล้านคน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ การไฟฟ้า ก๊าซและการประปา,การก่อสร้าง,การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน การจ้างแรงงานภาคอุตสาหกรรมในอดีตใช้แรงงานที่มีอายุฐานนิยม(อายุแรงงานส่วน ใหญ่)ต่ำกว่าแรงงานในภาคเกษตรหรือภาคบริการ ในแง่ของเพศอุตสาหกรรมบางชนิดจะใช้แรงงานชายหญิงในสัดส่วนไม่เท่ากัน ในขณะที่อุตสาหกรรมแต่ละชนิดใช้กำลังคนในการศึกษาระดับต่างๆ กัน เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือเครื่องนุ่งห่มจะใช้แรงงานระดับล่าง(มีการศึกษา น้อย)ในสัดส่วนที่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น
 
ดร.สราวุธ กล่าวว่า โครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมเป็นแรงงานวัยหนุ่มสาว แต่ในระยะหลัง อายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างประเทศไทยที่สัดส่วน ประชากรวัยเด็กลดลงในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้โครงสร้างอายุแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นแรงงานสูงอายุเพิ่ม ขึ้นเรื่อยๆ
 
(จากข้อมูลในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา(2534-2553) มีสัดส่วนของแรงงานผู้เยาว์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณร้อยละ55 ในปี 2534 เป็นร้อยละ 20.7 ในปี 2553 ในขณะที่แรงงานผู้สูงอายุ เพิ่มจากประมาณร้อยละ 12 เป็นประมาณร้อยละ 20 หรือเกือบเท่าตัว สาเหตุมาจากอัตราเกิดลดลงและการขยายการศึกษาทำให้ประชากรวัยรุ่นเข้าสู่ตลาด ลดลงโดยทั่วไป (มิใช่แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น) ทำให้สัดส่วนของแรงงานผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ข้อมูลผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร พบว่าระหว่างปี 2547 และ ปี 2553 อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 27 ปี เป็น ประมาณ 32 ปี)
 
จากการทดสอบทางสถิติพบว่าสัดส่วนของแรงงานสูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะมีผลทาง ลบต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานโดยเฉลี่ย ดังนั้นการเพิ่มอัตราการใช้แรงงานที่สูงอายุขึ้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาแรงงาน ดังกล่าวมากขึ้นด้วย
 
ด้านการศึกษา โครงสร้างการศึกษาของแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตดีกว่าโครงสร้างการศึกษาของ แรงงานทั้งประเทศ โดยโครงสร้างของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำแนกตามการศึกษามีสัดส่วนแรง งานที่มีการศึกษาปานกลางและระดับสูงเพิ่มขึ้น สัดส่วนแรงงานการศึกษาน้อยหรือระดับล่าง(มัธยมต้นหรือต่ำกว่า) ลดลงจากประมาณร้อยละ 86 ในปี 2534 เหลือร้อยละ 68 ในปี 2553 แรงงานระดับกลาง(มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า)เพิ่มจากประมาณร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 17.4 และแรงงานระดับสูง(ตั้งแต่อนุปริญญาขึ้นไป) เพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 14 ขณะเดียวกันกำลังแรงงานระดับล่างซึ่งจะมีผู้สำเร็จการศึกษาที่จะเข้ามาเติม ปีละไม่ถึงแสนคนก็ยังไม่เพียงพอเพราะมีอัตราการเรียนต่อสูง และในแต่ละปีตลาดแรงงานจะสูญเสียกำลังแรงงานไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทั้งการเสียชีวิตและเกษียณอายุไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ในขณะที่มีการผลิตแรงงานระดับปริญญาตรีออกมามากมายแต่มีปัญหาด้านคุณภาพไม่ ได้รับคัดเลือกจากนายจ้าง จึงทำให้มีปัญหาว่างงานและขาดแคลนแรงงานไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตามผลการทดสอบทางสถิติระหว่างความสัมพันธ์ของระดับการศึกษาของแรง งานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกับประสิทธิภาพการผลิตยังไม่ชัดเจน
 
ปัจจัยเรื่องเพศ ประเทศไทยมีประชากรหญิงมากกว่าชาย โดยมีจำนวนประชากรหญิง 34.3 ล้านคนต่อประชากรชาย 33.1 ล้านคน แต่ถ้าดูที่แรงงาน กลับมีแรงงานหญิงน้อยกว่าแรงงานชายเนื่องจากอัตราการเข้าร่วมแรงงาน (จำนวนแรงงาน/ประชากรในวัยแรงงาน) ของหญิงน้อยกว่าชาย คือประมาณ ร้อยละ 63.5 เทียบกับ 80.3 (เนื่องจากสตรีจำนวนไม่น้อยทำหน้าที่แม่บ้านโดยไม่ได้ออกหางานทำ) ทำให้สัดส่วนแรงงานหญิงต่อแรงงานชายประมาณ ร้อยละ 45.5 ต่อ 54.5 อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 ในขณะที่โดยทั่วไปสัดส่วนแรงงานหญิงน้อยกว่าชาย แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตกลับมีการจ้างงานแรงงานหญิงในสัดส่วนสูงกว่าชายเล็ก น้อย (ร้อยละ 52 ต่อ ร้อยละ 48) ซึ่งในระยะยาวตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนเพศของแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตค่อนข้างคงที่ โดยสัดส่วนแรงงานหญิงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2545 เป็นต้นมา และลดลงเล็กน้อยช่วงปี 2552-2553 ทั้งนี้มีอุตสาหกรรมที่นิยมใช้แรงงานหญิง เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จากการทดสอบทางสถิติสัดส่วนของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมการผลิตมีผลดีต่อ ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน
 
สำหรับภูมิลำเนาของแรงงาน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเกินครึ่ง (ร้อยละ 62.8) อยู่ในชนบท (นอกเขตเทศบาล) แสดงว่าอุตสาหกรรมการผลิตมิได้กระจุกอยู่ในตัวเมือง และอุตสาหกรรมบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะอยู่ในนอก เขตเทศบาล โดยแนวโน้มในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่ในชนบทเพิ่มจากประมาณ ร้อยละ 44.0 ในปี 2534 เป็น ร้อยละ 62.8 ในปี 2553 จากการทดสอบทางสถิติพบว่าสัดส่วนของแรงงานอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่นอกเขต เทศบาลจะมีผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน
 
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างทางประชากรของแรงงานมีผลกระทบต่อ ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตดังนั้นการเลือกใช้แรงงานใน อายุ เพศ ระดับการศึกษาหรือภูมิลำเนาต่างๆจึงควรเป็นไปอย่างมีแบบแผน มิฉะนั้นจะมีผลเสียต่อประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้จึงเป็นความ สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
 
(กระแสหุ้น, 19-5-2555)
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net